[1]
“หนูเป็นเด็กผู้หญิงจริงๆ นะ ข้างในของหนูเป็นผู้หญิง”
เอเวอรี แจ็กสัน (Avery Jackson) วัย 4 ขวบ กล่าวอย่างฉะฉานมั่นใจต่อหน้าพ่อแม่ ในสมัยที่สังคมรอบตัวยังมองว่า เจ้าตัวเป็นเด็กผู้ชายอยู่ เมื่อได้ฟังลูกพูดดังนั้นทั้งคู่จึงคอยสนับสนุนให้ลูกได้แสดงออกในแบบที่ต้องการ โดยอยู่ภายใต้คำปรึกษาของกุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็ก ข้อมูลสำคัญประการหนึ่งที่พวกเขาได้รับรู้คือ ตามสถิติเยาวชนข้ามเพศกว่า 50% จะต้องเคยพยายามฆ่าตัวตายอย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ สองสามีภรรยาจึงพยายามสุดความสามารถไม่ให้เอเวอรีต้องเจอกับชะตากรรมเดียวกัน
ราว 5 ปีให้หลัง เอเวอรีก็กลายเป็นคนข้ามเพศคนแรกที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร National Geographic แม้แต่ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็รู้จักชื่อของเธอ จากนั้นเมื่อเดินทางมาถึงจุดหนึ่งบนเส้นทางการตามหาตัวตน เอเวอรีก็ตัดสินใจออกมาประกาศว่า เธอไม่ได้มองว่าตนเป็นเด็กผู้หญิงอีกแล้ว แต่เป็นนอนไบนารี (Non-binary) และจะเปลี่ยนมาใช้สรรพนาม they/ them แทน she/ her
จากนั้นฝ่ายต่อต้านการข้ามเพศในเยาวชนทั่วโลกก็เริ่มเคลื่อนไหว โดยนำคำพูดดังกล่าวของเธอมาใช้อ้างอิง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) คือหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลของฝ่ายขวาที่แชร์เธรดเหล่านี้ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น เพจสรุปดราม่าต่างๆ และกลุ่มผู้ติดตามแฟรนไชส์ดังแฮร์รี พอตเตอร์ ค่อนข้างมีบทบาทอย่างมากในการนำการตีความดังกล่าวมาขยายต่อ
“แม่ของเอเวอรีทำให้ลูกพิการและเป็นหมันเพราะใช้ Puberty Blocker”
“เอเวอรีกล่าวในสารคดีว่า ชีวิตพังเพราะการข้ามเพศ”
“เอเวอรีได้เข้ากระบวนการ Detransition แล้ว”
ก่อนที่เราจะวนกลับมาที่เรื่องราวของเอเวอรีอีกครั้ง เพื่อแก้ไขข้อมูลผิดๆ จากการประโคมข่าวเหล่านี้ ผู้เขียนขอชี้ชวนให้ผู้อ่านทุกท่านพิจารณาข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งที่สังคมเราหยิบมาพูดถึงน้อยกว่าที่คิดคือ มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับกระบวนการข้ามเพศของเยาวชนกระจายอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตมากมายเสียจนน่าตกใจ
เมื่อปีที่แล้ว The Momentum เคยพาทุกท่านไปสำรวจอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของการผ่าตัดแปลงเพศในประเทศไทยกับศัลยแพทย์ผ่าตัดมาแล้ว ในปีนี้เราขอชวนกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ และตัวแทนคลินิกสุขภาพชุมชนคนข้ามเพศ มาย้อนความกลับไปที่การข้ามเพศอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนจะไปถึงขั้นตอนตัดสินใจว่าจะผ่าตัดแปลงเพศหรือไม่ นั่นคือการปรับฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ (Gender-affirming Hormone Therapy: GAHT) นั่นเอง
