หัวหมูสามหัวถูกตั้งวางเรียงราย ควันโขมงลอยบนท้องฟ้า ผู้คนยืนต่อคิวเพื่อกินกุกบับและเนื้อหมูสไลด์
หากภาพเหล่านี้เกิดขึ้นในสวนหลังบ้านแห่งหนึ่ง จะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย
แต่ปาร์ตี้สารพันเมนู ‘หมู’ ข้างต้น กลับเกิดขึ้นหน้าไซต์ก่อสร้างมัสยิดแห่งหนึ่งในเมืองแดกู ประเทศเกาหลีใต้ระหว่างปี 2022-2023
ใช่แล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าวคือกระแสต่อต้านการสร้างมัสยิดในเขตบุก (Buk: 북) ที่อยู่ทางตอนเหนือของเมืองแดกู
ย้อนกลับไปในปี 2014 นักเรียนมุสลิมกลุ่มหนึ่งจากมหาวิทยาลัยคยองบุกแห่งชาติ (Kyungpook National University) ‘ลงขันซื้อ’ บ้านหลังหนึ่งในเขตบุก เพื่อเป็นสถานที่รวมตัวและทำกิจกรรมทางศาสนาในชื่อศูนย์อิสลามดาร์อุลอีมาน (Dar ul Emann)
กระทั่งต่อมา พวกเขามีความคิดริเริ่มสร้างมัสยิดทับบ้านแห่งนี้ โดยปี 2020 รัฐบาลท้องถิ่นอนุญาตคำขอของพวกเขา ทว่าไม่นานนัก การสร้างมัสยิดกลับถูกระงับตามคำสั่งทางปกครองของเขตบุกในปี 2021 หลังชาวบ้านร้องเรียนว่า สถานที่แห่งนี้มีเสียงดัง เต็มไปด้วยกลิ่นอาหารรุนแรง และขัดขวางการสัญจรของผู้คน แม้ว่ากลุ่มนักเรียนจะไม่ได้ยินปัญหาดังกล่าวกับหูของตนเองก็ตาม
ท้ายที่สุด ศาลฎีกาเกาหลีใต้ออกคำสั่งในปี 2022 ว่า การสั่งห้ามสร้างมัสยิดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ความเกลียดชังของคนท้องถิ่นยังคงไม่ลดละต่อชาวมุสลิม จนเข้าข่ายปรากฏการณ์ความเกลียดชังต่ออิสลาม (Islamophobia)
ซ้ำร้ายความไม่พอใจยิ่งทวีความรุนแรงเสียยิ่งกว่าเดิม เมื่อมีรายงานในปี 2024 เปิดเผยว่า การก่อสร้างมัสยิดในแดกูถูกระงับอีกครั้ง เพราะปัญหาการก่อสร้าง โดยมี ‘ทางการ’ และ ‘หัวหน้าไซต์งานก่อสร้าง’ รู้เห็นเป็นใจร่วมกัน
“ตั้งแต่เมื่อไรกันที่เราต้องอธิบายว่า ทำไมเราถึงจัดงานเลี้ยงรวมตัวระหว่างเพื่อนบ้าน” รองประธานคณะกรรมการหมู่บ้านตอบโต้เสียงวิจารณ์ของสาธารณชน พร้อมยืนยันว่า นี่คือวัฒนธรรมของชาวเกาหลีที่มักแบ่งปันอาหารต่อกันและกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมนูหมูอันเลื่องชื่อ
“แล้วในวัฒนธรรมเกาหลี คุณสมควรดื่มเหล้าหรือทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหน้าวัดหรือโบสถ์ไหม?” มูอัซ ราซัค (Muaz Razaq) ตัวแทนสื่อมวลชนของกลุ่มอิสลามมหาวิทยาลัยคยองบุก ตั้งคำถามกลับต่อคำชี้แจงดังกล่าวในโลกโซเชียลมีเดีย
คำถามสำคัญคือ ทำไมการสร้างมัสยิดของชาวมุสลิมกลุ่มเล็กๆ ในเกาหลีใต้ถึงสร้างความเกลียดชังให้กับสังคมได้ขนาดนี้?
