สำหรับมิตรรักแฟนหนังของ เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) หนึ่งในช่วงเวลาที่น่าปวดใจมากที่สุด คงหนีไม่พ้นช่วงที่ Mindhunter (2017-2019) ซีรีส์ทริลเลอร์ที่เขาร่วมสร้างกับสตรีมมิงเน็ตฟลิกซ์จำต้องเป็นหมันไปกลางทาง เมื่อเจ้าของแพลตฟอร์มออกมาให้เหตุผลว่า จำนวนคนดูซีรีส์นั้นไม่มากนัก ทั้งในแต่ละตอนก็ยังใช้ต้นทุนสูงลิ่ว การตัดจบเรื่องราวของเหล่าเจ้าหน้าที่ FBI ผู้พยายามสำรวจจิตใจอาชญากรก็อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ ปล่อยให้เหล่าแฟนซีรีส์ค้างเติ่งกันอยู่แค่ซีซั่นที่ 2 

ทว่าในปีนี้ ฟินเชอร์ก็มีผลงานให้หายคิดถึงกันด้วย The Killer (2023) หนังทริลเลอร์แนวถนัดที่เขาทำร่วมกับเน็ตฟลิกซ์ที่เพิ่งออกสตรีมมิงไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตัวหนังดัดแปลงมาจากนิยายกราฟิกโนเวลชื่อเดียวกันของ อเล็กซิส โนลองต์ (Alexis Nolent) นักเขียนชาวฝรั่งเศสสำรวจสภาพจิตใจของมือสังหาร (แสดงโดย ไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์) ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตหมดไปกับการรอคอยเพื่อลงมือปลิดชีพเป้าหมาย  และการใช้เวลาอยู่กับตัวเองเนิ่นนานก็ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามต่อชีวิตกับความตาย ของทั้งเหยื่อและตัวเขาเอง

สำหรับ The Killer ลำพังเรื่องกระบวนการสร้างของมันก็ทุลักทุเลเอาตั้งแต่แรก เมื่อฟินเชอร์เกิดดำริอยากทำหนังเรื่องนี้และอยากคว้าตัวฟาสส์เบนเดอร์มาแสดงนำ ทว่า นักแสดงชาวไอริช-เยอรมันกลับกำลังง่วนอยู่กับการฝึกฝนลงแข่งในรายการแข่งรถยนต์อันเป็นกีฬาที่เขาเคยบอกว่าเป็น ‘รักแรก’ ตั้งแต่ยังเด็ก (ปัจจุบัน ฟาสส์เบนเดอร์ขับให้ทีม Proton Racing ทีมสัญชาติเยอรมัน และร่วมลงแข่งใน 24 ชั่วโมง เลอม็อง รายการสุดโหดของโลกนักแข่งรถด้วย) ฟินเชอร์ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากลากฟาสส์เบนเดอร์มาจากการแข่งเพื่อให้มาแสดงนำบทมือสังหาร ที่มีภาวะหมกมุ่นและย้ำคิดย้ำทำกับชีวิต

“ยังไงผมก็ต้องลากเขามาให้ได้ ไม่รู้หรอกว่ามันจะยากหรือง่าย แล้วตารางเวลาเราก็ค่อนข้างกระชั้นด้วย…เรามีเวลาแค่ห้าเดือนครึ่ง ซึ่งเอาไปเอามาก็เหลือเวลาถ่ายทำจริงราวๆ 80 วันเพราะต้องหักวันเดินทางต่างๆ ออกไปอีก แล้วพอดีช่วงนั้นเขาพอว่างอยู่นิดหน่อย เราเลยได้ร่วมงานกันในที่สุดน่ะ

“ตัวละครมือสังหารในเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องดูคุกคามหรือดูเป็นอสูรกายดาษๆ แต่อย่างใด ผมหวังเพียงว่า เมื่อคนดูได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว พวกเขาจะกลัวคนที่ดูสามัญชนทั่วไป แบบที่ยืนต่อแถวพวกเขาเวลาเข้าร้าน โฮม ดีโป (The Home Depot – ร้านค้าวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้านสัญชาติอเมริกัน) น่ะ” ฟินเชอร์ กล่าว