[2]
ที่แรกที่เราติดต่อไปทันทีที่ได้รับการยืนยันว่าจะมีสัมภาษณ์ในหัวข้อนี้คือ คลินิกแทนเจอรีน (Tangerine Clinic) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสถานพยาบาลที่ดูแลสุขภาพคนข้ามเพศมายาวนานกว่า 9 ปี ที่สำคัญคือเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา แทนเจอรีนยังมีการเปิดตัว ‘Tangerine Teen Pop’ คลินิกสุขภาพสำหรับวัยรุ่นเพศหลากหลายแบบครบวงจรอีกด้วย
เราจึงได้ เจี๊ยบ-กฤติมา สมิทธิ์พล หัวหน้าคลินิกแทนเจอรีนมาช่วยทลายมายาคติในมิติสังคม และคุณหมอดาว-ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธนินี สหกิจรุ่งเรือง แห่งภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยชี้แจงข้อเท็จจริงจากมุมมองของกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการปรับฮอร์โมนเพศให้กับเยาวชนโดยตรง
มายาคติลำดับที่ 1 “เด็กไม่คิดเอาเองหรอกว่าอยากข้ามเพศ มีแต่ผู้ใหญ่ที่ไปชี้นำเด็กผิดๆ”
ศ.พญ.ธนินี: เพศสภาพเองก็เป็นลักษณะทางชีวภาพเช่นเดียวกันกับเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องความสูง การเข้าวัยหนุ่มสาว การเป็นสิว ฯลฯ เหล่านี้คือความหลากหลายทางชีวภาพ เราเอาเด็ก 10 คนมายืนเรียงกัน ทำไมถึงสูงไม่เท่ากันสักคน เรื่องเพศเองก็เป็นเช่นนั้น หลายคนยังมองเรื่องนี้ด้วยทัศนะแบบเก่าที่มีความเป็นไบนารี (Binary) สูง มีสุดขั้วซ้ายขั้วขวา มีชายมีหญิง
แต่ในความเป็นจริง เพศในธรรมชาติจะอยู่บนสเปกตรัมของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ใช่แค่มนุษย์ แม้แต่สัตว์เองก็มีลักษณะทางกายภาพก็ดี หรือการรับรู้ถึงเพศของตนเองก็ดี ในลักษณะที่หลากหลาย ไม่ได้มีแค่ชายหญิง แต่มีกลุ่มที่อยู่ตรงกลางอยู่
นี่แหละคือภาพที่สะท้อนสังคมมนุษย์ ปัจจุบันถ้าเราลองมาศึกษากันดูให้ดีจะเห็นว่า คนส่วนใหญ่ในโลกใบนี้คือคนที่อยู่ตรงกลางด้วยซ้ำ ฉะนั้นแล้วการทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เราเข้าใจธรรมชาติของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ
มายาคติลำดับที่ 2 “ปัจจุบันการข้ามเพศกลายเป็นเทรนด์ เยาวชนหลายคนอยากข้ามเพศเพราะได้รับอิทธิพลมาจากสื่อ”
กฤติมา: สำหรับเรามองว่า การที่คนคนหนึ่งจะมีความหลากหลายทางเพศ หรือต้องการข้ามเพศนี่อยู่ที่ตัวบุคคลล้วนๆ ถ้าตัวเขาไม่ได้มีความหลากหลายอยู่แล้ว ต่อให้เราบอก ให้เราสอนเขาเท่าไร อย่างไรมันก็ไม่ใช่ตัวเขา แต่ถ้าเขามีความหลากหลายอยู่แล้ว ถึงเราไม่สอน ไม่บอก ไม่มีตัวอย่างให้เห็น เขาก็จะเป็นในสิ่งที่เขาเป็นอยู่ดี ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
จะเห็นได้ว่า คนในสังคมที่เป็นชายหญิงตามเพศกำเนิด (Cisgender-Straight) เองก็เสพสื่อ มองเห็นบุคคลตัวอย่าง ติดตามอินฟลูเอนเซอร์เพศหลากหลายเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จู่ๆ ก็ลุกขึ้นมานิยามตนเองเป็นเพศหลากหลาย
