ความเป็นท้องถิ่นของเราคืออะไร และถูกเล่าผ่านอะไร
เชื่อว่าหลายคนที่มาจากต่างภูมิลำเนา ก็มีคำตอบที่แตกต่างกันออกไปว่า แต่ละท้องถิ่นของตัวเองมีอะไรที่โดดเด่น หรือมีอะไรอยากจะนำเสนอให้คนอื่นได้เห็น ซึ่งหนึ่งในเทรนด์ที่เริ่มมาแรงและได้รับความสนใจจากทั้งแวดวงแฟชั่นรวมถึงเหล่านักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติคือ ‘การท่องเที่ยวเชิงแฟชั่น’
ไม่ได้มีแค่กางเกงช้างเท่านั้นที่จะต้องไปตามหาซื้อลายของแต่ละจังหวัด เพราะตอนนี้หลายพื้นที่ต่างก็พากันนำเสนอ ‘ผ้าไหมไทย’ ของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น และแม้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอาจมีภาพจำว่า ผ้าไหมเป็นของแฟชั่นสำหรับผู้ใหญ่ มีลวดลายสำหรับผู้ใหญ่ และยากที่จะใส่ในชีวิตประจำวัน แต่เชื่อเถอะว่า ตอนนี้ผ้าไหมไทยไปไกลกว่านั้นมากแล้ว
ผ้าไหมไทยมีความเป็นแฟชั่นที่ทันสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระดับแบรนด์แฟชั่นไทยหลายเจ้าที่ดีไซน์ผ้าไหมให้ยูนีก ทันสมัย รวมถึงเหล่าช่างทอผ้าในระดับท้องถิ่นที่ปรับให้งานผ้าของพวกเขาเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้คนหลากหลายรุ่น ใส่ไปเที่ยว ใส่ไปคาเฟ่ หรือใส่ออกงานสำคัญ ได้อย่างมั่นใจไม่ซ้ำใคร แถมดีไซน์และลวดลายก็ยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นได้พร้อมกัน
กลายเป็นว่าผ้าไหมไทยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวไทยมากขึ้นกว่าเก่า เกิดการนำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่ม เห็นได้จากการจัดรูตท่องเที่ยว ‘เส้นทางสายไหม’ ที่ทำให้ผู้มาเยือนเห็นเส้นทางของผ้าไหมตั้งแต่ต้นจนได้ออกมาเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับเหล่าดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ที่เมื่อได้เห็นก็อยากจะนำเรื่องราวของภูมิภาคตัวเองมาเล่าอยู่บนเครื่องแต่งกายดูบ้าง
ขณะเดียวกัน ผ้าไหมไม่ได้ส่งผลแค่กับเรื่องวัฒนธรรมหรือสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เท่านั้น เพราะเมื่อดูภาพรวมจากสรุปรายงานการส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2565 จะพบว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยมีตัวเลขการส่งออกรวมแล้วกว่า 6,758.32 ล้านบาท ซึ่ง ‘เสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากไหม’ เป็นกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวมากที่สุด แสดงให้เห็นว่าผ้าไหมไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอยู่ไม่น้อย
เช่นเดียวกับจังหวัดบุรีรัมย์ที่นำเสนอประวัติศาสตร์ของตัวเอง ผ่านเส้นใยแต่ละเส้นที่ถักทอร้อยเรียงเป็นผ้าไหม รวมถึงแนวทางการประยุกต์ต่อยอด เพื่อเป็นอีกหนึ่งเส้นทางให้อุตสาหกรรมผ้าไหมไทย สามารถวิ่งให้ทันกับยุคสมัยผ่านงาน Colors of Buriram ซึ่งถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการท่องเที่ยวเชิงแฟชั่น วัดได้จากการที่มีผู้ให้ความสนใจเข้าชมมากกว่า 2 หมื่นคน
งานครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมใจของชาวบุรีรัมย์กว่า 3,000 คน เพื่อสร้างสรรค์งาน Colors of Buriram บนพื้นที่ขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอล ตั้งแต่วันที่ 19-21 มีนาคม 2567 โดยแบ่งเป็นโซนต่างๆ เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ไม่ได้ถูกบันทึกไว้แค่บนหน้ากระดาษเท่านั้น แต่สอดแทรกภูมิปัญญา วัฒนธรรม และความเป็นไทย ผ่านผลิตภัณฑ์ผ้าทอนานาชนิด และงานหัตถกรรมต่างๆ จาก 23 อำเภอ รวมแล้วมากกว่า 2,000 ชิ้น ในรูปแบบ Exhibition Wall ที่มีหลายโซนน่าสนใจ
Threads of Time
โซนจัดแสดงที่ทำให้เห็นกระบวนการผลิตผ้าไหมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผ่านเรื่องราวต่างๆ การดัดแปลง พัฒนา ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงนำเสนอวัฒนธรรมการทอผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนอำเภอพุธไธสงและอำเภอนาโพธิ์
