‘อายุเท่านี้ ต้องมีชีวิตที่มั่นคงหรือยัง’

ประเด็นนี้กลายเป็นหัวข้อสนทนา ที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในแพลตฟอร์ม Twitter (X) เมื่อผู้ใช้งานหลายคนต่างออกมาบอกเล่าประสบการณ์ ความไม่สำเร็จ ความผิดพลาด และความธรรมดาของชีวิตตัวเองในวัยรุ่น เพื่อเป็นพื้นที่แห่งความหวังให้แก่คนรุ่นใหม่ 

เพราะยังมีผู้คนอีกมากมายที่กำลังค้นหาตัวเอง หลงทาง ไขว่คว้าความฝัน หรือแม้แต่เลือกใช้ชีวิตแบบที่ตนต้องการ มากกว่าวิ่งตามมาตรฐานที่สังคมวางไว้

เหตุที่กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ เนื่องด้วยปัจจุบันความสำเร็จ ต้องเก่งเกินวัย กำลังถูกส่งต่อเป็นค่านิยมของสังคม สังเกตได้จากมิติสื่อมวลชน อย่างการนำเสนอคอนเทนต์พลิกชีวิตจากเด็กธรรมดาสู่นักธุรกิจพันล้าน หรือการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชน โดยเน้นย้ำเรื่องอายุของคนที่ประสบความสำเร็จ เช่นอายุน้อยร้อยล้าน 

สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า หากใครประสบความสำเร็จได้เร็ว ก็จะยิ่งได้รับการยอมรับ และคำชื่นชมที่มากล้นจากสังคมรอบข้าง ทุกคนจึงต้องพยายามผลักดันตัวเองให้ก้าวหน้า พร้อมแข่งขันกับคนอื่น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้เร็วที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้นในยุคปัจจุบัน เรามองเห็นความสำเร็จของผู้คนมากมายได้ง่ายขึ้น ทั้งจากโซเชียลมีเดียและคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่โพสต์สตอรีว่าได้เลื่อนขั้น พร้อมไปฉลองกับเพื่อนร่วมงานที่ร้านอาหารสุดหรู รุ่นน้องที่แชร์ภาพพรีเวดดิงของตัวเองกับคนรัก ลูกสาวของป้าข้างบ้านที่ส่งเงินให้ที่บ้านครั้งละหลายหมื่น หรือแม้กระทั่งอินฟลูเอนเซอร์ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่กลับมีธุรกิจอันแสนโด่งดัง ส่งผลให้การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นจึงกลายเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง

ในขณะที่ชีวิตของทุกคนดูเหมือนกำลังดำเนินไปข้างหน้า แต่เรากลับรู้สึกว่าตัวเองย่ำอยู่กับที่ งานที่ทำอยู่ก็ไม่มีความสุข เงินเดือนน้อยจนไม่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระให้ครอบครัวได้ ทั้งยังไม่มีแฟนเป็นตัวเป็นตน รวมถึงเรียนจบมาตั้งนานแล้ว แต่กลับไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่มีชีวิตที่มั่นคงเหมือนคนอื่น ไม่มีทรัพย์สินหรือธุรกิจเป็นของตัวเอง และไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน แต่ Golden Time หรือช่วงเวลาทองของชีวิตก็ยังมาไม่ถึงเสียที

เพราะ Self-Doubt ตั้งคำถามกับคุณค่าของตัวเอง

คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องรีบร้อนประสบความสำเร็จ เพราะกลัววิ่งตามคนอื่นไม่ทัน โดยการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นเป็นประจำอย่างยาวนาน หรือการพยายามตะเกียกตะกายมีชีวิตที่ดีภายใต้สภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และไม่เอื้อให้ประชาชนคนธรรมดามีโอกาสเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม ทำให้หลายคนเริ่มท้อ หมดหวัง และโทษตัวเองในที่สุด จนอาจกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างสภาวะ Self-Doubt หรือความสงสัยในตัวเอง เช่น รู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถ กลัวตัดสินใจผิดพลาด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง

เรื่องนี้เว็บไซต์ Psychology Today องค์กรสื่อสัญชาติอเมริกันที่ทำงานด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมของมนุษย์ระบุว่า ความสงสัยในตัวเอง (Self-Doubt) คือสภาวะของความไม่แน่ใจในความจริงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเอง อาจเป็นเรื่องมุมมองความคิด ความเชื่อ อารมณ์ ความคิดเห็น การตัดสินใจ หรือแม้แต่วิธีที่เรามองตัวเอง ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ และตั้งคำถามกับความสามารถของตนเอง

