วันนี้ (4 มีนาคม 2024) ออสเตรเลียประกาศเตรียมให้เงินทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศอาเซียน 41.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,400 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนประเด็นความมั่นคงทางทะเลของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ขณะที่ประเทศทางทะเลในอาเซียนเห็นชอบกับความช่วยเหลือครั้งนี้
เพนนี หว่อง (Penny Wong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย เกริ่นในการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2024 ว่า ออสเตรเลียจะมอบเงินช่วยเหลือ 1,400 ล้านบาทให้กับอาเซียนตลอดระยะเวลา 4 ปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางท้องทะเลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
หว่องให้เหตุผลว่า ปัจจุบัน ภูมิภาคกำลังเผชิญความท้าทายการยั่วยุ และการกระทำที่บ่อนทำลายการเดินทางในท้องทะเลและอากาศ พร้อมเสริมว่า เสรีภาพทางอากาศและการเดินเรือในทะเลจีนใต้ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค
“สิ่งที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ ช่องแคบไต้หวัน และลุ่มแม่น้ำโขง ทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกล้วนส่งผลกระทบกับเรา”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ โดยมุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ของจีน ก่อนจะอ้างคำพูดของ โจโค วิโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ว่า ออสเตรเลียมีความรับผิดชอบในการผ่อนคลายความขัดแย้ง ด้วยการสร้างบนสนทนาและเข้าใจในความแตกต่างของแต่ละฝ่าย
เบื้องต้น 4 ประเทศทางทะเลในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ตอบรับความช่วยเหลือดังกล่าว พร้อมเสริมว่า นี่คือความช่วยเหลือเพื่อกำหนดอาณาเขตทางทะเลให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แม้ออสเตรเลียยังไม่ได้ระบุอย่างเป็นทางการว่า เงินทุนดังกล่าวจะจัดสรรอย่างไร
สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียรอบพิเศษครั้งนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2024 เพื่อฉลองความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียครบรอบ 50 ปี ในฐานะคู่ค้าเจรจาแรก โดยรัฐบาลไทยเผยว่า หนึ่งในวาระการพูดคุยที่สำคัญคือ การผลักดันประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) เพื่อหาทางออกท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดร่วมกัน
ในอดีต แม้ออสเตรเลียกับอาเซียนมีความสัมพันธ์อันดีทางด้านการค้าและการลงทุน แต่นักวิชาการจากอินโดนีเซีย กัมพูชา และสิงคโปร์ตั้งข้อสังเกตผ่านสำนักข่าวเดอะคอนเวอร์เซชัน (The Conversation) ว่า ออสเตรเลียกำลังสร้างบทบาทเชิงรุกต่อภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะการเปลี่ยนแปลงของผู้นำ การเชื่อมต่อระหว่างคนรุ่นใหม่ และความท้าทายทางด้านความมั่นคงในภูมิภาคส่งผลกระทบโดยตรง
จาก ‘แผงกั้นลอยน้ำ’ ถึง ‘ไซยาไนด์’ ในสการ์โบโรห์: ข้อพิพาทระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ที่อาจขัดขวางการเจรจาหาทางออก
อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์จากเชาท์ไชนามอร์นิ่งโพสต์ (South China Morning Post) ระบุว่า การเดินหน้าจัดทำข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ อาจไม่ประสบความสำเร็จ ตราบใดที่ความตึงเครียดยังเกิดขึ้นกับชาติอาเซียน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน
