สำหรับหนังสือของนักเขียนประกาศเอาไว้อย่างแม่นมั่นว่า จะไม่เขียน “แบบพวกมึงที่มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ชั้นยอดปกรณัมความปวกเปียก (Particles of Perpetual Paralysis) หรือที่หลังจากนี้จะเรียกว่า ‘ปกรณัมฯ’ เป็นคอลเลกชันรวมผลงานที่มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์อยู่บ้างพอสมควรทีเดียว อาจเพราะมีช่องว่างระหว่างความหมายของคำว่า ‘ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์’ ในมุมมองของเราและมุมมองของ ‘พวกมึง’ ที่ว่านั้นอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

 เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่ามีขนบอะไรบางอย่างที่คอยเข้ามากำกับกะเกณฑ์ว่างานเขียนชิ้นใดมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ และงานเขียนชิ้นใดไม่มี ความแปลกอาจเป็นหัวใจหลักที่ทำให้งานเขียนได้รับความสนใจ ผลงานวรรณกรรมแห่งปีต้องแปลกพอที่จะเว้นระยะห่างจากผลงานอื่นๆ ที่เคยมีมาประมาณหนึ่ง ขณะเดียวกัน ถ้ามันผ่าเหล่าผ่ากอ ไร้แบบแผน ไร้แก่นสารมากไป ก็จะกลายเป็นว่าขาดชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ไปเสียอย่างนั้น

แต่คงเพราะความผ่าเหล่าผ่ากอ ไร้แบบแผน ไร้แก่นสารนี่แหละ เรื่องสั้นในปกรณัมฯ จึงให้รสชาติแปลกประหลาดที่เราไม่เคยชิมมาก่อน หรืออย่างน้อยก็ไม่เคยลิ้มลองในแบบภาษาไทยแน่ๆ

1

ว่ากันว่าสูตรสำเร็จของความล้มเหลวคือความก้ำกึ่งๆ ครึ่งๆ กลางๆ หากนักเขียนอยากจะเอาดีในทางใดก็ควรไปให้สุดทาง ไม่อย่างนั้นจะไม่มีวันสำเร็จ แต่ในเมื่อแก่น (Theme) ของเล่มคือความปวกเปียก เหลวไหล ก๊อกๆ แก๊กๆ ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งก็น่าจะน้องๆ ความล้มเหลวนี่แหละ การตัดสินใจทางวรรณศิลป์ที่จะเลือกอยู่เป็นหลักปักขี้เลน ไม่ยอมไปไหนให้สุดสักทาง ก็อาจเป็น ‘ความสุดทาง’ ในแบบของมันเอง

สำนวนการเขียนในเล่ม เรียกได้ว่ามีทั้งช่วงที่โครงสร้างประโยคติดกลิ่นนมเนยคล้ายเรื่องแปล และช่วงที่ไทบ้านเสียจนกลิ่นกะปิน้ำปลาคลุ้ง สลับสับเปลี่ยนกันไปตามแต่โอกาสที่เนื้อเรื่องและตัวละครจะเอื้ออำนวย

ไม่ได้มีร่องรอยการฝืนรักษาสไตล์การเขียนให้คงเส้นคงวาไปตลอดทั้งเล่ม หรือความพยายามอะไรในทำนองนั้นเลย บางเรื่องเขียนภาษาไทยล้วน บางเรื่องปนลาวประปราย บางเรื่องก็ปนอังกฤษ บางทีก็มีประโยคประหลาดผิดไวยากรณ์โผล่มา หรือมีคำซ้อนหน้าตาแปลกๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เดาว่าอาจเกิดจากการที่นักเขียนประกอบคำขึ้นใหม่เอง

รวมกันแล้วจะเรียกว่ากลมกล่อมก็พูดได้ไม่เต็มปาก ต้องเรียกว่าเป็นรสชาติปร่าๆ ปะแล่มๆ ที่ชิมแล้วต้องชิมซ้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าลิ้นไม่ได้รับรสเพี้ยนไป 

 

2

         ในบรรดาเรื่องสั้นทั้งหมดในเล่ม มีทั้งชิ้นที่เราชอบตั้งแต่แรกอ่าน ชิ้นที่ชอบมากขึ้นเมื่อได้อ่านซ้ำ และชิ้นที่เกลียดชนิดว่าชาตินี้ขออ่านแค่ครั้งเดียวพอ

         อันโอชะ เรื่องสั้นแนวจิตวิทยาระทึกขวัญที่เล่าจากมุมมองของสุนัขเป็นหนึ่งในเรื่องที่เราชอบตั้งแต่อ่านครั้งแรก—ชอบตั้งแต่ยังอ่านไม่จบเลยก็ว่าได้ ทั้งเรียบง่าย เดินเรื่องเร็ว และเร้าใจ เป็นเรื่องเล่าที่เล่นกับความหวาดกลัวที่มีต่อการกินเนื้อสุนัข ซึ่งคนไทยภาคอื่นๆ มักนำไปเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอีสาน

         ส่วนเรื่องที่ต้องอ่านซ้ำ 2 รอบ จึงจะเริ่มเห็นดีเห็นงามด้วยขึ้นมาได้ ได้แก่ ผุบผู่ และ พื้นเสือสมิง อ่านง่ายทั้งคู่ เรื่องแรกโดดเด่นเรื่องสไตล์การเขียนแบบกระแสสำนึก ส่วนอีกเรื่องเป็นแนวสัจนิยมมหัศจรรย์

         อีกหนึ่งองค์ประกอบที่โดดเด่นที่พบในเรื่องสั้นแทบทุกเรื่องในปกรณัมฯ เรื่องคือความแอบเซิร์ด (Absurdism) หรือความไร้แก่นสารเสียจนต้องตั้งคำถามถึงของการมีอยู่ของงานเขียนชิ้นนั้นๆ

