หากถามว่าพื้นที่ส่วนไหนของกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคำตอบก็คงจะหนีไม่พ้น ‘ธนบุรี’ ย่านเมืองเก่าที่ถูกเรียกติดปากกันว่า ‘ฝั่งธนฯ’ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากจำนวนคอนโดฯ สูงระฟ้าเพิ่มขึ้นแทรกซึมตามบ้านเรือน และการเข้ามาของขนส่งมวลชนสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าที่ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น

 เช่นเดียวกับวิถีชีวิตริมฝั่งคลองบางกอกใหญ่ เมื่อพื้นที่บางส่วนของ ‘เฮ้าย่งเซ้ง’ โรงงานซีอิ๊วเก่าแก่ที่อยู่คู่กับคนฝั่งธนฯ นับ 100 ปี ได้รับการดัดแปลงให้กลายเป็น ‘คาเฟ่โรงงานซีอิ๊ว’ ภายใต้การนำของ มายมิ้น-ปิยภาณี กมลศักดาวิกุล ทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลกมลศักดาวิกุล ผู้ร่ำเรียน ‘วิศวกรรมทางอาหาร’ หวังนำความรู้มาต่อยอดกิจการของครอบครัวร่วมกับ ฟ้า-ดวงพร สุ่นเสียง เจ้าของร่วมและญาติฝั่งมารดา ที่เข้ามาช่วยดูแลด้านการตลาดของร้านให้กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์

นอกจากรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม ตั้งแต่กรรมวิธี รสชาติ จนถึงกลิ่นของซีอิ๊วที่ไม่มีใครเหมือน​ โดยที่ ปุ่น-สหรัชต์ กมลศักดาวิกุล และรุ่ง-สุสมะ สุ่นเสียง ทายาทรุ่นที่ 4 และภรรยา เจ้าของโรงงานตัวจริงเสียงจริงคนปัจจุบัน ยังคงใส่ใจพิถีพิถันทุกรายละเอียดในการสร้างผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง

ความโดดเด่นของเฮ้าย่งเซ้งในวันนี้จึงถูกยกระดับไปอีกขั้น ด้วยฝีมือของคนรุ่นใหม่ที่ร่วมกันใช้ความคิดสร้างสรรค์แปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยไม่ได้จำกัดแค่อาหารจานเด็ด แต่ยังทำลายภาพจำเดิมๆ ของซีอิ๊วในเมนู ‘ขนม’ และ ‘เครื่องดื่ม’ ด้วยวิธีคิดอันแยบยลคือ การใช้ความเป็นสมัยใหม่จากคาเฟ่สุดน่ารัก เพื่อย้อนเล่าเรื่องในอดีตและทำให้คนไทยรู้จักที่มาที่ไปของซีอิ๊วอย่างแท้จริง

คอลัมน์ Out and About ของ The Momentum สัปดาห์นี้ขออาสาพาทุกคนตะลุยกรุงธนบุรี เพื่อตามรอยเรื่องราวของซีอิ๊วที่เป็นมากกว่าเครื่องปรุง รวมถึงลิ้มลองเมนูสุดสร้างสรรค์จาก Hauyongseng Cafe ทั้งในรูปแบบคาวหวานไปพร้อมกัน

 

1

เฮ้าย่งเซ้ง โรงงานซีอิ๊วอายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ในย่านคลองบางกอกใหญ่ หรือเป็นที่รู้จักในอีกชื่อคือ คลองบางหลวง ชุมชนริมน้ำเก่าแก่ในกรุงธนบุรี เรื่องราวของเฮ้าย่งเซ้งเริ่มต้นจากบรรพบุรุษตั้งแต่รุ่นเหล่ากงและเหล่าม่า ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกรากอยู่ริมคลองแห่งนี้ พร้อมกับสูตรการทำซีอิ๊ว และวิธีการผลิตอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ในทุกหยดมาจากเมืองจีน

