สำหรับชื่อ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก (River City Bangkok) อาคารริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเจริญกรุง หลายคนคงนึกถึงพื้นที่ด้านศิลปะเป็นอันดับแรก และหากค้นหาในโซเชียลมีเดียจะพบภาพของวัยรุ่นไปใช้เวลาทำกิจกรรมทางศิลปะในสถานที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชมนิทรรศการหมุนเวียนต่างๆ เข้าร่วมอีเวนต์ดูภาพยนตร์หรือดนตรี หรือแม้แต่เดินสำรวจการออกแบบตกแต่งภายในอาคาร ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงความสำเร็จของ ลินดา เชง (Linda Cheng) กรรมการผู้จัดการชาวไต้หวัน ของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ผู้ซึ่งใช้ความหลงใหลในศิลปะมาเนรมิตริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ให้กลับมามีชีวิตชีวา
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก คือห้างสำหรับขายของเก่า ผู้ที่แวะเวียนมาที่นี่เป็นเหล่านักสะสมของโบราณ แต่ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ลินดาได้เข้ามาดูแลริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เธอได้นำศิลปะร่วมสมัยเข้ามาจัดแสดง และทำให้คนหลากหลายกลุ่มสามารถมีส่วนร่วมกับพื้นที่แห่งนี้ได้มากขึ้น
ในวันนี้ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เป็นพื้นที่เชื่อมโยงคนที่รักในงานศิลปะกับตัวศิลปินไว้ด้วยกัน รวมถึงสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่ให้ได้มีโอกาสแสดงผลงานสู่สาธารณชน ในงาน ‘Italthai Portrait Prize 2024’ การประกวดภาพวาดพอร์เทรตระดับชาติประจำปี 2567 สนับสนุนโดยกลุ่มบริษัทอิตัลไทย และริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เป็นเจ้าภาพสถานที่จัดประกวด ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 4
The Momentum ได้มีโอกาสพูดคุยกับลินดา เชง เพื่อสำรวจแพสชันของอันแรงกล้าของเธอ รวมถึงประเด็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะในประเทศไทย และทิศทางถัดไปของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ในอนาคต
คนไต้หวันผู้รดน้ำให้พื้นที่จัดแสดงศิลปะในไทยงอกเงย
หากถามว่า ลินดา เชง ก้าวเข้ามาในวงการศิลปะของไทยได้อย่างไร เธอตอบว่าเดิมทีเธอทำงานที่บ้านกับกิจการของครอบครัว และเป็นอดีตนายกสโมสรโรตารี (Rotary) จากนั้นจึงได้ถูกเชิญให้ไปดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“ตอนที่เป็นสมาชิกโรตารี เมื่อก่อนเราจะจัดคอนเสิร์ตการกุศลบ่อยครั้ง ทำให้ต้องไปพบสปอนเซอร์ต่างชาติ แล้วสปอนเซอร์ก็เป็นคนเชิญเราไปเป็นรองคณบดี ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดล เพราะว่าตอนนั้นเขามีการจัดคอนเสิร์ตเยอะ แต่มีคนไปชมน้อย เลยอยากให้เราไปช่วย ทำที่นั่นประมาณ 3 ปีครึ่ง คนที่เข้าชมคอนเสิร์ตเพิ่มขึ้น 3 เท่า” ลินดาเล่าถึงประสบการณ์ในการเป็นรองคณบดี
เมื่อการทำงานในฐานะรองคณบดีประสบผลสำเร็จ จึงได้รับการติดต่อให้เข้ามาสัมภาษณ์งานในริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก และได้พบ ยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทอิตัลไทย ซึ่งต้องการให้ลินดาเข้ามาเปลี่ยนแปลงห้างแห่งนี้แห่งนี้