กล่าวคือ เป็นงานเขียนที่เราอ่านจบปุ๊บต้องอุทานว่า ‘อะไรวะ’ เพราะคิดเท่าไรก็คิดไม่ตกว่าคนเขียนต้องการอะไรจากการเขียนเรื่องนี้

         ไข่ต้มเป็นหนึ่งในงานประเภทที่ว่า

ความน่าสนใจคือแม้ว่าจะเป็นเรื่องสั้นขนาดค่อนข้างสั้น แต่สามารถวางปูมเรื่องให้เป็นเรื่องสั้นแนวดิสโทเปีย (Dystopia) ได้ภายในไม่กี่บรรทัด โดยตัวละครคู่สามีภรรยาในเรื่องอาศัยอยู่ในประเทศไทยที่กำลังอยู่ระหว่างสงครามกลางเมืองร่วมสมัย ดำเนินเรื่องด้วยบรรยากาศจริงจังขึงขัง ท่าทางมีโพเทนเชียลว่าจะเป็นงานเขียนเสียดสีการเมืองที่ดูเป็นงานในขนบจ๋าๆ อยู่ราวครึ่งหน้าได้ หลังจากนั้นก็แหกโค้งลงเหว ก่อนตัดจบแบบไร้สาระที่สุดเท่าที่เราเคยเจอมา

3

งานเขียนหลายชิ้นในปกรณัมฯ ดูเหมือนจะถูกเขียนมาเพื่อพูดคุยกับคนบ้านนอก ชนชั้นแรงงาน คนชายขอบ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีชิ้นอื่นๆ ที่ดูจะเป็นบทสนทนาระหว่างผู้เขียนกับนักอ่านคนเมือง หรือไม่ก็พวกที่เรียกตัวเองปัญญาชนอยู่เหมือนกัน (พอจะจินตนาการออกอยู่บ้างว่า หากหลายปีที่แล้วเราตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่บ้านนอกกับพ่อแม่ ไม่กู้เงินมาเรียนหนังสือหนังหาในเมือง แทนที่จะยิ้มๆ ตอนถึงอ่านท่อนที่พาดพิงทฤษฎีวิชาการ—หรือผลงานเขียนชื่อดังขึ้นทำเนียบวรรณกรรมชิ้นเอก—หากไม่งงเป็นไก่ตาแตก ก็น่าจะมองผ่านชื่อภาษาฝรั่งพวกนั้นไปเหมือนไม่มีความหมายอะไร)

แต่ที่สำคัญที่สุด กลุ่มคนที่มองเห็นเศษเสี้ยวของตัวเองผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ในงานแทบทุกชิ้น คือคนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสองกลุ่มนั้น

คนปวกเปียก เหลาะแหละ ไม่เอาอ่าวเอาทะเลที่โชคดีพอจะได้รับโอกาสทางสังคมอยู่บ้าง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีแรงกำลังพอจะปีนบันไดชนชั้น หนีชีวิตจืดชืดมืดมนขึ้นไปไหนได้

คนที่ถูก “เลี้ยงให้:

ไม่โง่เง่า แต่ไม่เฉลียวฉลาด

ไม่กลัว แต่ไม่กล้า

ไม่จน แต่ไม่รวย

ปกครองง่าย

เพราะตัวเดินเรื่องแทบทุกตัวล้วนแล้วเป็นมนุษย์ปวกเปียก ไม่แยแสจะเปลี่ยนแปลงโลก ผู้ใช้ชีวิตหายใจทิ้งไปวันๆ เฉกเช่นเดียวกัน 

ไม่ว่าจะเป็นสาวแก่ขี้เหงาผู้ไม่มีครอบครัว นักเขียนที่เขียนงานไม่ออก คู่ผัวเมียที่บ้านไม่มีอะไรกินนอกจากไข่ต้ม พ่อที่ใช้ความรุนแรงกับลูกชายเพราะความเครียด ชายผู้หมกมุ่นเรื่องสถานที่เผาศพของตัวเอง หมาจนตรอกที่หมายถึงชายผู้ยอมจำนนกับชีวิต หมาจนตรอกที่หมายถึงหมาจริงๆ ฯลฯ

จะว่าอ่านแล้วสิ้นหวังก็สิ้นหวังอยู่บ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มตื้นอย่างบอกไม่ถูก เหมือนถูกตบหัวแล้วลูบหลังปลอบ (ในทางที่ดี)

Fact Box

  • ปกรณัมความปวกเปียก (Particles of Perpetual Paralysis) คือหนังสือคอลเล็กชันเรื่องสั้นทั้งหมด 33 ชิ้น เขียนโดย ‘ภู กระดาษ’ หรือถนัด ธรรมแก้ว นักเขียนจากอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ซอย ราคา 385 บาท
  • ผลงานเขียนก่อนหน้าของ ภู กระดาษ ที่ควรค่าแก่การติดตามอ่าน ได้แก่ ไม่ปรากฏ (2556) ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ (2558) 24-7/1 (2563) ซึ่งเข้ารอบชอร์ตลิสต์ รางวัล S.E.A. Write และ เนรเทศ (2557) ซึ่งได้รับรางวัลและทุนแปลเป็นภาษาอังกฤษจาก English PEN Awards
  • นอกเหนือจากเรื่องสั้น 33 ชิ้นแล้ว เนื้อหาภายในเล่มยังประกอบไปด้วย เนื้อเรื่องที่ได้รับการแปลไปเป็นภาษาอังกฤษของเรื่องสั้น 8 ชิ้น แปลโดย 3 นักแปล ได้แก่ ปาลิน อังศุสิงห์, เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเล็กซานเดอร์ และไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น
Tags: , , , , , , , ,