สำหรับตัวฟินเชอร์เอง เขาแจ้งเกิดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วยการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอให้ศิลปินมากหน้าหลายตา ที่หลายคนอาจจะคุ้นหน้าอยู่หน่อยคงเป็น ริค สปริงฟิลด์ (Rick Springfield), มาดอนนา (Madonna), วง Aerosmith และ อิกกี ป๊อป (Iggy Pop) ก่อนที่สตูดิโอ 20th Century Fox จะยื่นข้อเสนออีกขั้นให้ฟินเชอร์วัย 28 ในเวลานั้น ให้มากำกับหนังภาคต่อที่ถูกจับตามองอย่าง Alien³ (1992) หลังจากภาคแรกคือ Alien (1979) ของปู่ ริดลีย์ สก็อตต์ (Ridley Scott) ประสบความสำเร็จถล่มทลาย คนทั้งโลกรู้จักซีโนมอร์ฟ (Xenomorph) สิ่งมีชีวิตจากต่างดาวโคตรอำมหิตและฉากจำชวนแหวะ เมื่อสัตว์ประหลาดตัวจิ๋วฝังไข่ในร่างมนุษย์ (!!) ตามมาด้วย Aliens (1986) โดย เจมส์ แคเมอรอน (James Cameron) ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ไม่แพ้ภาคแรก แรงกดดันจึงตกอยู่ที่ผู้กำกับหนุ่มนามฟินเชอร์กับการทำหนังภาคต่อว่าด้วยชีวิตโคตรเดือดของ ริปลีย์ (แสดงโดย ซิกัวร์นีย์ วีเวอร์ เจ้าเก่าเจ้าเดิม) นักบินอวกาศที่ตะลุยเอาชีวิตรอดจากฝูงซีโนมอร์ฟมาตั้งแต่ภาคแรก ภาคนี้เธอหลบหนีไปติดอยู่บนดาวร้างอันเป็นคุกของเหล่านักโทษ ทว่า ชะตากรรมของเธอยังผูกโยงอยู่กับอสูรกายจากต่างดาวที่ติดมากับยานด้วย!

เบื้องหลังงานสร้างที่กล่าวกันว่านรกแตกและโกลาหลสุดๆ เมื่อโปรดิวเซอร์เห็นทิศทางหนังไม่ตรงกันสักคน จนงอกบทหนังออกมาหลายต่อหลายเวอร์ชั่น มิหนำซ้ำยังเปลี่ยนมือผู้กำกับหลายคนซึ่งล้วนแล้วแต่กระโจนออกจากโปรเจกต์นี้เมื่อเห็นเค้าลางความยุ่งเหยิง จนตกมาถึงมือฟินเชอร์ซึ่งบทหนังก็ยังไม่นิ่งดี ทั้งนี้ ทางออกของตอนนั้นคือนักเขียนบทจะส่งแฟ็กซ์บทหนังที่ผ่านตาสตูดิโอมาให้ในกองถ่ายวันต่อวัน และบ่อยครั้งที่สตูดิโอตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนทิศทางของหนัง ทำให้บทที่เพิ่งถ่ายทำไปใช้ไม่ได้ และยังผลให้ฟินเชอร์โกรธจัดจนควันออกหู (ความวายป่วงนี้ประจักษ์ได้จาก เร็กซ์ พิกเก็ตต์ มือเขียนบทที่ถูกคนจากสตูดิโอโทรศัพท์ตามมารังควานเช้าสายบ่ายเย็น ให้เขียนบทแบบที่พวกเขาอยากได้ซึ่งไม่ตรงกับที่ฟินเชอร์ต้องการ)

“ผมอยู่กับโปรเจกต์นี้สองปี ถูกไล่ออกไปสามหน แล้วก็ต้องสู้ยิบตาต่อทุกเรื่องระหว่างถ่ายทำ” ฟินเชอร์บอกอย่างหัวเสีย “บอกเลยว่าไม่มีใครเกลียดหนังเรื่องนี้มากเท่าผม จนถึงวันนี้ ก็ไม่มีใครเกลียดมันเท่าผมแล้ว”

