วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2024) สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ซีรีส์ Alexander: The Making of a God ในประเทศกรีซ เมื่อปรากฏเนื้อหาว่า พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) มีความสัมพันธ์รักใคร่กับ เฮเฟสเตียน (Hephaestion) เพื่อนรักและนายพลคนสำคัญของพระองค์
Alexander: The Making of a God เป็นผลงานจากเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ถ่ายทอดอัตชีวประวัติของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมาซิโดเนีย (Macedonia) และแม่ทัพผู้ไม่เคยปราชัยในศึกสงครามใด ตั้งแต่เรื่องราวการขึ้นครองราชย์ การพิชิตดินแดนตั้งแต่กรีซจรดอินเดีย รวมถึงชีวิตส่วนตัวของพระองค์ โดยเฉพาะเรื่องราวความรัก ‘เกินเพื่อน’ กับเฮเฟสเตียน สหายคนสนิทข้างกายของอเล็กซานเดอร์มหาราช
อย่างไรก็ตาม มีผู้ชมจำนวนไม่น้อยเผยว่า ซีรีส์ดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และใส่สีตีไข่มากจนเกินไป เพราะไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่า อเล็กซานเดอร์มหาราชกับเฮเฟสเตียนมีความสัมพันธ์รักใคร่ชาย-ชายด้วยกันเอง
รวมถึงกระแสในกรีซ เมื่อนักการเมืองจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงลบ โดย ลินา เมนโดนี (Lina Mendoni) รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมกรีซ ระบุว่า ซีรีส์นี้บิดเบือนความจริง
“เป็นเรื่องแต่งที่มีคุณภาพต่ำสุดๆ เนื้อหาต่ำตม เต็มไปด้วยการบิดเบือนประวัติศาสตร์” เมนโดนีแสดงความคิดเห็น ก่อนจะกล่าวโทษหนัง Alexander (2004) ผลงานกำกับของ โอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) ว่า เป็นความจงใจสอดแทรกโฆษณาชวนเชื่อประเด็นรักร่วมเพศของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์
เรื่องราวดังกล่าวบานปลายไปยังรัฐสภากรีซ หลัง ดิมีทริส นัตซิออส (Dimitris Natsios) นักการเมืองฝ่ายขวาจัด หัวหน้าพรรคขบวนการมาตุภูมิเพื่อประชาธิปไตย (Democratic Patriotic Movement – Victory) โจมตีว่า ซีรีส์นี้น่าสมเพช ยอมรับไม่ได้ และไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งบอกว่า Alexander: The Making of a God มีจุดอ่อนที่ถ่ายทอดว่า การรักร่วมเพศเป็นที่ยอมรับในสมัยโบราณ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
“ไม่มีแหล่งอ้างอิงจากอริสโตเติลที่บอกได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอเล็กซานเดอร์กับเฮเฟสเตียนเกินความเป็นเพื่อนเลย” เมนโดนีตอบกระทู้ในรัฐสภา หลังนัตซิออสถามถึงเนื้อหาในซีรีส์ โดยอ้างอิงถึง อริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์ผู้เป็นอาจารย์ของทั้ง 2 คน
อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่า นิยามความรักในสมัยโบราณกว้างขวางและมีแง่มุมมากกว่าในปัจจุบัน เราทุกคนไม่สามารถตีความการกระทำหรือผู้คนใน 2,300 ปีก่อน โดยใช้แนวทาง ค่านิยม หรือข้อสันนิษฐานในปัจจุบันได้ หากแต่อเล็กซานเดอร์คงไม่ต้องการถูกตัดสินผ่านความทรงจำในเชิงประวัติศาสตร์ ตัวตน หรือแม้แต่ค่านิยมก็ตาม
