“แหม หนังทุกเรื่องของผมก็ไม่ต่างกันมากนักหรอก มันมักจะเล่าเรื่องคนเศร้า จบด้วยโศกนาฏกรรม ตัวละครก็มักลงเอยที่ความตายบ่อยๆ แต่ทำไมทุกอย่างมันต้องดูเหมือนดิสนีย์ด้วยล่ะ ทำไมทุกอย่างมันถึงต้องลงเอยด้วยความสงบสุขทุกทีไป”
เป็นอย่างที่ อดัม เอลเลียต (Adam Elliot) คนทำแอนิเมชันชาวออสเตรเลียให้สัมภาษณ์ เพราะแอนิเมชันแนวสต็อปโมชันกี่เรื่องต่อกี่เรื่องของเขา ก็มักว่าด้วยมนุษย์ผู้ทุกข์ตรมอยู่ในโลกอันขมขื่น ไล่มาตั้งแต่ Uncle (1996) หนังสั้นเรื่องแรกความยาวเพียง 6 นาทีของเขา ที่พูดถึงความทรงจำของชายหนุ่มที่มีต่อคุณลุงผู้แหกคอกของตัวเอง, Mary and Max (2009) แอนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรกของเอลเลียต ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางจดหมายสุดห่อเหี่ยวของเด็กหญิงกับชายวัย 44 ปี
ก่อนจะตามมาด้วยเรื่องล่าสุดอย่าง Memoir of a Snail (2024) จับจ้องไปยังชีวิตอันแสนบัดซบของ เกรซ หญิงสาวที่เกิดมามีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และต้องให้พี่ชายฝาแฝดของเธออย่าง กิลเบิร์ต ที่แข็งแรงกว่าคอยปกป้องอยู่เสมอ แม่ของทั้งคู่ตายจากหลังให้กำเนิด ทิ้งแฝดไว้กับพ่อที่ประสบอุบัติเหตุเป็นอัมพาตตั้งแต่พวกเขายังเล็กๆ และเสียชีวิตให้หลังจากนั้นอีกหลายปี ยังผลให้เกรซและกิลเบิร์ตต้องแยกจากกันเป็นครั้งแรก
เกรซถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่นอกจากจะหมกมุ่นเรื่องการพัฒนาตัวเองแล้ว ยังหมกมุ่นกับกิจกรรมทางเพศ วันเวลาส่วนใหญ่ของเธอหมดไปกับการเก็บตัวในบ้าน สะสมของที่ระลึกที่เป็นรูปหอยทาก (สัตว์โปรดของเธอ) เพื่อเยียวยาจิตใจจากความว้าเหว่
ส่วนกิลเบิร์ตโชคร้ายกว่า เขาถูกส่งไปอยู่กับครอบครัวที่หลงใหลลัทธิประหลาดและถูกบีบบังคับให้ทำงานโดยได้ค่าแรงเพียงหยิบมือ ทั้งคู่ติดต่อกันผ่านจดหมายอย่างสม่ำเสมอ เกรซสนิทสนมกับ พิงกี หญิงชราสุดแปลกที่ใช้ชีวิตมาแล้วอย่างโชกโชน และพิงกีนี่เองที่ดูจะเป็น ‘สิ่งดีๆ’ สิ่งเดียวในชีวิตอันยากไร้ของเกรซ หากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความบัดซบในชีวิตของเธอจะหยุดอยู่เพียงแค่นั้น
เอลเลียตใช้เวลาสร้างแอนิเมชันเรื่องนี้ร่วม 8 ปี ก่อนจะให้กำเนิดเรื่องราวสุดประหลาดของฝาแฝดที่หนึ่งในนั้นหมกมุ่นกับหอยทากเป็นพิเศษ ซึ่งอาจเพราะเขาเองก็ชอบหอยทากเช่นกัน “ผมว่ามันเป็นสัตว์ที่น่าหลงใหลออกนะ ผมคิดว่าคนอื่นๆ คงคิดเหมือนกันกับผมว่า มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดเหลือเกิน” เขาบอก
