สำหรับคนเรียนจบนิเทศศาสตร์ การทำงานกับมูลนิธิสักแห่งอาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ ที่พุ่งตัวไปสมัครงานหลังเรียนจบ แต่สิ่งนี้ไม่ใช่กับ มูลนิธิกระจกเงา ที่ไม่เคยขาดแคลนนักศึกษาฝึกงานและคนมาสมัครงานสื่อสาร 

ทีมสื่อสารกระจกเงาสร้างปรากฏการณ์มาแล้วมากมาย ทั้งการเล่าเรื่องที่มีรสชาติโดดเด่นเฉพาะตัว โกยยอดเอนเกจเมนต์สูงลิ่วไม่เกรงใจใคร และหลายคนอาจเคยเกิดเหตุการณ์แอปฯ ธนาคารในมือสั่น อยากกดเงินโอนสนับสนุนโครงการต่างๆ หลังอ่านเรื่องราวของคนไร้บ้านคาแรกเตอร์จัดในโครงการจ้างวานข้า ได้เห็นภาพประกาศตามหาคนหายจากจอ LED บนรถเมล์สายต่างๆ ภายใต้โครงการตามหาคนหายของมูลนิธิ, ได้อ่านข่าวภารกิจดับไฟป่าที่ หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา ระดมอาสาสมัครและทรัพยากรลงมือทำอย่างจริงจังในทุกฤดูแล้ง โครงการโรงพยาบาลมีสุขซึ่งมีภารกิจเยียวยาเด็กป่วย รวมถึงเรื่องของคนจนเมือง ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยระยะสุดท้าย เด็กชาติพันธุ์ และผู้คนมากมายผ่าน 20 กว่าโครงการที่กระจกเงาโอบอุ้มเอาไว้

อาคารหลังเล็กๆ ข้างโกดังบนถนนวิภาวดี คือที่ตั้งของร้านขายสินค้าแฟชั่นมือสองของมูลนิธิกระจกเงา ที่ไม่รับสิ่งแลกเปลี่ยนเป็นเงิน แต่รับเป็นอาหารหรือแต้มสินค้าต่างๆ ที่นำไปแลกอาหารได้ เพื่อเปลี่ยนเป็นอาหารมอบให้กับคนไร้บ้านต่อไป ส่วนชั้น 2 ของอาคาร คือห้องโปร่งสว่าง มีนักศึกษาฝึกงานเปี่ยมแพสชันนั่งทำงานเต็มโต๊ะอยู่มุมหนึ่ง และรอบโต๊ะทำงานอีกหลายตัว ไม่ต่างจากสำนักข่าวทั่วไป คือที่ทำงานของนักสื่อสารมวลชนกลุ่มหนึ่งที่ตัดสินใจใช้ทักษะการสื่อสาร เพื่อนำโชคชะตาอันดีกว่ามาสู่ทุกคนที่พวกเขาหยิบเรื่องมาเล่า

The Momentum นับเป็นสื่อมวลชนรายแรกที่ได้เข้ามาในห้องนี้ เพื่อมาพูดคุยกับพวกเขาว่า พวกเขามีวิธีคิดในการทำงานอย่างไร

สื่อสารเรื่องร่มตอนหน้าฝน และผ้าห่มตอนหน้าหนาว

“นี่คือตารางที่เราวางทุกสิ้นเดือน และเกิดใหม่ทุกต้นเดือน (หัวเราะ) เราจะดูว่า ช่วงนั้นๆ คนเขาคุยเรื่องอะไรกัน และเราจะสื่อสารเรื่องไหนที่คนจะอิน” ติ๊กตี๋-วีราภรณ์ ประสพรัตนสุข หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรของกระจกเงา ผู้กุมภาพรวมการสื่อสารทั้งหมด ชี้ให้ดูไวต์บอร์ดในห้องที่ออกแบบการสื่อสารไว้แน่นขนัดแล้วตลอดทั้งเดือน

“การสื่อสารเราออกแบบจากหลายๆ อย่าง เราจะมามองไทม์ไลน์ของ 12 เดือนว่า ช่วงไหนปัญหาอะไรสาหัส แล้วแมตช์กับช่วงเวลาที่คนอินกับสถานการณ์ เช่น ช่วงนี้หน้าฝน จะเป็นพื้นที่สื่อของคนไร้บ้าน เพราะพอฝนตก คนจะเห็นใจคนไร้บ้าน เราระดมร่มแน่นอน พอเราระดมร่มปุ๊บ อีก 3 โครงการที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่นโครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่รับบริจาคสิ่งของเหลือใช้ทุกประเภท โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง โครงการป่วยให้ยืม จะได้รับของไปด้วย ของเหลือใช้ หนังสือ คอมพิวเตอร์จะมาพร้อมกับร่ม”

ติ๊กตี๋เล่ายุทธศาสตร์การสื่อสาร การมีโครงการเยอะและผู้ต้องการความช่วยเหลือหลายกลุ่ม แทนที่จะแย่งพื้นที่สื่อสารกัน กลับกลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้ทีมสื่อสารมีเรื่องชูโรงหลากหลายเหมาะแต่ละช่วงเวลา เพราะธรรมชาติของคนเมื่อบริจาคของ จะไม่บริจาคเพียงแค่อย่างเดียว