ขณะเดียวกัน นัตซิออสร้องขอให้รัฐสภาตอบสนองเหตุการณ์นี้ด้วยการแบนซีรีส์ดังกล่าวในกรีซ แต่ก็ถูกปฏิเสธโดยเมโดนี เพราะการกระทำดังกล่าวขัดต่อเสรีภาพทางศิลปะ (Freedom of Art) ซึ่งเป็นบทบัญญัติหนึ่งในรัฐธรรมนูญกรีซตั้งแต่ศตวรรษที่ 19
“แรงบันดาลใจของศิลปิน การตีความของแต่ละคน หรือการตัดสินของปัจเจก ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองหรือการควบคุมของฝ่ายตุลาการ ในทางตรงกันข้าม คนทั่วไปต่างหากที่มีสิทธิประเมินสิ่งเหล่านี้ หรือแม้แต่ประชาคมระหว่างประเทศ นี่คือสิ่งที่เน็ตฟลิกซ์ก็ทำเช่นเดียวกัน” เมโดนีให้เหตุผล แม้จะไม่พอใจเนื้อหาในซีรีส์ แต่เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นสำคัญ
ข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและกลุ่ม LGBTQIA+ ถึง ‘ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม’
ลอยด์ เลเวลลิน โจนส์ (Lloyd Llewellyn-Jones) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟ (Cardiff University) ในประเทศเวลส์ (Wales) แสดงความคิดเห็นกับข้อวิจารณ์ดังกล่าวว่า ประเด็นรักร่วมเพศเป็นค่านิยมปกติของกรีซ แม้จะไม่ได้มีคำว่าเกย์หรือศัพท์อื่นๆ ก็ตาม
ด้าน แมตต์ เคน (Matt Cain) คอลัมนิสต์ในเดอะการ์เดียนเขียนบทความ ‘ถ้าคุณโกรธที่ Netflix สร้างพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ให้เป็นเกย์ ถึงเวลาแล้วที่คุณจะเรียนประวัติศาสตร์ของ LGBTQ+’ ว่า ประวัติศาสตร์ของกลุ่ม LGBTQIA+ เกิดขึ้นมาเนิ่นนาน แต่มักถูกชำระทิ้ง เพราะผู้คนหวาดกลัวการดำรงอยู่
เคนยกตัวอย่างชีวิตของ มิเกลันเจโล (Michelangelo) ศิลปินผู้เลื่องชื่อในยุคเรเนซองส์ เขามีความสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน แต่ทำลายหลักฐานด้วยการเผาเอกสารที่เกี่ยวข้องทุกชิ้นทิ้งก่อนเสียชีวิต ทว่าต่อมา หลานของเขาเผยแพร่ผลงานเดิม โดยเปลี่ยนสรรพนามจากผู้ชายเป็นผู้หญิง ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายล้างวัฒนธรรมที่ยอมรับไม่ได้
นอกจากนี้ นักเขียนรายนี้ยืนยันว่า ประวัติศาสตร์ไม่มีป้ายการกำกับว่า ใครคือเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล หรือเควียร์ แต่นี่ไม่ใช่ข้ออ้างในการถูกลบออกจากอดีต หรือทำเหมือนเรื่องราวนี้ไม่มีอยู่จริง ก่อนจะเน้นย้ำว่า กระแสต่อต้านในครั้งนี้สะท้อนถึงความอันตรายที่ผู้คนไม่รู้ประวัติศาสตร์ของกลุ่มเควียร์ที่สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับสังคมมากมาย และเป็นเวลาเนิ่นนานแล้วที่พวกเขาถูกลดทอนอำนาจ
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/commentisfree/2024/feb/13/netflix-alexander-the-great-lgbt-history-month
https://movieweb.com/alexander-the-making-of-a-god-controversy-explained/
Tags: Alexander The Great, Alexander: The Making of a God, อเล็กซานเดอร์มหาราช, เฮเฟสเตียน, Netflix, มิเกลันเจโล, Gay, กรีกโบราณ, เกย์, รัฐสภากรีซ, LGBTQ, การเมืองกรีซ, กรีซ, ประวัติศาสตร์กรีซ, ความหลากหลายทางเพศ, กรีก