ในวันนี้ ชาวกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งคงคุ้นหูกับคำว่า ‘เบียนนาเล่’ (Biennale) กันแล้ว และใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หลายคนคงได้ไปเดินชมงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 (Bangkok Art Biennale: BAB)
ความหมายของคำว่า เบียนนาเล่ หมายถึง การทำกิจกรรมอะไรก็ตาม 2 ปีต่อครั้งหรือปีเว้นปี สำหรับเทศกาลเบียนนาเล่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1895 ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่ง ‘เวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale)’ เกิดขึ้นจากความพยายามฟื้นฟูบ้านเมืองโดยใช้ศิลปะและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ เป็นเทศกาลที่จัดแสดงทุก 2 ปี สำหรับเวนิส เบียนนาเล่แต่ละครั้งจะมีการเปลี่ยนคอนเซปต์งาน และคิวเรเตอร์ทุกครั้ง รวมถึงไม่จำกัดสัญชาติศิลปิน
ความสำเร็จของเวนิส เบียนนาเล่นำพาให้เทศกาลเบียนนาเล่กระจายไปยังเมืองต่างๆ ทั่วโลก และความนิยมที่เกิดขึ้นนำมาสู่ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่เริ่มจัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี 2018 และในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม ‘รักษา กายา (Nurture Gaia)’ ผ่านการติดตั้งงานศิลปะตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ กว่า 11 แห่ง ทั้งหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ วัด และห้างสรรพสินค้า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปหรือหอศิลปเจ้าฟ้า บนถนนเจ้าฟ้า เขตพระนคร สถานที่แห่งนี้มีผลงานของศิลปินไทยรุ่นใหม่วัย 27 ปี อย่าง ปลื้ม-ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลนี้
The Momentum ชวนส่องมโนทัศน์ทางศิลปะ สำรวจลู่ทางสู่การเป็นศิลปิน และค้นหากุญแจ เพื่อไขเข้าไปให้ถึงความหมายของงานศิลปะ รวมถึงสืบเสาะหาพื้นที่สร้างสรรค์ในไทยว่ามีมากน้อยเพียงใดจากมุมมองของศิลปิน ทั้งในมิติของการเป็นเด็กต่างจังหวัด และเคยเป็นนักศึกษาศิลปะจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ กระทั่งเป็นศิลปินที่มีผลงานจัดแสดงในต่างประเทศ
ท้องฟ้าไทอาหม จรดผืนดินไกอา: เมื่อนิทานปรัมปราตะวันออกปะทะเทพปกรณัมตะวันตก
ศุภวิชญ์เกริ่นให้ฟังว่า เขาเป็นศิลปิน ‘Open Call’ หรือศิลปินที่จะส่งโครงการ (Proposal) เข้าคัดเลือกให้ได้จัดแสดงเมื่อมีการเปิดรับ โดยเส้นทางการของการเป็นหนึ่งใน 76 ศิลปินทั่วโลกของเขา เริ่มจากการส่งผลงานให้ทางบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ พิจารณา