“หน้าหนาวเราจะระดมเสื้อกันหนาว โดยผูกเรื่องกับกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ที่เชียงรายหรืออุบลฯ ของอื่นๆ จะตามมากับเสื้อกันหนาว ช่วงเปิดเทอมเราจะพูดถึงอุปกรณ์การเรียน หรือตอนแต้มร้านสะดวกซื้อใกล้หมดอายุ เราจะออกคอนเทนต์เพื่อบอกว่า แต้มจะหมดอายุแล้วนะ ถ้าคุณไม่รู้จะใช้แต้มกับอะไร กระจกเงาเป็นทางเลือกให้คุณใช้แต้มซื้อของให้คนไร้บ้านได้ ช่วงฤดูไฟป่า พี่หนูหริ่งก็รณรงค์ขับเคลื่อนทางสังคมไป เราก็สื่อสารเรื่องระดมแต้มเติมน้ำมันฟรี เพื่อให้ทีมงานที่อยู่เชียงรายมีรถเติมน้ำมันไปดับไฟป่า”

เอ๋-สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการจ้างวานข้าและผู้ป่วยข้างถนน นิยามยุทธศาสตร์นี้อย่างเห็นภาพว่า “คนอื่นใช้เบ็ด แต่เราใช้แห (หัวเราะ)”

“เพราะเรามีงานหลายรูปแบบ ทั้งงานระดมของ ระดมทุนที่ต้องคิดเชิงการตลาดอย่างที่บอกข้างต้น และโครงการขับเคลื่อนสังคม แต่ละโครงการจะเสริมกัน และเป็นความต้องการของคนไร้บ้านเช่นกัน” 

มู้ดโทนมา คาแรกเตอร์มี

นอกจากการกำหนดวาระการสื่อสารที่เลือกมาอย่างดี บุคลิก น้ำเสียง หรือคำที่ทีมงานกระจกใช้คำว่า ‘Color’ ของการสื่อสาร เป็นสิ่งที่ทีมสื่อสารกระจกเงาออกแบบอย่างดีเช่นกัน แน่นอนว่า รวมถึงโครงการ ‘จ้างวานข้า’ โครงการที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างคนไร้บ้านที่ต้องการทำงาน เช่น งานทำความสะอาด งานสวน และคนที่ต้องการตัวช่วย หลายคนที่เคยอ่านคอนเทนต์ของจ้างวานข้า คงจดจำอารมณ์ขัน บุคลิกไม่สยบยอม และอาจมีภาพจอมยุทธสักคนโผล่ขึ้นมาในหัวได้

เอ๋ซึ่งเป็นคนคิดชื่อ ‘จ้างวานข้า’ กล่าวว่า ตอนแรกโครงการนี้เกือบมีชื่อว่า ‘จ้าง จ้าง จ้าง’

“ตอนเริ่มโครงการจ้างวานข้าเป็นการบ้านที่หนักมากพอสมควร เราคิดหัวแตกเหมือนกันนะ ผมคิดว่าการตั้งชื่อสลักสำคัญ ถ้าสื่อสารไปแล้วติดหูจะช่วยทำให้คนในสังคมอยากสำรวจการทำงานอื่นๆ เราต้องคิดว่าจะให้มันถูกติดตั้งในความทรงจำของคนข้างนอกได้อย่างไร 

“ก่อนมาเป็นจ้างวานข้า ผมเถียงกับผู้อำนวยการรายวันนะ (หัวเราะ) กว่าจะยอม ดีเบตกันหลายชื่อ เริ่มจากชื่อของแกคือจ้าง จ้าง จ้าง (หัวเราะ) ตอนนั้นเราได้คำมาแล้วคือคำว่า จ้าง แต่จะต่อท้ายด้วยอะไรที่ดูแล้วจะเวิร์กที่สุด เราลิสต์เป็นหน้ากระดาษเลย จนมาได้ชื่อนี้”

‘จ้างวานข้า’ มีลายเซ็นการสื่อสารชัดเจน

“โทนของจ้างวานข้า คือการรวมระหว่างความชรา ความไม่มี กับความเก๋า เรื่องดาร์กนะ แต่ว่าฉันจะสู้ ฉันไม่ยอมแพ้” ติ๊กตี๋กล่าว

ความจะสู้และไม่ยอมแพ้ไม่ได้กำหนดในชื่อและงานเขียนเท่านั้น แต่กำหนดลงในภาพด้วย

ปอนด์-วัฒนา กล่อมจิตต์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร ตำแหน่งช่างภาพ ผู้เข้ามาเป็นนักศึกษาฝึกงานกระจกเงาทันช่วงจ้างวานข้าเริ่มต้นกำหนดมู้ดและโทนของภาพถ่ายพอดี เล่าถึงสไตล์ภาพว่าเขาต้องถ่ายโดยล้อไปกับทิศทางของงานเขียนเช่นกัน

“ผมรู้สึกได้ว่าคนจ้างวานข้ามีลักษณะแอ็กทีฟ เขาดูเท่จัง ผมเลยอยากให้ภาพออกมาเท่ เลยถ่ายไปแบบนั้นในช่วงแรกๆ และยึดคอนเซปต์นี้ตลอด ตอนเขาไปทำความสะอาดตามพื้นที่สาธารณะ ผมก็ไปเล็ง ไปยืนดู และถ่ายภาพตอนเขาทำท่าแปลกๆ”

ปอนด์กล่าวว่า งานสื่อสารของกระจกเงาแต่ละโครงการมีโทนและความพิเศษต่างกัน และแม้เขาจะใช้โปรแกรม Adobe Lightroom ปรับโทนสีของภาพให้ต่างกันได้ แต่สิ่งที่ต้องทำให้แตกต่างตั้งแต่แรกเริ่มจากการเลือกภาพที่เขาลั่นชัตเตอร์

“อย่างโครงการโรงพยาบาลมีสุข ถึงเรื่องจะเศร้ามากแต่ภาพไม่ดาร์ก ต่อให้ต้องนั่งรถเข็น ก็ต้องเก็บความสุขเอาไว้ มีเคสน้องคนหนึ่งที่ไม่เคยไปทะเลเลย และอีก 2-3 เดือน เขาตายแน่ๆ แต่ตอนไปทะเลน้องมีความสุขมากเลย เราก็ไปถ่ายรูปตอนเขาเล่นกับแม่ที่ริมทะเล เก็บมาสื่อสาร แล้วเพิ่มโทน เพิ่มสีสันเข้ามา” 

