1

“คุณธนาธรจะทำให้การปฏิวัติในประเทศไทยหายไปเหรอ” เสียงของ สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโสปรากฏขึ้นตอนหนึ่งในภาพยนตร์ Breaking the Cycle (2024)

แน่นอนการต่อสู้กับ Cycle ถือเป็นเหตุผลที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปลายปี 2561 และอาจเป็นคำตอบสำคัญที่ทำให้พรรคนี้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วคือ มี ส.ส. 80 คน ทันทีที่มีการเลือกตั้งครั้งแรก

การเกิดขึ้นของ อนาคตใหม่ คือความพยายามหยุดยั้งวงจรอุบาทว์ ว่าด้วยการล้มรัฐบาลผ่านกำลังทหาร ให้ประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นแบบ คนเท่ากัน’ 

ขณะที่โจทย์ของ Breaking the Cycle สารคดีที่ใช้เวลาถ่ายทำอันยาวนานคือ การบันทึกเรื่องราวของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ ที่มีโจทย์สำคัญคือ หยุดยั้งวงจรนี้ว่าสุดท้ายพวกเขาจะทำสำเร็จหรือไม่

โจทย์สั้นๆ ง่ายๆ แบบนี้จึงเป็นสารคดีทางการเมืองชั้นดี ที่เก็บเอาห้วงเวลาประวัติศาสตร์นั้นไว้ นับแต่วันที่ธนาธรเริ่มตั้งพรรคการเมือง เริ่มแจกใบปลิว เริ่มเดินหาเสียงในวันที่ไม่มีใครรู้จักเขา ก่อนใช้เวทีปราศรัยใหญ่ที่สนามกีฬาไทยญี่ปุ่นดินแดง ในวันที่ 22 มีนาคม 2562 เป็นเครื่องมือเล่าเรื่องสำคัญ ตัดสลับกับภารกิจของธนาธรตลอดทั้งเรื่อง

และเลือกใช้ ธนาธรเป็นตัวละครสำคัญในการดำเนินเรื่อง เป็นภาพแทนของพรรคอนาคตใหม่ ที่เข้ามาต่อสู้ในสนามการเมืองอันเชี่ยวกราก

สำหรับผม ฉากที่น่าสนใจที่สุดคือ ฉากที่ธนาธรพยายามอธิบายกับนักศึกษากลุ่มหนึ่งว่า เคยได้ยินชื่อพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีใครรู้จัก หรือฉากที่พรรคอนาคตใหม่ไปหาเสียงในตลาด มีป้าคนหนึ่งถามว่า ทำแบบนี้ได้เหรอ จะไม่โดนจับใช่ไหม

เพราะส่วนหนึ่งในปี 2562 นั่นคือช่วงเวลาชาชินและยาวนาน หากนับตั้งแต่การรัฐประหารอันเข้มข้นในปี 2557 มีการ ปรับทัศนคติ มีการดำเนินคดีผู้เห็นต่างจำนวนมาก ขณะที่มีนักเคลื่อนไหวจำนวนไม่น้อยตัดสินใจลี้ภัยไปยังต่างประเทศ

ระหว่างทาง Breaking the Cycle ยังได้พาเราย้อนกลับไปหาอีกหลายเหตุการณ์ที่เมื่อเวลาผ่านไป ความทรงจำต่างๆ ทับถม เราอาจลืมไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ ฟ้ารักพ่อที่ทำให้ธนาธรฟีเวอร์ในชั่วข้ามคืน ขณะเดียวกันยังรวมถึงการปราศรัย-การโต้คารมบนเวทีดีเบตหลากหลายครั้งของธนาธร ไปจนถึงการเล่าเรื่องแกนกลางสำคัญหลังการเลือกตั้ง 2562 อย่างการเปลี่ยนสูตรคำนวณของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือการจัดตั้งรัฐบาลที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามพรรคพลังประชารัฐตกเป็นรองในชั่วข้ามคืน ด้วยการเฉลี่ยตัวเลข ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ไปให้พรรคเล็กอีก 11 พรรค รวมถึงเบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลอันเข้มข้น

แม้จะทราบในเบื้องหลังว่า เอาเข้าจริงทีมงานของพรรคอนาคตใหม่ ระแวงผู้จัดทำสารคดีกลุ่มนี้ไม่น้อย แต่พวกเขาก็ยังเก็บเหตุการณ์ระหว่างบรรทัดได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นฟุตเทจที่ธนาธรกับ พรรณิการ์ วานิช นั่งคุยกันบนรถถึงโบรชัวร์โปรโมตพรรคว่า เพราะเหตุใด ทำไมถึงไม่เอารูป ป๊อกขึ้นด้วย หรือการที่ธนาธรพาลูกเล็กไปขี่จักรยานเล่นหลังเวที อยู่ ไม่ เป็นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในห้วงเวลาที่พรรคกำลังเผชิญหลากมรสุม ไปจนถึงเรื่อง Side Story อย่างกลุ่ม ฟ้ารักพ่อก็ไม่มีช่วงไหนที่น่าเบื่อ

หากเป็นหนังธรรมดาเรื่องหนึ่ง ทุกตัวละครในเรื่องต่างก็ได้เรียนรู้ เติบโต และต่อสู้กับอุปสรรคที่ถูกวางไว้ไปด้วยกันขณะเดียวกัน ภาพของตัวละครก็ไม่ได้เป็นผู้วิเศษ แต่เป็นคนธรรมดาที่หวังสู้กับระบอบที่ใหญ่กว่า ทรงพลังกว่า แม้จะรู้อยู่แล้วว่า แพ้แต่โทนของเรื่องก็ชวนให้ติดตามต่อโดยไม่อาจละสายตา

2.