จากที่เราทำงานกับกลุ่มเยาวชนมามากมาย เด็กบางคนโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีบุคคลตัวอย่างใกล้ชิด มีสังคมที่เป็นมิตรกับเพศหลากหลาย แต่ตัวเขาเองก็ไม่ได้เติบโตมาเป็นบุคคลเพศหลากหลาย ในทางกลับกันเด็กอีกคนเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่อย่างไรก็ไม่น่าจะเอื้อให้เขามีความหลากหลายได้แน่ๆ แต่เขาก็เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายตามธรรมชาติของเขา บางกรณีเด็ก 2 คนเป็นฝาแฝดกัน ได้รับการเลี้ยงดูและเติบโตมาในสภาพแวดล้อมเดียวกันเป๊ะ แต่คนหนึ่งอาจจะอยู่ในกลุ่มที่มีความหลากหลาย ส่วนอีกคนไม่
ถ้าถามเราว่าสื่อมีอิทธิพลต่อเด็กอย่างไร เรามองว่าสื่อไม่ได้มีอิทธิพลในการทำให้เขาเป็นเพศหลากหลายแบบนั้นแบบนี้ แต่สื่ออาจจะทำให้คนที่มีตัวตนข้างในเป็นแบบนี้อยู่แล้วเห็นว่า เขาก็สามารถจะใช้ชีวิตหรือมีตัวตนในแบบของเขาได้ เหมือนกับบุคคลในสื่อเหล่านี้ เรามองว่าบทบาทของสื่อน่าจะเป็นแบบนี้มากกว่า
มายาคติลำดับที่ 3 “การปรับฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศและการใช้ Puberty Blocker เป็นการแพทย์แขนงใหม่ที่ยังไม่ปลอดภัยกับเด็ก”
ศ.พญ.ธนินี: อ้างอิงจากข้อมูลทางวิชาการจริงๆ ตัวยาที่ใช้สำหรับบล็อกการทำงานของต่อมเพศไม่ให้เข้าวัยหนุ่มสาว หรือที่เราเรียกกันว่า Puberty Blocker เป็นตัวยาที่ใช้กันมานาน โดยกลุ่มแรกที่นำมาใช้ดูแลเยาวชนข้ามเพศในช่วงยุค 90s คือ แพทย์กลุ่ม The Dutch Protocol ซึ่งก็มีการติดตามดูผลระยะยาวกันมาโดยตลอดต่อเนื่องถึง 30 ปีแล้ว จึงเป็นตัวยาที่มีความปลอดภัยสูง
หากเล่าย้อนไปไกลกว่านั้นอีก จริงๆ ยาตัวนี้ก็มีการใช้งานมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว โดยใช้กับเด็กที่มีภาวะเจริญพันธุ์ก่อนวัย (Precocious Puberty) กล่าวคือ เด็กเข้าวัยหนุ่มสาวเร็วเกินไปนั่นแหละ เมื่อสภาพร่างกายเริ่มไม่สัมพันธ์กับช่วงวัย แพทย์ก็จะต้องเข้าไปมีบทบาทในการชะลอกระบวนการตรงนี้ นอกจากนี้ก็ใช้กับเด็กเพศกำกวมหรืออินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) ที่มีลักษณะทางเพศทั้งชายและหญิงโดยกำเนิดด้วย ในกรณีที่ลักษณะทางกายภาพเมื่อเข้าวัยเจริญพันธุ์เริ่มขัดกับความรับรู้ของเขา เช่น โดนเลี้ยงมาให้เป็นเด็กผู้หญิง แต่พอถึงวัยกลับเริ่มมีอวัยวะเพศชายยื่นยาวออกมา
นอกจากจะไม่อันตราย การเข้าถึงยาตัวนี้ยังช่วยลดโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล หรือทุกข์ใจลงด้วย เพราะไปชะลอความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่ไม่สอดคล้องกับความรับรู้ลง ช่วยให้มีเวลาค่อยๆ ปรับตัวและรับมือกับมันได้ นี่ไม่ใช่ข้อสังเกตที่เกิดจากแพทย์เพียงไม่กี่คน แต่เกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากเคสมากมายที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาหลายปี จนกระทั่งสิ่งนี้ถูกบรรจุลงไปในไกด์ไลน์ทางวิชาชีพของแพทย์ต่อมไร้ท่อทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ในที่สุด