หลังจากฟกช้ำจากการถูกนายทุนแทรกแซงการทำหนังเรื่องแรกของชีวิต สามปีให้หลัง ฟินเชอร์ก็กลับมาอีกครั้งกับ Se7en (1995) หนังเรื่องแรกที่เขาได้ร่วมงานกับ แบรด พิตต์ (Brad Pitt) ซึ่งในเวลาต่อไปกลายเป็นนักแสดงคู่บุญระดับตำนานของฟินเชอร์ ว่าด้วย โซเมอร์เซ็ต (แสดงโดย มอร์แกน ฟรีแมน) นักสืบเตรียมปลดระวางกับ มิลล์ส (พิตต์) นักสืบหน้าใหม่ไฟแรงที่ต้องมารับผิดชอบคดีฆาตกรรมต่อเนื่องของฆาตกรที่ดูเหมือนจะไล่สังหารเหยื่อตามบาปเจ็ดประการ (Seven Deadly Sins) ของศาสนาคริสต์ 

และก็เป็น Se7en นี่เองที่ฟินเชอร์ในวัย 31 ปีได้สำแดงลายเส้นงานกำกับของเขา ผ่านบรรยากาศหม่นทึม, ตัวละครจิตใจไม่ปกติ และกลิ่นอายความเป็นทริลเลอร์หนาหนักผ่านงานภาพและการไล่เลื้อยกล้องตามตัวละครราวกับคนดูเป็นผู้สะกดรอยตามที่ตัวละครไม่อาจรับรู้ถึงการมีอยู่ 

แอนดรูว เควิน วอลเกอร์ (Andrew Kevin Walker) คนเขียนบทบอกว่า เขาได้ไอเดียเรื่องนี้มาจากตอนย้ายที่อยู่จากชานเมืองแถบเพนซิลเวเนียไปยังมหานครนิวยอร์ก ซึ่งทำให้เขาเห็นอาชญากรรมหลากประเภทจ่ออยู่ใต้จมูก มิหนำซ้ำ ความหม่นเทาของตัวเมืองยังทำให้เขาพาลหดหู่อย่างเลี่ยงไม่ได้ “มันก็จริงนะ ที่ว่าหากผมไม่ได้ใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก ผมคงไม่ได้เขียนบทหนังเรื่อง Se7en ขึ้นมา เหมือนทุกสิ่งทุกอย่างมันถูกจังหวะไปหมด จังหวะ อารมณ์ แรงบันดาลใจอะไรต่อมิอะไรในเวลานั้นน่ะ” แอนดรูว เล่า

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังถูกพูดถึงจนทุกวันนี้คือฉากจบอันตราตรึง ที่แม้แต่สตูดิโอก็ยังรู้สึกว่ามันรุนแรงไป และมีแนวโน้มจะเข้ามาแทรกแซงการถ่ายทำอีกครั้ง ร้อนถึง แบรด พิตต์ ต้องยืนกรานกับพวกเขาว่าหากมีการเปลี่ยนบทตอนจบแม้แต่นิดเดียว เขาจะถอนตัวออกจากการถ่ายทำทันที ภายหลังพิตต์ให้สัมภาษณ์ว่าเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในหนังที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เขาเคยแสดง

หนังลำดับต่อมาที่พิตต์ได้ร่วมงานกับฟินเชอร์คือ Fight Club (1999) ต้นกำเนิดประโยค “The first rule of Fight Club is: you do not talk about Fight Club.” ตัวหนังดัดแปลงจากงานเขียนชื่อเดียวกันปี 1996 ของ ชัค พอลานิค (Chuck Palahniuk) เล่าเรื่องของพนักงานออฟฟิศ (แสดงโดย เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ ไม่ว่าจะเพียรรักษาอย่างไรก็ดูเหมือนร่างกายของเขาจะต่อต้านการพักผ่อนเสมอ หนทางเดียวที่ทำให้เขาหลับได้คือการแฝงตัวเข้าร่วมกลุ่มบำบัดคนที่เป็นมะเร็ง และที่แห่งนี้ เขาได้เจอกับ มาร์ลา ซิงเกอร์ (แสดงโดย เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) สาวปริศนาที่ก็มาเนียนแฝงตัวอยู่ในกลุ่มเช่นกัน การปรากฏตัวของเธอ ซึ่งเป็นคนนอกของวงบำบัดไม่ต่างจากเขา ทำให้พนักงานออฟฟิศกลับไปนอนไม่หลับอีกครั้ง 