สิ่งที่ทำให้เฮ้าย่งเซ้งโดดเด่นคือ กระบวนการผลิตที่ยังคงยึดถือในวิธีดั้งเดิม ตั้งแต่การหมักถั่วเหลืองในโอ่งดินด้วยแสงอาทิตย์ ไปจนถึงการต้มด้วยฟืนแบบโบราณโดยใช้เตาที่มีอายุ 100 ปี เพื่อคงเอกลักษณ์กลิ่นหอม ทุกขั้นตอนต้องอาศัยความอดทนและความพิถีพิถัน ใช้เวลารวมกว่า 6 เดือน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ซีอิ๊วหวาน ‘ตราซังฮี้’ หรือซีอิ๊วเค็ม ‘ตรานกคู่’ ที่หอมกรุ่นและเปี่ยมด้วยรสชาติที่ไม่เหมือนใคร โดยสามารถพบได้ตามร้านค้าทั่วไป

ความทรงจำตั้งแต่วันแรกที่เหล่ากงและเหล่าม่าบรรจงหมักถั่วเหลืองด้วยมือ นับจากวันนั้นถึงวันนี้ สหรัชต์ยืนยันหนักแน่นว่า เขาไม่เคยเปลี่ยนวิธีการทำ ทุกขั้นตอนคือบทเรียนที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยคุณภาพที่สม่ำเสมอและความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต เฮ้าย่งเซ้งจึงยังคงเป็นที่ยอมรับในกลุ่มลูกค้าประจำ และทำให้โรงงานซีอิ๊วแห่งนี้ยังอยู่ต่อไป

“ตลาดมันไปได้ เราก็เลยทำต่อ” สหรัชต์อธิบาย

แม้กระบวนการผลิตจะยังคงยึดถือวิธีการดั้งเดิม แต่ทายาทรุ่นที่ 4 ของเฮ้าย่งเซ้งก็ได้ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยโดยนำแนวคิดรุ่นใหม่เข้ามาประยุกต์ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพจออนไลน์ เพื่อรักษาลูกค้าเก่าและหาลูกค้าใหม่ รวมทั้งวางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์ เช่น ไข่เค็มซีอิ๊วและไข่ดองซีอิ๊ว ที่นำเอกลักษณ์ของรสชาติเฮ้าย่งเซ้งมาพัฒนาเป็นสินค้าใหม่

การสืบทอดกิจการที่มีอายุกว่า 100 ปีอย่างเฮ้าย่งเซ้งเต็มไปด้วยความหวังและความตั้งใจ สหรัชต์และสุสมะเชื่อมั่นว่า รุ่นลูกหลานจะมีความรู้ความสามารถมากพอที่จะดูแลธุรกิจนี้ให้เดินหน้าต่อไป หากตลาดยังเปิดโอกาสและฐานลูกค้ายังแข็งแรง

“ถ้ากิจการมันไปต่อได้ เขาก็คงรับช่วงต่อ ถ้าตลาดตัน เขาอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น แต่วันนี้ที่เรายังมีฐานลูกค้าอยู่ เลยคาดหวังว่ามันยังจะไปต่อได้ อีกอย่างเรามั่นใจว่า เด็กรุ่นหลังจะมีสติปัญญามากกว่าเรา อยากให้เขาอนุรักษ์หลักสูตรดั้งเดิม ทำแบบเดิมแบบนี้ต่อไป” สุสมะทิ้งท้ายถึงความหวังในการส่งต่อกิจการที่มีอายุนับ 100 ปีให้กับลูกหลานของเธอ

2

จากเรื่องราวในอดีตสู่ปัจจุบัน กาลเวลาแปรสภาพเฮ้าย่งเซ้งให้กลายเป็น ‘คาเฟ่ริมน้ำ’ ที่ต้อนรับทุกคนมาแวะเวียนพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมกับเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของโรงงานซีอิ๊วภายใต้วิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่คือ ปิยภาณีและดวงพร ขณะที่สหรัชต์และสุสมะคอยให้การสนับสนุนอยู่ไม่ห่าง