มายาคติลำดับที่ 4 “คนข้ามเพศต้องการเข้าสู่กระบวนการข้ามเพศ เพราะอยากสวย อยากหล่อ”
กฤติมา: การข้ามเพศกับการทำสวยทำหล่อ เป็น 2 เรื่องที่เป็นคนละประเด็นกัน กระบวนการข้ามเพศเกิดขึ้นเพื่อให้คนคนหนึ่งสามารถมีลักษณะทางกายภายนอก ที่เข้าใกล้ความเป็นเพศที่ตรงกับตัวตนของเขามากขึ้น เช่น หญิงข้ามเพศเข้าใกล้ลักษณะความเป็นหญิงมากขึ้น ชายข้ามเพศเข้าใกล้ลักษณะความเป็นชายมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ข้ามเพศแล้วจะสวยหล่อกันเป็นนางแบบหรือนายแบบ เพียงแค่มีลักษณะของเพศนั้นๆ มากขึ้น เรื่องหน้าตาหรือหุ่นขึ้นอยู่กับพื้นฐานของแต่ละคนและการพัฒนาตัวเองต่อ
ซึ่งบางคนก็อาจจะตัดสินใจไปเสริมความงามหรือไปทำศัลยกรรมเพิ่มเติม อันนี้จะเริ่มมีเรื่องความสวยความหล่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะเป็นคนละส่วนกับกระบวนการข้ามเพศในขั้นพื้นฐาน ซึ่งคนข้ามเพศที่เข้าสู่กระบวนการข้ามเพศ หรือรับฮอร์โมนก็อาจจะไม่ได้ตัดสินใจทำศัลยกรรมเพิ่มเติมกันทุกคน
มายาคติลำดับที่ 5 “Gender Dysphoria คืออาการทางจิตที่ควรรักษาด้วยกระบวนการทางจิตเวช ไม่ใช่การข้ามเพศซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเด็กยิ่งกว่าเดิม”
ศ.พญ.ธนินี: ข้อมูลอย่างหนึ่งที่เรามี ซึ่งตรงกันข้ามกับมายาคติข้อนี้โดยสิ้นเชิงเลยคือ การซัพพอร์ตเด็กให้ได้แสดงออกอย่างที่เขาสบายใจที่สุด อยากไว้ผมยาวก็ได้ไว้ อยากใส่เสื้อผ้าแบบไหนก็ได้ใส่ อยากแทนตัวเองอย่างไรก็ทำได้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ซึ่งถือเป็นกระบวนการข้ามเพศทางสังคม (Social Transition) ช่วยลดภาวะเครียดและซึมเศร้าของเขาลงมาเทียบเท่ากับระดับความเครียดของเด็กตรงเพศวัยเดียวกัน (Cisgender Peer) เลยทีเดียว
สมัยก่อนแพทย์อาจจะมีหลักจริยธรรมที่ว่า ‘First, do no harm’ คือแรกเริ่มอย่าเพิ่งไปแทรกแซงหรือกระทำการใดๆ เพื่อรักษาคนไข้ หากยังไม่แน่ใจในผลลัพธ์ แต่ในกรณีของเด็กข้ามเพศ การนิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไรอาจจะยิ่ง ‘do harm’ ยิ่งกว่า คือเป็นการปล่อยให้เขาจมอยู่กับความทุกข์ของภาวะทุกข์ใจจากความขัดแย้งของเพศสภาพ (Dysphoria)
หลายครั้งเมื่อเด็กได้รับความรัก ความเข้าใจ และความเอาใจใส่ตั้งแต่ยังเล็ก เขาไม่จำเป็นต้องเผชิญกับภาวะ Dysphoria ด้วยซ้ำ เพราะเริ่มรู้สึกสบายใจกับร่างกายของตัวเองมากขึ้น หรือค้นหาตัวเองพบได้เร็วขึ้นว่าต่อไป เขาต้องการจะเข้าสู่กระบวนการถึงขั้นไหน
มายาคติลำดับที่ 6 “การใช้ Puberty Blocker ทำให้เด็กต้องแบกรับปัญหาสุขภาพมากมายในระยะยาว เช่น เป็นหมันหรือกระดูกเปราะ”