“พอพยายามคิดว่า ตัวละครอย่างเกรซจะอยากสะสมอะไรนะ ก็มีตั้งแต่เต่าทอง หมู แล้วก็เป็ด แต่หอยทากมันพิเศษกว่านั้น เพราะผมคิดว่ามันน่าสนใจ และเป็นภาพสะท้อนสภาวะจิตใจของเกรซด้วย คุณลองไปจิ้มหนวดทากสิ มันจะหดกลับเข้าไปอยู่ในเปลือก ซึ่งผมชอบมากๆ เพราะนี่แหละเป็นสิ่งที่เกรซทำคือ เธอถอยหนีจากโลกอยู่เรื่อยๆ น่ะ”
เอลเลียตมีชื่อเสียงในวงกว้างครั้งแรกก็จาก Harvie Krumpet (2003) หนังสั้นความยาว 22 นาที ที่ส่งเขาคว้าออสการ์สาขาแอนิเมชันขนาดสั้นยอดเยี่ยม เล่าถึงชีวิตชายอับโชคที่เป็นโรคทางระบบประสาท กะโหลกส่วนหนึ่งถูกแทนที่ด้วยโลหะที่ดันกลายเป็นแม่เหล็ก แถมอัณฑะข้างหนึ่งก็ถูกหั่นทิ้งเพราะโรคร้าย
“ผมอยู่กับไอเดียหนังเรื่องนี้มาร่วม 10 ปีได้ ดีใจชะมัดที่ได้ทำออกมาเสียที” เอลเลียตบอก “ผมชอบทำหนังที่สำรวจชีวิตใครสักคนอย่างลึกซึ้ง เลยพยายามทำให้ตัวละครดูน่าเชื่อถือที่สุดเท่าที่จะทำได้ อยากให้คนดูเห็นอกเห็นใจเขา หรือเข้าใจเพราะเคยผ่านความลำบากและความเจ็บปวดที่ตัวละครเผชิญมาก่อน”
Harvie Krumpet เป็นหนังเรื่องแรกที่เอลเลียตทำงานกับโปรดิวเซอร์ และช่วยกันระดมทุนมาได้ราวๆ 3.7 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ใช้เวลาถ่ายทำนาน 15 เดือน ค่อยๆ ถ่ายทอดการเคลื่อนไหวทีละเล็กทีละน้อยของโมเดลขนาดเท่าขวดไวน์ที่เอลเลียตปั้น ตัวละครหลักมีรูปปากที่แตกต่างกันถึง 30 แบบ แถมด้วยดวงตาขนาดใหญ่ที่เอลเลียตรู้สึกว่า “จะได้บอกอารมณ์ต่างๆ ได้เต็มที่ เพราะคนเราถ่ายทอดความรู้สึกมากมายผ่านดวงตาอยู่แล้ว แถมผมยังมักให้ตัวละครจ้องกลับไปยังคนดูอยู่บ่อยๆ ด้วย คิดว่ามันจะช่วยสร้างความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างตัวละครกับผู้ชมได้”
เอลเลียตเองอาจไม่ได้เผชิญชะตากรรมหนักหน่วงเท่าที่ตัวละครของเขา (ไม่ว่าจะเรื่องไหน) ต้องเผชิญ แต่ในความเฮงซวยและหนักหน่วงต่างๆ เอลเลียตก็บอกว่า มันมีต้นธารมาจากตัวเขาทั้งสิ้น “ผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนนอกตลอดเวลา ก็นะ มันไม่ค่อยคนทำแอนิเมชันจากดินปั้นที่หัวล้าน เป็นเกย์และเป็นหอบนี่นา ผมเลยคิดว่า จุดใดจุดหนึ่งของชีวิต เราล้วนเคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอก เป็นคนกลุ่มน้อยและถูกเข้าใจผิดทั้งนั้นแหละ และนี่แหละมั้งที่ทำให้คนรู้สึกเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับตัวละครของผม”
Harvie Krumpet ประสบความสำเร็จมหาศาล และถือเป็นหนึ่งในแอนิเมชันขนาดสั้นในใจของหลายๆ คน ประการแรกคือการสร้างโลกอันเป็นเหมือนฝันร้ายในหนังของเอลเลียต ที่ไม่มากก็น้อยชวนให้รู้สึกถึงความสมจริง แห้งแล้งของโลกที่เราอยู่ และประการที่ 2 ซึ่งอาจเป็นหัวใจสำคัญ นั่นคือตัวละครของเอลเลียตกัดฟันสู้ยิบตาเพื่อจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับความบัดซบที่ชีวิตประเคนให้อีกกี่ครั้ง “สักครั้งในชีวิตเราต้องเคยซวย บางคนอาจจะซวยมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ” เอลเลียตบอก “ตัวละครของผมเป็นพวกที่จะถูกเรียกว่า ‘ขี้แพ้’ หรือเป็นพวกมวยรองบ่อนที่มักจะเจอเรื่องห่วยแตกอยู่ร่ำไป แต่เขาก็ยังสู้ มุ่งมั่นและลุกขึ้นขบถต่อความเฮงซวยของชีวิตทั้งมวล”
