ทั้งที่ตัวเองลำบาก แต่ทำไมถึงยังเห็นอกเห็นใจคนที่รวยกว่าเรา
น่าสนใจไม่น้อยว่าทำไมผู้คนยังคงตื่นเต้นเสมอ เมื่อมีข่าวว่าใครสักคนเป็นทายาทเศรษฐี ชาติตระกูลดี มีการศึกษา บ่อยครั้งเรายกย่องคนเหล่านี้ และดูเหมือนจะมีเหตุผลมากมายให้เราคิดชื่นชมใครสักคนจากความร่ำรวยที่พวกเขามีเป็นทุนเดิม
การยินดีกับความสุขของใครสักคนเป็นเรื่องที่ดี แต่นอกจากยกย่องแล้ว หลายคนยังมีแนวโน้มที่จะเห็นอกเห็นใจคนรวยเป็นพิเศษ แม้ในเรื่องที่ตนเองโดนเอาเปรียบอยู่ก็ตาม
ป่วยแต่ไม่อยากลางานเพราะกลัวบริษัทหาคนมาทำงานแทนไม่ได้ หรือกลัวว่าผู้ประกอบการจะลำบากหากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตอนที่เรากำลังเป็นห่วงเป็นใยพวกเขาอยู่โดยไม่รู้ตัว เรากลับละเลยตัวเองและคนที่ลำบากกว่าไปเสียอย่างนั้น
ทำไมเราจึงชอบที่จะยกย่องและเห็นอกเห็นใจคนรวย?
“คนส่วนใหญ่อยากที่จะมีชีวิตในแบบที่ตัวเองไม่มี หรือไม่มีเงินเพียงพอที่จะมีชีวิตแบบนั้นได้” ทารา บีเบอร์ (Tara Bieber) นักประสาทวิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) อธิบายถึงสาเหตุว่า ทำไมเราจึงชอบที่จะยกย่องคนรวยมองแบบพื้นฐานที่สุด คือใครๆ ก็อยากรวย อยากตื่นมาแล้วถูกหวย อยากให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นกับชีวิต ในสังคมที่สิ้นหวัง เราต่างวาดหวังว่าตัวเองจะได้กลายเป็นเศรษฐีในสักวัน การชื่นชมคนรวยซึ่งกำลังใช้ชีวิตที่เราไม่มีวันเอื้อมถึง ในมุมหนึ่งอาจเป็นการเผยถึงความรู้สึกขาดสิ่งนั้นของตนเอง เสมือนแรงบันดาลใจว่าวันหนึ่งเราจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
และปรากฏการณ์เช่นนี้เองที่เป็นเหตุผลให้การฟังไลฟ์โค้ชเป็นที่นิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องราวที่โค้ชเหล่านี้บอกเล่า ก็มักจะเปี่ยมด้วยการสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่เริ่มจากศูนย์มุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จในสักวัน
“ถ้าเห็นใครสักคนประสบความสำเร็จ เราจะถือว่าพวกเขาฉลาด มีความยุติธรรม มีความรู้” เพกกี ซู ลอเรซ (Peggy Sue Lorez) นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด วิเคราะห์ถึงความสำเร็จของคนดังบางคน โดยอ้างอิงแนวคิดที่เรียกว่า ‘Halo Effect’ คือการที่เรามองเห็นสิ่งที่ดีของคนหนึ่ง แล้วจะเกิดอคติเชิงบวกว่า สิ่งอื่นๆ ของเขาย่อมดีตาม
นอกจากนี้ เราอาจสังเกตว่าคนดังกับคนรวยมักจะเป็นคนเดียวกัน นักจิตวิทยาบางกลุ่มพูดถึงเรื่องบุคลิกภาพแบบเศรษฐีที่ทำให้พวกเขามีเสน่ห์เฉพาะตัว มีความเป็นผู้นำ เด็ดขาด ไม่เหมือนใครจนผู้คนชื่นชอบ เช่น อีลอน มัสก์ (Elon Musk) หนึ่งในมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ที่แม้จะมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์หลายอย่าง แต่ก็มีคนไม่น้อยที่ชื่นชมเขาจากความ ‘โนสน โนแคร์’ และความกล้าเผชิญความเสี่ยงในการทำธุรกิจ
เมื่อเห็นคนจำนวน 1% กล้าใช้ชีวิต กล้าที่จะเสี่ยงเพราะมีเบาะรองรับ แทนที่จะรู้สึกว่าตนแปลกแยก หรือรับรู้ถึงความไม่เท่าเทียมที่ดำเนินอยู่ หลายคนกลับพยายามที่จะสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับคนรวยด้วยการชื่นชมและมักจะมองคนรวยในแง่ดีแทน
ข้อมูลจากงานวิจัยทางจิตวิทยาสังคมในปี 2021 แสดงให้เห็นว่า ผู้คนมักจะอดทนต่อความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น หากได้รับรู้ถึงเรื่องราวของเศรษฐีหรือคนที่ประสบความสำเร็จทางหน้าที่การงาน และยังมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าคนรวยเหล่านั้นมีความสามารถ ขยัน และพยายามมากกว่า จึงสมควรได้รับความมั่งคั่งแล้ว
เมื่อเรามองคนรวยในแง่ดีขนาดนี้ ความเห็นอกเห็นใจจึงเกิดขึ้น หลายครั้งมันอาจทำให้เราไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของตนเองไว้ได้ เรายกย่องผู้บริหารของบริษัท และเห็นใจว่าพวกเขาต้องรับความเสี่ยงที่มากกว่าพนักงานทั่วไป แต่กลับไม่เห็นใจพนักงานที่ทำงานหนักสวนทางกับเงินเดือน เพราะมองว่ามันสมเหตุสมผลกับความสามารถ
อ้างอิง:
https://www.salon.com/2022/04/29/the-of-elon-musk-why-do-some-of-us-worship-billionaires/
https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.2100430118
Tags: แรงงาน, Wisdom, Rich, Economy Inequality, Pay Gap