ติ๊กตี๋เสริมว่า “บางโครงการจะดีไซน์มาว่า ไม่ได้ต้องการให้เครียดขนาดนั้น จะไม่มีถ่ายภาพตอนแม่เขาร้องไห้ ตอนหมอพาลูกเขาไป แต่เก็บภาพความสุข หรือเวลาของครอบครัวตอนที่ลูกของเขายังมีชีวิตไว้ดู หรือถ้าพวกงานระดมทุนจะสนุกไปเลย เช่นช่วงที่ โน๊ส อุดม (แต้พานิช) ไปคืนจานดาวเทียมเน็ตฟลิกซ์ เราก็เล่นด้วย 

“แต่บางโครงการต้องจริงจัง อย่างโครงการตามหาคนหาย โทนจะขึงขังจริงจัง เรากำลังตามคนหายกลับบ้าน เราต้องตามคนนี้กลับมาให้ได้ เวลาถ่ายภาพ เราจะขอให้คนที่เราถ่ายจ้องเข้าไปที่กล้องเลย มันต้องสื่อสารออกมาให้ได้”

ระบบประมวลผลในหัวของช่างภาพ

“ผมเรียนภาพยนตร์มา ไม่รู้จักกระจกเงา ไม่รู้อะไรเลย ไม่ได้สนใจเรื่องแบบนี้ด้วย ที่ฝึกงานก่อนหน้านี้ก็คือโปรดักชันเฮาส์ทั่วไป แต่ว่าวันหนึ่งพี่ตี๋กับพี่อีกคนหนึ่งมาสอนวิชาสารคดีที่มหาวิทยาลัย แล้วเปิดสารคดีเกี่ยวกับคนไร้บ้านให้ดู ผมก็แปลกใจว่ามีผู้ป่วยข้างถนน มีคนจิตเวชแบบนี้ด้วยเหรอ” ปอนด์เล่าถึงจุดเริ่มต้นจากการเป็นเด็กฟิล์มคนหนึ่งที่อยู่ๆ ก็มีผู้คนชีวิตเข้มข้นมากมายมาให้เลือกถ่ายภาพ

“ผมชอบกล้องอยู่แล้ว ตั้งใจว่าเราอยากถ่ายรูปเลยมาลองฝึกงานที่นี่ดู แต่พอมาแล้วเปิดโลกเยอะมาก จากที่ไม่ได้สนใจอะไรเลย กลายเป็นความคิดเปลี่ยนเยอะมาก เมื่อก่อนผมเป็นเด็กหลังห้อง ไม่ต้องสนใจใคร คิดว่าแค่ทำงาน เรียนจบมีงานทำก็พอ บ้านที่ผมโตมาก็ไม่มีใครเรียนจบปริญญาตรี รอบๆ บ้านก็มีแต่คนเล่นยา 

“พอมาทำงานที่นี่ ผมหยุดและสนใจสังคมมากขึ้นกว่าเดิมมากๆ เปลี่ยนไปเยอะเลย ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราเจอคนจิตเวช เราต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราอาจแค่สงสัยว่าเขาเป็นอะไร ทำไมพูดคนเดียว แล้วเดินไปไม่สนใจ แต่เดี๋ยวนี้เราหยุด แล้วโทร.หา 1300 (เบอร์ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ถ้าเป็นผมเมื่อก่อน ผมไม่เข้าไปหาหรอก ปล่อยเลย” 

ปัจจุบันปอนด์เป็นช่างภาพเต็มตัว และได้ออกสนามยากๆ มากมาย รวมทั้งการถ่ายภาพคนไร้บ้าน เด็ก ผู้ป่วยระยะสุดท้าย และผู้ป่วยจิตเวช จนเขามีประสบการณ์มากพอจะแชร์ให้เราฟังได้ว่ากว่าจะเป็นภาพถ่ายกระจกเงานั้น เขาต้องทำอะไรบ้าง

“อย่างแรกจะคุยกับเวิลด์ (นักเขียน) ก่อน แล้วปอนด์จะเปลี่ยนคำพูดที่เวิลด์เล่าเป็นภาพในหัว เช่น คนไร้บ้าน เขาอาจบอกว่า เคยนอนตรงที่น้ำท่วมหรือเคยนอนข้างถนน แล้วคอนเทนต์ของเวิลด์จะเขียนถึงเรื่องนี้ ปอนด์ก็จะตามว่าเขาไปตรงไหน แล้วไปถ่ายภาพตรงนั้น หรือถ่ายโลเคชันที่คล้ายๆ กันแทน

“ผมรู้สึกว่าแต่ละงานของกระจกเงามีลักษณะที่ต้องคิดและปรับเปลี่ยนตามหน้างาน เวลาไปถ่ายผู้ป่วยจิตเวช เราจะทราบข้อมูลเขาก่อน แต่เราไม่รู้เลยว่า เวลาเราลงหน้างาน เขาจะทำอะไรบ้าง วิ่งไปทางไหน อยู่ๆ จะวิ่งมาทำร้ายเราหรือเปล่า หัวจะปั่นหน้างาน หรือถ้าไปเจอเคสที่เราต้องช่วยเหลือเขาแทนเราก็ต้องช่วย ไม่ได้มีเวลามาจัดแจง พี่ทำแบบนี้นะๆ กับผู้ป่วยจิตเวชเราทำไม่ได้อยู่แล้ว