แอนิเมชันอีกเรื่องที่อาจไม่ได้สร้างบรรยากาศฝันร้ายเหมือนเอลเลียต หากแต่ก็พูดถึงชีวิตที่ดูจะเป็น ‘ฝันร้าย’ ที่ดิ้นหนีไม่ได้คือ Anomalisa (2015) หนังเข้าชิงออสการ์สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมของ ชาร์ลี คอฟแมน (Charlie Kaufman) กับดุก จอห์นสัน (Duke Johnson) เล่าเรื่องของ ไมเคิล ชายวัยกลางคนชาวอังกฤษที่เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ และต้องออกเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ เพื่อโปรโมตหนังสือของเขา ความลับที่ไมเคิลไม่เคยบอกใครคือ เขามีปัญหาใหญ่อย่างการไม่สามารถจำแนกใบหน้าและเสียงคนรอบๆ ตัวได้ (รวมทั้งเมียกับลูกชายของเขา) สำหรับไมเคิล ทุกคนมีใบหน้าแบบเดียวกัน เสียงแบบเดียวกันคือเสียงผู้ชาย สิ่งนี้ทำให้เขาทุกข์ทรมานและกีดกันตัวเองออกจากคนรอบตัวเรื่อยมา
กระทั่งเขาได้ยินเสียง ลิซา หญิงสาวธรรมดาที่มาร่วมฟังเขาพูดโปรโมตหนังสือ เธอเป็นคนเดียวที่มีใบหน้าและเสียงต่างจากคนอื่นๆ สิ่งนี้ทำให้เขารู้สึกมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งว่า เขาจะไม่ต้องทรมานอยู่ในโลกที่ทุกคนมีใบหน้าและน้ำเสียงแบบเดียวกัน หากแต่ชีวิตที่เป็นเหมือนฝันร้ายของเขาก็ไม่ได้สิ้นสุดลงแค่นั้น เพราะในเวลาต่อมา ลิซาก็ดูจะกลายเป็นอีกคนที่ ‘เหมือนคนอื่นๆ’ เช่นกัน
ไม่น่าแปลกที่พล็อตสุดเจ็บจะมาจากคอฟแมนผู้เคยเขียนบทให้ Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004), Being John Malkovich (1999) เดิมทีมันเป็นบทหนังที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อแสดงละครเวทีในปี 2005 คอฟแมนเล่าว่า เขาแทบไม่ได้เปลี่ยนไดอะล็อกหรือบทสนทนาของตัวละคร งานหลักของเขาคือ การเขียนฉากให้เหมาะสำหรับการทำแอนิเมชันมากกว่าเดิมต่างหาก “มันเป็นหนังที่ขับเคลื่อนด้วยบทสนทนาอยู่แล้ว ที่เราเปลี่ยนจากเวอร์ชันละครเวทีส่วนมากก็มาจากเรื่องเงินทุนล้วนๆ” คอฟแมนบอก “อย่างเพลงที่ตัวละครลิซาร้องในละครคือเพลง My Heart Will Go On ของ เซลีน ดิออน (Celine Dion) แต่เราไม่มีเงินเลยใช้เพลง Girls Just Want to Have Fun ของ ซินดี ลูเปอร์ (Cyndi Lauper) แทน”