มัสยิดแดกู (ที่ยังคง) สร้างไม่เสร็จ: แม้ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย แต่กลับถูกกีดกันด้วยวิธีสกปรก
“ผมหวังว่า สักวันหนึ่งจะได้เห็นมัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นจริงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย”
เมื่อวานนี้ (11 มีนาคม 2024) ราซัคอัดคลิปวิดีโอชี้แจงสถานการณ์การสร้างมัสยิดในแดกูว่า กำลังอยู่ในจุดที่ ‘ไม่ค่อยสู้ดี’ นัก เพราะดูเหมือนว่า รัฐบาลและผู้มีอำนาจกำลังกีดกันความพยายามของพวกเขาอีกครั้ง แม้ว่าศาลฎีกาเกาหลีใต้ชี้ขาดในปี 2020 แล้วก็ตาม
ราซัคเริ่มอธิบายว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เขาพูดคุยกับหัวหน้าฝ่ายก่อสร้างเพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็วที่สุด ส่วนหนึ่ง มีการพูดคุยรายละเอียดบางส่วนใหม่ เช่น การจ่ายเงินค่าก่อสร้างก้อนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม พร้อมทั้งเซ็นสัญญาที่เห็นตรงกันทั้งสองฝ่ายเสร็จสรรพ
แต่ปรากฏว่า กระบวนการก่อสร้างเป็นไปอย่างขัดข้อง เมื่อสอบถามข้อเท็จจริงกับทีมงาน ผู้คุมงานก็แก้ตัวด้วยข้ออ้างแปลกประหลาด เช่น วันนี้สภาพอากาศไม่ดี หรือมีคนมาประท้วงหน้าไซต์ก่อสร้างเพื่อขัดขวางการทำงานของพวกเขา
“มันคือความรับผิดชอบของตำรวจที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย และยุติการประท้วง หรือจัดการปัญหาอื่นๆ ที่มากกว่านั้น เพราะเราได้รับการอนุญาตจากศาลฎีกาแล้ว”
นี่คือสิ่งที่ราซัคตั้งคำถามต่อผู้จัดการฝ่ายก่อสร้างว่า เหตุใดการอำนวยความสะดวกจากทางการจึงไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อจัดการกับการก่อกวนที่ผิดกฎหมาย
แต่แล้ว คำตอบที่ตัวแทนสื่อมวลชนมุสลิมได้รับจากปากของผู้คุมงานคือ ผู้มีอำนาจในรัฐบาล โดยเฉพาะทางการท้องถิ่น ‘บีบ’ และ ‘กดดัน’ ให้พวกเขายุติการสร้างมัสยิด และปล่อยให้ทิ้งร้างไว้
“แล้วทำไมคุณถึงไม่พูดว่า ผมเป็นแค่ผู้จัดการไซต์ก่อสร้าง พวกคุณควรไปพูดคุยหรือจัดการผ่านเจ้าของที่ดิน ไม่ใช่คุยกับผม”
ราซัคถามกลับอีกรอบ เพราะเขาควรมีสิทธิที่จะพูดคุยกับผู้มีอำนาจโดยตรง และผู้รับมอบหมายงานไม่รู้อะไรไปมากกว่าการปฏิบัติตามคำสั่ง ทว่าผู้คุมงานก็ยืนกรานเหมือนเดิมว่า เขาถูกบีบบังคับจากเบื้องบนโดยที่ไม่อธิบายเหตุผลและที่มาอย่างชัดเจนเลย
ความจงใจละเลยหน้าที่ของผู้จัดการไซต์ก่อสร้างยังนำไปสู่ปัญหาการติดตั้ง ‘แท่งเกลียว’ เพื่อรองรับพื้นชั้นสองของมัสยิด ซึ่งเป็นข้ออ้างทำให้รัฐบาลท้องถิ่นเขตบุกประกาศระงับการก่อสร้างในเดือนธันวาคม 2023