“มีงานที่เราเซ็ตได้บ้าง แต่ไม่ได้เตรียมล่วงหน้านาน เช่นอาจมองสถานที่แวบหนึ่งว่า เดี๋ยวไปยืนดักตรงนี้แล้วค่อยถ่ายดีกว่า จะได้ท่าเดินแบบนี้ คิดล่วงหน้าสัก 2-3 สเต็ป หรือบางครั้งกรณีผู้ป่วยจิตเวชหรือเด็กป่วย เราต้องปิดบังใบหน้าเขาทั้งหมดหรือบางส่วน เราจะคิดภาพในหัวที่จะเล่าเรื่องเขาแบบไม่เห็นหน้าว่าตรงนั้นมีอะไรมาบังหน้าเขาได้บ้าง อาจเล็งไว้ว่า เอ๊ะ! ตรงนั้นมีใบไม้มาพอดี หรือให้เขาถืออะไรสักอย่างบังหน้าไว้ไหม สื่อสารด้วยแววตาอย่างเดียวได้ไหม เราจะคิดให้รูปสื่อสารออกมาดีที่สุด 

“แต่ถ้าเป็นคนที่เปิดหน้า ปกติเราจะถามเคสก่อนว่า เขาสะดวกให้ถ่ายภาพหรือเปล่า ลงภาพเขาได้ไหม ตอนเจอหน้าเขา ปอนด์พยายามทำให้เขารู้สึกสบายๆ ไม่เกร็ง เข้าไปพูดคุยกับเขาเยอะๆ ให้เขาสื่อสารผ่านออกมาจากหน้าตา รอยยิ้ม เราจะบอกเขาว่าเราถ่ายภาพเขาไปเพื่อสื่อสารเรื่องอะไร โทนแบบไหน แล้วเดี๋ยวเขาจะหลั่งความรู้สึกเขาออกมาเอง

“ปอนด์ขอแค่คนเข้ามาเห็นรูปของเราเยอะๆ ปอนด์จะรู้สึกดีว่ารูปของเรามันได้ทำงานแล้ว ได้สื่อสารออกไป ให้ทุกๆ คนได้เห็นว่าปัญหาสังคมมีอะไรบ้าง”

วันนี้มีความสุขไหม?

“วันนี้มีความสุขไหม” เป็นคำถามง่ายๆ ที่ เวิลด์-ณัฐธิดา ศรีผล เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร ตำแหน่งนักเขียนใช้เปิดสนทนาบ่อยครั้งและทำให้เรื่องราวมากมายพรั่งพรูตามมา

“เวลาเราทำงานหนึ่งชิ้นจะเกิดจากการคลุกคลีและเลือก ในกระจกเงามีคนหลากหลายมาก จ้างวานข้า 200 คน ก็ 200 เรื่อง ช่วงแรกๆ เราอาจต้องทำการบ้านกับเขาก่อน เช่น กำหนดว่าจะทำประเด็นการจ้างงานผู้สูงอายุ เราก็ต้องไปดูว่า ในการจ้างงานผู้สูงอายุมีใคร กี่คนทำงานในนั้น แต่ละคนมีเรื่องราวชีวิตแบบไหน เพราะก่อนเขาจะทำงานกับจ้างวานข้า เขาเป็นคนสูงอายุที่ผ่านชีวิตมาเยอะมาก เราต้องไปคุยกับทีมที่เคยสัมภาษณ์เขาเบื้องต้นก่อนจะรับเข้ามา เวิลด์จะไปขอข้อมูลตรงนั้นมา 

“ถ้าเราจะทำประเด็นเรื่องวันแรงงาน เวิลด์จะหยิบคนที่ทำงานมาทั้งชีวิตเลย ทำมาแล้วทำอีก แล้วยังอยากทำงานในวัยสูงอายุ ไม่อยากเกษียณ เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังมีศักยภาพมากกว่าการที่เกษียณอยู่เฉยๆ และอีกปัจจัยหนึ่งคือเขาเก็บเงินเกษียณไม่ได้ แต่เขาไม่ได้พูดคำว่าเกษียณ เราต้องเรียนรู้ แล้วคุยว่าเขามีแนวคิดแบบไหน 

“ทุกครั้งที่คุยกับเขา เราจะบอกทุกคนว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร เราขอสัมภาษณ์เขาเพื่ออะไร เพื่อเป็นการขออนุญาตเขาในเบื้องต้น และแสดงความเคารพสิทธิเขาด้วย เขาจะรู้ว่าเรื่องราวของเขาที่เราคุยไป มันจะถูกนำไปเผยแพร่นะ ถ้าเขาไม่ยินดี ไม่ได้อยากให้ใครรู้ว่าทำงานตรงนี้ เราก็จะไม่ทำต่อ จะให้เกียรติเขาในตรงนั้น แล้วพอเราคุยกับเขาไปเรื่อยๆ เขาจะพูดความรู้สึกบางอย่างที่เขารู้สึกว่าทั้งชีวิตเขาไม่เคยมีใครมาถามเขาแบบนี้เลย”

คำถามแรกๆ ที่เวิลด์ถาม อาจจะเป็นคำถามที่ง่ายๆ เลยว่า “มาทำงานทุกวันเหนื่อยไหม” แล้วเขาจะพูดเลย เพราะรู้สึกว่ามีคนรับฟัง หรือถามเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ถ้าเวลาสัมภาษณ์ผู้สูงอายุหรือเด็ก เวิลด์จะไม่ค่อยถามคำถามที่จะต้องคิดหลายชั้น อย่างเช่น คุณค่าของงานที่ทำคืออะไร เขาจะ…เออ อะไรนะลูก (หัวเราะ)

“หรือเวิลด์แค่ถามว่ามีความสุขไหม พอเขาบอกว่าความสุขของเขาคืออะไร เราก็จะไปคิดต่อ บางคนแค่ปั่นจักรยานมาทำงาน ได้ร้องเพลงตอนระหว่างปั่นจักรยาน นั่นคือความสุขในชีวิตตอนแก่ของเขาแล้ว เราก็จะเลือกหยิบแบบนี้ 