อาจบอกได้ว่า พวกเธอทั้ง 2 คนรู้จักความเป็นเฮ้าย่งเซ้งได้ดีไม่แพ้คนรุ่นก่อน เพราะในห้วงความทรงจำตั้งแต่เล็กจนโต ชีวิตของทั้งคู่เติบโตมากับผลิตภัณฑ์และสถานที่แห่งนี้มาตลอด จนเมื่อถึงจุดหนึ่ง ครอบครัวและพวกเธอเห็นพ้องต้องกันว่า เฮ้าย่งเซ้งต้องการความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ แม้โรงงานมีเอกลักษณ์จากเรื่องราวในอดีต รวมถึงฐานลูกค้าเดิม แต่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ ผู้คนอาจจะไม่ได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ซีอิ๊วมากนัก 

“ตอนนั้นเรามองว่า ทำอย่างไรให้ลูกค้าสามารถเข้าถึง (ผลิตภัณฑ์) ได้ง่ายและรู้จักโรงงานมากขึ้น ต้องเล่าว่า ส่วนใหญ่ลูกค้าจะสับสนผลิตภัณฑ์ระหว่างซีอิ๊วขาวกับซีอิ๊วดำ เขาคิดว่าไม่เหมือนกันหรือ 

“การเปิดคาเฟ่และร้านอาหารเป็นการทำให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถทำเมนูอะไรได้บ้าง เหมือนกับเป็นการแนะนำและนำเสนอลูกค้าอีกทีว่า เมนูนี้ทำจากอะไร สมมติลูกค้าถามว่า เมนูนี้ทำจากซีอิ๊วแบบไหน มันก็จะสามารถย้อนเล่าได้ว่า ตัวผลิตภัณฑ์คืออะไร” ปิยภาณีอธิบาย

คาเฟ่โรงงานซีอิ๊ว Hauyongseng Cafe จึงถือกำเนิดขึ้นมาในเดือนสิงหาคม 2567 โดยมีหัวใจสำคัญคือ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านเมนูหลากหลายทั้งคาว หวาน และเครื่องดื่ม ด้วยความตั้งใจสร้างภาพจำใหม่ว่า ซีอิ๊วเป็นได้มากกว่าเครื่องปรุงอาหาร ขณะที่เรื่องราวและความเก่าแก่ของพื้นที่แห่งนี้ยังผสมผสานเข้าเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการตลาดและสื่อโซเชียลฯ ในยุคปัจจุบัน

“จริงๆ โรงงานตั้งอยู่ในสถานที่ที่ดีคือริมน้ำ เราก็มีไอเดียหนึ่งว่า ถ้าเราสามารถขยายหรือต่อเติมส่วนอื่นให้เป็นคาเฟ่ริมน้ำก็คงจะดี แล้วตรงนี้จะต่างจากคาเฟ่ที่อื่น เพราะเราเป็นคาเฟ่ที่มีโรงงานซีอิ๊วด้วย บอกได้ว่าจุดเด่นและเอกลักษณ์หลักของร้านคือ การมาแล้วคุณได้กินอาหาร ขนม เครื่องดื่มที่เชื่อมโยงกับโรงงานซีอิ๊ว” ดวงพรอธิบายเสริม

สำหรับเมนูซิกเนเจอร์ของร้านที่ The Momentum ได้ลิ้มลอง ได้แก่ เมนูอาหาร 2 อย่าง คือ ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นและข้าวผัดโบราณ ตามมาด้วยเมนูของหวานอย่างไอติมซีอิ๊ว ตบท้ายด้วยเครื่องดื่ม 3 อย่าง ได้แก่ Hau Latte ลาเต้ซีอิ๊ว, Hau Thai Tea ชาไทยซีอิ๊ว และ Hau Soda โซดาซีอิ๊ว

