วันนี้ (19 มิถุนายน 2024) สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย เดินทางเยือนเกาหลีเหนือครั้งแรกในรอบ 24 ปี โดยพบปะ คิม จองอึน (Kim Jong-eun) ผู้นำเกาหลีเหนือ เพื่อเจรจาหารือประเด็นความมั่นคงร่วมกัน ขณะที่จีนเยือนเกาหลีใต้ท่ามกลางการจับตามองจากนักวิเคราะห์ว่า อาจไม่พอใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ปูตินเดินทางถึงเกาหลีเหนือในช่วงก่อนรุ่งสางของวันนี้ ขณะที่ คิม จองอึน ออกมาต้อนรับด้วยความยินดี โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างทักทายด้วยการจับมือและสวมกอดกันตามธรรมเนียม ก่อนจะขึ้นรถลีมูซีน เพื่อเดินทางไปยังที่พำนักกึมซูซาน (Kumsusuan State Guest House: 금수산태양궁전)
เบื้องต้น KCNA สื่อภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเกาหลีเหนือ รายงานความคืบหน้าว่า ปูติน และคิม จองอึน ให้ความหมายถึงการเยือนครั้งนี้ว่า เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึง ‘ความคงทน’ และ ‘ความเป็นอมตะ’ ในความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ที่จะร่วมมือกันในทางยุทธศาสตร์ เพื่อทำให้ความยุติธรรม สันติภาพ และความมั่นคงของโลกคงต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในโคเรียเฮรัลด์ (Korea Herald) สื่อเกาหลีใต้ วิเคราะห์ว่า การเจรจาครั้งนี้ไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางทหาร ความมั่นคง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มน้อยมากที่จะผูกมัดถึงขั้น ‘สนธิสัญญาป้องกันทางทหารร่วมกัน’
นอกจากนี้ ยูริ ยูชาคอฟ (Yuri Ushakov) ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศประจำตัวของประธานาธิบดีรัสเซีย เผยผ่านสำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์ (Interfax) ว่า การพบกันครั้งนี้เป็นการเจรจาแบบ 1 ต่อ 1 ระหว่างผู้นำ 2 ประเทศ ซึ่งมีอีเวนต์ต่างๆ ได้แก่ กาลาคอนเสิร์ต งานเลี้ยงรับรองแขกของรัฐ การลงนามในข้อตกลงบางอย่างร่วมกัน จนถึงแถลงการณ์ต่อหน้าสื่อมวลชน
หากย้อนกลับไป ปูตินเดินทางเยือนเกาหลีเหนือตั้งแต่ปี 2000 โดยพบกับ คิม จองอิล (Kim Jong-il) ผู้นำสูงสุดในเวลานั้น และบิดาของคิม จองอึน ซึ่งมีระยะเวลาห่างกับปัจจุบันถึง 24 ปี ขณะที่ผู้นำเกาหลีเหนือเดินทางไปเยือนรัสเซียในเดือนกันยายน 2023
กลไกรองรับโลกหลายขั้วอำนาจ: บทสนทนาที่ถูกจับตามองในฐานะตัวแทน ‘สงครามเย็น’ ยุคใหม่
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของบทสนทนาระหว่าง 2 ผู้นำที่ถูกจับตามอง คือการสร้างกลไกรองรับ ‘โลกหลายขั้วอำนาจ’ (Multipolar World) ซึ่งสื่อนัยสำคัญถึงระเบียบโลกที่ไม่ได้ผูกไว้กับสหรัฐฯ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซียกำลังแน่นแฟ้นมากขึ้น เพราะ ‘ผลประโยชน์ต่างตอบแทน’ ของทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อทั้ง 2 ประเทศกำลังเผชิญภาวะหนีเสือปะจระเข้จากชาติตะวันตกและมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จนได้รับการเรียกขานว่า เป็นการพบปะของ ‘อักษะแห่งความชั่วร้าย’ (Axis of Evil) อีกครั้ง ดังคำกล่าวในปี 2002 ของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ในช่วงที่ผ่านมา เกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตรจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) หลังฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ ขณะที่รัสเซียในฐานะประเทศสมาชิกถาวร (P5) ช่วยทำหน้าที่ผลักดันการยุติมาตรการคว่ำบาตรมาโดยตลอด
นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของ 2 ประเทศ เมื่อรัสเซียตกที่นั่งลำบากจากแรงกดดันและการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก แต่เกาหลีเหนือกลายเป็นทางเลือกในด้านความมั่นคงทางการทหาร เมื่อมีรายงานจากทำเนียบขาวว่า เกาหลีเหนือกำลังเจรจาแลกเปลี่ยนอาวุธยุทโธปกรณ์กับรัสเซีย โดยมีข้อเรียกร้องคือ การส่งมอบเครื่องบินรบ อาวุธนำวิถีพื้นสู่อากาศ (Surface-to-air Missiles: SAM) ยานเกราะ และส่วนประกอบของมิสไซล์
ทั้งหมดนี้สะท้อนจากท่าทีของ แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ หลังแสดงความคิดเห็นถึงการเยือนครั้งนี้ว่า เป็นการพบปะท่ามกลาง ‘ความสิ้นหวัง’ และเสริมสร้างความสัมพันธ์เพื่อช่วยเหลือรัสเซียจากการรุกรานยูเครน
“เกาหลีเหนือมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับรัสเซียอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่อิหร่านก็มอบอาวุธให้รัสเซียเรื่อยมา โดยเฉพาะโดรน และถูกนำมาใช้กับพลเรือนและสาธารณูปโภคไม่ต่างกัน” บลิงเคนแสดงความคิดเห็นหลังพบปะ เยนส์ สตอลเตินบาร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการนาโต (North Atlantic Treaty Alliance: NATO) ที่กังวลถึงการเยือนครั้งนี้ไม่ต่างกัน
จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย: ความสัมพันธ์สามเส้าที่อาจไม่ได้สวยหรูแบบที่คิด?