ปัจจุบัน การเผชิญหน้าระหว่างสองชาติกำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักประมงและทรัพยากรทางน้ำของฟิลิปปินส์ (The Bureau of Fisheries and Aquatic Resources: BFAR) เผยข้อมูลว่า เรือประมงจีนใช้ไซยาไนด์ (Cyanide) สารเคมีร้ายแรง ทำลายสิ่งแวดล้อมในบริเวณหินโสโครกสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ) ของฟิลิปปินส์ เพื่อป้องกันไม่ให้เรือประมงฟิลิปปินส์จับปลาได้สำเร็จ พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า มูลค่าความเสียหายอาจอยู่ที่มากกว่า 1,000 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ (ประมาณ 600 ล้านบาท)
ด้าน เจย์ ทาร์รีลา (Jay Tarriela) โฆษกหน่วยยามชายฝั่งฟิลิปปินส์ ประณามการกระทำดังกล่าว โดยระบุว่า การวางยาไซยาไนด์ในสการ์โบโรห์ไม่ใช่แค่ล่วงล้ำอธิปไตยของประเทศ แต่ยังเป็นการทำลายมนุษยชาติ เพราะทั้งโลกอาจได้ผลกระทบจากสารพิษไม่ต่างกัน
ขณะที่ เฟอร์ดินานด์ บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Bongbong Marcos Junior) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ตอบโต้ผ่านสุนทรพจน์ในรัฐสภาออสเตรเลียว่า เขาจะไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาล่วงล้ำในอธิปไตยของประเทศ พร้อมทั้งขู่ว่า ฟิลิปปินส์จะใช้วิธีทางการกฎหมาย เพื่อเอาผิดกับจีนเหมือนการยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (Permanent Court of Arbitration: PCA) ในปี 2016
“หากมีเหตุผลเพียงพอที่จะทำเช่นนั้น เราจะลงมือ” มาร์กอส จูเนียร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ลูซิโอ บล็องโก พิตโลที่ 3 (Lucio Blanco Pitlo III) นักวิจัยจาก Asia-Pacific Pathways to Progress Foundation แสดงความคิดเห็นว่า วิธีการทางกฎหมายอาจไม่สำเร็จ แม้ฟิลิปปินส์จะมองว่า กฎหมายระหว่างประเทศคือเครื่องมือการสร้างความเท่าเทียมให้กับประเทศเล็กๆ ก็ตาม
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นผ่าน ‘ชัยชนะที่ไร้ความหมาย’ จากเหตุการณ์ในปี 2016 เมื่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินว่า การอ้างสิทธิของจีนไร้ฐานทางกฎหมาย และขอให้ยุติการกระทำดังกล่าว แต่จีนไม่ทำตามคำตัดสิน และยังคงเดินหน้าอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ต่อไป
นอกจากนี้ พิตโลยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การสร้างประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ไม่สำเร็จคือ การจงใจ ‘ผลัก’ จีนออกจากการเจรจา แม้เป็นคู่ขัดแย้งและประเทศที่มีส่วนได้เสียสำคัญ เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ค้ำคอแต่ละประเทศ
เขาอธิบายว่า ไม่ใช่แค่จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของประเทศที่มีข้อพิพาท ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม แต่ยังรวมถึงชาติอาเซียนทั้งหมดตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 9.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 34.9 ล้านล้านบาท) นั่นจึงอาจทำให้ประเทศคู่พิพาทไม่กล้ามีบทสนทนาตรงไปตรงมา
ขณะที่ อารอน เจด ราเบนา (Aaron Jed Rabena) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์เอเชียนเซ็นเตอร์ (University of the Philippines’ Asian Centre) ระบุว่า การเจรจาจัดทำข้อตกลงดังกล่าว เป็นหนทางทางการทูตเพื่อควบคุมพฤติกรรมจีน และใช้อาเซียนเป็นเครื่องมือเสริมสร้างอำนาจต่อรอง มากกว่าเปิดหน้าเจรจาในฐานะประเทศเดียวเสียมากกว่า ก่อนจะเสริมว่า คำพูดมาร์กอส จูเนียร์เป็นกลยุทธ์ลองใจอีกอย่างหนึ่ง
“คำพูดของเขาเป็นไปเพื่อทำลายชื่อเสียงของจีน และเพิ่มแรงกดดันระหว่างประเทศ ภายใต้ความเชื่อว่า จีนจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” ราเบนาทิ้งท้าย
อ้างอิง
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/79753
Tags: ASEAN, จีน, อาเซียน, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ออสเตรเลีย, ทะเลจีนใต้, อินโด-แปซิฟิก, Code of Conduct, COC, แม่น้ำโขง, ฟิลิปปินส์