เสียงเจี๊ยวจ๊าวของพ่อค้าแม่ค้า เคล้าเสียงกระทะ หม้อแกงกระทบกัน ตามด้วยกลิ่นอาหารคาวอาหารหวาน ท่ามกลางอากาศร้อนๆ ยามบ่าย ริมทะเลสาบสงขลาอันอุดมสมบูรณ์
ที่นี่คือชุมชนบ้านกลาง อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ส่วนเสียงและกลิ่นมีแหล่งกำเนิดจากตรอกซอยเล็กแคบติดมัสยิดกลางพัทลุง ซึ่งใช้เป็นเส้นทางเข้า-ออกของ ‘หลาดใต้ถุน’ ตลาดสินค้าพื้นถิ่น ริมทะเลสาบสงขลา
‘หลาด’ เป็นคำสำเนียงใต้ กร่อนเสียงจากคำว่า ‘ตลาด’ หมายถึง ที่ชุมนุมเพื่อการค้าขาย ส่วนคำว่าใต้ถุน นิยามว่าเป็นที่โล่งใต้เรือน มีไว้สำหรับเก็บข้าวของ หรือในบางกรณี การมีใต้ถุนเรือนสูงก็เป็นไปเพื่อป้องกันเหตุอุทกภัย ตลาดใต้ถุนจึงหมายถึงการค้าขายโดยใช้ใต้ถุนเรือนเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้า
ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า จุดแรกเริ่มของหลาดใต้ถุนตั้งต้นมาแต่สมัยใด แต่ชาวบ้านในพื้นที่ปากพะยูน ต่างบอกเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า การค้าขายใต้ถุนเรือนถือเป็นวิถีเก่าแก่ของชาวปากพะยูน ด้วยเป็นเมืองท่า และมีลักษณะบ้านใต้ถุนยกสูง เหล่าพ่อค้าแม่ขายจึงแบกหามอาหารสดอาหารสุกมาวางขายจำหน่ายแก่ชาวบ้านบริเวณใต้ถุน ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ความนิยมค้าขายใต้ถุนบ้านก็ซบเซาทุเลาลง ด้วยมิอาจทนต่อกระแสการค้าขายสมัยใหม่ที่เข้ามาแทนวัฒนธรรมพื้นถิ่นเดิมของที่นี่
ชาวบ้านและผู้มาเยือนกำลังรอคอยอาหาร
ไม่ใช่แค่วิถีค้าขายเดิมของปากพะยูนเท่านั้นที่สูญหาย วิถีการกินของคนพื้นถิ่นปากพะยูนก็มีบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป อาหารบางอย่างกลายเป็นของกินหายาก เพราะหาคนทำได้ยาก หรือหากจะทำกินก็ต้องอาศัยโอกาสพิเศษเท่านั้น ไม่แปลก ที่หากพ่อค้าแม่ค้าเอ่ยชื่ออาหารแก่ลูกค้าในยามใด ก็อาจตามด้วยสีหน้างุนงงของลูกค้า
กลุ่มสตรีกำลังตำกุ้งให้ละเอียด เตรียมสำหรับทำ ‘ลูกเห็บ’
“ลูกเห็บจ้ะ”
แม่ค้าคนหนึ่งเอ่ยขึ้นหลังเราตั้งคำถามว่าสิ่งที่กำลังปั้นๆ บีบๆ อยู่ในมือนั้นคือสิ่งใด เธอกล่าวขึ้นพร้อมรอยยิ้มแบบมีเลศนัยด้วยอาจรู้ว่าเราจะไม่เข้าใจว่า ลูกเห็บหมายถึงสิ่งใด
“อันนี้คือลูกเห็บ หรือทอดมันนั่นแหละ” เธอพูด พลางชี้สิ่งที่กำลังปั้นอยู่ในอุ้งมือ
