เรียกได้ว่าเป็นกระแสถล่มทลาย หลังจาก GMMTV จัดงานแถลงข่าว GMMTV2025 RIDING THE WAVE ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเปิดตัวโปรเจกต์มากมายสำหรับปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ ละครเวที อีเวนต์ คอนเสิร์ต หรือแม้กระทั่งเกม
ที่ได้รับความสนใจที่สุดเห็นจะไม่พ้นไลน์อัปซีรีส์ เพราะในปี 2025 ทาง GMMTV ได้นำซีรีส์มาเสิร์ฟแฟนๆ ถึง 20 เรื่องด้วยกัน นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งแตกออกเป็น 2 ฝั่ง ในขณะที่แฟนๆ หลายคนรู้สึกตื่นเต้นกับจำนวนคอนเทนต์ เตรียมตาแฉะตลอดทั้งปี อีกหลายคนก็กังขากับสัดส่วนของซีรีส์วายในไลน์อัปนี้
“เกย์ 19 : ชายหญิง 1”
“ชัดมากๆ เลยว่าค่ายนี้แกนหลักเขาไม่ได้ตั้งใจจะผลิตซีรีส์คุณภาพหรือนักแสดงอาชีพ แต่ตั้งใจปั้นคู่จิ้น”
“คิดถึงซีรีส์แนว The Gifted มาก เดี๋ยวนี้มีแต่วาย จำเจ น่าเบื่อ”
ข้างต้นคือเสียงจากผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเอ็กซ์ (X) บางส่วน หลังจากได้เห็นว่าในรายชื่อซีรีส์ทั้งหมด 20 เรื่องนั้น มีซีรีส์ชายรักชาย 17 เรื่อง หญิงรักหญิง 2 เรื่อง และชายหญิงเพียงเรื่องเดียว เกิดข้อถกเถียงสารพัด เช่น GMMTV กำลังส่งเสริมคอมมูนิตี้ LGBTQIA+ หรือแค่เน้นขายคู่จิ้นเพื่อเซอร์วิสสาววายกันแน่ แล้วมูฟเมนต์นี้ของค่ายใหญ่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมซีรีส์ไทยอย่างไร ทั้งในแง่ความหลากหลายและคุณภาพของผลงาน
วันนี้ The Momentum จึงขอพาผู้อ่านไปส่องความคิดเห็นจากทั้ง 2 ด้านพร้อมๆ กัน
“คิดถึงซีรีส์ GMMTV สมัยก่อน” VS “เวลาเขาทำก็ไม่เห็นมาดู”
หนึ่งในคอมเพลนหลักของผู้ชมที่มีต่อ GMMTV ก็คือ เดี๋ยวนี้ค่ายทำแต่ซีรีส์วาย หลายคนคิดถึงซีรีส์ชายหญิงอย่าง รักนะเป็ดโง่ (2015) และ U-Prince (2016-2017) ซึ่งเป็นแนวรอมคอมเบาสมอง สร้างจากนิยายชุดของสำนักพิมพ์แจ่มใส รวมไปถึงซีรีส์แฟนตาซีพล็อตแน่นอย่าง The Gifted (2018-2020) ซึ่งถึงแม้ไม่เน้นเลิฟไลน์ แต่ก็ฉายได้ถึง 2 ซีซัน เพราะสนุกจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาใช่ว่า GMMTV จะไม่เคยผลิตซีรีส์ทำนองนี้อีกเลยเสียเมื่อไร
หากใครโหยหาแนวรอมคอมคู่ชายหญิง ทางค่ายก็มี หนังสือรุ่นพลอย (2024) มาเสิร์ฟ เป็นเรื่องราวรักวุ่นๆ ของ 5 สาวที่ชื่อ ‘พลอย’ เหมือนกัน แต่ต่างนิสัย ต่างความฝัน
หากอยากได้แนวนักเรียนที่มีความห้ำหั่นกันหน่อย ก็มี Home School (2023) เนื้อเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มเด็กๆ ที่ต้องเอาตัวรอดในโรงเรียนประจำกฎแปลก กลิ่นอายคล้าย The Gifted