รวมถึง Imposter Syndrome จึงทำให้รู้สึกเก่งน้อยกว่าคนอื่น

ทั้งที่จริงแล้ว เราอาจจะทำได้ดีมาโดยตลอด แต่กลับมองข้ามความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่สั่งสมมาจนถึงจุดนี้ และเมื่อนำไม้บรรทัดของคนอื่นมาตัดสินความสามารถของตนเอง ทำให้บางคนอาจเผชิญกับความรู้สึกเก่งไม่พอ ไม่มีคุณค่า ด้อยกว่ามาตรฐาน ไม่ยอมรับความสามารถและความพยายามของตนเอง หรือมองว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นมาจากปัจจัยอื่น เช่น โชคดีโดยบังเอิญ จังหวะเวลาที่ดี และความสามารถของคนอื่น ความรู้สึกเหล่านี้คืออาการของ Imposter Syndrom

เว็บไซต์ Psychology Today กล่าวว่า ผู้ใหญ่ประมาณ 70% เคยมีอาการ Imposter Syndrome อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต โดยผู้ที่มีอาการเช่นนี้มักประสบปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นในตนเอง (Self-Efficacy) การยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) และความวิตกกังวล (Neuroticism) รวมถึงสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งอาจเกิดจากการหล่อหลอมของสถาบันครอบครัว เช่นผู้ปกครองกดดันและเข้มงวดเรื่องผลการเรียนตั้งแต่เด็ก

หรือว่า อิคิไก (Ikigai) จะช่วยให้หาความหมายของชีวิต

อิคิไก (Ikigai) หรือความหมายของการมีชีวิต คือแนวคิดจากประเทศญี่ปุ่น ที่มุ่งเน้นให้มนุษย์ชื่นชมความงดงามรอบตัวระหว่างการเดินทางไปสู่จุดหมาย และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ด้วยการค้นหาคำตอบของชีวิต 4 ข้อ ได้แก่ สิ่งที่รัก สิ่งที่ถนัด สิ่งที่สร้างรายได้ และสิ่งที่สังคมต้องการ ซึ่งอิคิไก (Ikigai) คือจุดร่วมของคำตอบทั้ง 4 ข้อ กล่าวคือเราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่เรารักและถนัด พร้อมทั้งยังสามารถสร้างรายได้ และเป็นที่ต้องการของสังคม การพูดคุยกับตัวเองเช่นนี้ (Self-Talk) จะทำให้เราได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และค้นพบคุณค่าของชีวิตที่แท้จริง โดยปราศจากโซ่พันธนาการของสังคม

ชีวิตคือการเดินทางที่แสนยาวนาน ทุกลำดับขั้นของชีวิตล้วนแล้วแต่ประกอบไปด้วยเป้าหมายเล็กและใหญ่สลับกันไป คำว่า ‘ความสำเร็จ’ จึงไม่ใช่ผลลัพธ์ด้านการงานหรือการเงินเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงการได้ใช้ชีวิตแบบที่ตนต้องการอย่างเป็นสุข เพราะชีวิตของคนเราประกอบไปด้วยหลากหลายด้าน เราจึงไม่อาจตัดสินได้ว่า ชีวิตแบบไหนคือชีวิตที่ประสบความสำเร็จ เพราะแต่ละคนก็มีมุมมองความคิดที่แตกต่างกัน บางคนอาจอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง บางคนอยากแต่งงาน บางคนอยากเลี้ยงหมาแมว บางคนอยากเดินทางรอบโลก หรือบางคนอาจจะแค่อยากมีเวลาว่างสำหรับดูซีรีส์ทุกวัน

กว่าจะอายุเท่านี้ เราก้าวข้ามผ่านเป้าหมายสำคัญมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เช่น สอบติดคณะที่ต้องการ ดูแลตัวเองให้ดูดีขึ้น สารภาพรักกับคนที่แอบชอบ ได้ไปเที่ยวกับครอบครัว หรือเริ่มทำงานที่แรกเพื่อสะสมประสบการณ์ ไม่ว่าการตัดสินใจที่ผ่านมาจะถูกต้องหรือไม่ คนอื่นจะวิ่งไปได้ไกลแค่ไหน ค่านิยมของสังคมจะเป็นเช่นไร หรือเราจะล้มเหลวมาแล้วกี่ครั้ง แต่ขอให้จดจำไว้ว่า ความพยายามที่ผ่านมาไม่มีทางสูญเปล่า เพราะความผิดพลาดในอดีตคือ บทเรียนสำคัญที่ทำให้เรากลายเป็นคนที่ดีขึ้นในปัจจุบัน

‘ตัวตน’ คือสิ่งที่เรามีเป็นของตัวเองโดยไม่ต้องไขว่คว้าหรือตามหาจากที่ไหน หากวันนี้เรายังไม่สูญสิ้นความเป็นตัวเองไป นั่นก็ถือเป็นความสำเร็จประการหนึ่งแล้ว และตัวตนนี้จะผลิบานในช่วงเวลาที่เหมาะสมหลายต่อหลายครั้งในชีวิต ตราบเท่าที่เรายังมองเห็นคุณค่าของตนเอง

อ้างอิง

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/click-here-for-happiness/202205/how-to-overcome-self-doubt

https://www.psychologytoday.com/us/basics/imposter-syndrome

https://th.hrnote.asia/expert-content/210730-ikigai/

Tags: , , , ,