“แต่คนที่เราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ก็มี อาจต้องเริ่มด้วยการทำให้เขารู้สึกสนิทใจกับเรา กล้าที่จะบอก แล้วเริ่มที่คำถามง่ายๆ ว่า วันนี้เป็นอย่างไร ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง แล้วเราก็ค่อยๆ ยิงคำถามที่เราอยากรู้ อย่างเช่น ถ้าเราอยากรู้ว่าคนนี้เป็นคนไร้บ้านหรือเปล่า เวิลด์จะถามว่า เมื่อเช้ามาอย่างไร เมื่อคืนนอนที่ไหน หรือถามว่าบ้านเขาอยู่ที่ไหน คนไร้บ้านจะไม่ได้ตอบว่า บ้านอยู่คอนโดฯ นู้น บ้านอยู่หมู่บ้านนี้ เขาจะตอบว่า อยู่สวนลุมฯ เราจะรู้โดยอัตโนมัติ แล้วเราค่อยคุยกับเขาไป”

แชมเปญ ลำโพงมาร์แชล และใบเสร็จ

“ผมโชคดีอย่างหนึ่งคือ คนจ้างวานข้าแต่ละคนเป็นวัตถุดิบที่ดี ทำให้เราใช้ได้ไม่หมด ผมหาเรื่องจะเขียนได้ไม่อั้น แค่ต้องค้นนิดหนึ่งว่า จะเลือกมุมไหนแค่นั้นเอง ตอนนี้เรามีจ้างวานข้าอยู่ 200 คน แล้วแต่ละคนมีคาแรกเตอร์ของเขาเอง ผมคิดว่าผมคงเขียนไม่หมด (หัวเราะ)” เอ๋เล่า

หนึ่งในเจ้าของเรื่องราวที่จ้างวานข้าเพิ่งเผยแพร่ไปในเดือน Pride และประสบความสำเร็จอย่างมากคือ ‘แชมเปญ’ เอ๋เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานที่เกิดขึ้นง่ายๆ ปัจจุบันทันด่วนว่า “ถ้าเราจะเล่าเรื่อง LGBTQIA+ แชมเปญคือใช่เลย เขามีความภูมิใจในตัวเองที่เหมาะกับช่วงเดือนไพรด์และส่งผ่านทัศนคติ ในความเป็นตัวเขามันว้าว แล้วบวกกับเขามีความลึกของชีวิตเป็นวัตถุดิบที่ดี เราแค่ดึงออกมาแล้วร้อยเรียงบ้างแค่นั้นเอง” 

ส่วนปอนด์เล่าถึงการถ่ายภาพแชมเปญในเสื้อผ้าหน้าผมจัดๆ แล้วปอนด์บันทึกเอาไว้ว่า นี่คือธรรมชาติของแชมเปญที่ไม่ได้เตี๊ยม

“อย่างพี่แชมเปญนี่คือแกแต่งตัวอย่างนั้นมาอยู่แล้ว เราแค่เดินสวนกัน แล้วพี่เอ๋บอกว่า เฮ้ย! ถ่ายแชมเปญดีกว่า (หัวเราะ) พี่แชมเปญ ไม่ได้นัดเลย เราก็โอเค ไปถ่ายพี่แชมเปญ ตอนนั้นแกกำลังทำงานยกของอยู่ แต่แกเริ่ดมาจากบ้านแล้ว นั่งโบ๊ะหน้าเป็นประจำ เราก็ให้แกนั่งโพสท่าบนหลังซาเล้ง แกก็ได้ท่าโพสจากงานที่แกทำงานอยู่ตรงนั้น ทุกวัน ทุกที่คือรันเวย์ของแกจริงๆ”

หากใครติดตามคอนเทนต์กระจกเงามาอย่างสม่ำเสมอจะพบเสน่ห์ของการเล่าเรื่อง นั่นคือการนำชีวิตด้านอื่นๆ นอกจากความลำบากยากจน มาสื่อสารในเรื่องด้วย เช่น ความชอบ งานอดิเรก นิสัยเล็กๆ น้อยๆ เฉพาะตัว เอ๋เล่าถึงเรื่องนี้ว่า

“มันมีมิติเยอะแยะในคนหนึ่งคน สมมติถ้าเราเล่าเรื่องคนพิการ เราคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเล่าในความขาขาดของเขา มันมีเรื่องอื่นๆ ที่จะเล่า เช่นคู่ชีวิตของเขา 

“ขั้นตอนการรับคนเข้ามาทำงานของกระจกเงา เราต้องสัมภาษณ์ไทม์ไลน์ชีวิตเขาตั้งแต่เกิดจนถึงจุดหักเหอยู่แล้ว พอเห็นทั้งชีวิตของเขาเราจะเห็นเองว่า เฮ้ย! จุดนี้ใช่เลยเว้ย เป็นเรื่องเล่าที่ดีนี่หว่า ดูเผินๆ มันเหมือนเป็นการอิมโพรไวซ์ แต่ว่าอิมโพรไวซ์อยู่บนโครงสร้างบางอย่าง ในเคสหนึ่งเคส ถ้าเรารู้สึกว่าเฮ้ย เนี่ย! ประเด็นนี้ใช่ ในศัพท์ของพวกผม จะเรียกว่า ‘หูกระดิก’ เพราะว่าฟังแล้วเจอประเด็น แล้วนำมาขยายความต่อได้ เริ่มจากตรงนี้” 

