แม้จีนกับอินเดียในปัจจุบันเป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมาของกันและกัน เป็นทั้งคู่ค้าและเป็นทั้งคู่พิพาท แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งคู่เป็นเหมือนกันอย่างแน่นอนอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย คือการเป็น ‘อู่วัฒนธรรม’
หากเราย้อนเข็มนาฬิกากลับไปเมื่อสักพันปีที่แล้วจะพบว่า อารยธรรมทั้งสองมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น โดยหนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่โลดแล่นท่ามกลางความสัมพันธ์นั้นคือ ‘พระภิกษุ’ ผู้มุ่งหวังจะเดินทางไปยังดินแดนพุทธภูมิ ภิกษุเหล่านั้นในทางหนึ่งผลักดันให้พุทธศาสนาเจริญเติบโตอย่างมากในจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งผลพลอยได้หนึ่งคือ รัฐต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ทางใต้ของจีนก็เติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน
เพื่อเป็นการต้อนรับเทศกาลตรุษจีน คอลัมน์ Indianiceation จึงอยากชวนทุกคนเดินทางพร้อมกับหลวงจีน ดูหลักฐานจากบันทึกและวัตถุ เพื่อทำความเข้าใจถึงบทบาทของพุทธศาสนา ที่มีต่อการเติบโตของเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรในโลกโบราณ
พุทธศาสนาและการค้า
หิมานศุ พี. ราย (Himanshu P. Ray) ศาสตราจารย์อาวุโสด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์อินเดีย กล่าวว่า การเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วของพุทธศาสนาในอินเดียหลังสมัยพุทธกาล (อย่างมากที่สุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 3-9 ภายใต้อิทธิพลของราชวงศ์เมารยะและราชวงศ์กุษาณะ) ส่งผลให้เกิดการค้าขายทางทะเลระหว่างอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะระบบการปกครองสงฆ์มีขนาดใหญ่มากขึ้น เมื่อกลุ่มพระสงฆ์มีขนาดใหญ่ขึ้นจึงเรียกร้องการอุปถัมภ์มากยิ่งขึ้น ประจวบกับความสามารถในการเดินเรือที่มากขึ้นอันเป็นผลจากเทคนิคการต่อเรือและความเข้าใจเรื่องลมมรสุม สิ่งนี้ช่วยกระตุ้นให้มีการออกเดินทาง เพื่อตามหาสิ่งของต่างๆ เช่น มาลัยจากดอกไม้ชั้นดี หรือน้ำมันไม้หอม เพื่อมาถวายแด่พระสงฆ์ที่เหล่าพ่อค้านับถือ
ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส เพิ่มเติมว่า การเดินทางออกมานอกอินเดียของชาวอินเดียโบราณมีปัจจัยประกอบอยู่ 4 ประการคือ
1. ชาวอินเดียมีความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น เช่น ทอง เครื่องเทศ ไม้หอม และยางไม้หอม ล้วนแล้วแต่มีมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะทองเป็นสิ่งที่ชาวอินเดียต้องการมาก
2. เทคโนโลยีในการต่อเรือดีมากขึ้น
3. ดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งอยู่ในแนวเส้นทางลมมรสุมทำให้เดินทางมาได้อย่างแม่นยำ
4. การเจริญขึ้นของพุทธศาสนาทำให้โลกทัศน์การเดินทางออกนอกดินแดนของตน และความรังเกียจในการปะปนกับผู้ต่างวรรณะแบบพราหมณ์ลดลงไป กลุ่มคนต่างๆ จึงกล้าเดินทางข้ามคาบสมุทรมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสถานที่ต่างๆ
การไม่รังเกียจเรื่องของวรรณะหรือมลทินจากคนต่างวรรณะ เช่น ในพระวินัยปิฎกระบุถึงเรื่องการรักษาโรคไว้ใน เภษัชชักขันทกะ (Bhesajjakkhandaka) มหาวรรค ว่า ยา (เภษัช) เป็นปัจจัยสำคัญ 1 ใน 4 ของการดำรงชีพให้ปลอดภัย ส่งผลให้พระสงฆ์ทุกรูปจะต้องพกยาติดตัวไว้เสมอ โดยเราพบหลักฐานกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 2-3 ระบุถึงการอยู่รวมกันของพระสงฆ์ในลักษณะสังฆะเริ่มขยายตัวมากขึ้น การรักษาโรคในหมู่สงฆ์จึงกระจายตัวออกไปสู่ชุมชนรอบๆ สังฆะ หรือกลุ่มทายก ทายิกาผู้อุปถัมภ์พระสงฆ์เหล่านั้น
