หากใครเป็นแฟนเพลงสากล ช่วงนี้น่าจะต้องเคยได้ยินชื่อศิลปินเลสเบี้ยนดาวรุ่ง แชปเพลล์ โรน (Chappell Roan) มาบ้างไม่มากก็น้อย เธอเป็นเจ้าของเพลงดังอย่าง Good Luck, Babe! ซึ่งนอกจากทำนองจะติดหูแล้ว เนื้อเพลงยังกล่าวถึงความรักหญิง-หญิงที่ไม่สมหวัง เนื่องจากผู้หญิงคนหนึ่งในความสัมพันธ์ไม่อยากยอมรับว่า ตัวเองชอบผู้หญิงด้วยกัน เรียกได้ว่า ถูกอกถูกใจเลสเบี้ยนหลายคนที่มีประสบการณ์ร่วม และยกให้เป็น ‘เพลงชาติ Comphet’ ไปเลยทีเดียว

คำว่า Comphet หรือชื่อเต็มคือ Compulsory Heterosexuality แปลตรงตัวได้ว่า ‘รักต่างเพศเชิงบังคับ’ ซึ่งคนไทยเราอาจจะไม่คุ้นนัก แต่เป็นคำที่ค่อนข้างฮิตในโลกอินเทอร์เน็ตฝั่งที่พูดภาษาอังกฤษ และจริงๆ ก็เกิดก่อนอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำไป

จุดกำเนิดทฤษฎี Comphet

แนวคิด ‘รักต่างเพศเชิงบังคับ (Compulsory Heterosexuality)’ ปรากฏครั้งแรกในเรียงความปี 1980 ของนักเขียนเลสเบี้ยน เอเดรียน ริช (Adrienne Rich) โดยริชอธิบายไว้ว่า รักต่างเพศ (Heterosexuality) หรือการที่หญิงรักชาย ชายรักหญิงนั้น นอกจากเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคน 2 คนแล้ว ยังเป็นสถาบันการเมือง (Political Institution) ที่ใช้ควบคุมผู้หญิงด้วย

นี่ไม่ได้หมายความว่า รักต่างเพศเป็นรักไม่จริง หรือความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงทุกคู่เป็นเรื่องลวงหลอก แต่หากพิจารณาบริบทสังคมเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมในปี 1980 ก็ต้องยอมรับว่า พวกเราเกิดมาพร้อมกับความคิดฝังหัวให้เป็นสเตรทจริงๆ

ในปี 1980 สังคมพอจะรู้จักคำว่าเลสเบี้ยนบ้างแล้ว และผู้หญิงที่รักผู้หญิงก็มีตัวตนมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม รักร่วมเพศ (Homosexuality) ยังคงถูกมองว่าเป็น ‘ความผิดปกติ’ หรือ ‘ข้อยกเว้น’ ที่เกิดกับคนส่วนน้อย หากผู้หญิงคบผู้ชาย สังคมจะเห็นเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หากผู้หญิงคบผู้หญิง จะถูกตั้งคำถามทันทีว่า ทำไม มีอดีตฝังใจที่ทำให้เกลียดผู้ชายหรือเปล่า มีปัญหาอะไรทางจิตไหม

บรรทัดฐานสังคมที่ปลูกฝังว่ารักต่างเพศคือความปกตินี่เอง เป็นส่วนหนึ่งในการตีกรอบชีวิตผู้หญิง

ตัวอย่างเช่น นางสาว A อาจเลือกแต่งงานกับผู้ชายสักคน ปลูกบ้าน สร้างครอบครัว มีลูก ทำหน้าที่เป็นมารดา ภรรยา และแม่บ้านที่ดี ใช้ชีวิตอย่างนี้โดยไม่ได้มีใครไปจับมือบังคับให้ทำ แต่คำถามของริชคือ

นางสาว A เลือกชีวิตนี้เพราะต้องการจริงๆ หรือเพราะมันเป็นตัวเลือกเดียวที่เธอมองเห็นในสังคมกันแน่ 

นางสาว A ชอบผู้ชายจริงๆ หรือแค่เติบโตมาด้วยความเชื่อที่ว่า ผู้หญิง ‘ต้อง’ คู่กับผู้ชายอยู่แล้วตามธรรมชาติ และด้วยเหตุนี้จึงไม่เคยลองพิจารณาความรักรูปแบบอื่น

เอเดรียน ริช (ที่มาภาพ: Getty Images)

Comphet ในบริบทสังคมปัจจุบัน

แน่นอนว่าในปัจจุบัน โลกพัฒนามาไกลจากปี 1980 มาก อย่างประเทศไทยก็มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีซีรีส์ LGBTQIA+ เต็มพื้นที่สื่อ ผู้อ่านหลายคนอาจมองว่า แนวคิด Comphet ล้าหลังไปแล้ว ยุคนี้ไม่มีข้อจำกัดเท่าสมัยก่อน จะเป็นอะไรก็ย่อมได้ไม่ใช่หรือ

แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน บรรทัดฐานสังคมที่ว่า ‘สเตรท=ธรรมชาติ’ นั้นไม่ได้หายไปง่ายๆ มันฝังรากลึกกว่าที่คิด แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา

“ช่วงนี้มีผู้ชายเข้ามาบ้างไหม”