ความท้าทายในการทำ Anomalisa คือการสร้างตุ๊กตาสำหรับทำแอนิเมชันให้ดูเหมือนคนจริง แต่ก็ต้องไม่ดูเหมือนจริงจนเกินไป ต้องขยับเคลื่อนตัวเพื่อทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการอาบน้ำ แต่งตัวได้ แต่ต้องไม่ดูเหมือนแอนิเมชันอื่นๆ ที่คนดูเคยเห็นมาแล้วในหนังเรื่องก่อนๆ การขยับขับเคลื่อนตัวแต่ละครั้งใช้มือคนจริงๆ เป็นคนขยับตัวตุ๊กตาเพื่อทำให้เกิดความรู้สึก ‘สมจริง’ เพราะหนึ่งในเป้าหมายของหนังคือ การทำให้คนดูนั้น “ลืมไปว่าตัวเองกำลังดูแอนิเมชัน และปล่อยตัวไปเป็นหนึ่งเดียวกับฉากแต่ละฉาก” จอห์นสันบอก
“เพราะหนึ่งในความท้าทายที่พวกเราต้องเจอคือ เวลาเราดูอะไรก็ตามที่เป็นแอนิเมชัน เรามักคิดอยู่ในจิตใต้สำนึกตลอดว่า มันไม่ใช่ของจริง เราเลยเอาแต่ถามตัวเองว่า ทำยังไงจึงจะไม่ให้คนดูนึกถึงประเด็นนี้ และถ้าทำได้ หน้าตามันจะออกมาเป็นแบบไหน”
Anomalisa กลายเป็นหนึ่งในแอนิเมชันที่ตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ ความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว การใช้ชีวิตน่าเบื่อซ้ำเดิมทุกวันของโลกสมัยใหม่ ทำให้มนุษย์กลายเป็นเครื่องจักรหน้าตาเหมือนกัน และสิ่งนี้เองที่เป็นไอเดียสำคัญที่คอฟแมนสนใจ “ผมว่าแอนิเมชันแบบนี้มันอธิบายความเปราะบาง ความเป็นมนุษย์และการแตกสลายบางอย่างได้ในแบบที่ต่างไปจากสื่ออื่นๆ นะ” เขาว่า “เพราะตุ๊กตาที่ทำเป็นตัวละครทำมาจากมือ และกระบวนการสร้างต่างๆ มันก็ไม่สมบูรณ์แบบเอาเสียเลย คุณยังเห็นร่องรอยการทำให้มันขยับเขยื้อนบนจอหนัง เห็นเศษซากบางอย่างจากตุ๊กตาพวกนั้น เห็นวิธีที่มันเคลื่อนไหวพร้อมกันกับที่ก็เห็นว่า มันเป็นการเคลื่อนไหวที่อาจไม่เนี้ยบนัก
“ผมคิดว่าความแปลกแยกคือ ปัญหาใหญ่ในวัฒนธรรมเราน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และการใช้โซเชียลมีเดียแน่ๆ รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์ที่มันไม่จริงแท้ของคนเรา แต่เราก็ต้องเจอเรื่องพวกนี้กันอยู่แล้ว ผมทำอะไรไม่ได้หรอก”
พ้นไปจากชีวิตที่เหมือนเป็น ‘ฝันร้าย’ ของชายวัยกลางคน แอนิเมชันอีกเรื่องที่ฉายให้เห็นภาพฝันร้ายของวัยรุ่น จนถูกพูดถึงว่า เป็นหนึ่งในหนังข้ามพ้นวัยที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งคือ Coraline (2009) แอนิเมชันร่วมทุนสร้าง 4 สัญชาติ (สหรัฐอเมริกา-ออสเตรีย-ฝรั่งเศส-ฮังการี) และได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมของ เฮนรี เซลิก (Henry Selick) ที่เราอาจคุ้นชื่อเขาจาก The Nightmare Before Christmas (1993) โดยดัดแปลงมาจากโนเวลลาของ นีล ไกแมน (Neil Gaiman) ที่ตอนนี้อื้อฉาวด้วยคดีคุกคามทางเพศ