ทั้งนี้มีการพบเหรียญตราจากเมืองกุมรหาร (Kumrahar) ใกล้เมืองไวษาลี ประเทศอินเดีย มีจารึกระบุว่า ‘ศรี อโรคยวิหาเร’ (Sri Arogayavihare) หมายถึงวิหารแห่งการรักษา สันนิษฐานว่า มีการจัดการรักษาให้กับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่สงฆ์ด้วย หรือข้อความจากบันทึกหลวงจีนฝ่าเสี่ยน (Faxian) ระบุถึงคู่สามี-ภรรยา สร้างอาวาสแก่สงฆ์เพื่อใช้สำหรับแจกจ่ายยาและรักษาโรค ณ เมืองปาฏลีบุตร สิ่งนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการไม่รังเกียจผู้จากต่างวรรณะหรือคนป่วยของพุทธศาสนายุคโบราณ ซึ่งแตกต่างจากศาสนาพราหมณ์ที่ยึดถือในเรื่องความบริสุทธิ์ จึงมักไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวลักษณะนี้
ความสัมพันธ์อันดีระหว่างพุทธศาสนากับผู้คนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะพ่อค้า (ซึ่งตามทัศนะของศาสนาพราหมณ์นับเป็นวรรณะที่ไม่บริสุทธิ์นัก) สะท้อนอย่างชัดเจนในมิลินทปัญหา ซึ่งระบุเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระนาคเสนต้องการเดินทางไปยังกรุงปาฏลีบุตร จึงเดินทางออกไปพร้อมกับกองพ่อค้า คาราวาน นายกองคาราวานก็ดูแลท่านเป็นอย่างดีแลกกับการสั่งสอนพระธรรมให้กับชาวคาราวานในระหว่างเดินทางเป็นพิเศษ
นอกจากนั้นหากเราพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งของพุทธสถานโบราณทั่วทั้งอินเดีย เช่น สถูปสาญจี ถ้ำภาชา และถ้ำอชันตา เราจะพบว่า มีลักษณะที่ตั้งที่มักจะอยู่กึ่งกลางระหว่างเส้นทางการค้าโบราณ แต่จะห่างออกมาเล็กน้อย (อาจ) เพื่อรักษาพื้นที่ส่วนตัวสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจ แต่ยังคงสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและเส้นทางการเดินทางเข้าสู่แหล่งชุมชน สะท้อนว่า พุทธศาสนาได้รวมเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนและพ่อค้าอย่างกลมกลืน
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้นักวิชาการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียโบราณจึงมีความเห็นว่า พุทธศาสนามีส่วนในการผลักดันให้เกิดการเดินทางออกมาค้าขายกับโลกภายนอกมากขึ้น รวมไปถึงยังทำให้ศาสนาพราหมณ์เริ่มปรับตัว และสุดท้ายทั้งพราหมณ์และพระสงฆ์ก็ออกเดินทางข้ามทะเลจากอินเดียไปยังสถานที่ต่างๆ ในฐานะตัวแทนทางศาสนาและวัฒนธรรมของอินเดีย
ภิกษุจีนล่องทะเล การค้า และความสัมพันธ์จีนอินเดีย
การเติบโตของพุทธศาสนาและความก้าวหน้าทางการเดินเรือ โบราณวัตถุที่ผลิตในอินเดียเริ่มกระจายตัวออกมาสู่โลกภายนอกไว้ว่า จะเป็นลูกปัดหินกึ่งมีค่า ภาชนะสำริด หรือแม้แต่วัฒนธรรมทั้งศาสนาและตัวอักษร โดยเราพบหลักฐานจำนวนมากในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ภาชนะสำริดตกแต่งรูปสัตว์ (ตัวกริฟฟิน) จากแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ภาชนะสำริดเนื้อบางมีรูปผู้หญิง จากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี ลูกปัดและจี้ทองคำรูปตรีรัตนะ จากแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จังหวัดระนอง แหล่งโบราณคดีแหล่งโบราณคดีสุไหง บาตู/ บูจังวัลเลย์ รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย เรื่อยไปถึงแหล่งโบราณคดีอีกหลายแห่งในประเทศอินโดนีเซีย