“โปรเจกต์นี้เราทำมาก่อนสักพัก แล้วเพิ่งมาเห็นเบียนนาเล่เขาเปิดรับสมัคร ซึ่งธีมตรงกับสิ่งที่กำลังทำอยู่พอดี ก็เลยส่งโครงการไปเสนอ ซึ่งของเราเกี่ยวกับเรื่องความรู้สึกเชื่อมโยงกับโลก ตอนที่เรามองดวงดาวตอนกลางคืน แต่ในบริบทปัจจุบันปัจจัยต่างๆ ทำให้คล้ายจะบังคับให้เราดูดาวในมือถือ ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับโลกจะยังเกิดขึ้นอยู่ไหม โลกที่มีอินเทอร์เน็ต ดาวเทียม เมือง ขยะ ไม่ใช่โลกที่มีแต่ต้นไม้แล้ว”
สำหรับแนวคิดรักษา กายา (Nurture Gaia) ของบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในปีนี้นำเสนอถึงเทพีไกอา หรือพระแม่ธรณี (Mother Nature) ตามตำนานกรีกถือว่าเป็นเทพองค์แรกของโลก เป็นจุดกำเนิดของทุกสรรพสิ่ง เมื่อถามต่อไปว่า ผลงานศิลปะของศุภวิชญ์ทั้งเรื่องดวงดาว โลกอินเทอร์เน็ต สัมพันธ์กับเทพีไกอาหรือพระแม่ธรณีอย่างไร
ศุภวิชญ์จึงไล่เลียงไปยังจุดเริ่มต้นว่ามีคืนหนึ่งเขาออกไปดูดาวหาง แต่โชคไม่เข้าข้าง เพราะเขามองไม่เห็นดาวบนฟ้า เนื่องจากเมฆกับแสงในเมืองบดบังอยู่ จึงได้กลับมาดูดาวหางจากภาพในมือถือแทน ซึ่งภาพดาวที่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ตนั้นสวยงามและคมชัดกว่าการมองด้วยตาเปล่า ทั้งยังมีหลายมุมมองให้เลือกชม และคงมีคนจำนวนหนึ่งที่กำลังดูดาวในมือถือเช่นเดียวกับเขา ซึ่งอาจเยอะกว่าคนที่ออกไปดูด้วยตาเนื้อเสียอีก จุดนี้ทำให้ศุภวิชญ์คิดว่า นี่คือท้องฟ้าอีกผืนหนึ่งที่อยู่ในมือถือ เลยเกิดการตั้งคำถามว่า หากเราก้มดูดาวในจอ แล้วการมองขึ้นท้องฟ้าและความรู้สึกเชื่อมต่อกับโลกตอนมองขึ้นบนฟ้าจะหายไปหรือไม่
ตอนที่เริ่มลงมือสร้างงานนี้ เขาจึงได้ไปค้นคว้าถึงเรื่องคติความเชื่อเกี่ยวกับท้องฟ้าในสังคมต่างๆ และได้อ่านตำนานการกำเนิดท้องฟ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ไทอาหม (Tai Ahom) ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ซึ่งสัมพันธ์กับจักรวาลทัศน์ โดยมีใจความคือ แมงมุมเป็นผู้สร้างท้องฟ้า ศุภวิชญ์จึงได้หยิบยกคตินี้มาสร้างผลงานศิลปะ
ศิลปินหนุ่มขยายความว่า สาเหตุที่ปัจจุบันนี้ตนเองและคนอื่นๆ ดูดาวในมือถือ เป็นผลอันเนื่องมาจากการเงื่อนไขข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมและไลฟ์สไตล์ ซึ่งอาจทำให้การมองดวงดาวบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดความรู้สึกเชื่อมต่อและห่วงใยโลกหายไป มุมมองในการคำนึงถึงโลกนี้ไปเกื้อหนุนกับแนวคิดที่มองโลกด้วยความอาทรของธีมรักษา กายา รวมทั้งการเล่าเรื่องราวจากเลนส์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทอาหม เสมือนการให้ความหมายและคุณค่ากับคติพื้นถิ่น แม้ไม่ใช่ตำนานกระแสหลัก