ระหว่างนี้ เขาออกเดินทางไปทำงานและพบกับ ไทเลอร์ เดอร์เดนต์ (แสดงโดย แบรด พิตต์) คนขายสบู่ที่ชวนตั้งคำถามถึงการใช้ชีวิตของเขา และหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง พนักงานหนุ่มก็ได้เป็นประจักษ์พยานเห็นอพาร์ตเมนต์สุดหรูของตัวเองระเบิดโครมต่อหน้าต่อตา เพื่อจะหาที่ซุกหัวนอน เขาโทรศัพท์หาไทเลอร์ มิตรสหายที่เพิ่งรู้จักกันไม่กี่อึดใจ แน่นอนว่าไทเลอร์ตกปากรับคำ และหลังจากดื่มด้วยกันหมดไปหลายแก้ว ไทเลอร์ก็ขอร้องแกมบังคับให้เขาต่อยเปรี้ยงเข้าที่ตรงไหนสักแห่งของเนื้อตัว และเป็นต้นธารของการถือกำเนิด Fight Club คลับนักสู้ใต้ดิน

“ผมว่าตัวพนักงานออฟฟิศก็เป็นภาพแทนของคนหนุ่มทุกคนแหละ เหมือนหนังเรื่อง The Graduate (1967 ที่ว่าด้วยชีวิตสามัญของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ถูกพ่อแม่ผลักดันให้แต่งงานและหาเงินมากๆ) คือหนังมันว่าด้วยช่วงเวลาที่คุณยังมีตัวเลือกต่างๆ ในชีวิต มีความหวังมากมาย แต่เรากลับไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเราเป็นใครแน่ แล้วเราก็ต้องเลือกทางเดินให้ชีวิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” ฟินเชอร์บอก 

“คุณอาจเลือกผิด แต่ถึงที่สุดคุณก็จะเจอทางที่ถูกต้องเอง แค่ว่ามันยุ่งเหยิงเท่านั้น ขณะที่ Fight Club เป็นมุมกลับของเรื่องที่ว่า มันพูดถึงชายที่ไม่มีทางเลือกอะไรเลย ไม่มีตัวเลือกใดในมือ มองไม่เห็นทางเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองด้วยซ้ำ”

Fight Club เป็นหนึ่งในหนังที่วิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมระดับปล่อยหมัดตรง ทั้งยังพูดถึงความเปราะบางของชนชั้นกลางและความอ่อนไหวของความเป็นชายผ่านตัวละครของนอร์ตัน พนักงานออฟฟิศที่ถมเงินที่มีไปกับสินค้าสุดหรูเพื่อนำมาสร้างไลฟ์สไตล์ให้ตัวเอง ตัวตนของเขาคือข้าวของที่เขาเพียรซื้อมา (ในทางกลับกัน มาร์ลา ซิงเกอร์ ที่เดินเข้าเดินออกร้านเสื้อผ้ามือสองจึงเป็นอีกขั้วหนึ่งของเขา) ความเวรความกรรมของเรื่องคือ สตูดิโอตั้งใจจะขายความหล่อหมดจดของแบรด พิตต์ (ผู้ซึ่งในเวลานั้น ลอนกล้ามหน้าท้องทุกลูกถูกขนานนามว่าเป็น ‘ซิกซ์แพ็คแห่งยุค 90s’ ถึงขั้นมีคนทำตารางออกกำลังกายและตารางอาหารเพื่อให้ได้หุ่นแบบไทเลอร์ เดอร์เดนต์ขึ้นมา) และขายฉากต่อสู้ในลักษณะหนังแอ็กชัน ท่ามกลางสายตากังขาของฟินเชอร์ซึ่งเชื่อว่าควรบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังอย่างตรงไปตรงมามากกว่า (อย่างไรก็ดี แม้แต่การสัมภาษณ์ออกสื่อ แบรด พิตต์ก็บอกคนดูได้แค่ว่า “มันก็เป็นหนังว่าด้วยคนกับการก่อตั้งคลับขึ้นมาน่ะครับ มันอธิบายยากอยู่สักหน่อย แต่ก็แถวๆ นี้แหละ”

และแม้ตอนแรก หนังจะทำเงินไม่เข้าเป้านัก แต่ในเวลาต่อมา มันก็กลายเป็นหนึ่งในหนังที่หลายคนรักและบอกว่าออกจะมาก่อนกาลไปนิด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมกับความเป็นชายอันแหลมคมของตัวหนัง