“มีเฮดฮันเตอร์ (Head Hunter) โทรมาให้เรามาสัมภาษณ์งาน แล้วตอนนั้นได้เจอคุณยุทธชัย ตอนนั้นเขาบอกว่าอยากให้ลินดามาช่วยเปลี่ยนห้างแห่งนี้ พูดตรงๆตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ เพราะเข้ามามันโล่งหมดเลย ชั้น 2 มันไม่มีอะไรเลย ชั้น 1 ก็ว่างค่อนข้างเยอะ”
แม้จะเกิดความไม่มั่นใจในตอนแรก แต่ด้วยความรักในศิลปะ และพิพิธภัณฑ์ทำให้ลินดาตัดสินใจรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในที่สุด
“ตอนนั้นก็คิดว่าลองดู เพราะเราชอบศิลปะอยู่แล้ว แล้วเราชอบพิพิธภัณฑ์ด้วย ตอนนี้ทำมา 8 ปีแล้ว” ลินดากล่าว
สำหรับนิทรรศการใหญ่นิทรรศการแรกของลินดา เธอเล่าว่า มีต้นแบบจาก National Palace Museum ประเทศไต้หวัน
“เรารู้สึกว่าในริเวอร์ ซิตี้ มันมีวัตถุโบราณเยอะ แต่ความหลากหลายของศิลปะมันยังน้อยไปหน่อย เราอยากให้ที่นี่มีความหลากหลาย ไม่ใช่แค่ศิลปะไทย” ลินดาเล่า
จากแนวคิดที่ต้องการสร้างสรรค์ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ให้มีส่วนผสมของศิลปะตะวันตกบ้าง ลินดาจึงคิดนำศิลปะสมัยใหม่ (Contemporary Art) เข้ามาในพื้นที่นี้ ซึ่งบอร์ดบริหารได้เห็นชอบ จึงเกิดการปรับเปลี่ยนพื้นที่ชั้น 2 ใหม่ทั้งหมด และได้รับผลตอบรับที่ดีจากคนรุ่นใหม่
สำหรับคนที่หลงใหลศิลปะอย่างกรรมการผู้จัดการคนนี้ แน่นอนว่ามีความรู้ในผลงานศิลปะมากมาย คำถามถัดไปจึงหนีไม่พ้นวิธีการเลือกผลงานศิลปะที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่แห่งนี้ และเธอตอบว่าเลือกสิ่งที่ชอบ
“จริงๆ เมื่อวานก็มีคนถามเราว่า เราเลือกงานเข้ามาแสดงอย่างไร เราบอกว่าเราเลือกสิ่งที่เราชอบนะคะ เราเลือกศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) แล้วก็เลือกเวสเทิร์นมิวสิค (Western Music)” ลินดากล่าว
ลินดาเล่าว่าเธอชอบทั้งศิลปะ และดนตรี ซึ่งดนตรีกับศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน ดังนั้นเมื่อเธอเข้ามาทำงานในริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เธอจึงเปลี่ยนเพลย์ลิสต์เพลงที่เปิดในห้างเป็นสิ่งแรก ซึ่งในขณะสัมภาษณ์นี้ ลินดาบอกว่าเรากำลังฟังเพลงคลาสสิคกันอยู่ และดนตรีจะช่วยเปลี่ยนบรรยากาศ ช่วยสร้างสุนทรียภาพในการชมผลงานศิลปะ คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาที่นี่สัมผัสได้ถึงความรู้สึกนี้ และจะได้รับประสบการณ์ที่ดีในการเสพศิลปะ
“เรารู้สึกว่าประสบการณ์แบบนี้มันเข้มข้น และตราตรึง เป็นความรู้สึกที่เงินซื้อไม่ได้” ลินดากล่าว
นอกจากนี้ลินดายังเล่าว่า ภาพผลงานศิลปะในดวงใจของเธอคือ Young Girls at the Piano ผลงานของ ปิแอร์ ออกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) ซึ่งตกแต่งอยู่ในห้องน้ำชั้น 1 ของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของพื้นที่ศิลปะในไทย
ระยะเวลา 8 ปีที่ลินดามองเห็นผลงานศิลปะในไทย เธอกล่าวว่า พื้นที่ในการจัดแสดงศิลปะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับวงการศิลปะไทย ไม่เพียงแค่ในหอศิลป์ แต่ในห้างสรรพสินค้าเองก็มีศิลปะเช่นกัน
“ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าไหน ตอนนี้ก็มีการใส่ศิลปะเข้าไป ลินดารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ดี เพราะเรามาจากไต้หวัน ที่ไต้หวันทุกเมือง ไม่ว่าจะเมืองเล็กเมืองใหญ่ จะมีนิทรรศการศิลปะอยู่เสมอ”