ในอีกด้านหนึ่งของคาบสมุทรเกาหลี มีรายงานว่า เกาหลีใต้และจีนเจรจาทางการทูตและความมั่นคงเมื่อวานนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศนับตั้งแต่ปี 2015 โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งที่เปิดเผยในหน้าสื่อ คือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงผลประโยชน์ร่วมกันในความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งเน้นไปที่ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี ความท้าทายในภูมิภาค ประเด็นโลกระหว่างประเทศ รวมถึงการพบปะของรัสเซียกับเกาหลีเหนือในครั้งนี้
นอกจากนี้ การเจรจาทางการทูตข้างต้น ยังรวมถึงแนวทางการริเริ่มความสัมพันธ์ไตรภาคีระหว่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อเป็นช่องทางพูดคุยและจัดการวิกฤตการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีอีกด้วย
สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการประเมินของนักวิเคราะห์ว่า จีนในฐานะพันธมิตรชาติสำคัญของเกาหลีเหนือกับรัสเซีย มีความกังวลต่อสถานการณ์ไม่ต่างสหรัฐฯ เพราะความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่าง 2 ประเทศ อาจก่อให้เกิดปัญหาลุกลามมาถึงจีนได้
ทั้งหมดนี้สืบเนื่องจากความสัมพันธ์แบบ ‘ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร’ ในมุมของจีน เพราะหากพิเคราะห์เบื้องลึก ความสัมพันธ์ของเกาหลีกับจีนมักถูกเปรียบเทียบว่า เหมือนลิ้นกับฟัน กล่าวคือ จีนมีความขุ่นเคืองไม่น้อยที่เกาหลีเหนือไม่อยู่ใน ‘โอวาท’ ขณะที่ความสัมพันธ์กับรัสเซียถูกนิยามไว้ในฐานะเป็นทั้ง ‘เพื่อน’ และ ‘ศัตรู’ จากประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามเย็น
นั่นหมายความว่า การเข้าหาเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีมากกว่าเรื่องถ่วงดุลอำนาจจากสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรสำคัญของ 2 ชาติ แต่เป็นการ ‘สลัด’ ตนเองออกจากรัสเซียกับเกาหลีเหนือ เพราะจีนยังต้องการติดต่อกับชาติตะวันตก และไม่ต้องการถูกคว่ำบาตรที่ส่งผลต่อความมั่นคง หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
มาร์ก เอ็น คัตซ์ (Mark N. Katz) ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศรัสเซีย อธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างน่าสนใจว่า แม้แต่คำว่า ‘พันธมิตร’ ยังดูมากเกินไปสำหรับความสัมพันธ์สามเส้า เพราะอันที่จริงแล้ว การร่วมมือของ 3 ประเทศเป็นเพียงหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ที่ไม่มีความแน่นแฟ้นมากเท่า
“มันเป็นการร่วมมือที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของแต่ละประเทศล้วนๆ” คัตซ์ระบุ ก่อนทิ้งท้ายว่า จีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่ยากลำบากของแต่ละฝ่ายเท่านั้น และไม่มีประเทศไหนพร้อมจะ ‘สังเวย’ ตนเองเพื่ออีกฝ่าย
อ้างอิง
https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20240619050005
Tags: จีน, รัสเซีย, เกาหลีใต้, ปูติน, วลาดีมีร์ ปูติน, คาบสมุทรเกาหลี, เปียงยาง, เอเชียตะวันออก, สหรัฐอเมริกา, ยุโรป, เกาหลีเหนือ