ศ.พญ.ธนินี: โดยฟังก์ชันของมัน Puberty Blocker จะไปกดการทำงานของระบบสืบพันธุ์เอาไว้จริง แต่หากใช้ในระยะเวลาที่เหมาะสม ผลของยาจะอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเลิกใช้ยาแล้ว ระบบสืบพันธ์ุก็จะค่อยๆ กลับมาทำงานปกติ ทีนี้ก็จะขึ้นอยู่กับว่าแพทย์ให้ Puberty Blocker กับเด็กเป็นเวลานานแค่ไหน ถ้าใช้แค่ระยะเวลาไม่นานไม่เกิน 1-2 ปี ระบบก็จะฟื้นตัวกลับมาภายในเวลาไม่นาน แล้วฮอร์โมนเพศที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มมวลกระดูกก็จะกลับมาทำงานด้วย
แต่ถ้าเด็กใช้ยาตัวนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานเช่น 3 ปีขึ้นไป กรณีนี้ระบบก็จะฟื้นตัวกลับมาช้า ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างมวลกระดูกจริงๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แพทย์ต้องคอยติดตามและเฝ้าระวังผลข้างเคียงเหล่านี้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการวัดความหนาแน่นมวลกระดูก หรือการตรวจสุขภาพด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป
มายาคติลำดับที่ 7 “ถ้าให้ข้ามเพศกันได้ง่ายๆ เหมือนบางประเทศ เยาวชนจะแห่ไปทำโดยไม่คิดให้ถี่ถ้วน”
กฤติมา: ขอตอบเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกในกรณีที่หลายประเทศสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพในส่วนนี้ได้ ง่าย สะดวก รวดเร็ว อันนี้เรามองว่าเขาประสบความสำเร็จนะ สิ่งนี้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญในการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งหมายถึงบริการสุขภาพทั่วไปด้วย ไม่ใช่แค่การข้ามเพศ
แต่ประเด็นที่คนน่าจะกังวลกันมากกว่า น่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพของกระบวนการข้ามเพศ เช่นว่า ขั้นตอนเป็นอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ ได้มาตรฐานไหม จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวอย่างไร ซึ่งหากพบว่า มีจุดบกพร่องในส่วนไหนในกระบวนการที่อาจนำมาสู่ปัญหา ก็ควรแก้ไขที่จุดนั้น ไม่ควรยกเลิกสิทธิหรือตัดบริการส่วนนี้ทิ้งไปโดยสิ้นเชิง สิ่งที่เราควรทำคือ มาดูกันว่าจะทำอย่างไรให้บริการได้คุณภาพตามมาตรฐานสากลต่างหาก
มายาคติลำดับที่ 8 “เยาวชนหลายคนโตไปแล้วเสียใจทีหลังที่ข้ามเพศ จนต้องทำการ Detransition หรือข้ามเพศกลับ”
กฤติมา: ขอตอบเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ คำว่า Detransition เราไม่อยากให้ตีตราคำนี้ว่าเป็นเรื่องไม่ดีเสมอไป เพราะอย่างที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้วว่า เรื่องของเพศมันลื่นไหลและมีความหลากหลาย เมื่อถึงจุดหนึ่งคนคนหนึ่งอาจรู้สึกว่า ตัวตนและความต้องการของเขาเปลี่ยนไป สิ่งที่เขาเคยเป็นอาจไม่ใช่สิ่งที่ใช่สำหรับเขาอีกต่อไป เขาก็อาจจะเลือกที่จะ Detransition ได้ ซึ่งไม่อยากให้มองว่า นี่คือสิ่งที่แย่หรือเป็นความล้มเหลว เพราะการ Detransition สุดท้ายก็คือการสะท้อนความต้องการส่วนบุคคลของเขา ซึ่งก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ เป็นเรื่องธรรมดา
