ฟรันซ์ คาฟคา (Franz Kafka) ในปรภพจะพูดกับมักซ์ บรอด (Max Brod) เพื่อนของเขาอย่างไร? “ขอบใจมากว่ะเพื่อน นายทำดีแล้วที่ไม่เผาต้นฉบับตามคำขอของฉัน” หรือ “นายเป็นห่ะอะไรวะ บอกให้เอาต้นฉบับทั้งหมดไปเผา แต่ดันเอาไปตีพิมพ์นี่อะนะ”

จริงๆ แล้วคงไม่ใครทราบได้หรอกว่าคาฟคาจะพูดกับบรอดยังไงหากทั้งคู่ได้พบกันอีกครั้ง ทว่าเรื่องหนึ่งซึ่งแน่ใจได้ก็คือคาฟคากลายเป็นนักเขียนโลกไม่ลืมเพราะความดื้อรั้นดันทุรังของเพื่อนนี่เอง

แต่ประเด็นที่เราจะได้พูดต่อไปข้างหน้า เป็นเรื่องมุมกลับของนักเขียนจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้โชคดีมีเพื่อนอย่าง มักซ์ บรอด (และคงต้องรวมถึง ดอร่า ดายมันท์ คนรักของคาฟคาที่ไม่ยอมทำลายต้นฉบับตามคำขอในวาระสุดท้ายของเขาด้วย) บุคคลเหล่านี้เข้าขั้นโชคร้าย ต้นฉบับสูญหาย ถูกทำลาย หรือมีเหตุอันพิสดารเกิดขึ้นจนงานไม่ได้ถูกตีพิมพ์ และกลายเป็นนักเขียนที่โลกไม่จำ

คาสิเมียร์ อดาโมวิตซ์-คอสโตรวิคิ

คาสิเมียร์ อดาโมวิตซ์-คอสโตรวิคิ ผู้พยายามสร้างผลงานเรื่องยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษ L’homme avec les main fleuries

คาสิเมียร์ อดาโมวิตซ์-คอสโตรวิคิ (Casimir Adamowitz-Kostrowicki) เกิดที่ปารีสในปี 1880 พ่อของเขาเป็นชาวโปแลนด์ แม่เป็นอเมริกัน แรกเริ่มเดิมทีนั้นเขาร่ำเรียนมาทางเคมี แต่ภายหลังได้หันเหความสนใจไปศึกษาวิชาถ่ายภาพและการบันทึกเสียง ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้เข้าไปพ้องพานข้องเกี่ยวกับบรรดานักเขียนและศิลปินชั้นนำในเวลานั้น อย่างเช่น ปิกัสโซ, กีโยม อโปลิแนร์, ไรเนอร์ มารีอา ริลเค, เอซรา พาวด์ และทีเอส. เอเลียตในวัยหนุ่ม ด้วยอิทธิพลของบุคคลต่างๆ ที่เขาได้พบเจอทำให้อดาโมวิตซ์-คอสโตรวิคิเบนเข็มไปทุ่มเทให้กับการเขียนวรรณกรรมอย่างจริงจังและหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องสร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาให้จงได้

ว่ากันว่ามหากาพย์ L’homme avec les main fleuries ของเขา หากเสร็จสมบูรณ์แล้วก็จะทำให้ Ulysses กลายเป็นนวนิยายธรรมดาๆ และ The Man Without Qualities หรือ In Search of Lost Time ก็จะเป็นเพียงหนังสือเล่มบางๆ แต่เพราะอดาโมวิตซ์-คอสโตรวิคิต้องเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาจึงไม่สามารถเขียนงานชิ้นนี้จนจบสมบูรณ์ได้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงฝากต้นฉบับไว้กับเพื่อนรักของเขา เอริก เลอวายัวส์ โดยกำชับว่า ถ้าเขาไม่กลับมาจากสมรภูมิแล้วก็จงเผา L’homme avec les main fleuries ทิ้งไปเสีย

Ulysses ของเจมส์ จอยซ์ (James Joyce) ฉบับพิมพ์ครั้งแรก

The Man Without Qualities ผลงานของโรแบร์ท มูลซิล (Robert Musil) นักเขียนชาวออสเตรียที่แม้เขียนไม่จบหรือไม่มีวันเขียนจบ แต่ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นนวนิยายเล่มสำคัญของศตวรรษที่ 20

