เชื่อเหลือเกินว่า ทันทีที่อ่านชื่อบทความจบ เราทุกคนต่างนึกถึง ‘คนนั้น’ ในชีวิตของตัวเองกันอย่างแน่นอน
คนนั้นที่หมายถึงคนที่ไม่เอาไหน คนที่คิดว่าตัวเองดีเลิศ หรือคนที่มักเผลอปล่อยไก่โชว์โป๊ะอยู่บ่อยๆ แต่เพราะพกความมั่นใจอันแสนไร้เดียงสาติดตัวมาด้วยเสียเต็มหลอด จึงมักไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังกลายเป็นตัวตลกในสายตาใคร
พวกเขาอาจเป็นได้ทั้งคนรู้จัก เพื่อนร่วมงาน หรือญาติมิตร และน่าขำที่หลายครั้ง ‘อีนั่น’ ในชีวิตเราก็ดันเป็นตัวเราเองนี่แหละ
ตัวเราในวัยเยาว์
ตัวเราในอดีตสมัยยังไม่รู้เรื่องรู้ราว
ตัวเราในเวอร์ชันย้อนกลับไปมองทีไรก็อดเขินในความอวดเก่งไม่ได้สักที
“ปัญหาอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ก็มีอยู่ว่า ในขณะคนฉลาดเอาแต่กังขาตัวเอง คนโง่ก็ดันมั่นใจในตัวเองไปเสียหมด” ชาร์ลส์ บูคอฟสกี (Charles Bukowski) นักเขียนยุค 70s ชื่อดังเคยกล่าวไว้เช่นนั้น ดูท่าว่า ไม่ว่าเราจะไปไหนก็ไม่อาจหลีกหนีปรากฏการณ์นี้ได้พ้น ในขณะที่ฝรั่งมีสำนวนที่ว่า ‘การใฝ่หาความรู้แค่งูๆ ปลาๆ อาจเป็นภัยแก่ตนได้’ (A little learning can be dangerous) ฝั่งจีนก็พูดถึงคนที่ยิ่งอวดฉลาดก็ยิ่งดูโง่เอาไว้ว่า ‘ทำเรื่องฉลาดให้กลายเป็นเรื่องโง่’ (弄巧成拙)
ว่าแต่เหตุใดความมั่นใจแบบผิดๆ ของคนรู้น้อยและความไม่มั่นใจเสียจนประหลาดของคนรู้มาก จึงเป็นปรากฏการณ์ที่พบเจอได้ในทุกยุค ทุกวงการ และทุกวัฒนธรรม ถึงขนาดนี้กัน
Dunning-Kruger Effect
ในช่วงกลางฤดูหนาวปี 1995 แม็กอาร์เธอร์ วีเลอร์ (McArthur Wheeler) และคลิฟตัน เอิร์ล จอห์นสัน (Clifton Earl Johnson) ตัดสินใจปล้นธนาคารในเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนกลางวันแสกๆ โดยไม่สวมหน้ากากโม่งปิดบังตัวตนเลย ความตลกของเรื่องนี้ก็คือทั้งคู่ตกใจสุดๆ เมื่อถูกตำรวจคุมตัว ราวกับไม่คาดคิดมาก่อนว่า เจ้าหน้าที่จะล่วงรู้ตัวตนของพวกเขา
“แต่ผมทาน้ำมะนาวแล้วนี่! ผมก็ทาน้ำมะนาวแล้วไง!” วีลเลอร์โวย
พอสอบปากคำถึงได้รู้ว่าโจร 2 รายนี้เชื่อว่า การทาน้ำมะนาวเคลือบบนใบหน้าจะทำให้กล้องวงจรปิดจับภาพใบหน้าของพวกเขาไม่ติด เหมือนที่คนสมัยก่อนเอาน้ำมะนาวมาใช้เป็นหมึกล่องหนเพื่อเขียนจดหมายที่ต้องการเก็บเป็นความลับ
คู่หูนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) เดวิด ดันนิง (David Dunning) และจัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) ได้รับแรงบันดาลใจจากบทข่าวตลกๆ ว่าด้วยความซื่อของสองโจรที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ จึงทดลองเกี่ยวกับอคติทางการรู้คิด (Cognitive Bias) ที่คนมีต่อความรู้ความสามารถของตัวเอง
ในการทดลอง พวกเขาให้ผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นมุขตลก คิดวิเคราะห์เหตุผล และทำแบบทดสอบไวยกรณ์ภาษาอังกฤษ จากนั้นประเมินผลลัพธ์ที่ได้ว่าตนทำได้ดีแค่ไหน เป้าหมายของการทดลองครั้งนี้คือเพื่อให้ทราบว่า เราจะช่วยให้มนุษย์คนหนึ่งประเมินระดับความรู้ความสามารถของตนเองให้แม่นยำขึ้นได้อย่างไร ผลปรากฏว่า
1. คนส่วนใหญ่ประเมินความสามารถตัวเองสูงเกินจริง โดยกลุ่มที่ให้คะแนนตนเองสูงมากเป็นพิเศษคือกลุ่มที่มีระดับความรู้ความสามารถในด้านนั้นๆ ต่ำที่สุด
2. ยิ่งคนคนนั้นมีระดับความรู้ความสามารถสูงเท่าไร ก็ยิ่งให้คะแนนตนเองต่ำลงเท่านั้น
3. เราสามารถช่วยให้แต่ละคนพัฒนาทักษะทางการรู้คิด (Metacognitive Skill) กล่าวคือสร้างความตระหนักถึงกระบวนการทางความคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ ด้วยการฝึกฝนและเข้าอบรมทักษะทางด้านนี้โดยเฉพาะ
