ในปี 2388 ซึ่งตรงกับช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บาทหลวงลาร์โนดี (Louis François Larnaudie) ได้นำกล้องถ่ายภาพจากฝรั่งเศสเข้ามาในสยามเป็นครั้งแรก และเขาก็เป็นคนแรกที่เริ่มถ่ายรูปบ้านเมืองสยามด้วยกล้องถ่ายภาพ 

เมื่อการถ่ายภาพคือวิธีการบันทึกความทรงจำรูปแบบใหม่ ชาวสยามจึงค่อยๆ เปิดใจโอบรับวิทยาการนี้ทีละนิดทีละหน่อย  และเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นนำ เช่น พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ และกลุ่มเจ้านาย 

ชนชั้นนำเหล่านี้ มีอิทธิพลทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ภาพถ่ายของพวกเขากับสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในนั้น ต่างก็มีนัยแอบแฝง ทั้งเรื่องราวที่อิงกับวัฒนธรรม ความเชื่อ ทัศนคติ การเมือง และขนบธรรมเนียมแห่งยุคสมัยเดียวกันกับภาพถ่าย 

เมื่อบางรายละเอียดในภาพถ่ายไม่สามารถพูดเองได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์และศิลปะอย่าง นักรบ มูลมานัส กับการรื้อค้นภาพเก่าในหอจดหมายเหตุอายุกว่าร้อยปี มาปะติดปะต่อเรื่องราวเชื่อมโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ของสยาม สำเร็จออกมาเป็น เล่นแร่ แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามหลังภาพถ่าย หนังสือเชิงประวัติศาสตร์ที่จะพลิกดูเบื้องหลังภาพตั้งแต่บริบทของยุคสมัย อิทธิพลของตะวันตก และการเดินทางเข้าสู่ยุคใหม่ของสยาม

เล่นแร่ แปลภาพ เริ่มต้นหมวดแรกด้วยสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของบุคคลบนภาพถ่าย ทั้งการแสดงสีหน้า เรือนผม และเสื้อผ้าที่บุคคลในภาพสวมใส่ นักรบได้ตั้งต้นจากการสำรวจภาพบุคคลไร้รอยยิ้มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และพาผู้อ่านตระเวนแวะตามแต่ละจุดได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล เช่น ความด้อยแสงของกล้องที่ใช้ระบบถ่ายภาพแบบดาแกร์โรไทป์ (Daguerrotype) ทำให้ผู้ถูกถ่ายต้องนิ่งหลายนาที (ถ้ายิ้มอาจจะเมื่อย) สุขภาวะด้านทันตกรรมที่เป็นปัญหาของทุกชนชั้น และทัศนคติต่อการยิ้มที่ถูกมองว่า ‘ไม่เป็นทางการ’ และในตะวันตกมองว่าเป็นการกระทำของคนวิกลจริต ปิดท้ายด้วยการปรากฏรอยยิ้มบนภาพถ่ายที่จะนำมาสู่ยุคของการ ‘เซย์ชีส’ (Say cheese) เพื่อให้ปากของทุกคนขณะถ่ายภาพอยู่ในรูปยิ้มต่อไป

นอกเหนือจากการยิ้ม ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงภาพถ่ายภายหลังการมาอาศัยอยู่ภายในกรุงเทพฯ ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ กับการคงพระเกศายาวด้วยเหตุผลด้านขนบธรรมเนียมจากถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงการนุ่งผ้าซิ่น (ผ้าลุนตยาอะเชะ) ในขณะที่เจ้านายและข้าหลวงตำหนักอื่นนุ่งโจงกระเบน จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นอื่นและต่ำต้อยกว่า หรือภาพถ่ายของเจ้านายสมัยรัชกาลที่ 5 ในชุด ‘แฟนซี’ ฉลองวันปีใหม่ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการรับเอาวัฒนธรรมจากตะวันตกเข้ามาในสยาม ซึ่งอาจตีความได้ว่า เป็นเพราะเราอยากจะเจริญอย่างเขาในยุคสมัยนั้นก็เป็นได้

