เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2022 สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้เปิดเผยรายงานตัวเลขทางสถิติที่วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการเฉลี่ยในแต่ละช่วงเวลา หรือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ใช้วัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 5.4 เปอร์เซ็นต์ และในเดือนมิถุนายน ตัวเลข CPI เพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันในช่วงปีที่แล้ว และตัวเลขดังกล่าวถือว่าสูงสุดในรอบ 24 ปี เป็นผลมาจากราคาต้นทุนเชื้อเพลิง พลังงาน และอาหารปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงเหตุผลที่ว่าอุปสงค์หรือความต้องการซื้อในประเทศฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19

ดัชนีราคาผู้บริโภคในเกาหลีใต้อยู่สูงกว่าที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้กำหนดไว้ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ ซ้ำยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนานถึง 15 เดือน หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป มีความเป็นไปได้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคตลอดปีจะแตะหลัก 5.7 เปอร์เซ็นต์ เหนือความคาดการณ์ที่กระทรวงการคลังเกาหลีใต้เคยประเมินเอาไว้

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.25 เปอร์เซ็นต์ เป็น 1.75 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันสองเดือนในรอบ 15 ปี ขณะที่ข้อมูลอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2008 และธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ขายทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ (ขายเงินดอลลาร์สหรัฐ) บางส่วนมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยระบุว่าจำเป็นต้องทำเพื่อ ‘บรรเทาความผันผวนในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ’

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเกาหลีใต้ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ไม่สามารถหนีผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อ ที่เป็นผลมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ราคาสินค้าอย่างอาการและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานของหน่วยงานด้านการเกษตรของสหประชาชาติที่ระบุว่า ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาราคาอาหารโลกพุ่งขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อของเกาหลีใต้ก็แตะระดับสูงสุดตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในเอเชียในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เพิ่มความกดดันให้กับรัฐบาลของประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล (Yoon Seok-yeol) ที่ต้องเร่งแก้วิกฤติเศรษฐกิจระดับชาติ

พัค ซอกกิล (Park Seok-gil) นักวิเคราะห์การเงินจากธนาคารเจพีมอร์แกน เชส (JPMorgan Chase Bank) กล่าวถึงการรับมือของรัฐบาลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นว่า การกำหนดนโยบายรับมือจะทำได้ยากขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องดูปัจจัยประกอบหลายอย่างขณะที่ต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับดูเรื่องความเสี่ยงด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำลังหดตัว และต้องหานโยบายหรือทางออกที่ดีที่สุดที่ไม่กระทบทางใดทางหนึ่งมากจนเกินไป

ปัญหาเงินเฟ้อของเกาหลีใต้กระทบกับหลายฝ่าย เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นชาติที่พึ่งพาการค้าจากต่างประเทศและกระแสเงินทุนข้ามพรมแดนที่ไหลเวียนอย่างมีระบบมากพอสมควร เมื่อสกุลเงินวอนตกลง จะสร้างแรงกดดันต่อนักลงทุนส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากตลาดหุ้นในประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (วันที่ 5 กรกฎาคม 2022) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตลาดการเงินระดับท้องถิ่นยังไม่มีสัญญาณถึงความตื่นตระหนกต่อปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากรับรู้ว่าปัญหาที่กำลังเผชิญส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากต่างชาติและมีแนวโน้มที่จะพบกับปัญหาเดียวกันทั่วโลก  

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของประธานาธิบดี ยุน ที่เพิ่งทำงานได้เพียงสองเกือบเศษ ยังไม่ได้จัดทำพิมพ์เขียวนโยบายเกี่ยวกับการเงินว่ามีความเหมือนหรือต่างกับรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่ รวมถึงเป็นประธานในการประชุมฉุกเฉินด้านเศรษฐกิจที่จะจัดขึ้นทุกสัปดาห์ แต่เริ่มสั่งให้ปฏิรูปการเงินของภาครัฐด้วยการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ขายทรัพย์สินที่ไม่มีความจำเป็น หรือทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกต่อไป เพื่อเป็นการออมเงินทางอ้อม

การเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมเริ่มเห็นได้จากการเพิ่มสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2022 มีรายงานว่าร้านสะดวกซื้อในเครือ GS25 มียอดขายอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลายสาขาได้เพิ่มการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีราคาถูก ไปจนถึงการขายแซนด์วิช ต๊อก และคิมบับ ราคาไม่เกิน 7 พันวอน (ประมาณ 180 บาท) เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากประชาชนเริ่มพยายามรัดเข็มขัดรายจ่าย และเหล่ามนุษย์เงินเดือนเริ่มมองหาข้าวกลางวันที่ราคาถูกกว่าการไปใช้เวลาในร้านอาหาร

เวลานี้เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีทุนสำรองต่างประเทศอยู่ในอันดับ 9 ของโลก ตัวเลขที่ประเมินในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 4.38.28 แสนล้านดอลลาร์ คาดการณ์ว่าจะทำให้สามารถนำเข้าได้ราว 7 เดือนโดยพิจารณาจากยอดเฉลี่ยรายเดือนสำหรับปี 2022

 

ที่มา

 https://www.reuters.com/markets/asia/skorea-june-consumer-inflation-hits-near-24-yr-high-exceeds-expectations-2022-07-04/

 https://www.reuters.com/world/asia-pacific/skorean-office-workers-hit-convenience-stores-lunch-flation-bites-2022-06-29/

https://www.aljazeera.com/economy/2022/7/5/south-koreas-inflation-hits-24-year-high

 

Tags: , , , , , , , , , , ,