ประเด็นสำคัญคือ ก่อนเข้าสู่กระบวนการการข้ามเพศ เขาได้รับข้อมูลรอบด้านหรือเปล่ามากกว่า ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้างเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้ว มีข้อดีข้อเสียทั้งเชิงร่างกาย จิตใจ และสังคมอย่างไร อะไรบ้างที่เปลี่ยนแล้วเอากลับมาได้ แล้วอะไรบ้างที่เปลี่ยนแล้วเอากลับมาไม่ได้ รวมไปถึงว่าหากสุดท้ายแล้ว เขาต้องการจะหยุดกระบวนการหรือ Detransition เขาจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งหากเขาได้รับข้อมูลที่รอบด้านตั้งแต่ต้น กรณีนี้การ Detransition ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่เขาได้พิจารณารับรู้ตั้งแต่ต้นแล้ว กรณีที่น่ากังวลในเรื่องของการ Detransiton จะเป็นในกรณีที่บุคคลไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ หรือเข้าถึงข้อมูลที่รอบด้านก่อนการเริ่มกระบวนการมากกว่า ที่ทำให้เกิดการ Detranstion ในแบบที่ไม่ได้รับทราบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรก ซึ่งก็วนกลับไปเรื่องเดิมคือ ทำอย่างไรให้คนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพในส่วนนี้ได้ และทำอย่างไรให้การให้บริการสุขภาพในส่วนนี้มีคุณภาพ
ประเด็นถัดมา อ้างอิงจากประสบการณ์ในบริบทบ้านเรา เราทำงานคลุกคลีกับพี่ๆ น้องๆ ในชุมชนคนข้ามเพศมาเกือบ 10 ปี เจอคนที่ Detransition น้อยมาก และสาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจ Detransition ไม่ได้เกิดจากความเสียใจหรือความรู้สึกว่าไม่น่าเข้าสู่กระบวนการการข้ามเพศเลย แต่ที่เขาต้อง Detransition เกิดจากการที่สังคมรอบข้างอย่างครอบครัวหรือชุมชนไม่ให้การสนับสนุน รวมไปถึงปัญหาในการจ้างงาน
คำที่เราได้ยินบ่อยๆ จากคนที่ตัดสินใจ Detransition คือ ‘มันอยู่ยาก’ หรือ ‘มันหางานทำยาก’ แต่ภายใต้ฉากของคำว่า Detransition นี้ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวตนของเขาเปลี่ยนไปนะ เพศในใจของเขาก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม เพียงแต่เมื่อแสดงออกมาแล้วถูกปฏิเสธ ถูกตีตรา ถูกเลือกปฏิบัติ เขาจึงจำเป็นที่จะต้องเลือกเก็บตัวตนนั้นเอาไว้ข้างในแทน
มายาคติลำดับที่ 9 “เมื่อเด็กโตขึ้น พวกเขาก็จะค่อยๆ คิดได้ และหลุดออกจากความคิดอยากข้ามเพศเอง”
ศ.พญ.ธนินี: สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเมื่อไม่มีหน้างานที่ทำหน้าที่คอยดูแลให้คำปรึกษาและเป็นที่พึ่งให้กับเยาวชนกลุ่มนี้ คือไม่ว่าอย่างไร เขาก็จะไปเสาะแสวงหาหนทางของเขาเอง ในการที่จะเข้าใกล้ความเป็นเพศที่ต้องการ
อย่างในประเทศไทยเอง ฮอร์โมนผิดกฎหมายนี่ไม่ได้เข้าถึงยากอย่างที่เราคิด หาได้ทั่วไปเลยทั้งแบบฉีดและแบบรับประทาน ซึ่งแน่นอนว่าฮอร์โมนลักษณะนี้มันไม่ได้บริสุทธิ์ สิ่งที่ตามมาคือผลข้างเคียงที่รุนแรงเกินสมควร หรือในกรณีที่ร้ายแรงยิ่งไปกว่านั้นอีก คือเมื่อ 10 กว่าปีก่อน เคยมีเคสเด็กที่ต้องการยับยั้งการเกิดฮอร์โมนเพศชายในร่างกายตนเอง จึงไปพึ่งพาบริการผิดกฎหมายเพื่อจะตัดอัณฑะออกไป