ผลงานลำดับต่อมาคือ The Social Network (2010) หนังชิงออสการ์แปดสาขา รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและกำกับยอดเยี่ยม และคว้ากลับมาได้สามสาขา ได้แก่ดัดแปลงบทยอดเยี่ยม ตัดต่อยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม โดยตัวหนังดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง The Accidental Billionaires (2009) เขียนโดย เบน เมซริช (Ben Mezrich) ว่าด้วยการถือกำเนิดขึ้นของเว็บไซต์ Facebook จากเด็กหนุ่มมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (แสดงโดย เจสซี ไอเซนเบิร์ก) ที่เพิ่งจะถูกแฟนสาวทิ้งมาหมาดๆ เพื่อจะแก้แค้นเธอ เขาจึงเจาะระบบอินเตอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยและขโมยรูปนักศึกษาหญิง รวมทั้งอดีตคนรักของเขา มาไว้ด้วยกันแล้วให้คนที่มาเยี่ยมชมลงคะแนนความสวย และแม้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจะโกรธจนควันออกหู แต่เว็บบล็อกเจ้ากรรมก็ดันติดตลาด เป็นที่นิยมของนักศึกษา รวมทั้งฝาแฝด วิงเคิลวอสส์ (แสดงโดยอาร์มี แฮมเมอร์ ทั้งสองบทบาท) ขณะที่ซักเคอร์เบิร์กเองก็ตั้งใจจะปั้นเจ้าเว็บบล็อกดังกล่าวให้เป็นเรื่องเป็นราว ด้วยการชวน เอดูอาร์โด ซาเวริน (แสดงโดย แอนดรูว การ์ฟิลด์) ให้มาร่วมสร้างด้วย โดยไม่ทันตระหนักเลยว่านี่คือจุดจบของมิตรภาพและก้าวแรกของความบาดหมาง

เรื่องนี้ เป็นผลงานดัดแปลงบทโดยยอดฝีมืออย่าง อารอน ซอร์กิน (Aaron Sorkin) ผู้ที่ในเวลาต่อมาผันตัวไปกำกับหนังเองจาก The Trial of the Chicago 7 (2020) ซึ่งเขาเล่าว่า สิ่งที่ทำให้เขาอยากเขียนบทหนังเรื่องนี้นั้น ไม่ใช่เพราะความสำเร็จของซักเคอร์เบิร์กหรือเว็บไซต์ Facebook หากแต่เป็นเรื่องราวของมิตรภาพและการแตกหักที่เกิดขึ้นระหว่างทางต่างหาก 

“มันว่าด้วยเรื่องของเพื่อน ความจริงใจที่เรามีต่อกัน ความอิจฉา ชนชั้นทางสังคมและอำนาจที่เราต่างมีในมือ” ซอร์กินบอก “ผมอ่าน The Accidental Billionaires ไปได้แค่สามหน้าก็ตกลงใจแล้วว่าจะดัดแปลงมันเป็นบทหนัง นี่เป็นการตกลงใจที่รวดเร็วที่สุดที่ผมเคยทำมาเลย”

หากไปอยู่ในมือคนอื่น The Social Network คงไม่แคล้วเป็นหนังเล่าชีวประวัติคนดังที่ประสบความสำเร็จธรรมดา หากแต่เมื่อมาอยู่ในมือของฟินเชอร์ มันก็กลายเป็นหนังที่พูดเรื่องความเป็นมนุษย์ได้ดิบเถื่อนมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซักเคอร์เบิร์กในเรื่องถูกนำเสนอให้เป็นทั้งคนที่น่าเอาใจช่วยและน่าประณาม เขาเข้าสังคมไม่เก่ง ทะเยอทะยานและแน่นอนว่าเป็นอัจฉริยะ ด้วยภาวะเช่นนี้ เมื่อเขาต้องเผชิญหน้ากับความสำเร็จและชื่อเสียงในระดับที่ไม่เคยจินตนาการถึง ตัวละครจึงจมดิ่งอยู่กับความไม่รู้และไม่เข้าใจตัวเอง จะมีก็เพียงความดำมืดสุดหยั่งเท่านั้นที่ยังหลงเหลือไว้ 

Tags: , , , , , , ,