จากแหล่งโบราณคดีกัมปุงสุไหงมัส (Kampung Sungai Mas) รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย เราพบจารึกหลักหนึ่งกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ระบุข้อความว่า ‘ขอให้การเดินทางมหานาวิก พุทธคุปตะแห่งรักตมฤตติกา (ดินแดนดินแดง) ประสบความสำเร็จ’ คำว่า มหานาวิกนี้มีความหมายว่า ‘นายเรือ’ ดังนั้นมหานาวิกพุทธคุปตะจึงหมายถึง นายเรือนามว่า พุทธคุปตะ ส่วนข้อสังเกตที่สนใจคือคำว่าพุทธคุปตะนั้น อาจสัมพันธ์โดยตรงกับพุทธศาสนา เพราะจารึกหลักดังกล่าวที่ปรากฏข้อความขอพรของนายเรือผู้นี้ได้มีการสลักรูปสถูปเอาไว้ด้วย
บันทึกของพระภิกษุฝ่าเสี่ยน ภิกษุจีนผู้เดินทางไปยังอินเดียเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 9 ระบุว่า หลังจากการเดินทางจาริกทั่วทั้งพุทธภูมิแล้ว ภิกษุชาวจีนผู้นี้ ได้เดินทางมาในเขตหมู่เกาะอินโดนีเซียปัจจุบันเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 10 ด้วยเรือสินค้าของนายเรือชาวอินเดีย ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางผ่านสำคัญ ในการเดินทางทางทะเลจากอนุทวีปอินเดียไปสู่จีน
ในฝั่งอินเดีย โนโบรุ คาราชิมะ (Noboru Karashima) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อินเดียใต้ ระบุว่า สินค้าจากจีนเป็นที่ต้องการมากในอินเดียตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 8-9 ผ่านอิทธิพลการค้าระหว่างอาณาจักรโรมันและจีนในช่วงเวลานั้น โดยพบหลักฐานประเภทเครื่องถ้วยจีน จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีในเขตโจฬะนาฑู รัฐทมิฬนาฑู กำหนดอายุได้ในระยะเวลาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 8-10 รวมทั้งการขุดค้นพระราชวังเมืองกังไกโกณฑะโจฬะปุรัม (Gaṅgaikoṇḍa Chōḻapuram) ก็พบเครื่องเคลือบจีนจำนวนมาก กำหนดอายุได้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 คาราชิมะจึงเสนอว่า เครื่องถ้วยและเครื่องเคลือบจีนเหล่านี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ราชฑูตนำถวายกษัตริย์แห่งอาณาจักรโจฬะ หลังเดินทางกลับมาจากจีน
นอกจากนี้เรายังพบข้อสังเกตเพิ่มเติมจากข้อมูลการขุดค้นแหล่งเรือจมเบลีตุง (Belitung Shipwreck) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 พบเครื่องถ้วยราชวงศ์ถังจากแหล่งเตาฉางซา จำนวนมากถึง 5.5 หมื่นใบ พร้อมกับโบราณวัตถุอื่นๆ รวมกว่าแสนชิ้น หรือแหล่งเรือจมซิเรบอน (Cirebon Shipwreck) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในทะเลชวา ประเทศอินโดนีเซีย ระบุอย่างชัดเจนว่า เรือลำดังกล่าวเป็นเรือสินค้าที่บรรทุกสินค้าจากจีน โดยพบเครื่องถ้วยจีนจำนวนมากถึง 2.05 แสนชิ้น และในบรรดาสิ่งของต่างๆ มีการพบหลักฐานเนื่องในพุทธศาสนาร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย หัวไม้เท้าขักขระ, ประติมากรรมสำริดพระโพธิสัตว์วัชรราคะ (Vajraraga), วัชระ, ฆัณฏา (กระดิ่ง) รวมทั้งพระธาตุขนาดเล็ก หลักฐานเหล่านี้ยืนยันว่า กลุ่มภิกษุจากจีนได้เดินทางมายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับเรือสินค้าอยู่ตลอด
โดโรธี ซี. หว่อง (Dorothy C. Wong) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจีน ประจำ University of Virginia กล่าวว่า การกลับมายังแผ่นดินใหญ่ของภิกษุจีน โดยเฉพาะราชอาณาจักรถังของ พระภิกษุเสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง) ก่อให้เกิดความตื่นตัวถึงวัฒนธรรมอินเดียอย่างมากในราชสำนัก ทั้งจักรพรรดิถังเกาจง (Emperor Gaozong) และจักรพรรดินีบูเช็กเทียน (Empress Wu Zetian) ได้ให้ความสนใจและเปิดกว้างยอมรับพุทธศาสนา รวมทั้งวัฒนธรรมอินเดียและประเทศอื่นๆ ใกล้เคียง เกิดการดึงดูดพ่อค้าและศิลปินต่างชาติจำนวนมากเข้าสู่เมืองหลวง กลายเป็นบรรยากาศที่สนับสนุนให้เกิดการเติบโตของพุทธศาสนาในจีน ความสนใจในพุทธศาสนาของจักรพรรดิจีนจึงเป็นผลให้เกิดการเดินทางของพระสงฆ์ออกมาพร้อมกับขบวนเรือสินค้าจีน ที่มุ่งหน้าไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย
พระภิกษุอี้จิง (Yijing) นับเป็นพระภิกษุรูปแรกๆ ที่เดินทางไปจาริกแสวงบุญยังอินเดียในราว พ.ศ. 1214 การเดินทางทางทะเลทั้งไปและกลับได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น ต่างจากการจาริกของพระภิกษุฝ่าเสี่ยนและเสวียนจั้งที่เดินทางไปยังชมพูทวีปด้วยทางบกผ่านเส้นทางสายไหมทางบก การเดินทางของพระภิกษุอี้จิงได้เดินทางไปพร้อมกับเรือสินค้าเปอร์เซียที่นำสินค้าจีนไปค้าขายกับอินเดีย แต่ท่านมาพักเปลี่ยนเรือและศึกษาภาษาสันสกฤตที่กรุงศรีวิชัยก่อน ถึงจะเดินทางไปขึ้นท่า ณ เมืองท่าตามรลิปติ (Tamralipta/ Tamralipti) รัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย ในขากลับท่านเดินทางกลับมาพร้อมกับเรือสินค้าและแวะพักที่อาณาจักรศรีวิชัย เมื่อถึงราชอาณาจักรถัง ท่านได้รับการต้อนรับจากจักรพรรดินีบูเช็กเทียนเป็นอย่างดี พร้อมมีการจัดหาผู้รู้มาช่วยเหลือท่านในการแปลคัมภีร์พุทธศาสนาเป็นภาษาจีนโดยราชสำนักสนับสนุน
การเปลี่ยนแปลงของกระแสความเชื่อในจีนสมัยราชวงศ์ถัง หรือราวพุทธศตวรรษที่ 12 ได้สร้าง โครงข่ายการแสวงบุญที่สัมพันธ์กับเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างอินเดียกับจีน ทั้งยังครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในขณะนั้นเริ่มหันมาสนใจพุทธศาสนามากขึ้น จนเกิดเป็นรัฐที่เลือกใช้โครงข่ายทางอำนาจแบบพุทธศาสนาขึ้นมา ควบคู่กับรัฐในรูปแบบเดิมที่มีศาสนาฮินดูเป็นโครงข่ายอำนาจหลัก
ดังนั้นจากหลักฐานต่างๆ สามารถกล่าวได้ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในฐานะตัวกลาง ของโครงข่ายการค้าและการแสวงบุญของพระภิกษุจีนในสมัยราชวงศ์ถัง และอิทธิพลของราชวงศ์เหลียง และราชวงศ์ถัง เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของพุทธศาสนา การค้าข้ามคาบสมุทร พร้อมทั้ง การเติบโตของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะศูนย์กลางของพุทธศาสนา ควบคู่ไปกับอินเดีย ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ที่มาข้อมูล
ฉัตรสุมาลย์ กบิลสงห์. (2536). ประเทศจีนกับพุทธศาสนา (ฝ่ายมหายาน). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ มหามกุฏราชวิทยาลัย.
สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง. (2558). ทวารวดี: ประตูสู่การค้าบนเส้นทางสายไหมทางทะเล. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ผาสุข อินทราวุธ. (2548). สุวรรณภูมิ: จากหลักฐานโบราณคดี. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
อธิพัฒน์ ไพบูลย์. (2564). “พัฒนาการและบทบาทของพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วง
พุทธศตวรรษที่ 6-12” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Cœdès, George. (1968). The Indianized states of Southeast Asia. Translated by Brown, Susan. Cowing Honolulu: East West Center Press.
Ray, Himanshu Prabha. (1994). The winds of change: Buddhism and the maritime links of early South Asia. Delhi: Oxford.
Sen, Tansen. (2014). “Buddhism and the Maritime Crossing in China and Beyond.” In the Mediaeval Period: Cultural Crossing and Inter-Regional Connection, 39-62. Edited by Wong, Dorothy C. and Heldt, Gustav. Amherst and Delhi: Cambria Press and Manohar.
Wong, Dorothy C. (2018). Buddhist Pilgrim-Monks as Agent of Cultural and Artistic Transmission. Singapore: Mainland Press.
Tags: ภิกษุจีน, จีน, อินเดีย, Indianiceation