ในแง่การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ การปรากฏตัวของสิ่งประดิษฐ์แปลกตา (ในยุคสมัยนั้น) บนภาพถ่าย หรือการเปรียบเทียบภาพที่ถ่ายสถานที่เดียวกันแต่คนละช่วงเวลา พอจะแสดงให้เห็นวิวัฒนาการความก้าวหน้าของสยามได้ เช่น การมาถึงของนวัตกรรมสมัยใหม่อย่าง ‘เก้าอี้’ ที่เริ่มจะได้ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงรัชกาลที่ 5 ทั้งๆ ที่มีหลักฐานการผลิตเก้าอี้โดยช่างจีนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ความไม่สันทัดของชาวสยามกับการนั่งบนเก้าอี้ได้ถูกรื้อข้อมูลเชิงลึกออกเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวสยามที่คุ้นเคยกับการนั่งบนพื้นเป็นหลัก ดังนั้น เราจึงไม่พบเก้าอี้ตั้งอยู่ในบ้านของเหล่าเจ้านาย แม้จะมีฐานะร่ำรวยมากก็ตาม

ในบทนี้น่าสนใจว่า ผู้เขียนได้นำภาพที่ถ่ายในสถานที่เดียวกันแต่คนละช่วงเวลา มาเปรียบเทียบให้เห็นวิวัฒนาการของชนชั้นนำสยาม กล่าวคือ ภาพภายในพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งในภาพจะเห็นเหล่าเจ้านาย ข้าราชบริพารและพระสงฆ์ทั้งหมดนั่งลงกับพื้น แต่เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 ภายในสถานที่เดิมนี้กลับพบเก้าอี้หลายประเภทวางเรียงราย และโดยมากเป็นเก้าอี้โทเน็ต ที่มิคาอิล โทเน็ต (Michael Thonet) ชาวเยอรมนี-ออสเตรีย เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งยิ่งทำให้ชัดเจนว่า การรับเอาวิทยาการจากตะวันตกนอกเหนือจากกล้องถ่ายภาพแล้ว ในหมู่ข้าวของเครื่องใช้ก็เริ่มได้รับความนิยม เนื่องจากมุมมองที่ว่า ชาติตะวันตกนั้นเจริญทางวัตถุและอารยะมากกว่า การเลียนแบบหรือนำเอารสนิยม และขนบธรรมเนียมจากดินแดนนอกราชอาณาจักรมาใช้จึงเริ่มมีมาให้เห็น เห็นได้จากการยกเลิกการ ‘หมอบคลาน’ และการนั่งพื้นของเหล่าเจ้านายระหว่างการเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 5 ที่เริ่มแรกนั้นก็ทำเอาเหล่าผู้เข้าเฝ้าไปไม่เป็นกับการนั่งแบบใหม่บนเก้าอี้กันเลยทีเดียว

ความสัมพันธ​์ระหว่างสยามกับชาติตะวันตกนอกจากการพบปะกันทางการทูต ก็ยังซุกซ่อนอยู่ในขนบธรรมเนียมของชาวสยาม อย่างการถ่ายภาพหลังความตาย (Post-morterm Photography) ที่เล่นแร่ แปลภาพ ได้เฉลยแล้วส่วนหนึ่งว่า ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากสยาม แต่เริ่มต้นเป็นที่นิยมในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่สมัยยุควิกตอเรียซึ่งมีสัดส่วนภาพถ่ายร่างผู้เสียชีวิตเทียบกับภาพพิธีแต่งงาน มีอัตราส่วน 3 ต่อ 1 นับว่าเป็นเรื่องตื่นเต้นที่คนเป็นถ่ายภาพงานไว้อาลัยมากกว่าพิธีวิวาห์เสียอีก