Coraline เล่าเรื่องของแคโรไลน์ เด็กหญิงวัย 11 ปีที่ต้องย้ายที่อยู่ตามพ่อกับแม่ของเธอจากมิชิแกน มาอยู่ยังบ้านหลังเก่าๆ ในโอเรกอน แต่ละวันของแคโรไลน์หมดไปกับการออกสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ รอบบ้าน ด้านหนึ่งเพราะไม่มีอะไรให้เธอทำนัก และอีกด้านเป็นเพราะพ่อแม่ของเธอง่วนกับการทำงานจนแทบไม่ลืมหูลืมตา และการสำรวจนี้เองที่พาแคโรไลน์หลุดไปอีกมิติหนึ่ง ที่มีพ่อกับแม่ของเธอเหมือนกัน ทั้งยังเอาใจใส่เธออย่างดีจนเธอเริ่มไม่อยากกลับไปยังโลกเดิม เว้นเสียแต่ว่าพ่อแม่และทุกคนของเธอในโลกนี้มี ‘ดวงตา’ เป็นกระดุม และดูโหยหาบางอย่างจากเธอ
หนังสร้างด้วยทุน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างแบบจำลองบ้านและย่านโอเรกอนขึ้นใหม่หมด รวมทั้งสวนดอกไม้สุดอลังการที่ทีมงานสร้างดอกไม้ขึ้นใหม่หมดนับร้อยดอก ใช้นักทำแอนิเมชันร่วม 28 คนในการซักซ้อมการถ่ายทำและถ่ายหนังทั้งเรื่อง ความทะเยอทะยานอีกอย่างของหนังคือ การสร้างสีหน้าตัวละครนับหมื่นรูปแบบด้วยมือทั้งสิ้น เพราะเซลิกอยากให้คนดูรู้สึกถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ผ่านงานสร้างตัวละครเหล่านี้
“เราเล่าเรื่องมนุษย์แหละ ตัวละครถูกออกแบบให้หน้าตาเหมือนการ์ตูนก็จริง คือมีรูปร่างแปลกๆ สัดส่วนก็ประหลาดซึ่งผมชอบทำอยู่แล้ว แต่ถึงที่สุดเราก็อยากให้ตัวละครเหล่านี้แสดงความรู้สึกได้ ผ่านทั้งสีหน้าและภาษากาย” เซลิกบอก “ผมเลยพยายามหาจุดตรงกลางระหว่างการเป็นการ์ตูนกับความเป็นมนุษย์ และมันเป็นจุดที่อ่อนไหว เปราะบางมากๆ เลยด้วย”
Coraline ถูกชื่นชมในแง่ของการถ่ายทอดความเปล่าเปลี่ยว ว้าเหว่ของคนหนุ่มสาว นับเป็นหนึ่งในหนังที่พูดเรื่องการข้ามพ้นวัยและการเติบโตได้อย่างน่าจับตา มิหนำซ้ำเซลิกยังถ่ายทอดความอำมหิต เหี้ยมโหดของ ‘โลกอีกฝั่ง’ ผ่านดวงตาที่เป็นเม็ดกระดุมและมีลักษณะเย็นชาได้หมดจด เซลิกเล่าว่า เขามักนึกถึงชีวิตเบื้องหลังของตัวละครที่ไม่ได้ถูกเล่าผ่านตัวหนัง
“บางทีที่บ้านเก่าของแคโรไลน์ เธออาจจะมีเพื่อนมากมาย ไม่ได้ชอบจับเจ่าอยู่กับพ่อแม่และไม่ได้อยากได้อะไรจากพวกเขามากไปกว่าความรักกับความเอาใจใส่ อาหารและเสื้อผ้าสะอาดๆ พอทั้งบ้านต้องย้ายมาที่โอเรกอน เธอก็ต้องการพ่อแม่มากกว่าที่เธอเคยต้องการ แต่ก็นั่นแหละว่า พ่อแม่ของแคโรไลน์ทำงานด้วยกันเป็นทีม พวกเขาเป็นนักเขียน แม่เป็นหัวหน้า และผมก็อยากให้ความตึงเครียดในบ้านมันดูสมจริงด้วย”
หนังประสบความสำเร็จถล่มทลายด้วยการทำรายได้ไปทั้งสิ้น 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังถูกพูดถึงในฐานะแอนิเมชันข้ามพ้นวัย ที่สำรวจความมืดหม่นของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และการก้าวข้ามความเยาว์วัยได้น่าทึ่งที่สุดเรื่องหนึ่ง
Tags: People Also Watch, Harvie Krumpet, Memoir of a Snail, Anomalisa, Coralin