ลินดาเล่าต่อว่า คนไต้หวันชอบไปเดินดูงานศิลปะ พิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ รวมไปถึงร้านหนังสือ และเป็นสิ่งที่เธออยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นเหมือนไต้หวัน เมื่อได้เห็นการเบ่งบานของศิลปะในหลายพื้นที่ของไทย คำถามถัดไปคือแล้วประเทศไทยมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นเหมือนไต้หวันหรือไม่ ข้อนี้ลินดาตอบทันทีว่า ‘เป็นไปได้’
“แน่นอน อาจจะแซงหน้าด้วยค่ะ ไต้หวันเล็กกว่าไทยมาก ประชากรก็น้อยกว่า กรุงเทพฯ ก็มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ดังนั้นเราคิดว่ามีโอกาสที่จะโตกว่า ตลาดมันใหญ่กว่าค่ะ” กรรมการผู้จัดการชาวไต้หวันตอบ
ซึ่งแน่นอนว่าความต้องการของลินดาและริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อกในวันนี้ คือการส่งเสริมให้ศิลปินไทยได้มีพื้นที่มากขึ้น และทำให้วงการศิลปะของไทยเติบโตมากขึ้น
“เราต้องการให้มีความร่วมมือในระดับสากลเพิ่มขึ้น ตอนนี้เรามีลูกค้าจากต่างประเทศ มีนักสะสมจากทั่วโลกที่เดินมาที่ไทย แต่เราก็อยากจะส่งศิลปินไทยออกไปต่าประเทศด้วยเช่นกัน ล่าสุดเราส่งศิลปินไทยออกไปสิงคโปร์ มีแสดงที่สิงคโปร์ ปีก่อนเราก็มีจัดแสดงงานศิลปะที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีนักสะสมเอาผลงานไปโชว์
“จริงๆ ศิลปินไทยเก่งนะ แต่ต้องการพื้นที่ ต้องการคนช่วยนำเสนอ ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ริเวอร์ ซิตี้ ที่ช่วยกันส่งเสริมให้คนเห็นมากขึ้น ไม่ใช่แค่ภาพวาดหรือประติมากรรม แต่รวมถึงเรื่องดนตรี หนัง ภาพถ่าย ละครเวที ทั้งหมดเราโปรโมตอยู่แล้ว” ลินดากล่าว
ในปีนี้ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ครบรอบ 40 ปีแล้ว จากอดีตที่คนเคยคิดว่า เป็นสถานที่เฉพาะนักสะสมของเก่า ได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นพื้นที่ศิลปะสำหรับคนทุกเพศทุกวัยโดยลินดา เมื่อถามว่าแล้วทิศทางต่อไปของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก จะเป็นไปอย่างไร เธอตอบว่าอยากให้มีร้านหนังสือมาเปิดที่นี่
“ส่วนใหญ่เขาจะคิดว่า ริเวอร์ ซิตี้ เป็นที่สำหรับผู้ใหญ่ สำหรับคนรวย หรือต้องมีเงินถึงจะสามารถเข้ามาริเวอร์ ซิตี้ได้ แต่เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น อยากให้เป็นพื้นที่ที่สามารถเข้ามาชมศิลปะได้ทั้งครอบครัว ตั้งแต่เด็กๆ ไปจนถึงวัยอิสระ เพราะลินดาคิดว่า Art is everybody เหมือนโควตของ คีธ แฮร์ริง (Keith Harring) ที่เราเขียนบนชั้น 2 ที่อยากให้สื่อออกไปว่า ใครๆ ก็เข้ามาชมงานศิลปะได้ ” ลินดากล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่อยากมาเที่ยวชมผลงานศิลปะที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ในช่วงนี้จะได้ชมภาพวาดพอตเทรตจากการประกวด ซึ่งภาพวาดที่ได้รับคัดเลือกจะจัดแสดงถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567
Tags: ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก, art, Feature, ศิลปะ, River City Bangkok, Linda Cheng, Italthai Portrait Prize 2024, ลินดา เชง