“น้ำไม่อาบจบไปแล้ว ทริปต่อไปเตรียมรถได้เลย ไปอาบน้ำ” – เมลาย รัชดา
เมื่อวันที่ 23-24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ‘ทริปน้ำไม่อาบ’ เป็นกลุ่มรถจักรยานยนต์กว่า 6,000 คัน รวมกันขับรถตามเส้นทาง ตั้งแต่อำเภอศรีเทพ ถึงภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ นอกจากเป็นทริปท่องเที่ยวแล้ว ยังมีการทอดกฐินนำเงินไปทำบุญบูรณะสร้างศาลาวัดม่วงเย็น แม้ว่าทริปเพิ่งจะจบไปหมาดๆ แต่วันนี้พวกเขากลับมาอีกแล้วกับทริป ‘ไปอาบน้ำ’ ในวันที่ 9-10 ธันวาคมนี้
ท่ามกลางเสียงต่างๆ ที่พูดคุยกันในโลกโซเชียลมีเดีย บ้างวิจารณ์ บ้างกล่าวว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ The Momentum ชวน ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำทริปน้ำไม่อาบและไปอาบน้ำมาคลี่ดูว่า เห็นอะไรจากกิจกรรมขับขี่แบบไม่อาบน้ำและอาบน้ำบ้าง
ถนนทุกสาย ทุกภาค ทุกจังหวัด 5 หมื่นคันมุ่งสู่การท่องเที่ยว จังหวัดเพชรบูรณ์
ข้างต้นคือสเตตัสเฟซบุ๊กของผู้ร่วมทริปน้ำไม่อาบ ที่กล่าวว่า 5 หมื่นกว่าชีวิตมุ่งสู่การท่องเที่ยวเที่ยวเพชรบูรณ์ และกล่าวว่า อาจมีคนเยอะมากกว่าปีที่ผ่านมา แม้ตัวเลขที่เผยแพร่ออกมาจะอยู่ที่ราวๆ 6,000 คัน แต่ก็เป็นตัวเลขจำนวนไม่น้อย และจำนวนอาจติดอันดับต้นๆ การนัดรวมตัวกันในประเทศไทยอีกด้วย จนนำไปสู่คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ทำไมทริปน้ำไม่อาบถึงสามารถรวมกลุ่มกันได้มากมายขนาดนี้
ยุกติมองว่า การรวมกลุ่มของทริปน้ำไม่อาบ เป็นลักษณะเดียวกับชุมชนออนไลน์ในปัจจุบัน ที่รวมกลุ่มกันเพื่อคุยหรือกระทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความสนใจเรื่องเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นการที่คนไม่รู้จักกันสามารถร่วมเดินทาง หรือมีปลายทางเดียวกันไปทอดกฐิน นั่นหมายความว่าไม่จำเป็นต้องรู้จักกันมาก่อน แค่มาทำกิจกรรมร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน เช่นเดียวกับทริปน้ำไม่อาบที่ต้องการไปท่องเที่ยว และเป็นผู้คลั่งไคล้ในรถจักรยานยนต์
ทริปน้ำไม่อาบ พวกผมไม่สวยหรู ลูกคุณหนูคงไม่เข้าใจ
หากมาดูกระแสทางโซเชียลมีเดียแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีแต่กระแสลบ ไม่ว่าจะเป็นการวิจารณ์แบบ ‘เหยียด’ หรือด้วยหลักฐานประจักษ์ต่างๆ ที่ผิดกฎหมายหรือไม่สมควร ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมทริปบางคนที่ดื่มแล้วขับ เล่นการพนัน แข่งรถ เสียงรบกวนชุมชน การจราจร ไปจนถึงอุบัติเหตุ และมีผู้เสียชีวิตจากทริปดังกล่าว ขณะที่ทางทริปน้ำไม่อาบก็ออกมาโต้ตอบในเชิงว่า “ทริปน้ำไม่อาบ พวกผมไม่สวยหรู ลูกคุณหนูคงไม่เข้าใจ ไปทำบุญผิดอะไร ทีจัดคอนเสิร์ตในป่าไม่เห็นมีใครว่าบ้างล่ะ?”
“สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับกันคือ มันเกิดผลกระทบเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกวิจารณ์ เพราะเป็นการใช้พื้นที่ส่วนรวม และเป็นลักษณะวัฒนธรรมที่รบกวนคนอื่น”
ยุกติชี้ให้เห็นว่า การกระทำใดทำผิดก็ต้องยอมรับผิด เพราะมันส่งผลกระทบต่อชุมชนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียงหรือการจราจร พร้อมตั้งคำถามกลับว่า ทำไมคนกลุ่มหนึ่งถึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยแง่มุมหนึ่ง และคนบางกลุ่มก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกแง่มุมหนึ่ง “ผมยกตัวอย่าง อย่างกรุงเทพฯ มาราธอน ซึ่งลองคิดว่า หากตัวเองเป็นคนในพื้นที่หรือค้าขายอยู่ ถูกวิ่งผ่านผมก็คงไม่แฮปปี้”
ยุกติกล่าวต่อว่า “ประเด็นคือทำไมคนบางกลุ่มถึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยแง่มุมหนึ่ง อีกกลุ่มถึงถูกวิจารณ์อีกแง่มุมหนึ่ง เช่นพวกทริปน้ำไม่อาบขับมอเตอร์ไซค์ พวกนี้อาจเป็น Middle Class ที่ไม่ได้มีรายรับสูงมาก ในแง่ของระดับรายได้ ก็อาจจะถูกมองเหยียด ไม่ใช่พวกขับบิ๊กไบก์รวมกลุ่มกันไปกินไอศครีมอะไรแบบนี้”
ยุกติมองว่าเรื่อง ‘จราจร’ เป็นสิ่งที่เลี่ยงการถูกวิจารณ์ไม่ได้ เพราะไปทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ปกติ เนื่องจากเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะ อาจไม่เหมาะสมและส่งอันตรายต่อผู้อื่นได้ เพราะไม่ใช่กิจกรรม ‘ปกติ’
เขายังชี้ให้เห็นว่า ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คล้ายกับตอนที่มีการประท้วงทางการเมืองบนท้องถนนอย่าง ‘คาร์ม็อบ’ ซึ่งเป็นการแสดงออกของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการประท้วงด้วยการใช้พื้นที่สาธารณะปิดถนนหรือขวางถนน เป็นการจงใจที่จะสร้างอุปสรรคในการสัญจรแก่สาธารณชน เพื่อที่จะส่งสารบางอย่าง
“ในแง่นี้ หากมองแบบนี้ผมคิดว่าก็น่าสนใจว่า หรือกลุ่มนี้เขาอยากจะสื่อสารว่า เขามีตัวตนในสังคมนะ เขาก็เป็นคนดีเหมือนกันนะ”
อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาขยายต่อว่า “ในแง่หนึ่ง ถ้ามองในเรื่องยานพาหนะ อย่างพวกรถมอเตอร์ไซค์ หากนำมาเทียบกับพวกเด็กแว้น คือเด็กแว้นก็มีการมองว่า พวกเขาจงใจทำ จงใจที่จะใช้พื้นที่ถนน เขารู้ว่าเขาก่อกวนนะ แต่ในด้านหนึ่งการแสดงออกแบบนี้มันก็เป็นการสื่อสารแบบหนึ่งกับสังคมกับผู้มีอํานาจด้วยหรือเปล่าว่า ทําไมเขาไม่มีพื้นที่จะแสดงออกเลย ไม่มีพื้นที่ให้แสดงตัวตนของเขาได้ พื้นที่สันทนาการของเขาเองก็ไม่มี ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งจะใช้พื้นที่ เราพูดถึงคนที่มีอำนาจเวลาที่จะปิดถนน จะทำอะไร เขายังทำกันเลย เพียงแต่พวกเขามีอำนาจ และพวกเขาสามารถทำเป็นทางการได้”