หรือหากชอบอะไรเหนือธรรมชาติ ในปี 2023 มี Enigma และ Midnight Museum ส่วนปี 2024 มี บ้านหลอน On Sale ซึ่งเพิ่งฉายจบไปหมาดๆ
หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อทั้งหมดข้างต้น นั่นก็เพราะซีรีส์เหล่านี้ไม่มีกระแสมากนัก ทั้งที่ค่ายพยายามผลิตออกมาเรื่อยๆ
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เมื่อ GMMTV ล้มเลิกความพยายามในปี 2025 แล้วหันมาโฟกัสกับสิ่งที่ทำกำไรมากกว่าอย่างซีรีส์วาย
“ซีรีส์วายจำเจ น่าเบื่อ” VS “จำเจหรือไม่เปิดใจ”
คำวิจารณ์ต่อมาที่มักได้ยินบ่อยๆ คือ อุตสาหกรรมซีรีส์วายไม่ค่อยเน้นคุณภาพ เนื้อเรื่องไม่หลากหลาย วนเวียนอยู่กับพล็อตเดิมๆ และการขายจิ้นนอกจอ
คุณภาพของซีรีส์สักเรื่องคงสุดแล้วแต่มุมมองผู้ชม งานมาสเตอร์พีซสำหรับบางคนอาจเป็นงานคุณภาพต่ำสำหรับอีกคนก็ได้ แต่ในส่วนของข้อครหาที่ว่า ‘ซีรีส์วายไม่หลากหลาย’ นั้น ทางฝั่งสาววายต่างทักท้วงหัวชนฝา วอนให้ผู้ครหาลองเปิดใจดูเสียก่อน
เอาแค่ไลน์อัปซีรีส์วายของ GMMTV ปี 2025 เราก็ได้เห็นเรื่องราวหลายแนวจากผู้คนหลากหลายอาชีพทีเดียว เช่น
หมาเห่าเครื่องบิน-ความรักระหว่างหนุ่มสจ๊วตกับหนุ่มกู้ภัย
ไขคดีเป็นเห็นคดีตาย-แนวสืบสวนเข้มข้น คู่หูตำรวจไขคดีฆาตกรรม
ทำนายทายทัพ-ภารกิจหนีตายของหมอดูกับแพทย์ที่ไม่เชื่อเรื่องดวง
รักจริงหลังแต่ง-การแต่งงานปลอมๆ ของนักต้มตุ๋นสองคน
จาฤกรติชา-พีเรียดพ.ศ. 2458 ว่าด้วยลูกไพร่กับข้าราชการชั้นสูง
อันที่จริงไม่ใช่เพียง GMMTV ค่ายเดียว หลายปีให้หลังมานี้ หลายๆ ค่ายที่กระโดดเข้ามาสู่ตลาดซีรีส์วายก็เริ่มพยายามนำเสนอพล็อตแปลกใหม่ ไม่ได้ติดแหง็กอยู่กับเซ็ตติงมหาวิทยาลัย การประกวดดาวเดือน และคณะวิศวะอีกแล้ว หากจะเหมารวมแปะป้ายซีรีส์วายว่า ‘จำเจ’ อาจไม่แฟร์กับทีมผู้ผลิตไปหน่อย ในเมื่อจุดร่วมเดียวของ 5 ซีรีส์ที่เพิ่งยกตัวอย่างไปข้างต้นนี้ ก็คือมีผู้ชาย 2 คนรักกันเท่านั้นเอง นอกนั้นแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย
“การฟิกคู่จิ้นทำให้นักแสดงไม่เติบโต” VS “ก็คู่จิ้นมันขายได้”
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ในบทสนทนาเกี่ยวกับซีรีส์วาย เราจะไม่พูดถึงคู่จิ้นเลยคงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีรีส์วายของ GMMTV ค่ายที่ขึ้นชื่อว่า ‘ฟิกคู่’ มากๆ คู่จิ้น 1 คู่จึงมักจะต้องเล่นซีรีส์ด้วยกันไปอีกหลายเรื่อง เปลี่ยนแค่บท ไม่เปลี่ยนนักแสดง