ทว่าสิ่งสำคัญที่อยู่ใน Cycle นี้ และหายไปจากการเล่าเรื่องของผู้กำกับที่ระบุว่า รู้เรื่องการเมืองไม่มากนัก ก็คือยังมีบางสิ่งที่ พูดไม่ได้อยู่ในหนัง

เป็นที่รู้กันดีว่าการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นั้น สิ่งที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่เติบโต-โดดเด่น คือปรากฏการณ์จากพรรคไทยรักษาชาติ ที่อัญเชิญทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จนตามมาด้วยพระราชโองการในคืนวันเดียวกัน ระบุว่า การนำพระบรมวงศานุวงศ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบการเมืองเป็นเรื่องมิบังควร และคำตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติก็เกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันก่อนการเลือกตั้ง 1 คืน ยังมีประกาศจากพระมหากษัตริย์ โดยอ้างอิงพระราชกระแสรับสั่งของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เลือก คนดีเพื่อปกครองบ้านเมือง ซึ่งล้วนทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ผิดแผกไปจากการเลือกตั้งครั้งอื่นๆ 

นอกจากนี้ จุดเปลี่ยนสำคัญบนเส้นทางของพรรคอนาคตใหม่นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดจากการที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.ของพรรค และเลขาธิการพรรคอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการโอนย้ายกำลังพลไปสังกัดส่วนราชการในพระองค์ ซึ่งทำให้ขั้นตอน-กระบวนการยุบพรรคอนาคตใหม่ ดำเนินต่อจากนั้นหลังรวดเร็ว เพราะพรรคนี้เป็นอันตราย

ขณะเดียวกันแม้สารคดีจะพูดถึงการเคลื่อนไหวบนท้องถนน ก็เป็นเพียงภาพเหตุการณ์ ไม่พูดถึงเนื้อหา ทั้งที่การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นผลสะท้อนที่เกิดจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ และส่งต่อถึงพรรคก้าวไกล

แต่ในอีกแง่หนึ่ง หากบันทึกเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา อาจเป็นได้ทั้งการจำกัดวงผู้ชม อันตรายทั้งการต้องผ่านคณะกรรมการเซนเซอร์ และอันตรายในการฉายเป็นวงกว้าง ขณะเดียวกันการฉายเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศช่วงต้นเดือนมิถุนายน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลด้วยข้อหา ล้มล้างการปกครองไม่นาน ย่อมเป็นเรื่องเสี่ยง 

สะท้อนว่า ในวงการนี้ก็ยังมีเรื่องต้องห้าม ยังมีช้างใน Elephant in the Room เป็นเรื่องอันอ่อนไหวพูดไม่ได้ กระนั้นเองก็เป็นก้าวสำคัญ เป็นอิฐก่อนหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตสารคดีอื่นๆ เดินรอยตาม เพื่อที่วันหนึ่งจะพูดเรื่องราวการเมืองไทยแบบตรงไปตรงมา ไม่ได้กระมิดกระเมี้ยน พูดแค่ว่า นักการเมืองเลวสุดท้ายต้องให้ คนดีปกครองบ้านเมือง

3.

คำถามสำคัญก็คือ เมื่อการถ่ายทำภาพยนตร์ต้องใช้เวลายาวนาน ไม่ได้จบง่ายภายหลังการเลือกตั้ง หรือการตั้งรัฐบาลอย่างที่ผู้กำกับทั้ง 2 คนคิด ทางลงควรจะเป็นเรื่องไหน

แน่นอนว่าบทสำคัญคือ การพาไปดูบรรดา หลุมพรางที่ธนาธรและอนาคตใหม่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นคดี หุ้นสื่ออันสุดแสนประหลาดของธนาธร การปรากฏตัวของหมากกล คสช.ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ สมาชิกวุฒิสภา หรือพรรคการเมือง ที่ล้วนแล้วแต่บดขยี้พรรคอนาคตใหม่ให้ค่อยๆ สิ้นพลังลงไป จนกระทั่งปูไปสู่การยุบพรรคในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ปิดฉากพรรคอนาคตใหม่ไปในที่สุด