เสียงดัง ก่อกวน ดัดแปลง จับ ยึดรถ ส่งให้ขนส่ง
“ถึงวันแลัว น้ำไม่อาบ ขอพูดอีกครั้งนะครับ ก่อนออกปีนี้ภาพไม่ดี ปีหน้าคงไม่มีแล้ว ผมขอละ เราไปเที่ยว การขับรถ ติดไฟแดง ชิดซ้ายนะครับ ไม่เทสต์ออกตัวไฟแดง ไม่เบิลในปั๊ม เขตชุมชน ในรีสอร์ต ให้เกียรติสถานที่ ทางที่ไป เห็นใจเพื่อนร่วมทาง เอกสารรถ ใบขับขี่ หมวกกันน็อก ให้เกียรติเจ้าหน้าที่ เข้าด่านปกติ ห้ามย้อนศร ห้ามยกล้อ ห้ามโดด นอน โตๆ กันแลัว หวังว่าทุกคนคงเข้าใจ (มีภาพคลิปหลุดรับผิดชอบตัวเองทุกกรณี) ขอให้ทุกคนเดินทางปลอดภัย เส้นชัยคือที่บ้าน” – เมลาย รัชดา
ด้านตำรวจเพชรบูรณ์ติดป้ายเตือนแก๊งน้ำไม่อาบ ไม่ว่าจะเป็น ‘แข่งรถในทางสาธารณะ จับ/ ปรับ/ ยึดรถ’, ‘เมาแล้วขับ จับติดคุก’, ‘เสียงดัง ก่อกวน ดัดแปลงฯ จับ ยึดรถ ส่งให้ขนส่ง’ และ ‘ท่องเที่ยวเพชรบูรณ์ให้ปลอดภัยใส่ใจกฎจราจร’
ขณะที่รายงานผลจากตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์ระบุว่า จากการผนึกกำลังตำรวจจับแก๊งน้ำไม่อาบ ตรวจค้นรถยนต์ 500 คัน, จักรยานยนต์ 4,050 คัน, จับกุม พ.ร.บ.รถยนต์ 204 ราย, พ.ร.บ.จราจรทางบก 518 ราย, ตักเตือน 280 ราย, พบการพนัน 1 ราย และยาเสพติด 4 ราย
ยุกติให้ความเห็นต่อทริปน้ำไม่อาบว่า หากมีการจัดการดีๆ แบบจริงจัง ปัญหาอาจจะลดลง ยกตัวอย่างการรวมตัววิ่งมาราธอน เหล่านี้ยังสามารถจัดการให้เป็นระเบียบได้ เพราะกิจกรรมถูกทำให้เป็นทางการ มีการจัดตั้ง
“ในขณะที่คนบางกลุ่มไม่มีอำนาจและอยากจะทำ อยากจะรวมกลุ่มบ้าง บางอย่างไม่ดี เราวิจารณ์กันก็วิจารณ์ได้ แต่ไม่ควรใช้อคติ หรือใช้ชนชั้นมาเหยียดกัน”
ชนชั้นล่าง ตลาดล่าง ก่อความไม่สงบ สวะ
เหล่านี้คือข้อความในโซเชียลมีเดียที่แสดงความเห็นถึงทริปดังกล่าว ยุกติมองว่า คำวิจารณ์เหล่านี้สะท้อนได้ว่า สังคมไทยยังเป็นสังคมที่จัดคนด้วย ‘ฐานะ’ และไม่พยายามที่จะเข้าใจวิถีชีวิตที่แตกต่างจากตัวเองว่าเป็นเพราะอะไร
“สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือวิจารณ์ได้ แต่ไม่ใช่ไปตัดสินเกินเหตุ ควรเคารพซึ่งกันและกัน อาจจะตั้งคำถาม หรือให้ตำรวจเข้าไปช่วยดูแล อำนวยความสะดวก แนะนำ หรือบอกตำรวจหน่อยว่า เดี๋ยวพวกเราจะไปกัน มีจำนวนรถประมาณนี้ ไปช่วงไหน ก็บอกให้จัดการ ตำรวจก็ต้องคอยอำนวยความสะดวกให้ความร่วมมือ เพราะรัฐมีหน้าที่ต้องคอยมอบความสะดวก ในกรณีที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ในแง่ที่ไม่ได้ทำผิดนะ แต่ผิดก็ค่อยว่าตามผิด ถูกไหม” ยุกติกล่าวทิ้งท้าย
Tags: ไม่อาบน้ำ, ไปอาบน้ำ, เมลาย รัชดา, เพชรบูรณ์, เขาค้อ, น้ำไม่อาบ, ทริปน้ำไม่อาบ, เมลาย, Feature, ทริปไม่อาบน้ำ