เอ๋กล่าวว่า เรื่องที่ใช่ ไม่ใช่ได้จากแค่การคุยเท่านั้น แต่รวมถึงสายตาที่ต้องมองหาจุดเปลี่ยนของเรื่องราว เช่น เมื่อเดินเข้าไปในห้องเช่าของใครสักคน สิ่งที่ทำให้เรื่องราวมีเสน่ห์หรือสร้างจุดพลิกขึ้นมาได้ อาจเป็นเพียงแค่ข้าวของเล็กๆ สักชิ้นหนึ่ง

“ต้องมองดูว่าตรงไหนจะทำให้เราหูกระดิกหรือคลิกได้ อย่างไปบ้านลุงสุวัฒน์ ลุงเขาเป็นบ้านคนไร้บ้านที่เปลี่ยนผ่านแล้ว ได้ห้องเช่าแล้ว แล้วผมเซอร์ไพรส์กับการจัดการบ้านที่เรียบร้อยมากของลุง อย่างบิลค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนลุงเรียงไว้เป็นระเบียบมาก ก็จะหยิบเรื่องแบบนี้มาเล่า หรือแม้แต่เรามองไป แล้วสังเกตเห็นลำโพงเจอมาร์แชล เราก็เล่าเรื่องของเขาจากลำโพงมาร์แชล

“ผมพยายามใช้วิธีเล่าเรื่องที่ไม่ซ้ำ เพราะว่าผมเป็นคนเบื่อง่ายด้วย (หัวเราะ) ผมชอบทดลองหลายๆ อย่างกับการเขียน แล้วมาถอดบทเรียนว่าข้อเขียนแบบไหนเวิร์กไม่เวิร์ก ไอ้ที่ทดลองไป ถ้าเพิ่มสิ่งนี้ขึ้นมา ทำให้กระชับขึ้น หรือเหลาให้คมคายมากหน่อยจะเป็นอย่างไร ผมเรียนรู้ระหว่างทางตลอด”

ในโลกที่คำว่า ‘เกษียณ’ ใช้ทำการตลาดไม่ได้

“เวิลด์กับพี่ปอนด์จะทำซัพพอร์ตงานในส่วนประชาสัมพันธ์ด้วย อย่างงานต้อนรับผู้บริจาค สื่อสาร ดูโซเชียลแพลตฟอร์ม ตอบแชต รับโทรศัพท์ เป็นแอดมินเพจ พี่ปอนด์เป็นคนตอบแชตวันเสาร์ เราจะทำงาน 5-6 วันต่อสัปดาห์” ไม่มีทีมสื่อคนไหนของกระจกเงาที่ทำงานงานเดียว รวมทั้งน้องใหม่อย่างเวิลด์ที่เป็นนักเขียนรุ่นใหม่ขวัญใจคนกระจกเงาหลายคน

“ของเวิลด์จริงๆ คิดว่าเป็นการเปิดความคิดมากกว่า คือเมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่าเราเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ทำอะไรไม่ได้เลย แต่พอเราเข้ามาอยู่ในองค์กรที่มีศักยภาพระดับหนึ่งที่จะช่วยคน หรือว่าขับเคลื่อนประเด็นสังคมได้ เราก็รู้สึกว่า เราสามารถจัดการอะไรบางอย่างได้ 

“เวิลด์เป็นคนสงขลา ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เวลาเราเห็นคนลำบาก เรามีความรู้สึกในใจว่า ทำไมเราทำอะไรไม่ได้เลย เราได้แค่เดินผ่านเขา แล้วกลับบ้าน เราได้แค่นึกในใจว่า ใครจะช่วยเขา เขาจะอยู่อย่างไร

“เวิลด์เรียนเอกภาษาไทย แล้วตอนนั้นกระจกเงาเปิดรับนักศึกษาฝึกงานฝ่ายสื่อสารพอดี เลยเลือกมาฝึกเป็นตำแหน่งนักเขียนที่กระจกเงา เข้ามาแรกๆ ก็มาแบบนักศึกษาทั่วไป ไม่ได้มีความรู้เชิงลึกด้านสังคม หรือเคยลงพื้นที่ ไม่เคยทำอะไรเลย ก็มาเริ่มต้นนับหนึ่งที่นี่ จริงๆ มันเหมือนเป็นการซึมซับ พอเราได้คลุกคลีกับการทำงานทางสังคมเรื่อยๆ แล้วได้เห็นคนในหลากหลายมิติ มันก็ค่อยๆ พัฒนาทักษะของเรา ทำงานเขียนทุกวัน จนเพิ่มทักษะเยอะเลย” 

เวิลด์ได้รู้จักผู้คนที่หลากหลายมากขึ้น และมากไปกว่านั้นงานสื่อสารของเธอทำให้ใครบางคนได้รับการช่วยเหลือ 

“ตอนเป็นนักศึกษาฝึกงาน เวิลด์ฝึกงานกับพี่ตี๋เลย แล้วพี่ตี๋ให้เวิลด์ไปลงเคสเด็กที่อยู่กับพ่อเลี้ยงเดี่ยว ก่อนหน้านี้เขาอยู่เป็นครอบครัว มีพ่อ แม่ ลูก 2 คน แต่แม่เสียชีวิตด้วยมะเร็ง แล้วเด็กอยู่ในวัยประถม กำลังจะก้าวข้ามไปสู่ช่วงมัธยม พ่อตาบอด ต้องทำงานนวดอยู่บ้าน ลูกที่เป็นเด็กประถมต้องกลายมาเป็นหัวหน้าครอบครัว เพื่อดูแลทุกคนในบ้าน เราสื่อสารเรื่องนี้ออกมาแล้วผลตอบรับกลับมาเยอะ เด็กมีโอกาสได้ทุน มีคนติดต่อขอซัพพอร์ตให้อนาคตเขาไปต่อได้ เลยรู้สึกว่างานสื่อสารของเราทำให้ใครบางคนได้รับการช่วยเหลือได้”