ดังนั้นการเปิดพื้นที่บริการโดยผู้มีความรู้ความชำนาญด้านฮอร์โมนอย่างถูกกฎหมายจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเมื่อเด็กๆ สามารถเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้ได้ พวกเขาก็ย่อมเลือกทางที่เกิดโทษกับร่างกายน้อยกว่า
[3]
ย้อนกลับมาที่เรื่องราวของเอเวอรีที่เกริ่นถึงกันไปเมื่อช่วงต้นบทความ หลังจากทำหน้าที่เป็นแม่ของเด็กข้ามเพศมาเป็นเวลากว่า 17 ปี เดบี แจ็กสัน (Debi Jackson) แม่ของเอเวอรีกลายมาเป็นนักกิจกรรมสิทธิคนข้ามเพศเต็มตัว แม้ตัวเอเวอรีจะตัดสินใจพาตัวเองออกไปจากสปอตไลต์โดยสิ้นเชิงแล้ว เพราะไม่สบายใจที่จะเปิดเผยชีวิตส่วนตัวมากเกินไป
หลังจากข้อมูลเกี่ยวกับเพศสภาพนอนไบนารีในปัจจุบันของเอเวอรี ตกไปอยู่ในมือของผู้คนมากหน้าหลายตาบนโลกอินเทอร์เน็ต เดบีก็ตกเป็นเป้าของความเกลียดชังในฐานะแม่ที่ใช้ประโยชน์จากความไร้เดียงสาของลูกในการ ‘หาแสง’ ทันที
“แม่ของเอเวอรีทำให้ลูกพิการและเป็นหมัน เพราะใช้ Puberty Blocker”
บัญชีผู้ใช้สื่อโซเชียลฯ กลุ่มหนึ่งยืนยัน โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่า การแปะป้ายให้ผู้ที่มีระบบสืบพันธ์ุไม่สมบูรณ์เป็นผู้มีความพิการนั้นเป็นทัศนคติที่อันตราย ไม่ใช่แค่กับคนข้ามเพศเท่านั้น แต่ยังเป็นการตีตราชายหญิงตรงเพศที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับภาวะนี้ด้วย
ข้อกล่าวหาเรื่องการทำให้พิการ (Mutilation) จึงเป็นอันตกไป สอดคล้องกับที่เดบีเคยประกาศว่า ตั้งแต่แรกเริ่มเข้าปรึกษากุมารแพทย์ตอนอายุ 4 ขวบจนถึงปัจจุบัน เอเวอรียังไม่เคยเข้ารับการผ่าตัดใดๆ
ทว่าความเป็นไปได้เรื่องที่ร่างกายของเอเวอรีอาจได้รับผลกระทบจากการใช้ Puberty Blocker เป็นเวลานานนั้นก็ยังไม่ถือว่าหมดไปเสียทีเดียว ผู้เขียนจึงพยายามค้นหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือของคำกล่าวอ้างนี้ แต่กลับไม่พบแหล่งที่มาที่เป็นกลางเลย นอกจากเธรดในแอปพลิเคชัน X ที่เป็นต้นทางของคำอ้างนี้ ทั้งตัวเอเวอรีและเดบีผู้เป็นแม่ไม่เคยให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นไปด้านสุขภาวะทางเพศซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก กับสื่อออนไลน์หรือหนังสือพิมพ์ใดๆ อีกทั้งข้อมูลเรื่องการเข้ารับ Puberty Blocker หรือฮอร์โมนข้ามเพศของเอเวอรีก็ไม่เคยถูกเปิดเผยสู่สาธารณะด้วย
“เอเวอรีกล่าวในสารคดีว่า ชีวิตพังเพราะการข้ามเพศ”
ในสารคดี Transhood (2020) เอเวอรีกล่าวออกมาด้วยตัวเองว่า “(มัน) ทำให้ชีวิตของเธอพังลง” โดยที่คำว่า ‘มัน’ สื่อถึงการเปิดเผยเรื่องราวการข้ามเพศของเธอสู่สายตาของสาธารณชนมากจนเกินไป ภายใต้บริบทเพิ่มเติมที่ว่า ขณะนั้นครอบครัวฝั่งแม่ของเอเวอรีแสดงท่าทีต่อต้านอัตลักษณ์ข้ามเพศของเด็กอย่างชัดเจน ทำให้เจ้าตัวรู้สึกว่า การเปิดเผยตนเองออกมาอาจเป็นการเดินมาผิดทาง แต่ไม่ได้หมายความว่า การตัดสินใจข้ามเพศคือความผิดพลาดที่ทำให้ชีวิตพังแต่อย่างใด