In Search of Lost Time หรือ À la recherche du temps perdu นวนิยายของมาร์แซ็ล พรุสต์ที่เคยได้ชื่อว่ายาวที่สุด ประมาณ 3,000 หน้า

ภายหลังสงครามสิ้นสุด จนงานแห่เฉลิมฉลองย่านมงมาร์ตผ่านพ้นเลยไปหลายเพลา ก็ยังไม่มีวี่แววว่า อดาโมวิตซ์-คอสโตรวิคิ จะกลับมา และเมื่อแน่ใจแล้วว่าเขาน่าจะเป็นเหมือนเช่นคนหนุ่มอีกมากมายที่ได้พลีชีพในสมรภูมิรบครั้งนี้ เลอวายัวส์ ซึ่งแน่นอนไม่ใช่มักซ์ บรอด หรือแม้แต่ดอร่า ดายมันท์ จึงทำตามเจตนารมณ์ของเพื่อนแต่โดยดี ดังนั้นผลงานที่อาจทำให้ Ulysses เป็นเพียงนวนิยายธรรมดา และ The Man Without Qualities หรือ In Search of Lost Time เป็นเพียงหนังสือเล่มบางๆ จึงสาปสูญไปจากโลกใบนี้

เรื่องน่าเศร้ายิ่งกว่านั้นก็คือมีการสืบพบภายหลังว่า อดาโมวิตซ์-คอสโตรวิคิ ไม่ได้เสียชีวิตในสนามรบ แต่เพราะเขาเกิดอาการตื่นเสียงระเบิด (Shellshock) จึงถูกส่งตัวกลับปารีสตั้งแต่อาทิตย์แรกๆ และเขาก็พยายามกลับไปหาเลอวายัวส์ แต่เคราะห์ร้ายมีม้าตัวหนึ่งตื่นเสียงพลุวิ่งมาย่ำเขาจนเสียชีวิตลงเสียก่อน อดาโมวิตซ์-คอสโตรวิคินอนตายในสภาพของชายนิรนามและได้รับการประกอบพิธีฝังศพเฉกเช่นเดียวกับคนจรจัด

แชด ชีฮาน

แชด ชีฮาน ผู้เชื่อว่าประโยคแรกคือกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่นวนิยายเรื่องยิ่งใหญ่

แชด ชีฮาน (Chad Sheehan) ชื่อนี้คงจะคุ้นหูเรา หากเขาสามารถทำในสิ่งที่เขาเชื่อได้เป็นผลสำเร็จ แชด ชีฮาน เชื่อเหมือนเช่นนักเขียนจำนวนมากบนโลกนี้เชื่อว่า ถ้าเขาสามารถเริ่มต้นนวนิยายด้วยประโยคที่ ‘ใช่’ ประโยคดังกล่าวจะเป็นกุญแจไขไปสู่ผลงานเรื่องยิ่งใหญ่

เขาค้นพบประโยคที่ว่าตั้งแต่อายุได้สิบแปดปี เพียงแต่น่าเสียดายว่า ภายหลังจากที่จดจารประโยคแรกลงไป เขาก็ไม่สามารถเขียนประโยคถัดจากนั้นได้เลย เป็นเช่นนี้เรื่อยมา แชด ชีฮานเริ่มต้นประโยคใหม่ลงบนสมุดเล่มใหม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่มีประโยคใดๆ งอกเงยถัดจากนั้น สมุดของแชด ชีฮานที่บรรจุประโยคแรก มีจำนวนมากถึง 1,917 เล่ม