โดยในวันนี้ศุภวิชญ์ให้คำตอบว่า ผลงานตนเองคงอยู่ในประเภทภาพวาด (Painting) ที่ผสมกับ ‘ศิลปะจัดวาง’ หรือ ‘ศิลปะติดตั้ง’ (Installation Art) ซึ่งหากเจาะจงอาจเรียกว่า Painting Installation ประกอบด้วยงานศิลปะแบบ 3 มิติและภาพวาด แม้ความจริงเขาก็ไม่แน่ใจว่า ต้องนิยามแนวทางมันว่าอย่างไรดี
“ตอบยากเหมือนกัน เพราะว่าตอนทำก็ไม่ได้คิดถึงคำนิยาม หลักๆ เราชอบแสดงออกด้วยภาพวาด เพราะว่าเราชอบจินตนาการอะไรต่างๆ แล้วเราสื่อด้วยภาพวาด มันเอาภาพในหัวออกมาได้ดีที่สุด แต่ว่าในการจัดแสดงนี้ก็จะมีพวกงานศิลปะจัดวาง มีประติมากรรมเล็กๆ ประกอบด้วย อาจจะเรียกรวมๆ ได้ว่าเป็น Painting Installation” ศุภวิชญ์ตอบ
ลู่วิ่งของศิลปินชาวอุบลราชธานี สู่แกลเลอรีในต่างประเทศ
ศุภวิชญ์ถือเป็นศิลปินอายุน้อยที่เติบโตไปไกลพอสมควร ผลงานของเขาจัดแสดงในต่างประเทศทั้งที่เคลียริงแกลเลอรี (Clearing Gallery) รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา, พิพิธภัณฑ์ศิลปะ X (X Museum) กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และ Samdani Art Foundation ประเทศบังกลาเทศ ที่ในความเป็นจริงแล้วศิลปินหนุ่มผู้นี้เล่าว่า การศิลปะของตนจะได้เดินทางไกลขนาดนี้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้แต่น้อย
ส่วนการที่ศุภวิชญ์ได้ไปแสดงผลงานในต่างประเทศมาก่อน ทำให้เขามีแต้มต่อในการถูกคัดเลือกสำหรับเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่หรือไม่ ในประเด็นนี้ศุภวิชญ์ให้ความเห็นว่า
“มันอาจจะช่วยให้โปรไฟล์เราแข็งแรง และประสบการณ์ที่ตนได้เรียนรู้มาก็เป็นส่วนช่วยให้งานพัฒนา เพราะสุดท้ายคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคืองานและเนื้อหา ซึ่งเบียนนาเล่เป็นเทศกาลศิลปะที่นับว่าใหญ่และเป็นการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน โครงการจัดให้งานศิลปะได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่หลากหลาย ทำให้คนเข้าถึงได้ในรูปแบบที่หลากหลาย และเกิดมุมมองใหม่ๆ กับงานศิลปะชิ้นนั้นๆ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ พอได้เข้าร่วมแล้วเราได้รับประสบการณ์ที่ประทับใจ ได้โอกาส ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้พูดคุยกับศิลปินคนอื่นๆ และผู้ชม
“หากถามว่าเป็นหมุดหมายของศิลปินคนอื่นๆ ไหม คิดว่าเป็นโครงการที่สำคัญของทั้งคนทำงานศิลปะและคนดู และสำหรับตัวเรานับเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า
“พอมาคิดดู มันก็ไม่ง่าย ตั้งแต่ที่เราเขียนคอนเซปต์ ทำงาน จนถึงส่งโครงการ เราก็ทำเต็มที่ เราจริงจังและสนุกกับการทำงานศิลปะมาตลอด ความยากอาจจะคือความตั้งใจและสม่ำเสมอกับมัน เพราะการทำงานศิลปะมันมีกระบวนการที่ต้องทุ่มเทและใช้เวลากับมันพอสมควร”