ราซัคเปิดเผยในคลิปวิดีโอว่า เขาก็เพิ่งทราบปัญหาดังกล่าวไม่นานมานี้ เนื่องจากผู้คุมงานจงใจปิดบังข้อเท็จจริงดังกล่าว ขณะที่กลุ่มนักเรียนมุสลิมก็ไม่มีความรู้ด้านการก่อสร้าง พวกเขามีหน้าที่จ่ายเงินเพื่อให้อีกฝ่ายทำงานให้ลุล่วงด้วยดี
“ไม่ต้องเป็นห่วงนะ นี่คือปัญหาทั่วไป”
ผู้จัดการฝ่ายก่อสร้างอ้าง กระทั่งทางการแดกูส่งหมายเตือนมาหาพวกเขาโดยตรง แต่กลุ่มผู้สร้างมัสยิดก็ยังพยายาม ‘ทำใจดีสู้เสือ’ และเสนอทางแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านตัวกลางที่รู้เรื่องปัญหาความปลอดภัยในการก่อสร้างโดยตรง แม้จะไม่ใช่หน้าที่ของเขาเลย
ท้ายที่สุด ส่วนกลางเขตบุกประกาศระงับการก่อสร้างมัสยิด ทั้งที่ราซัคส่งเอกสารยืนยันตามกำหนดการณ์
“พวกเขาไม่ตรวจสอบเลย การกระทำของทางการน่าผิดหวังมาก เหมือนกับว่า เขาอยู่ฝ่ายต่อต้านการสร้างมัสยิด”
ราซัคอธิบายเพิ่มเติมว่า กลุ่มมุสลิมซื้อที่ดินแห่งนี้ด้วยเงินของพวกเขา แต่น่าตกใจมาก เมื่อรัฐกลับเลือกข้าง แทนที่จะคงความเป็นกลางตามหน้าที่ และตอนนี้เขาฟ้องผู้จัดการไซต์ก่อสร้างดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
เปลี่ยนไม่ทันโลก กระแสก่อการร้าย และข่าวปลอม: เกาหลีใต้กับความเกลียดชังต่ออิสลามที่ยากจะเปลี่ยน
“อีกไม่นานที่แห่งนี้จะกลายเป็นสลัม”
“พวกก่อการร้าย”
“ประชาชนต้องมาก่อน! ต่อต้านการสร้างมัสยิด”
ไม่ต้องมีคำอธิบายมากมาย เพราะข้อความใบปลิวเล็กแผ่นเดียวและป้ายประท้วงขนาดใหญ่บนถนนในเขตแดกู กำลังสื่อถึงปัญหาความเดียดฉันท์ต่ออิสลามในเกาหลีใต้อย่างเด่นชัด
นอกเหนือกระแสชาตินิยม ซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุผลทางประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคม ปัญหาดังกล่าวยังเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ทำให้มีการหลั่งไหลของผู้คนต่างชาติ ภาษา และวัฒนธรรมเข้ามาในประเทศ แต่เกาหลีใต้กลับเดินตามกระแสดังกล่าวไม่ทัน
โดยเฉพาะการเคารพประเด็นสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเท่าเทียมทางเพศ
ความเกลียดชังนี้เริ่มเด่นชัดในหน้าสื่อ พร้อมกับการเข้ามาของผู้ลี้ภัยชาวเยเมน (Yemen) นับ 550 คนในเกาะเชจูปี 2018 ผ่านนโยบายฟรีวีซ่า 30 วัน
เวลานั้น คนเกาหลีตั้งคำถามอย่างเผ็ดร้อนในสังคมว่า ประเทศของพวกเขาควรยอมรับให้คนเหล่านี้เข้ามาจริงหรือไม่?