ความรู้สึกลังเลที่เกิดขึ้นกับเอเวอรีในช่วงชีวิตระหว่างถ่ายทำสารคดี คล้ายคลึงกับกรณีของเรื่องของคนข้ามเพศกลุ่มหนึ่งที่กฤติมาเล่าให้ฟัง นั่นคือคนกลุ่มน้อยที่ตัดสินในข้ามเพศกลับ ไม่ใช่เพราะเสียใจที่เดินมาทางนี้ แต่เพราะเมื่อเดินมาแล้ว ครอบครัวและชุมชนรอบตัวกลับไม่พร้อมที่จับมือเขาเดินไปด้วยกัน
“เอเวอรีได้เข้ากระบวนการ Detransition แล้ว”
สิ่งเดียวที่เรารู้เกี่ยวกับเอเวอรี ที่ในปัจจุบันใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังความเป็นส่วนตัวมากขึ้น คือเธอได้ค้นพบตัวเอง จึงตัดสินใจเปลี่ยนสรรพนามและนิยามตัวเองเป็นคนข้ามเพศนอนไบนารี แทนที่จะเป็นหญิงข้ามเพศอย่างเมื่อก่อน กล่าวคือยังคงเป็นคนข้ามเพศอยู่ ไม่ได้มีการข้ามเพศกลับแต่อย่างใด เพียงแค่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้บรรทัดฐานการแบ่งขั้วแบบชายหญิงเท่านั้น
นอกจากนี้ครอบครัวแจ็กสันทั้งหมดยังตัดสินใจทิ้งอดีตทุกอย่างในบ้านเกิดเมืองนอน อย่างเมืองแคนซัสซิตี รัฐมิสซูรี เอาไว้ข้างหลัง ไม่ใช่เพียงเพื่อตัดขาดจากครอบครัวฝั่งแม่ที่คุกคามและไม่ยอมรับแล้วไปเริ่มชีวิตใหม่เท่านั้น แต่เพื่ออนาคตของตัวเอเวอรีเองด้วย เนื่องจากรัฐมิสซูรีเป็นรัฐสีแดงที่คะแนนโหวตเอียงขวาไปทางฝั่งพรรครีพับลิกัน (Republican Party) มาอย่างยาวนาน ประชากรข้ามเพศที่อาศัยภายในรัฐจึงมีแนวโน้มที่จะสูญเสียสิทธิบางอย่าง ตามแต่กฎหมายของรัฐที่ถูกตราขึ้น
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/interactive/2015/opinion/transgender-today/stories/avery-aj-jackson
https://www.yahoo.com/news/move-missouri-painful-necessary-says-120000994.html
https://thealliancerockband.com/avery-jackson-has-now-moved-out-of-missouri/
https://x.com/the_debijackson/status/1504148796237918209
https://x.com/the_debijackson/status/1633847945148743680
https://x.com/the_debijackson/status/1849859667264254259
Fact Box
- คลินิกแทนเจอรีน (Tangerine Clinic) เป็นคลินิกสุขภาพเฉพาะทางสำหรับคนข้ามเพศแบบครบวงจร ปัจจุบันตั้งอยู่ที่อาคารจามจุรีสแควร์ โซนออฟฟิศ ชั้น 11 (สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีสามย่าน)
- บริการให้คำปรึกษาของคลินิกครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการใช้ฮอร์โมน การผ่าตัดแปลงเพศ การตรวจคัดกรองและรักษาเอชไอวี ตลอดจนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เข้าใจกลุ่มเป้าหมายของสถานพยาบาลเป็นอย่างดี
- Tangerine Teen Pop คือบริการสุขภาพของคลินิกที่มีเยาวชนเป็นศูนย์กลาง ให้คำปรึกษาทั้งด้านกาย ใจ สังคม และความสัมพันธ์ในครอบครัว