“เมื่อก่อนเวิลด์กลัวผู้ป่วยจิตเวชมาก เพราะเวลาผู้ป่วยจิตเวชจะทำอะไรเขาจะไม่รู้ตัว บางทีเขากรี๊ด มันคาดเดาไม่ได้ แต่พอเราอยู่ตรงนี้ เราสามารถก้าวข้ามความกลัวนั้น ต่อให้ทำอะไรไม่ได้ ถ่ายรูป ส่งมาที่ทีมผู้ป่วยข้างถนน เพื่อให้สิ่งนี้มันมีพื้นที่ ทำให้คนคนหนึ่งได้รับการรักษา เราไม่อยากเดินผ่านเขาไปวันนี้ แล้ววันต่อไปยังเจอเขานอนอยู่ที่เดิม 

“การทำงานที่นี่มันเปลี่ยนมุมมองของเราไป เราอาจเคยตัดสินว่าทำไมคนไร้บ้านไม่ขยัน ไปทำงานก็ได้เงินแล้ว แต่พอเราเข้ามาอยู่ เราได้เห็นว่ามีปัจจัยหลายอย่างมากที่ทำให้คนคนหนึ่งเข้าถึงงานไม่ได้เลย หรือเราอาจเคยเห็นบทเรียนหรือโฆษณาเยอะมากในโลกโซเชียลที่เขียนว่า เราควรวางแผนเกษียณล่วงหน้ากี่ปี เก็บเงินวันละกี่บาท แต่ว่าถ้าเราอยู่ในการจ้างงานที่เป็นรายวัน เราเริ่มวันแรกได้ 300 บาท หักค่าครองชีพแล้ว เราจะเอาเงินที่ไหนไปเก็บเกษียณ งานนี้ทำให้เราเปิดมุมมอง แล้วเข้าใจคน ว่าอ๋อ ทำไมเขาเก็บเงินไม่ได้ ทำไมเขาต้องเป็นหนี้ ทำไมหนี้นอกระบบโหดมาก แต่ทำไมคนยังไปกู้อยู่ มันคือการเอาตัวรอดของชีวิตคน” 

การเล่าเรื่องที่ไม่จบแบบเซอร์ๆ

ติ๊กตี๋เล่าว่าคอนเทนต์กระจกเงาหนึ่งชิ้นนั้น ไม่ใช่แค่เลือกเรื่องราวใครสักคนมาเล่าแล้วจบไป แต่คอนเทนต์นั้นต้องพาชีวิตใครสักคนไปสู่หนทางที่ดีขึ้น

“สิ่งที่ตี๋ มักจะคุยกับน้องๆ ไว้คือ ข้อแรก เราคำนึงถึงสิทธิของคนที่เราสื่อสารออกไปก่อนว่าเขาได้ประโยชน์อะไรจากการสื่อสารนี้ หรือเขากำลังจะได้รับประโยชน์อะไรจากการสื่อสารนี้ของเรา ดังนั้นเวลาที่เราจะไปสัมภาษณ์หรือเก็บข้อมูลของใคร เราต้องขออนุญาตเขาก่อน ขอรับบริจาคเรื่องเล่า เราช่วยเหลือเขาก็จริง แต่เขาก็เป็นผู้ให้เรื่องราวของเขา บริจาคเรื่องราวของเขา เพื่อไปต่อยอดให้กับเคสอื่นๆ นี่เป็นสิ่งแรก เราจะไม่เล่าอะไรที่เป็นทุกข์ แล้วทิ้งเขาไว้แบบนั้น 

“หลายเคสที่เรายังหาวิธีช่วยได้ไม่ถึงที่สุด เราจะยังไม่สื่อสารออกไป เช่น ในกระจกเงามีโครงการรับสมัครอาสาสมัครที่จะมาเยี่ยม นำอาหารมาให้คนไร้บ้าน แต่เดือนหน้าพอคนกลุ่มนี้กลับไปแล้ว คนไร้บ้านจะอยู่อย่างไร? เขามีความพิการไหม? มีปัญหาสุขภาพหรือเปล่า? ถ้ามีความพิการ ส่งไปโครงการกาลพลิก ซึ่งเป็นโครงการดูแลคุณภาพชีวิตคนพิการ มีบัตรประชาชนไหม? มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิหรือเปล่า ส่งไปโครงการคลินิกกฎหมายให้เขาช่วย ไปซ่อมเขาก่อน เราจะยังไม่ได้สื่อสารเลย แต่ว่ากระจกเงาต้องช่วยเขานะ ถ้าเขาจมน้ำ เราต้องช่วยให้โผล่พ้นน้ำก่อน ด่านท้ายที่สุดคือเขามีงานทำหรือยัง ต้องการทำงานไหม? ไปหาจ้างวานข้าก่อน พอจนครบกระบวนการแล้ว เราจึงจะเล่าเคสนั้น 

“เรื่องแบบนี้ทำให้คนรู้สึกว่าสังคมมีความหวังนะ กระจกเงาเป็นองค์กรที่ให้คนเอาหลังมาพิงได้ ถ้าคุณไม่ไหว ถ้าคุณมาแตะกระจกเงา เราจะพยายามช่วยคุณ งานแทบทุกชิ้นของกระจกเงาเป็นอย่างนั้น มันมีความหวัง มีความอบอุ่น แม้ว่าบางเรื่องมันดาร์ก แต่ท้ายที่สุด จะมีเรื่องที่เราเข้าไปจัดการหรือมีข้อเสนอบางอย่างถึงภาครัฐ แต่ละวันกระจกเงาโอบอุ้มสิ่งเหล่านี้อยู่ หาทางออกสำหรับเรื่องต่างๆ นี่คือเรื่องที่เราพยายามทำ

