ปฏิเสธไม่ได้ว่า อินเดียไม่ใช่จุดหมายแรกๆ ในใจคนไทยเวลานึกจะไปเที่ยวที่ไหนสักแห่งในโลก เพราะภาพจำของประเทศอินเดีย คนอินเดีย อาหารอินเดีย และอีกหลายๆ ความอินเดียได้ถูกม่านหมอกหนาทึบของทัศนคติเดิมๆ ปกคลุมไว้จนมิด
อินเดียสำหรับคนไทยคือ ประเทศที่สกปรก เสียงดัง วุ่นวาย จอแจ เหม็น หลอกลวง น่ากลัว ฯลฯ และอีกร้อยแปดคำคุณศัพท์มากมายที่สามารถพรั่งพรูออกมาจากความรู้สึกนึกคิดของคนไทยส่วนใหญ่ได้แบบ non-stop ซึ่งเอาเข้าจริงคนเหล่านี้ ‘ไม่’ เคยไปอินเดีย แต่กลับมโนว่าอินเดียเป็นแบบนั้นแบบนี้จากประสบการณ์ที่อ่านมามาก ฟังมาเยอะ จากเรื่องเล่าของคนที่เคยผ่านอินเดียมาแล้ว ทั้งทางเพจท่องเที่ยว และพ็อกเก็ตบุ๊กต่างๆ ที่ผู้เขียนต่างก็สามัคคีเล่าเรื่องราวการทัวร์อินเดียกันอย่างสนุกปากในท่วงทำนองของการเม้ามอย เพราะการหยิบยกเอาด้านดาร์กๆ มาเล่าย่อมมีคนอยากติดตามกว่าเป็นไหนๆ
เลยออกจะหายากสักหน่อยหากจะมีนักเขียนสักคนที่เลือกบอกเล่าแง่งามของอินเดียแบบจริงๆ จังๆ อย่าง รงรอง หัสรังค์ เจ้าของเพจ I draw&travel ที่ระบายสีสันของอินเดียที่เธอรู้จักให้ออกมาละมุนละไมราวกับอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์
เพราะอินเดียสำหรับรงรองคือ ดินแดนที่เต็มไปด้วยความรื่นรมย์ กลมกล่อมด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานของบ้านเมือง สถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ทรงคุณค่า วัฒนธรรมที่ยังเข้มข้นอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน และก็เพราะผู้คนนี่แหละที่ทำให้รงรองหลงรักอินเดียอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
เรื่องราวของคนเล็กๆ ที่เธอไปพบเจอในหลายท้องถิ่นทั่วอินเดีย ทำให้เธอมองประเทศนี้เป็นสีพาสเทล และเลือกที่จะเล่าเรื่องอินเดียในแบบที่ไม่แปดเปื้อนด้วยสีทึมเทา เราถามเธอว่า ไม่เจอเรื่องแย่ๆ เหมือนที่คนอื่นเจอในอินเดียบ้างเหรอ
เธอตอบกลับมาว่า เป็นคนไม่ค่อยจำ และเรื่องดีๆ ที่เจอมีเยอะกว่ามาก เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับมุมมองที่นักเขียนคนหนึ่งเลือกที่จะเล่าเรื่องประเทศที่เธอรักให้คนอื่นได้รู้จัก และปรับทัศนคติกันใหม่
เอาเข้าจริง จะมีนักเดินทางสักกี่คนที่สบตากับคนท้องถิ่น แล้วหลงใหลในดวงตาสีฮาเซลนัท สีเขียวน้ำทะเล หรือแม้กระทั่งสีทองของลุง ป้า น้า อา รวมถึงเด็กน้อยที่พบเจอ จนสามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมต่างๆ ได้อย่างเนียนสนิทเป็นเนื้อเดียว
ขณะท่องเที่ยวอยู่ในรัฐทมิฬ นาฑู ทางตอนใต้ของอินเดีย รงรองถามไถ่ชื่อผู้คนต่างๆ ที่เธอพบเจอ แค่เพราะอยากรู้จัก จะได้เรียกขานกันถูก แต่พอถามถึงนามสกุลเท่านั้นแหละ ทุกคนต่างก็ย้อนถามเธอกลับว่า “จะเอาชื่อพ่อไหม?!” แรกๆ เธอถึงกับผงะกับความอินดี้ของชาวอินเดียใต้ ก่อนจะกระจ่างในภายหลังว่าชาวทมิฬเขาไม่ใช้นามสกุลกันมานานกว่า 70 ปีแล้ว เพื่อถอนรากถอนโคนระบบวรรณะในสังคมให้หมดไป และถือเป็นรัฐเดียวในอินเดียก็ว่าได้ที่นอกจากจะใช้ภาษาไม่เหมือนใคร ยังเก๋ไก๋ไร้วรรณะอีกด้วย
รงรองเองก็ไม่ต่างจากอีกหลายคนที่ไปเที่ยวในหลายเมืองใหญ่ของอินเดีย ทั้งมุมไบ โกลกัตตา เดลี จัยปูร์ พาราณสี ฯลฯ แต่รายละเอียดในเรื่องเล่ากลับไม่ซ้ำใคร ตอนเขียนถึงอาหารอินเดีย เธอไม่ได้แค่ลบความกลัวอาหารอินเดียออกไปจากมโนสำนึกของคนอ่านเท่านั้น (ใครๆ ก็ขู่ว่ากินแล้วท้องเสียแน่ๆ!) แต่เธอกลับทำให้ผู้อ่านอยากลองชิมอาหารอินเดียแบบที่เธอได้กิน (ไปเดลีคราวหน้า ต้องตามหาพิกัดไก่ย่างเนยหอมทะลุตัวหนังสือในย่านเดลีเก่าให้ได้!) อยากลองไปหมู่บ้านที่ยังทำผ้าพิมพ์ด้วยบล็อกไม้ แทนที่จะช้อปปิ้งอยู่แต่ในตลาดกลางเมืองชัยปุระ และอยากกล้าคุยกับคนแปลกหน้าที่พบเจอแบบเปิดใจได้มากเท่าเธอ ไม่เฉพาะอินเดีย แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลกก็ตาม
I draw&travel Vol.1 อินเดีย ไม่ได้แตกต่างเฉพาะการเลือกเล่าเรื่องผ่านภาพวาดแทนภาพถ่ายเท่านั้น แต่เรื่องราวในทุกบรรทัดคือการแต่งแต้มสีสันใหม่ของอินเดียให้คนไทยได้รู้จัก และพร้อมจะเปิดใจมองเห็นชมพูทวีปเป็นสีชมพูจริงๆ เสียที
Fact Box
I draw&travel Vol.1 อินเดีย วางขายในร้านหนังสือออนไลน์ OOKBEE หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เพจ I draw&travel