จากการพูดคุยกับคนในตลาด ลูกเห็บหรือทอดมันนับว่าเป็นอาหารหากินได้ยากแล้วในปากพะยูน (หรืออาจจะทั้งภาคใต้) แม้จะเป็นอาหารพื้นถิ่นของภาคใต้ก็ตาม หลายคนอาจแย้งว่า ทอดมันไม่ได้หายากถึงเพียงนั้น ครั้นก็เห็นขายอยู่ตามห้างตามตลาดทั่วไป แต่ทอดมันที่ว่าโดยมากมักผสมแป้งมากกว่าใช้เนื้อสัตว์ล้วน
ทว่าสตรีกลุ่มนี้ยืนยันกับเราว่า การทอดมันของพวกเธอ ‘ไม่ใช้แป้ง’ ใช้เพียงเนื้อกุ้งละเอียดจากการตำ ผสมกับวัตถุดิบ เช่น ไข่เป็ด ใบชะพลู ฯลฯ
“เราไม่ใช้แป้งเลย ใช้กุ้งร้อยเปอร์เซ็นต์ตำ ปั้น ทอด ที่สำคัญคือเราไม่ใส่ผงชูรส”
ไม่เพียงแต่ลูกเห็บที่เราไม่มักคุ้นกับชื่อ แต่อาหารพื้นถิ่นที่เหล่าพ่อค้าแม่ค้ากำลังเสนอขายกันอยู่ใต้ถุนบ้าน เช่น ปาดา ม่อจี้ หากได้ยินคราใดก็ทำเอาผู้เขียนชะงักอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหากไม่รู้จัก เพราะขนมหรืออาหารคาวหวานที่ขายอยู่ในหลาดใต้ถุน ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารพื้นถิ่นที่หากินได้ยาก และการทำอาหารที่เน้นหนักจาก ‘ภูมิปัญญา’
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่นำมาปรุงขายอยู่ใต้ถุนบ้านนั้น ล้วนมาจากประสบการณ์ของผู้อยู่มานานในปากพะยูน
แม่ค้าในหลาดใต้ถุน
แม่ค้าหญิงกำลังทำขนมใต้ถุนบ้านเตรียมขายให้ลูกค้า
นอกเหนือจากความเป็นพื้นถิ่นของอาหาร สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสัมผัสได้ คือความสดใหม่ของวัตถุดิบ อาจเป็นข้อได้เปรียบของเมืองปากพะยูนที่มีชัยภูมิอยู่ติดริมทะเลสาบสงขลาอันเลื่องชื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศถึงสามแบบ ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ไม่แปลกที่จะพบสัตว์น้ำสัตว์ทะเลนานาพันธ์ุ นำมาซึ่งความอิ่มท้องและเป็นรายได้หล่อเลี้ยงชาวปากพะยูนจากรุ่นสู่รุ่น หากใครต้องการซื้อปลาซื้อกุ้ง เพียงแค่เดินออกจากหลาดใต้ถุนไปสัก 300 เมตร ก็จะพบตลาดท่าใหญ่ แหล่งจำหน่ายสินค้าสดใหม่จากทะเลสาบสงขลาแล้ว
ปลาทูนอนสะเด็ดน้ำมันอยู่ในซึ้ง
ปลาจากทะเลสาบสงขลานำมาตากแห้งเตรียมขายในหลาดใต้ถุน
เช้าจรดบ่าย ผู้คนแวะเวียนเข้า-ออกตลาดไม่ขาดสาย โดยมากเป็นคนในท้องที่ ทั้งเยาวชนจากสถานศึกษาใกล้เคียง ชาวบ้านอำเภอปากพะยูน และนักการเมืองท้องถิ่น บ้างเข้ามาเก็บภาพบรรยากาศ บ้างซื้อหาของกินของฝากกลับไปเป็นกอบเป็นกำ จุดที่น่าสนใจคือ แม้ผู้คนจะแน่นซอยแคบนี้ขนาดไหน ขยะจากการค้าขายกลับบางตา เหตุเพราะตลาดแห่งนี้เน้นย้ำผู้มาเยือนถึงการแยกขยะก่อนทิ้ง และหากผู้มาเยือนคนใดรีบเร่งเกินกว่าจะแยกขยะเอง กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าใต้ถุนก็ยินดีเป็นผู้แยกขยะให้ สังเกตได้จากป้ายข้อความ ‘รับทิ้งขยะ’ ที่ติดอยู่ตามร้านค้าแต่ละร้านทั่วบริเวณ