“มีหนุ่มมาขายขนมจีบหรือเปล่า”

ผู้เขียนเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ยินคำถามเหล่านี้มานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งจากเพื่อนหรือพี่น้องที่รู้จักกัน และจากคนแปลกหน้าที่เจอกันครั้งแรก เหมือนพอเขาเห็นเราเป็นผู้หญิง ก็ทึกทักไปก่อนว่า ต้องชอบผู้ชายแน่ๆ ‘ตามธรรมชาติ’

(ผู้เขียนตอบเหมือนเดิมตลอดว่า “ไม่มีผู้ชายเลย” ซึ่งไม่ใช่เรื่องโกหก หากมีใครสักคนลองเปลี่ยนคำถามเป็น “มีคนเข้ามาบ้างไหม” หรือ “มีผู้หญิงเข้ามาบ้างไหม” ผู้เขียนจะตอบทันทีว่ามี แต่จนถึงวันนี้ ทุกคนก็ยังถามถึงแต่ผู้ชาย)

ข้างต้นเป็นเพียงการยกตัวอย่าง ยังมีอีกหลายเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เมื่อประกอบรวมกันก็สามารถฝังแนวคิด Comphet ไว้ในหัวคนคนหนึ่งได้โดยไม่รู้ตัว จึงไม่แปลกเลยหากเลสเบี้ยนหลายคนจะเพิ่งค้นพบตัวเองตอนอายุเยอะหรือผ่านประสบการณ์มาพอสมควร 

ในสังคมที่ถึงแม้ LGBTQIA+ จะมีพื้นที่มากขึ้นแล้ว แต่สเตรทยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความปกติธรรมชาติ การยอมรับว่าตัวตนเราแปลกแยกไปจากบรรทัดฐานนั้น ต้องอาศัยความกล้าและความเข้าใจตัวเองอย่างมาก ซึ่งแต่ละคนก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน บางคนแป๊บเดียว บางคนหลายปี บางคนอาจเพิ่งรู้หลังแต่งงานกับผู้ชายก็ได้ เหมือนที่เพลง Good Luck, Babe! เล่าไว้

When you wake up next to him in the middle of the night

เมื่อเธอตื่นขึ้นมาข้างๆ เขากลางดึก

With your head in your hands, you’re nothing more than his wife

ซุกหัวลงในสองมือ เธอเป็นได้แค่ภรรยาของเขา

And when you think about me, all of those years ago

และพอเธอย้อนนึกถึงฉันขึ้นมา จากเมื่อหลายปีก่อน

You know I hate to say, but, I told you so

ฉันไม่อยากพูดเลยนะ แต่ฉันบอกเธอแล้วไง

You can kiss a hundred boys in bars

เธอจะไปจูบผู้ชายในบาร์อีกร้อยคนก็ได้

You’d have to stop the world just to stop the feeling

แต่ถ้าจะหยุดความรู้สึกนี้ เธอคงต้องให้โลกหยุดหมุนก่อน

แชปเพล โรน (ที่มาภาพ: Rolling Stone)

หากถามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มันคงจะดีกว่าถ้าสังคมเราไม่ปลูกฝังแนวคิด Comphet ตั้งแต่แรก และเปิดโอกาสให้ทุกคนค้นหาตัวเองอย่างอิสระ แต่โลกแห่งความจริงไม่เป็นอย่างนั้น การจะทำลายค่านิยมเดิมๆ ให้สิ้นซากเป็นเรื่องยาก หรืออย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาอีกนาน

ก่อนจะถึงตอนนั้น สิ่งที่เราทำได้คงเป็นการโอบรับทุกความหลากหลายด้วยใจที่เปิดกว้าง ต่อให้ผู้หญิงคนหนึ่งเคยคบผู้ชาย เคยมีสามี เคยหย่า มีลูกติด ฯลฯ แต่หากวันนี้เธอบอกว่า เธอเป็นเลสเบี้ยน โปรดจงเชื่อและสนับสนุนเธอ

เพราะเรื่องราวในอดีตไม่ใช่ตัวตัดสินรสนิยมทางเพศของใคร และเราไม่มีทางรู้เลยว่า กว่าเธอจะมายืนอยู่ในจุดที่เป็นมิตรกับอัตลักษณ์ของตัวเองได้แบบนี้ เธอต้องผ่านความสับสนเจ็บปวดมามากแค่ไหน

อ้างอิง

Rich, Adrienne. “Compulsory Heterosexuality and Lesbian Existence.” Signs, vol. 5, no. 4, 1980, pp. 631–60. JSTOR, http://www.jstor.org/stable/3173834. Accessed 21 Oct. 2024.

หมายเหตุ: ในบทความนี้ผู้เขียนพูดถึงเลสเบี้ยนเป็นหลัก เนื่องจากเจ้าของทฤษฎี Comphet เป็นเลสเบี้ยน และที่ผ่านมาตัวคำก็ถูกใช้ในบริบทเกี่ยวกับเลสเบี้ยนเสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม หลายเสียงมองว่า แนวคิด Comphet ควรจะใช้ได้กับ LGBTQIA+ กลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ชายที่เป็นเกย์ด้วย แต่ก็เป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันในคอมมูนิตี้อยู่

Tags: , , , ,