“เราจะไม่เอาเรื่องของเขามาเล่า โดยไม่มีทางออกอะไรให้เขา แล้วเล่าทิ้งไว้แบบนั้น คนอ่านอาจรู้สึกเศร้าโคตรๆ ทำไมน่าสงสารจังเลย หรือว่ากระจกเงาก็ไม่ได้ช่วย แล้วเขียนเรื่องของเขามาทำไม

เอ๋เสริมเรื่องนี้ว่าเหมือนที่ตี๋บอก เราไม่โยนแค่ปัญหาออกไป แต่ว่าเราจบด้วยข้อเสนอ ด้วยแนวทาง ด้วยความเป็นไปได้ จบด้วยเรื่องวิธีการว่าจะทำให้เรื่องนี้มันดีขึ้นอย่างไร”

งานที่แผดเผา เร่าร้อน แต่ไม่ถึงกับมอดไหม้

งานที่กระจกเงาเป็นงานที่หนักไม่น้อยและทุกคนล้วนมีความสามารถ “ทำไมไม่ไปทำงานที่อื่น” จึงเป็นคำถามที่เราอดถามติ๊กตี๋และเอ๋ไม่ได้

“ตี๋เรียนจบวารสารฯ แล้วเข้ามาเป็นนักศึกษาฝึกงานที่นี่ตั้งแต่ปี 2547 จากนั้นไปเป็นนักข่าว จนวันหนึ่งตี๋ถามตัวเองว่าเราอยู่ถูกที่ถูกทางไหม

“ตอนนั้นตี๋ไปทำงานข่าวสิทธิคนไร้สัญชาติในช่วงที่กระจกเงาขยับเรื่องนี้พอดี เราตามกระจกเงาไปที่เชียงราย แล้วเราพบว่า จริงๆ งานสื่อสารของกระจกเงา สามารถช่วยสังคมได้มากกว่าการที่เราทำอยู่ในสายนักข่าว เราเลยลาออกจากงานนักข่าวมาทำงานที่นี่ จากนั้นลาไปเรียนต่อเรื่องสื่อสารเพื่อการพัฒนา แล้วกลับเข้าสู่งานนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว และอยู่ยาวมาถึงตอนนี้เลย 

“เราอยากได้งานที่ฮาร์ดคอร์ งานที่เรารู้สึกว่าเรากำลังร่วมรบอยู่แนวหน้า เราอาจสนุกกับแบบนี้มากกว่า ตี๋คิดว่างานสื่อสารเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะไปขับเคลื่อนสังคม เราช่วยเหลือได้ตั้งแต่ระดับคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีปากเสียง ไปจนถึงระดับขับเคลื่อนเชิงนโยบายได้เลย กระจกเงาทำสิ่งเดียวกันกับการที่เราอยากใช้ชีวิตเพื่อส่วนรวม มันแมตช์กันมากเลย ตี๋จึงสนุกอยู่กับสิ่งนี้” 

ด้านเอ๋กล่าวว่า “ส่วนผมมาทำงานที่นี่ตั้งแต่น้ำท่วมปี 2554 และยังสนุกกับประเด็นของงาน จริงๆ ผมตั้งเป้าหมายไว้ไกลพอสมควร และผมรู้สึกว่ามีโอกาสเดินไปถึงด้วย เลยทำไปเรื่อยๆ ได้ แล้วในระหว่างทางเราก็เก็บความสำเร็จไปด้วย เป็นการทำงานที่ยังไม่รู้สึกว่ามันไปถึงจุดเบื่อ”

เมื่อเราถามว่าเป้าหมายที่เอ๋อยากไปให้ถึงนั้นคืออะไร? เอ๋ตอบว่า

“พอผมทำงานเรื่องคนไร้บ้าน ผมคิดว่าการแก้ปัญหาเรื่องคนไร้บ้านที่ดีที่สุดควรเป็นการตัดวงจรที่จะทำให้เกิดคนไร้บ้าน แน่นอนว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะการเกิดคนไร้บ้าน เป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ว่าผมฝันถึงเรื่องนี้ ผมอยากทำทั้งการตั้งคำถาม โยนวิธีการ และผลักกลไกบางอย่าง ที่ผมคิดว่าผมเรียนรู้จากการทำงาน เพื่อให้รัฐหยิบสิ่งนี้ไปทำ ไปแก้ไขปัญหาที่จะทำให้ไม่เกิดคนไร้บ้าน

“เหนื่อยนะ (หัวเราะ) ล้าก็มี แต่ว่าไม่ได้ล้าจนเรารู้สึกว่ามันต้องออกจากสิ่งนี้เพื่อที่จะให้เราหายเหนื่อย 

“งานมันชุบชูใจ ช่วยประคับประคอง มอบพลังให้เรา ขณะเดียวกันก็เป็นตัวเผาไหม้เราอยู่พอสมควร แต่นั่นแหละตัวงานที่สร้างพลังลบให้กับชีวิตเรา สร้างความยุ่งยากเกินจำเป็น แต่มันไม่ทำให้เรารู้สึกว่า กูลาทีแล้ว แม้ว่าจะเผาบ้าง แต่ผมยังสนุก ยังรู้สึกว่ามีเป้าหมายที่ตัวเรากำหนดไว้รออยู่ข้างหน้า ความพยายามนั้นเป็นความสนุกแบบหนึ่ง 

  “คล้ายกับพี่เอ๋ บางทีมันก็เหนื่อยนะ สาหัสเลย ยิ่งตอนถูกเร่งเร้า หรือถูกคาดหวัง แต่ท้ายที่สุดงานมันมีคุณค่าทั้งกับตัวเองและผู้อื่น จึงไม่มีเหตุผลมากเพียงพอที่เราจะออกไปจากวงโคจรนี้” ติ๊กตี๋ทิ้งท้าย



Tags: , , , , , , , , ,