เป็นการบ่งบอกว่า ประเทศไทยยังคงอยู่ใน Cycle นี้ต่อไป และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ธนาธรพูดไว้ในหนังว่า อาจต้องใช้เวลาราว 10 ปี หรือมีการเลือกตั้ง 3 รอบ พวกเขาถึงจะทำงานความคิดได้สำเร็จ มีประสบการณ์สุกงอม พร้อมเป็นรัฐบาล เปลี่ยนประเทศได้จริง

บทสรุปจึงคล้ายกับที่ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล พูดไว้ในหนังคือ อนาคตใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน มีความหมายในการทำให้คนในสังคมตื่นรู้ มองปัญหาให้เป็นเรื่องโครงสร้าง ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน รวมถึงยังมีผลพลอยได้คือ ได้ทำลายสิ่งที่ คสช.สร้างไว้จนหมดสิ้น ทำให้พลเมืองไทยและเด็กรุ่นใหม่ตื่นรู้ จนพรรคก้าวไกล กลายเป็นพรรคที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง ในเวลาเพียงแค่ 5 ปี นับจากวันที่พรรคอนาคตใหม่ปูอิฐก้อนแรกไว้ และเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยไปตลอดกาล

4.

อันที่จริงผู้กำกับทั้ง 2 คนเคยให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า อยากให้สารคดีนี้เป็นสารคดีการเมืองอันเข้มข้นเทียบชั้นสารคดีการเมืองที่เคยดูในหลายแอปพลิเคชันสตรีมมิง และในวันนี้ พวกเขาก็ประสบความสำเร็จ เมื่อ Breaking the Cycle เป็นภาพยนตร์สารคดีการเมืองไทยเรื่องเดียวใน Netflix เผยแพร่ไปเมื่อ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ในมุมของคนทำหนัง ทั้งการลำดับภาพ วิธีการเล่าเรื่อง-การเชื่อมโยงภาพเหตุการณ์ ฟุตเทจ ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ได้สรุปเหตุการณ์ 6 ปี ให้เป็นหนัง 2 ชั่วโมงโดยไม่มีช่วงเวลาอันนิ่งเนือย และยังช่วยกระตุ้นฝันที่เคยมี ไฟที่เคยมีให้กลับมาอีกครั้ง

เพราะ Breaking the Cycle ไม่ใช่สารคดีส่วนตัวของธนาธร เมื่อถึงเหตุการณ์สำคัญ พวกเขาต่างถอยออกมาจากธนาธร ปิยบุตร หรือกระทั่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้กำกับได้เลือกที่จะถอยออกมา เพื่อให้เห็นความพิกลพิการของการเมืองไทยว่า Cycle นี้ยังคงอยู่ เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปร่าง เปลี่ยนตัวแสดง แต่เนื้อเรื่องจริงๆ แล้ว ก็คือละครน้ำเน่าเรื่องเดิม

ขณะเดียวกันการนั่งดูเรื่องนี้อีกครั้ง ในวันที่ พรรคก้าวไกลกลายเป็นอดีต ปลาสนาการไปด้วยองคาพยพของอำนาจเก่า กรรมการบริหารพรรคต้องถูกแช่แข็งไปอีก 10 ปี ไปพร้อมๆ กับการแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกดอง กฎหมายนิรโทษกรรมที่ไม่มีอนาคต สมาชิกวุฒิสภาที่ไม่รู้ว่าดีหรือแย่กว่าอดีต กระทั่งนายกรัฐมนตรีจากระบอบผสมข้ามขั้วถูกศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะผิดจริยธรรมร้ายแรง ล้วนเป็นเรื่องน่าเศร้า 

ชวนให้คิดได้ว่า หรือ ทางออกของการทำลาย Cycle นี้ อาจเป็นการ สมยอมและ อยู่ร่วมกับบรรดาชนชั้นนำ แบบที่ จักรภพ เพ็ญแข ให้สัมภาษณ์ออกทีวีไม่นานนี้ พร้อมกับลืมความฝันที่เคยมีตอนท้ายเรื่องไปเสีย

แต่ในอีกแง่หนึ่ง การบันทึก Cycle นี้ของสารคดีเรื่องนี้ก็สมบูรณ์ อย่างน้อยก็เห็นความพยายาม สู้เป็นความพยายามเดียวกับขบวนการในอดีต แม้จะแพ้ แต่ก็พยายาม

ในงานเสวนาหลังรอบปฐมทัศน์ ผู้กำกับบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีเรื่องของพรรคก้าวไกล และไม่มีภาค 2 ซึ่งอีกนัยหนึ่งอาจบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ของ Cycle ว่าด้วย อนาคตใหม่และการเมืองไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

ส่วนการต่อสู้กับ Cycle หลังจากนี้ เป็นโจทย์ให้กับ ทุกคนว่าสุดท้ายจะเลือก ‘สยบยอม’ หรือเลือกที่จะ ‘ต่อสู้’ ต่อไป

หมายเหตุ: ปรับปรุงจากบทความที่ตีพิมพ์ลงเว็บไซต์ The Momentum เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 



Tags: , , , ,