ต้องบอกว่า เป็นการกินอาหารที่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่และชวนทึ่งอยู่ไม่น้อย เริ่มต้นด้วยก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น เมนูที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุด มีเอกลักษณ์คือการใช้ซีอิ๊วเค็มตราซังฮี้ ทำให้รสชาติน้ำซุปแตกต่างจากที่อื่น คือมีความคล้ายน้ำพะโล้ในรสเค็มนำ หวานตาม ขณะที่องค์ประกอบอย่างหมูตุ๋นเปื่อยอย่างสมบูรณ์แบบ จนไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมทางร้านจึงนำมาเป็นเมนูซิกเนเจอร์ของร้าน เพราะอร่อยในแบบ ‘ไม่ต้องปรุง’ ตามคำแนะนำของเจ้าของร้านจริงๆ 

ตามมาด้วยข้าวผัดโบราณใส่หมูและไข่เจียว แค่เพียงรูปร่างหน้าตาก็ทำให้เรานึกถึงหวนอดีตในวัยเด็ก พอเมื่อชิมรสชาติเหมือนกับว่า ได้กินข้าวที่ครอบครัวทำ โดยมีรสชาติของซีอิ๊วเค็มตราซังฮี้นำ ข้าวเป็นเม็ดร่วนผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกับซอส ขณะที่กินคู่กับหมูหมักด้วยซีอิ๊วและไข่เจียวนับว่าไร้ที่ติ 

มาตัดรสชาติด้วยของหวานกันบ้าง ด้วยไอศครีมซีอิ๊วหวานผสมด้วยวิปครีม มีท็อปปิงคือไข่มุก แม้ฟังชื่อดูจะทำให้ใจตุ่มต่อมอยู่ไม่น้อยกับการนำเครื่องปรุงอาหารคาวมาผสมกับของหวาน แต่ทันทีที่ได้ชิมเมนูนี้ก็ทำให้ผู้เขียนเปลี่ยนความคิดอย่างสิ้นเชิง เพราะสัมผัสแรกของไอศครีมให้ความรู้สึกเหมือนคาราเมลน้ำตาลไหม้ แต่เมื่อกินไปเรื่อยๆ รสชาติที่แท้จริงของซีอิ๊วหวานตรานกคู่จะโดดเด่นขึ้นมา เข้ากันได้ดีมากกับเนื้อไอศครีมที่มีวิปครีมและนม พร้อมกับกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของร้าน 

ปิดท้ายด้วยเครื่องดื่มผสมซีอิ๊ว 3 อย่าง โดยทั้งหมดมีส่วนผสมสำคัญคือ ซีอิ๊วหวานตรานกคู่ เริ่มจาก Hau Lette หรือลาเต้ซีอิ๊วหวาน รสชาตินำคือลาเต้ที่เข้มข้น ตามด้วยกลิ่นและรสชาติซีอิ๊วหวานแทรกอยู่ ขณะที่ Hau Thai Tea คือเมนูชาไทยซีอิ๊วหวาน นับว่าเป็นเครื่องดื่มที่อร่อย เพราะซีอิ๊วเข้ากับชาไทยได้ดีโดยไม่ผิดแผก 

แต่ไฮไลต์เด็ดคือ Hau Soda โซดาซีอิ๊วหวานที่มีส่วนผสมของผลไม้คือพีชและเลม่อน เพราะเป็นเครื่องดื่มที่กินแล้ว ‘รู้สึกสนุก’ พูดให้ง่ายขึ้นคือ กินแล้วรู้สึกแปลก แต่อร่อยกว่าที่คิด และสนุกในการเปรียบเทียบรสชาติ ซึ่งสรุปได้ว่าเหมือนน้ำบ๊วยผสมยาแก้ไอโบราณ (ที่กินได้) อย่างบอกไม่ถูก

ไม่ใช่แค่อาหารจานเด็ด เครื่องดื่มและขนมสุดสร้างสรรค์ แต่คาเฟ่โรงงานซีอิ๊วแห่งนี้ยังมีกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ให้ทุกคนได้เลือกทำแบบตามใจชอบ เช่น กิจกรรมวาดรูป ร้อยลูกปัด รวมถึงการตกแต่งคุกกี้ที่ไม่ซ้ำกันแต่ละเดือนและอิงตามเทศกาลสำคัญ