หากเราได้อ่านบทสัมภาษณ์ศิลปินที่เป็นนักดนตรี เราอาจจะได้อ่านเป้าหมายของศิลปินผู้นั้นว่าต้องเป็นการยืนอยู่บนเวทีใหญ่ๆ อย่างคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีระดับโลก ในเมื่อเบียนนาเล่ยังไม่ใช่เป้าหมายของทุกคน แล้วเวทีโลกของนักวาด นิทรรศการ หรือแกลเลอรีที่อยากให้ผลงานของตนเองได้ไปจัดแสดงคือที่ไหน
“อยากเทียบกับดนตรี ของเรามันก็ประมาณว่าเหมือนเห็นคนไปเล่นแคนริมแม่น้ำโขง แล้วเราอยากไปเล่นด้วยอะไรประมาณนั้น แต่ก็ต้องไปฝึกก่อนนะ” หนุ่มจากเมืองอุบลฯ ตอบ
คำตอบของศุภวิชญ์ไม่ได้เป็นแง่ของสถานที่ชัดเจน แต่เป็นความสนใจในการพัฒนาตัวเองกับเซิร์น (CERN) หรือองค์กรวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป ซึ่งมีโครงการ Arts at CERN ภายใต้แนวคิด When art meets science คือเมื่อศิลปะพบกับวิทยาศาสตร์
“ส่วนตัวเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าต้องไปแสดงที่หนึ่ง ๆ แต่มันเป็นในแง่อยากไปเรียนรู้ พัฒนางาน หรือเห็นตัวเรากับใครหรือพื้นที่แบบไหนมากกว่า อย่างเช่น ช่วงนี้เราสนใจเซิร์น คือมันจะเป็นแนวไซไฟ วิทยาศาสตร์ เราเห็นแล้วเราก็อยากจะไปเรียนรู้ ไปพัฒนาโปรเจกต์กับเขา แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งหลังจากนั้นเราการแสดงงานอาจจะเป็นที่ไหนก็ได้”
ซึ่งจากคำตอบเรื่องแคนริมโขง นำมาสู่คำถามที่ว่า แล้วพื้นที่จัดแสดงศิลปะในบ้านเกิดที่เขาเติบโตมามีมากน้อยแค่ไหน ศุภวิชญ์ตอบว่ามีน้อยมาก รวมถึงในกรุงเทพฯ ก็อาจมีซุกซ่อนอยู่เพียงแต่คนไม่ทราบ แม้กระทั่งตัวเขาเองที่เป็นศิลปินก็ตาม ซึ่งศุภวิชญ์มองว่า ปัจจัยของการเติบโตเป็นศิลปินต้องได้เห็นงานเยอะๆ แม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็เดินทางลำบาก ถึงจุดนี้จึงก่อให้เกิดคำตอบว่าแล้วลู่ทางการเติบโตของศิลปินคนอื่น หรือนักศึกษาศิลปะในไทยเป็นอย่างไร หากสมมติว่า ในห้องเรียนศิลปะมีนักเรียนสัก 100 คน อาจมีนักเรียนเพียงน้อยนิดที่ยังโลดแล่นอยู่บนลู่ศิลปะ
“ต้องเกริ่นก่อนว่าการเป็นอย่างอื่นไม่ใช่ว่าล้มเหลวนะ ชีวิตของคนเรียนหรือชอบทำงานศิลปะไม่ใช่แค่ต้องเป็นศิลปินดัง บางคนใช้ความสามารถวาดรูปขาย ทำคอนเทนต์ ทำงานออกแบบ หรือทำประโยชน์ให้คนอื่นได้มากมาย มันก็ได้หมดเลย แต่ถ้าถามเปอร์เซ็นต์ของคนที่เป็นศิลปินก็อาจจะน้อยมากๆ แล้วการได้อยู่ในลู่ทางที่มันจะนำพาไปสู่การเป็นศิลปินมันยากนะ อย่างแรกคิดว่ามันต้องมีข้อมูลระดับหนึ่งว่ามีพื้นที่ตรงไหนบ้างที่เป็นพื้นที่ศิลปะ ต้องพยายามหาที่ๆ เหมาะกับงานเรา แบบสไตล์เหมือนกัน แล้วก็อีกด้านหนึ่งต้องทำงานและทำตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสที่ไม่รู้จะมาตอนไหน ซึ่งส่วนใหญ่มันอยู่ในกรุงเทพฯ มันเดินทางยาก และไม่ใช่ราคาถูก สถาบันศิลปะอาจจะต้องมีการช่วยอำนวยบางอย่างให้นักศึกษา เห็นหลายๆ แห่งก็พานักศึกษามาดูงานศิลปะบ่อยๆ ซึ่งเราว่ามันก็เป็นเรื่องที่สำคัญ” ศุภวิชญ์ให้ความเห็น