Weaving Dreams
โซนจัดแสดงการย้อมผ้าไหมด้วยสีธรรมชาติทั้งโทนร้อนและเย็น เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่รังสรรค์ความสวยงามให้กับผืนผ้า
Artisan’s Corner
โซนจัดแสดงกระบวนการผลิต ทำให้เห็นว่า กว่าจะได้ผ้าไหม 1 ผืน จะต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง โดยมีการสาธิตการสาวไหม ย้อมไหม และทอผ้า
Silken Legacy
โซนจัดแสดงภาพถ่ายและเรื่องราวของเหล่าบุคคลที่ส่งเสริม ผลักดัน และอนุรักษ์ผ้าไหมไทย สร้างแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น จนผ้าไหมไทยกลายเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่า
From Earth to Elegance
โซนจัดแสดงลายผ้าไหมทั้งหมดของบุรีรัมย์ ทั้งลายผ้าโบราณ ลายผ้าที่ได้รับรางวัล และลายผ้ายุคใหม่
หนึ่งไฮไลต์สำคัญของโซน From Earth to Elegance คือการจัดแสดงลายผ้าพระราชทานจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยให้ดำรงอยู่ตลอดไป
‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ เป็นโครงการตามแนวพระดำริในปี 2563 เพื่อยกระดับและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับพี่น้องคนทอผ้าทั่วประเทศ ได้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว รวมถึงถ่ายทอดแนวคิดเรื่อง Sustainable Fashion หรือแฟชั่นแห่งความยั่งยืน ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โครงการนี้สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการผ้าไทย โดยเฉพาะ ‘ผ้าลายพระราชทาน’ ที่เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผ้าโบราณจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาผสมผสานจนเกิดเป็นลวดลายผ้าผืนที่เป็นเอกลักษณ์ มีความหมายลึกซึ้ง เช่น ผ้าลายขอ, ผ้าบาติกลายท้องทะเลไทย, ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา และผ้าลายดอกรักราชกัญญา แล้วพระราชทานแก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่ม เพื่อสร้างสรรค์แรงบันดาลใจ พร้อมนำไปต่อยอดได้อย่างไร้ขีดจำกัด
นอกจากนี้ SIRIVANNAVARI ถือเป็นแบรนด์ที่ช่วยยกระดับไหมไทยสู่เวทีแฟชั่นระดับโลกได้มาก เนื่องจากเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงใช้พระอัจฉริยภาพในการดีไซน์ลวดลายออกแบบให้ทันสมัย ประกอบกับแนวทางในการตัดเย็บให้มีความสวยงดงาม และสร้างความยั่งยืนด้วยการใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า เพื่อให้ผลงานผ้าไหมที่ออกมาสามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย
ด้วยการนำผ้าไหมไทยมาปรับใช้กับคอลเลกชันเครื่องแต่งกาย กระเป๋า และเครื่องประดับ พร้อมตอบสนองความหลากหลายของตลาด สามารถสวมใส่ได้ทุกโอกาสและสถานที่ และยังเผยให้โลกได้เห็นผ่าน Paris Fashion Week กับคอลเลกชัน Fall/Winter 2023 และ Spring/Summer 2024 อีกด้วย
ขณะเดียวกัน หน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพท้องถิ่น กลุ่มดีไซเนอร์ชั้นนำและประชาชนทั่วไป ก็ได้ร่วมกันผลักดันผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกตามหลัก Soft Power ส่งเสริมเศรษฐกิจไทย เป็นตัวเชื่อมการค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยใช้การตลาดเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้า เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
สนับสนุนให้กระบวนการผลิตผ้าไหมสามารถทำได้ทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่นให้ร่วมสมัย กระตุ้นให้ผู้คนนิยมสวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างครบวงจร
ทั้งหมดนี้คือการนำเสนอผ้าไหมของชาวบุรีรัมย์ ที่สามารถเล่าเรื่องออกมาได้หลากหลายและดึงดูดใจ เผยให้เห็นการพัฒนาต่อยอดให้ผ้าไหมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ด้วยคุณภาพ ความประณีตพิถีพิถัน สนับสนุนกลุ่มอาชีพผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อไป
Tags: ผ้าไหมไทย, Branded Content, บุรีรัมย์, Colors of Buriram, SIRIVANNAVARI