3

ให้คนได้ลิ้มลองก่อน หากถูกใจคนจะตามหาสิ่งนั้นต่อเอง 

คือวิธีคิดของคาเฟ่โรงงานซีอิ๊วที่ได้รับแรงบันดาลใจเรื่องราวในอดีต ย้อนกลับในปี 2540 เอเชียกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งสำคัญ ซึ่งหากเทียบบริบทของประเทศไทยคือวิกฤตต้มยำกุ้ง

ขณะนั้น เฮ้าย่งเซ้งอยู่ภายใต้การดูแลของ สมชาย กมลศักดาวิกุล หรือ ‘อาก๋ง’ ของปิยภาณี แม้คาดการณ์ว่า ธุรกิจอาจไปต่อได้ยากเพราะสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้และตัดสินใจใช้วิธีการที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง คือการให้ลูกค้า ‘ชิม’ ซีอิ๊วฟรี ทำให้คนจดจำรสชาติ และการันตีคุณภาพของสินค้า จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้โรงงานไปต่อได้จนถึงทุกวันนี้

“จริงๆ คาเฟ่ของเรามีโมเดลจากเรื่องของอาก๋งในอดีต คือการทำอาหารให้คนได้ลองกินก่อน ถ้าลูกค้าติดใจเขาจะตามหาสิ่งนั้นเอง เหมือนกับที่เราบอกว่า ผลิตภัณฑ์เล่าเรื่องราวอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น

“ตอนนี้กลุ่มลูกค้าหลายวัยมาก แม้แต่บางคนที่เขายังไม่ได้เปิดใจ แต่พอมาถึงที่ร้าน ได้กินอาหารที่ผสมผลิตภัณฑ์ลงไป เขาก็สนใจ แล้วก็ซื้อของกลับบ้านกันเยอะ” ปิยภาณีเล่า 

เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ ราว 4 เดือน คาเฟ่แห่งนี้เป็นที่รู้จักวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทั้งได้รับตอบรับในแง่บวกจากลูกค้าใหม่และเก่า รวมถึงคนที่อาศัยละแวกนี้ อาจบอกได้ว่า ลำพังไม่ใช่แค่เพราะเรื่องราวที่ดีของผลิตภัณฑ์และสถานที่เอง แต่ต้องอาศัยอานุภาพของ ‘ศาสตร์การตลาด’ โดยเฉพาะการมีอยู่ของโซเชียลฯ ที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจมากขึ้น

“ก่อนหน้านี้เราเคยทำงานด้านมาร์เก็ตติงมาก่อน เราก็จะรู้ว่าจะเข้าถึงลูกค้าอย่างไร ถ้าเป็นคาเฟ่ ส่วนใหญ่เราจะเน้นไปในทาง TikTok แม้จะมีทุกโซเชียลมีเดียก็ตาม นอกจากนี้ เราก็ทำเพจออกไปเองว่า มีโรงงานซีอิ๊วด้วยนะ เข้ามาดูหรือชมได้ ขณะที่ก็มีเครื่องดื่ม อาหาร และขนมจากซีอิ๊ว” 

ดวงพรเล่าเพิ่มเติมว่า การประชาสัมพันธ์ทางโซเชียลฯ ช่วยทำให้หลายคนหันมาสนใจพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น แม้แต่คนเก่าแก่ที่เคยอาศัยในละแวกนี้ แต่ย้ายออกไปแล้วก็ตาม

แม้จะเติบโตในนามของคาเฟ่โรงงานซีอิ๊ว ทว่าความตั้งใจของปิยภาณีในระยะยาว คือการรักษาเฮ้าย่งเซ้งให้กลายเป็น ‘พิพิธภัณฑ์’ เพื่อให้คนเข้ามาเรียนรู้ที่มาที่ไป และศึกษา ‘แก่นแท้’ ของซีอิ๊วได้อย่างเต็มรูปแบบ