หลังจากเนื้อหาเกี่ยวกับการทดลองครั้งนั้นได้รับการตีพิมพ์ในปี 1999 ‘ปรากฏการณ์ดันนิงครูเกอร์’ (Dunning-Kruger Effect) ก็กลายมาเป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของกลไกทางจิตวิทยา ที่ทำให้ตนรู้น้อย จนเผลอหลงผิดคิดว่าตัวเองฉลาด แต่เมื่อรู้มากเข้าก็จะเริ่มมองเห็นขีดจำกัดของตนชัดขึ้นท่ามกลางขอบเขตความรู้อันกว้างไกลที่เพิ่งได้ค้นพบ
เราสามารถหลุดพ้นจากความมั่นใจแบบผิดๆ ได้ไหม และคนเก่งจะเลิกดูถูกตัวเองได้หรือไม่
คำตอบสั้นๆ คือได้ แต่ถ้ายังต้องการอธิบายเพิ่ม คงต้องมาดูแผนภาพที่ อาทิตยา แอดดี ภารทวาช (Aditya “Addy” Bhardwaj) วิศวกรซอฟต์แวร์ของบริษัทการเงิน J.P. Morgan ใช้อธิบายไทม์ไลน์ของปรากฏการณ์ดันนิงครูเกอร์ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในแวดวงเทคโนโลยี (ซึ่งนั่นก็รวมถึงตัวเขาเองด้วย) ไปพร้อมกัน
ไทมไลน์ถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วงความรู้ใหญ่ๆ ได้แก่ ช่วงโง่เขลา (Ignorant) ช่วงบ่มเพาะ (Cultured) และช่วงชำนาญการ (Expert) ภารทวาชเชื่อว่า เมื่อกระบวนการเรียนรู้ของคนเราในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งเริ่มขึ้น ก่อนจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่เชี่ยวชาญ เราทุกคนจะต้องผ่านช่วงความรู้ทั้ง 3 ช่วงนี้
จะเห็นได้ว่าในช่วงโง่เขลา เส้นระดับความมั่นใจของคนเราจะพุ่งถึงจุดพีก ก่อนจะค่อยๆ ทิ้งตัวต่ำลงทีละน้อยในช่วงบ่มเพาะ นั่นหมายความว่า หากเรามุ่งมั่นเรียนรู้ต่อไปไม่หยุดชะงักอยู่ที่จุดเริ่ม พอถึงจุดหนึ่ง ‘คนมั่น’ ก็จะหลุดพ้นจากภาวะมั่นใจแบบผิดๆ ได้เพราะได้เริ่มกลายเป็น ‘คนเก่ง’ ขึ้นแล้ว
ในขณะเดียวกันจุดต่ำสุดของเส้นความมั่นใจของหลายคนอาจอยู่ในช่วงบ่มเพาะนี่แหละ แต่หากเราไม่ยอมแพ้และมุ่งมั่นอยู่ในวงการนี้ต่อไป ในที่สุดเราก็จะเดินทางมาถึงจุดที่ความมั่นใจของเรากระเตื้องกลับขึ้นมา นั่นคือช่วงชำนาญการ (แต่แน่นอนว่าไม่ถึงขั้น ‘มั่นหน้า’ เท่าช่วงแรก)
ระยะเวลาการบ่มเพาะของแต่ละปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างกันไปตามปัจจัยแวดล้อม ฌอน เครก (Sean Craig) ผู้ก่อตั้งสมาคมผู้นำ Impact Society กล่าวว่า แผนภาพนี้ได้สรุปเรื่องราวชีวิตของเขาเอาไว้แล้ว จุดพีกที่เขามั่นใจในตัวเองสูงทั้งที่มีความรู้ไม่มากคือช่วงอายุ 20 กว่า (ช่วงโง่เขลา) แล้วพอเข้าวัย 20 ปลายๆ จนถึงสิบกลางๆ เขาก็เริ่มตระหนักว่า ตัวเองยังไม่เก่งจริง (ช่วงบ่มเพาะ) แล้วในที่สุดในวัย 40 ปี เครกก็กลับมามั่นใจขึ้น แต่เป็นความมั่นใจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของขอบเขตความรู้จริง (ช่วงชำนาญการ)
พูดง่ายๆ คือนอกจากเราจะพัฒนาทักษะการประเมินความรู้ความสามารถของตนเองได้ด้วยวิธีการอบรมทางจิตวิทยาตามวิธีของดันนิงและครูเกอร์แล้ว การมุ่งมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่หยุดอยู่กับที่ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เราค่อยๆ ยืนบนขาของตัวเองได้อย่างมั่นคงขึ้นทีละน้อย
อ้างอิง
https://www.nature.com/articles/s41415-023-5795-8
https://www.innerdrive.co.uk/blog/the-dunning-kruger-effect/
https://www.impactsociety.co/articles/the-dunning-kruger-effect-aka-the-story-of-my-life/
https://medium.com/geekculture/dunning-kruger-effect-and-journey-of-a-software-engineer-a35f2ff18f1a
Tags: Wisdom, Knowledge & Wisdom, Dunning-Kruger Effect, อวดฉลาด