วอร์จิล แฮค

เวอร์จิล แฮค นักเขียนมินิมัลลิสต์ยิ่งกว่ามินิมัลลิสต์

วอร์จิล แฮค (Virgil Haack) นักเขียนและกวีชาวอเมริกันที่หลงใหลในศิลปะน้อยแต่มาก (Minimalism) แต่เราจะเรียกว่าหลงใหลเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะเขาเป็นนักปฏิบัติผู้อาจหาญยิ่งกว่านักประพันธ์อย่างเรย์มอนด์ คาร์เวอร์, โดนัลด์ บาร์เทลมี และลิเดีย เดวิส เล่ากันว่าความคลั่งมินิมัลลิสม์ทำให้เขาเคยไปกระชากไม้วาทยากรจากมือของมอร์ตัน เฟลด์แมน หรือสตีฟ ไรค์ขณะแสดง ไม่เพียงเท่านั้นเขาเคยเผชิญหน้าและท้าทายศิลปินอย่างโดนัลด์ จัดด์ หรือบาร์เนตต์ นิวแมนในนิทรรศการแสดงศิลปะ

ผลงาน Untitled (1980) ของโดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd)

แล้วเวอร์จิล แฮคทำอะไร เขาคือนักเขียนนวนิยายผู้บรรณาธิการผลงานความยาวหลายร้อยหน้าของตนเองจนเหลือเพียงแค่คำว่า “I” ซึ่งสำนักพิมพ์ที่รับผิดชอบพิมพ์งานของเขา เข้าใจว่า เป็นเพียงเลขบอกบท

อย่างไรก็ตาม เขาก็มีนักอ่านผู้หลงใหลในความเป็นมินิมัลลิสต์สุดทางจึงเอื้อเฝื้อห้องหนึ่งในอพาร์ทเมนต์ให้เขาพำนักอาศัย ห้องที่เขาใช้เวลาอีก 45 ปี พิมพ์ถ้อยคำหนึ่งซ้ำๆ อยู่เช่นนั้น โดยที่ในทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ามันคือคำว่าอะไร

เวโรนิกา วาส

เวโรนิกา วาส นักเขียนนวนิยายในรูปแบบของรหัสในระดับเครื่องจักรอีนิกม่า

เวโรนิกา วาส (Veronica Vass) เป็นนักเขียนที่มีชีวิตอยู่ร่วมยุคร่วมสมัยกับอลัน ทัวริ่ง เธอมีพ่อเป็นชาวสวิส-โพล ส่วนแม่เป็นรัสเซียอพยพที่มีถิ่นพำนักในกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

ด้วยความหวาดหวั่นว่าจะยุโรปจะกลับเข้าสู่สงคราม ในช่วงปี 1928 พ่อและแม่ของเธอจึงพากันย้ายไปสหราชอาณาจักร โดยปล่อยให้เวโรนิกา วาสเรียนภาษาที่เบลเยี่ยมอยู่อีกพักใหญ่ ก่อนจะย้ายมาศึกษาต่อที่ซอมเมอร์วิล คอลเลจ

ความเข้าใจในภาษา (ที่เธอเองสามารถใช้ได้อย่างเชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 5 ภาษา) ถือเป็นความสามารถของวาสอย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่เมื่อเบลชลี่ย์ พาร์ค มีการระดมหานักถอดรหัสและผู้เชี่ยวชาญภาษา วาสก็ได้กลายเป็นหนึ่งในคณะทำงาน เรื่องราวเกี่ยวกับเบลชลี่ย์ พาร์คกับการถอดรหัสเครื่องอีนิกม่าคงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว (อย่างน้อยๆ ก็สำหรับแฟนๆ ของเบเนดิกซ์ คัมเบอร์แบช)

ทว่าเรื่องราวที่คนไม่รู้ หรือไม่ได้รับอนุญาติให้รู้ก็คือ วาส ได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งภายหลังจากการทำงานให้ทีมถอดรหัส สร้างนวนิยายที่เขียนด้วยรหัสที่ซับซ้อนไม่น้อยไปกว่าเครื่องจักรอีนิกม่า ด้วยเพราะธรรมชาติของคนในเบลชลีย์ พาร์คที่ไม่ค่อยพูดหรือเล่าถึงงานที่ทำกับคนอื่นๆ หรือแม้แต่คนใกล้ชิด วาสจึงถือนวนิยายลงรหัสของเธอเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ทำด้วย ดังนั้นกว่าที่ใครจะมาพบ ซึ่งก็คือลูกชายของเธอ มันก็เป็นแค่กองกระดาษหลายพันหน้าในสภาพเหลืองกรอบพร้อมย่อยสลายกลายเป็นกระดาษรีไซเคิลซึ่งบรรจุภาษาที่ไม่นับว่าเป็นภาษา ที่แท้แล้วมันคือนวนิยายเรื่องยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครได้อ่านของเวโรนิกา วาสนั่นเอง