สิ่งที่ผู้อ่านมองเห็นว่า เป็นความท้าทายของเล่นแร่ แปลภาพ อย่างหนึ่งคือการรวบรวมเอาบางส่วนบางตอนจากหลักฐานทางโบราณคดี คำกล่าวของนักทฤษฎีวรรณกรรมและนักปรัชญาชาติตะวันตก และบันทึกของราชวงศ์ ใช้อภิปรายทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่าย มากกว่าแค่การบอกว่าภาพนี้ถูกถ่ายขึ้นเมื่อไร หรือโดยใคร นับว่าเป็นเสน่ห์ในความพยายามของหนังสือที่จะดึงมิตินับสิบจากภาพแต่ละภาพ ออกมาร้อยเรียงบรรยายให้เข้าใจได้อย่างสนุกและตื่นตาตื่นใจ เสมือนได้นั่งดูภาพเก่าในหอจดหมายเหตุไปพร้อมกับผู้เขียน 

เล่นแร่ แปลภาพ แม้หัวเรื่องจะเน้นไปที่ภาพที่ถ่ายด้วยกล้อง ทว่าหากได้ลองอ่านจะพบว่า มีภาพเหมือน (Portrait) ที่ใช้การวาดด้วยมือประกอบด้วย เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะภาพถ่ายจากกล้องก็ถอดแบบออกมาจากภาพเหมือน และมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการบันทึกสิ่งต่างๆ ให้คงทนถาวรของมนุษย์ การนำเอาวิทยาการการบันทึกก่อนการถ่ายภาพมาเล่าเสริมจึงเป็นสิ่งที่ผู้อ่านมองว่า ทำให้เนื้อหามีความกลมกล่อมไปในแต่ละบท ที่สำคัญนักรบในฐานะผู้รังสรรค์หนังสือน่าอัศจรรย์เล่มนี้ ก็เป็นศิลปินที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ภาพทั้งจากการถ่ายและจากการลงมือวาดได้เป็นอย่างดี และผลจากการเป็นศิลปินของผู้เขียนนี้ยังทำให้ผู้อ่านได้มองเห็นฝีมือการ ‘คอลลาจ’ (Collage Art) ที่ก็ถูกใช้สื่อสารกับผู้อ่าน ตั้งแต่ปกหน้าไปถึงหน้าสุดท้ายของหนังสือ

แน่นอนว่า สิ่งที่จะไม่กล่าวถึงไปไม่ได้คือ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ สำหรับผู้อ่าน เล่นแร่ แปลภาพนับเป็นหนังสือสอนประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากกรรมวิธีการเล่าเรียนจากในห้องเรียนสมัยมัธยมอย่างยิ่ง เพราะหนังสือไม่ได้ยึดเอาไทย (หรือสยาม) มาเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์ หากแต่รวมไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลกไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวเดี่ยวๆ ในแต่ละยุคสมัย เห็นได้จากการกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของต่างประเทศบ่อยๆ ในเล่มนี้ กระทั่งการใส่วงเล็บตามด้วยคริสตศักราชด้านหลังพุทธศักราชนั่นเอง

หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการใหม่ๆ เสพการมองภาพเก่าภายในหนังสือและพินิจพิเคราะห์ไปพร้อมๆ กับบันทึกต่างๆ ที่จะมาอภิปรายถึงสิ่งที่ปรากฏในภาพถ่าย 

และจะมีคุณค่ามากที่สุด หากว่ามีสิ่งใดที่ผู้อ่านสังเกตเห็นบนภาพถ่ายหรือภาพวาดแล้วตีความได้เป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากผู้เขียน เล่นแร่ แปลภาพ เพราะนั่นย่อมหมายถึงว่า ประวัติศาสตร์ไม่ได้ผูกขาดเรื่องราวไว้กับเนื้อหาใดเพียงอย่างเดียว

Fact Box

  • เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย ผู้แต่งคือ นักรบ มูลมานัส จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน มีเนื้อหาทั้งหมด 290 หน้า ราคา 370 บาท
Tags: , , , , , , , ,