“เราอยากสานพื้นที่ตรงนี้ต่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนเข้ามาดูมากขึ้น เพราะตรงนี้ติดริมน้ำ ก็มีนักท่องเที่ยว ถึงแม้เราอาจจะไม่ได้รับทั้งหมด แต่ในอนาคตอยากจะทำพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ให้คนได้ชมหรือเห็น ขณะที่ทางเราได้อธิบายมากขึ้น เช่น มีใบปลิว ป้ายบอกความเป็นมา หรือโซนให้คนเข้าชมหรือเข้าถึงง่าย ไปจนถึงการมีเวิร์กช็อปให้คนเข้าใจมากขึ้น แล้วก็อาจจะมีผลิตภัณฑ์บางตัวให้คนเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าเดิม” ปิยภาณีอธิบาย

สำหรับในแง่การพัฒนาเมนูของร้าน นอกจากอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวของสุสมะที่เคยเปิดร้านอาหารเข้ามาช่วยดูแลด้านอาหารคาว รวมถึงทีมหลังบ้านที่พัฒนาของหวานและเครื่องดื่ม โดยมีแพลนคิดค้น ‘เค้กรสซีอิ๊ว’ และ ‘เบียร์คราฟต์ซีอิ๊ว’ 

ปิยภาณียังหมายมั่นที่จะใช้ความรู้ทางวิศวกรรมทางอาหาร มาพัฒนาโรงงานซีอิ๊ว เนื่องจากกรรมวิธีปัจจุบันเป็นสูตรดั้งเดิมและใช้พลังคนเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจจะรับกลุ่มลูกค้าใหม่ได้ไม่มากพอ โดยมีโจทย์สำคัญคือ การรักษาเอกลักษณ์สำคัญของผลิตภัณฑ์อย่าง ‘กลิ่นคั่วจากเตาฝืน’ ซึ่งในแวดวงวิศวกรรมทางอาหารก็ยังเฟ้นหาวิธีการดังกล่าวอยู่

เมื่อถามถึงความยากของการเริ่มต้นธุรกิจ ปิยภาณีตอบด้วยความจริงใจว่า การทำคาเฟ่ในยุคที่ร้านใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกธุรกิจย่อมมีความท้าทายเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่ทำให้เธอมั่นใจว่าคาเฟ่แห่งนี้จะยืนหยัดต่อไปคือ ‘เรื่องราว’ ที่ซ่อนอยู่ในทุกมุมของร้าน

“ทุกธุรกิจมีเรื่องยากอยู่แล้ว เพราะทุกวันนี้คาเฟ่เกิดขึ้นทุกวัน แต่จะทำอย่างไรให้เราอยู่ต่อและดึงคนได้ต่อ นอกจากแค่มาแล้วไป สำหรับเรา เรามีจุดดีและจุดแข็งคือการเล่าเรื่องจากในอดีต พอมาแล้วคนจะได้รู้ว่า ตรงนี้คือโรงงานซีอิ๊ว” 

ปิยภาณีกล่าว พร้อมเล่าเพิ่มเติมถึงคอนเซปต์ของร้านที่อยากให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนมาพักผ่อนในวันหยุด นั่งกินอาหาร ชมวิวริมน้ำ และสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนอย่างใกล้ชิด เธอไม่ได้ตั้งใจสร้างคาเฟ่เพื่อให้คนแค่มาถ่ายรูปแล้วจากไป แต่อยากให้ทุกคนรู้สึกผูกพันกับที่นี่และอยากกลับมาสถานที่แห่งนี้อีกครั้ง

คำพูดของปิยภาณีทำให้เรารู้สึกวางใจแทนครอบครัวของเธอ และเชื่อว่าในอนาคต โรงงานซีอิ๊วจะสามารถเติบโตได้มากกว่านี้ คาเฟ่แห่งนี้ไม่ใช่เพียงธุรกิจที่ต่อยอดจากโรงงานซีอิ๊วเก่าแก่ แต่เป็นความพยายามรักษารากเหง้าของครอบครัว และถ่ายทอดคุณค่านี้ให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัส

Tags: , , , , , , , , ,