กุญแจดอกสุดท้ายที่ไขสู่ความเข้าใจในศิลปะ
ปัจจุบันที่กรุงเทพฯ เริ่มขยายพื้นที่สร้างสรรค์ ผู้คนสามารถคุ้นชินกับการพบเจองานศิลปะมากขึ้น อีกหนึ่งสิ่งที่ตามมาคือข้อคิดเห็นว่า ‘ศิลปะเข้าใจยาก’ ประเด็นนี้ศิลปินผู้ทำงานศิลปะที่ไม่ได้ดูแล้วเข้าใจทันที ศุภวิชญ์กล่าวว่า มันไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด
“มันไม่ได้เข้าใจยากไปกว่าหนัง หรือดนตรีบางประเภทเลยมันก็มีศิลปะที่เข้าใจง่ายและเข้าใจยาก มีทั้งข้อมูลหนักๆ เนื้อหาซีเรียสไปจนถึงตลกจนหัวเราะ แต่ว่ามันไม่จำเป็นต้องมาเข้าใจ หรือต้องมาขบคิดกับมันขนาดนั้นก็ได้ คือถ้าเปรียบเทียบกับดนตรีมันจะเข้าใจง่ายนะ มันก็ฟังเอาเพลินก็ได้ เหมือนบางทีเรายังไม่ค่อยชินกับการมาดูศิลปะเพื่อพักผ่อนเหมือนไปดูหนังหรือว่าฟังเพลง อาจเพราะมันเดินทางยากลำบากด้วยก็ได้” ศิลปินหนุ่มกล่าว
ศุภวิชญ์ยังเสริมว่า การมองภาพศิลปะหนึ่งภาพอาจตีความได้หลายแบบ ขึ้นอยู่ประสบการณ์หรือชุดความรู้ของผู้ชมแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน และการมาดูศิลปะไม่ใช่เรื่องของคนฉลาดหรือคนเก่ง มาดูเพื่อความบันเทิงก้ได้ รวมถึงการตีความศิลปะสามารถทำได้อย่างอิสระ เหมือนการรีวิวภาพยนตร์
“คิดว่าศิลปินทุกคนอยากให้มันเกิดขึ้น (การรีวิวศิลปะ) เพราะว่ามันเป็นประโยชน์กับทั้งคนทำ ผู้ชม และอาจมากกว่านั้น อย่างเช่นหนังเรื่องหนึ่ง คนดูจบแล้วเอาไปรีวิว ต่างคนก็ต่างมุมมอง ร้อยคนก็ร้อยมุมมอง ได้พูดคุย ได้ขบคิด สะท้อนมุมองกันและกัน ในมุมที่ว่าดูแล้วคิดอย่างไร ทำให้รู้สึกอย่างไร ถ้าผู้ชมรีวิวความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังดูงาน รีวิวจากชุดความรู้ จากประสบการณ์ของคุณ เราคิดว่ามันมีคุณค่าสำหรับคนที่สร้างงาน คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ศิลปินทุกคนอยากให้มันเกิดขึ้น” ศุภวิชญ์เน้นย้ำ
คำตอบในส่วนนี้อาจทำให้หลายคนผ่อนคลายในการเดินชมบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ได้เหมือนเวลาเดินทางไปดูคอนเสิร์ต หรือไปโรงภาพยนตร์
อ้างอิง:
https://www.tbl.go.th/Wwwfiles/TBLFiles/File/NewsFile/20230825120245.pdf
Fact Box
หากใครอยากเดินทางไปชมผลงานของศุภวิชญ์ สามารถไปได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปหรือหอศิลปเจ้าฟ้า เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 9.00-16.00 น. (หยุดวันจันทร์และวันอังคาร) และอ่านข้อมูลของผลงานศิลปะและสถานที่อื่นๆ เพิ่มเติมได้ทาง https://www.bkkartbiennale.com/