ยกตัวอย่างซีรีส์ที่ประกาศในงาน GMMTV2025 เรื่อง ความลับในบทเพลงที่บรรเลงไม่รู้จบ ก็ถือเป็นเรื่องที่ 5 แล้วระหว่าง ฟอส-จิรัชพงศ์ ศรีแสง กับบุ๊ค-กษิดิ์เดช ปลูกผล (หลังจาก ใครคืออองชองเต, ชอกะเชร์คู่กันต์, Only Friends, สายรหัสเทวดา) ส่วนเรื่อง Only Friends: Dream On เป็นเรื่องที่ 5 ของคู่ เอิร์ท-พิรพัฒน์ วัฒนเศรษสิริ กับมิกซ์-สหภาพ วงศ์ราษฎร์ เช่นกัน (หลังจาก นิทานพันดาว, พินัยกรรมกามเทพ, พระจันทร์มันไก่, Ossan’s Love)
ลักษณะการฟิกคู่เช่นนี้ แน่นอนว่าถูกใจแฟนคลับที่อยากเห็นนักแสดงโปรด 2 คนร่วมงานกันไปนานๆ แต่อีกหลายเสียงก็วิจารณ์ว่า นี่เป็นการบีบให้เด็กในค่ายต้องตะเกียกตะกายหาคู่จิ้น ใครไร้คู่มักจะหมดสิทธิ์เป็นตัวเอก ทั้งที่ควรวัดกันจากฝีมือการแสดงและความเข้ากับบทมากกว่า
ประการที่สอง การฟิกคู่อาจทำให้นักแสดงไม่พัฒนาเท่าที่ควร เพราะทำงานอยู่ในคอมฟอร์ตโซนร่วมกับคนเดิมๆ เคมีเดิมๆ แทนที่จะได้ลองอะไรใหม่ๆ
ประการที่สาม การฟิกคู่ส่งผลเสียต่อนักแสดงหญิงเป็นพิเศษ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา GMMTV มีแค่คู่จิ้นชายชาย ผู้หญิงในค่ายจึงแทบไม่มีโอกาสได้บทเด่น จนกระทั่ง 1-2 ปีให้หลังนี่เองที่กระแส GL เริ่มบูมบ้าง คู่หญิงหญิงอย่าง มิ้ลค์-พรรษา วอสเบียน กับเลิฟ-ภัทรานิษฐ์ ลิ้มปติยากร และ น้ำตาล-ทิพนารี วีรวัฒโนดม กับฟิล์ม-รชานันท์ มหาวรรณ์ จึงพอจะได้เฉิดฉาย ถึงอย่างนั้นค่ายก็ยังให้พื้นที่ซีรีส์หญิงรักหญิงในปีหน้าเพียง 2 เรื่อง เทียบไม่ได้เลยกับชายรักชาย 17 เรื่อง
เมื่อมองในมุมธุรกิจ ก็พอเข้าใจอยู่ว่าทำไมค่ายเน้นขายคู่ขนาดนี้ ในยุคที่ทีวีกำลังจะตาย บริษัทใหญ่อย่างช่อง 3 ต้องเลย์ออฟพนักงานจำนวนมาก GMMTV กลับยังยืนหยัดได้สบาย ไม่ใช่เพราะรายได้จากคนดูซีรีส์ตัวเองเสียทีเดียว แต่เป็นรายได้จากการขายสินค้าคู่ จัดแฟนมีต คอนเสิร์ต รับงานคู่ต่างๆ มากกว่า
หรือบางทีอาจถึงเวลาตั้งคำถามกับฝั่งผู้บริโภคบ้างแล้วว่า หากไม่มีคู่จิ้น เราจะไม่หันมาสนับสนุนซีรีส์ไทย นักแสดงไทย อุตสาหกรรมบันเทิงไทยกันเลยจริงๆ หรือ
โดยสรุป ตัวผู้เขียนเองมองว่าการผลิตซีรีส์วายเยอะๆ ไม่ใช่เรื่องผิดเสียทีเดียว ในเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราดูละครสเตรทกันไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเรื่อง ตอนนี้คอมมูฯ LGBTQIA+ เพียงขอแบ่งพื้นที่บนจอบ้าง หากผู้ชมคนใดไม่สะดวกใจดู ก็ยังมีฟรีทีวีอื่นๆ ที่เน้นคอนเทนต์คู่ชายหญิงให้เลือกสรร
อย่างไรก็ตาม สำหรับโมเดลธุรกิจที่ฟิกคู่จิ้นและหยิบยืมอัตลักษณ์ของคอมมูฯ มาขายฝันให้แฟนคลับนั้น ผู้เขียนหวังเหลือเกินว่า สักวันวงการบันเทิงประเทศเราจะก้าวข้ามมันได้สักที ถึงแม้จะรู้ทั้งรู้ว่ายาก ตราบใดที่ดีมานด์ยังล้นหลามแบบนี้
Tags: BL, GL, GMMTV, Gender, ซีรีส์วาย, คู่จิ้น