ความน่าสนใจอยู่ที่หลาดใต้ถุนไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของราชการ กลุ่มทุน หรือความต้องการของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการทำขึ้นเพื่อสนองต่อความหวงแหนวิถีดั้งเดิมของคนในชุมชน
“หลักใหญ่ใจความคือต้องการอนุรักษ์ของเดิมเอาไว้” บังดุล ประธานชุมชนบ้านกลาง อำเภอปากพะยูน ผู้ร่วมคิดค้นออกแบบกิจกรรมให้เยาวชนในตลาด บอกกับเราถึง ‘แก่น’ การกลับมาของหลาดใต้ถุน ท่ามกลางเยาวชนที่กำลังขะมักเขม้นกับการแต่งแต้มลายปลาอยู่ท้ายบ้าน
“ตอนแรกก็ทำกินกันเองกับคนในชุมชน ใครมีอะไรแปลกๆ ก็ทำมากินกัน ของที่ทำก็เป็นของโบราณที่ทำกินกันสมัยก่อน บ้านไหนทำเป็นก็ทำมา”
นอกจากจะสะท้อนให้เห็นความร่วมมือของคนในชุมชนบ้านกลาง หลักการที่ว่า ‘บ้านไหนทำเป็นก็ทำมา’ ด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ของชาวบ้านในฐานะผู้อาศัยอยู่ในท้องที่แห่งนี้มาอย่างยาวนาน จนสามารถจดจำได้ว่าสิ่งใดที่ชุมชนเคยมี และสิ่งใดที่กำลังสูญหายไป ประสบการณ์เหล่านี้เองที่ทำให้ตลาดใต้ถุนหวนคืนสู่ถิ่นอีกครั้ง
ใต้ถุนบ้านกับผู้ค้ามากมายในตลาด
สิ่งสำคัญในยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน การกลับมาของหลาดใต้ถุน เปรียบเสมือนการย้ำเตือนชนรุ่นหลังให้ทราบที่มาที่ไป
“นกไม่รู้ฟ้า ปลาไม่รู้น้ำ มันก็เหมือนเด็กพวกนี้ที่ออกไปข้างนอก เราต้องทำให้พวกเขารู้ว่าที่ที่พวกเขาเกิดขึ้นมามันคือน้ำ มันคือฟ้า นั่นคือการกลับมารู้จักบ้านเกิด ไม่ลืมถิ่นตัวเอง” บังดุลบอกกับเรา
หลาดใต้ถุนจัดขึ้นเพียงเดือนละครั้ง ไม่มีกำหนดวันจัดแน่ชัดตายตัว เป็นไปตามสภาพอากาศและความเหมาะสมอื่นๆ ซึ่งการนัดหมายจัดตลาดจะแจ้งผ่านเพจ ตลาดใต้ถุน ปากพะยูน และการนัดหมายใต้ถุนบ้านครั้งถัดไปคือวันที่ 2 มิถุนายน 2567
ระหว่างนี้ที่รอคอย ผู้เขียนแนะนำให้ขับรถเวียนชมทะเลสาบสงขลาให้อิ่มใจ แล้วไปอิ่มท้องที่ตลาดใต้ถุนกันใหม่ในเดือนถัดไป
กลุ่มแม่ค้าใต้ถุนบ้าน กำลังพูดคุยกับลูกค้า
Tags: ม่อจี้, Feature, พัทลุง, ทะเลสาบสงขลา, ตลาดใต้ถุน, หลาดใต้ถุน, ปากพะยูน, ลูกเห็บ