พจนานุกรมความล้มเหลว

เรื่องราวขื่นเศร้าเคล้าความประหลาดมาจาก The Biographical Dictionary of Literary Failure ของซี.ดี. โรส (C.D. Rose) ซึ่งพยายามรวบรวมเกร็ดประวัติชีวิตของบุคคลที่ล้มเหลวในการเป็นนักเขียน-นักประพันธ์ แต่แรกนั้นพจนานุกรมชีวประวัตินี้ปรากฏอยู่ในรูปแบบของบล็อกมาก่อน หลังจากผ่านพ้นไปหนึ่งปี คณะผู้จัดทำก็ลบทิ้งไป จนสุดท้ายได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือออกมา

พจนานุกรมรวบรวมเกร็ดประวัติชีวิตของบุคคลที่ล้มเหลวในการสร้างสรรค์วรรณกรรม

เมื่ออ่านชีวิตและพิจารณาเรื่องราวต่างๆ อย่างละเอียด ผมจึงได้เห็นว่า The Biographical Dictionary of Literary Failure อาจเป็นเพียงผลิตผลทางจินตนากรรม หรือถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเสียดสีล้อเลียนบุคคลจริงๆ ในบางแง่ เพราะถึงแม้จะมีเกร็ดประวัติโดยละเอียด แต่ก็เป็นเกร็ดประวัติที่สร้างใหม่ชนิดที่เราจะพบได้ในผลงานของฆอร์เก ลุยส์ บอร์เกส (Jorge Luis Borges) หรือดับเบิลยู. จี เซบาลด์ (W.G. Sebald)

แต่ถึงเป็นเช่นนั้น เรื่องราวความอาภัพอับโชคต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ใน The Biographical Dictionary of Literary Failure ก็ไม่ได้ไกลห่างไปจากความจริงแต่อย่างใดเมื่อพิจารณาในมุมที่ไกลออกมา เพื่อมองโลกที่เป็นไป ด้วยเพราะความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป ความต้องการจะสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ ความทุ่มเทให้กับศิลปะซึ่งไม่เคยมีมาก่อน แต่กลายเป็นเพียงฝันสลาย ก็ล้วนแล้วแต่มีอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน

ความสำเร็จจึงเป็นเพียงข้อยกเว้นที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้าเรากล่าวให้เฉพาะลงไป งานศึกษาวรรณกรรมเล่มดังอย่าง The Distant Reading ของนักวรรณคดีศึกษาชาวอิตาลี ฟรังโก โมเรตติ (Franco Moretti) ก็ได้เน้นย้ำเชิงสถิติให้เราเห็นแล้วว่า งานขายดี งานคลาสสิคต่างๆ ที่เราอ่านหรือศึกษากันมานั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงส่วนน้อยนิดเมื่อเปรียบกับงานที่ไม่ถูกอ่าน ถูกรับรู้ว่ามีอยู่

ดังนั้นผลงานที่แม้จะเคลมว่ามียอดจำหน่ายหลายล้านเล่มจึงไม่อาจเทียบได้กับผลงานจำนวนมากที่ขายไม่ออก ไม่มีใครรู้จัก ถูกนำไปทิ้งทะเล หรือถูกย่อยสลายแปรรูปไปตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาในมุมดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่า ผู้ประสบความล้มเหลวคือเสียงส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ และคงไม่เกินเลยไปจากความจริงแต่อย่างใด หากจะกล่าวทิ้งท้ายตรงนี้ว่า ผู้พ่ายแพ้ผิดหวังคือมวลชนคนส่วนใหญ่ แม้จะเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยมีใครแลเห็นหรือนึกถึงเลยก็ตาม และในบรรดานั้นก็มีเรื่องราวขื่นเศร้าอย่างที่ท่านได้อ่านไปเมื่อสักครู่

 

อ้างอิง

The Biographical Dictionary of Literary Failure, edited by C.D. Rose, (New York: Melville House, 2014)

Franco Moretti, Distant Reading, (London: Verso, 2013)

Tags: ,