แต่ปรากฏว่า กระแสในโลกออนไลน์กลับด่าทอชาวเยเมนว่า เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่อำพรางตนในคราบผู้ลี้ภัย จนนำไปสู่แคมเปญเรียกร้องให้รัฐบาล ‘ยกเลิก’ พระราชบัญญัติผู้ลี้ภัย (UN 1951 Refugee Convention) ถึง 7 แสนคน ขณะที่ท้องถนนเต็มไปด้วยการชุมนุมขับไล่ชาวเยเมนออกจากประเทศ
อี ฮีซู (Lee Hee-soo) ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านวัฒนธรรมและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮันยาง (Hanyang University) อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมเกาหลีใต้ขาดความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมมุสลิม อีกทั้งยังถูกหล่อหลอมด้วยค่านิยมจากโลกตะวันตก และภาพด้านลบของศาสนาอิสลามในโลก
ศาสตราจารย์กิตติคุณรายนี้อธิบายต่อว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศในกลุ่ม OECD ที่มีอัตราความเกลียดชังต่อมุสลิมสูงที่สูง และเป็นเรื่องค่อนข้างแปลกทีเดียว เพราะเกาหลีมีความหลากหลายทางศาสนาสูงเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ อี ฮีซูยังเสริมว่า อคติดังกล่าวอาจเกิดจากประสบการณ์เลวร้ายในอดีตจากกระแสก่อการร้ายที่สังคมเกาหลีรับรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ คิม ซุนอิล (Kim-Sun il) ล่ามชาวเกาหลีและคริสต์ศาสนิกชนถูกลักพาตัวและตัดศีรษะโดยกลุ่มก่อการร้ายเครือข่ายอัลกออิดะฮ์ (Al-Qaeda) และข่าวใหญ่ในปี 2007 เมื่อมิชชันนารีในโบสถ์แซมมุล (Saemmul Presbyterian Church) ถูกกลุ่มตาลีบันลักพาตัว
ขณะที่ ฟาร์ราห์ ชีค (Farrah Sheikh) ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยคเยมยอง (Keimyung University) และผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาอิสลามยังระบุว่า กลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ในเกาหลีใต้ มีบทบาททำให้กระแสความเกลียดชังพุ่งสูงจาก ‘สงครามทางวัฒนธรรม’ โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม LGBTQIA+ ภายใต้คำศัพท์ ‘Queerslam’ (Queer+Islam) ซึ่งแปลว่า พฤติกรรมหรือการกระทำอันไร้เหตุผล
อย่างไรก็ตาม การปิดกั้นกระแสผู้อพยพอาจสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับประเทศ เพราะเกาหลีใต้กำลังเผชิญ 2 ภาวะสำคัญคือ สังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำ หนึ่งในวิธีการแก้ไขเร่งด่วน คือการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมุสลิม
ดังนั้น หากจะยืนโดดเด่นเป็นหนึ่งในเสือตัวที่สี่แห่งเอเชียตลอดกาล ลำพังแค่การพึ่งพาความเจริญทางด้านวัตถุอาจไม่เพียงพอ แต่การทำความเข้าใจของคนในชาติต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม (รวมถึงความแตกต่างของเพศสภาพ) ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศแห่งนี้เช่นเดียวกัน
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=IDpQ-8WNYvE&t=37s
https://www.reddit.com/r/islam/comments/18im6kx/daegu_orders_suspension_of_construction_of/
https://www.yna.co.kr/view/AKR20231214157200053?input=1195m
https://www.npr.org/2023/05/24/1176132837/south-korea-mosque-muslim-students-tensions
https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2024/03/113_328456.html
Tags: South Korea, เอเชีย, เยเมน, มัสยิด, เอเชียตะวันออก, ศาสนาอิสลาม, เกาหลีใต้, มัสยิดในแดกู, อิสลาม, มุสลิม, เกาหลี, Islamophobia