วันนี้ (29 มกราคม 2024) ม็อบเกษตรกรฝรั่งเศสเตรียมยกระดับการชุมนุมเรียกร้องคุณภาพชีวิตในการทำงานและการขึ้นค่าแรง โดยวางแผน ‘ปิดล้อม’ ปารีสอย่างไม่มีกำหนด ด้านรัฐบาลฝรั่งเศสเตรียมรับมือสถานการณ์ด้วยการเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ตามแผนการ
ก่อนหน้านี้ กลุ่มเกษตรกรฝรั่งเศสออกมาประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาลและประเทศในยุโรปตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2024 โดยให้เหตุผลว่า วิถีชีวิตของเกษตรกรกำลังถูกคุกคามจากภาวะราคาอาหารเฟ้อ ค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม นโยบายสิ่งแวดล้อมที่ก่อความล่าช้า และข้อจำกัดของกฎระเบียบจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) ในการทำงาน
นอกจากนี้ เหตุผลของการประท้วงดังกล่าวยังรวมถึงความกังวลต่อประสิทธิภาพในการแข่งขันทางการตลาด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยเฉพาะการที่ยูเครนได้รับการยกเว้นด้านภาษีและโควตานำเข้าจาก EU หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น ซึ่งกระทบต่อฝรั่งเศส ในฐานะประเทศผู้ผลิตสินค้าการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป ทั้งไวน์ นม และเนื้อสัตว์
ทั้งนี้ สำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) รายงานว่า ผู้ชุมนุมจำนวนมากเคลื่อนตัวมายังกรุงปารีส บางส่วนพยายามกีดขวางเส้นทางจราจร ด้วยการใช้รถแทรกเตอร์และรถบรรทุกจอดขวางบนกลางถนน ขณะที่ซีเอ็นบีนิวส์ (CNBNews) เผยว่า มีผู้ทิ้งขยะ ฟาง และกองผักผลไม้บางพื้นที่ เช่น ทางหลวง A7 ที่เชื่อมระหว่างมาร์กเซย์ (Marseille) กับลียง (Lyon)
เบื้องต้น รายงานจากสำนักข่าวฟรองซ์แว็งกัซ (France 24) ระบุว่า สหภาพเกษตรกร 2 กลุ่ม ได้แก่ Fédération Nationale Des Syndicats d’exploitants Agricoles (FNSEA) และ Jeunes Agriculteurs ประกาศยกระดับการชุมนุมในวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา โดยเผยว่า จะ ‘ยึดกรุงปารีส’ แบบไม่มีกำหนดในเวลา 14.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันนี้
ขณะนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสเตรียมกระจายกำลังตำรวจ 1.5 หมื่นนาย พร้อมด้วยกองกำลังกึ่งทหาร ภายใต้คำสั่งให้รับมืออย่าง ‘พอดี’ โดย เฌอราลด์ ดาร์มาแน็ง (Gerald Darmanin) รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงภายใน แถลงว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจะปล่อยให้ผู้ประท้วงก่อความเสียหาย ทั้งการบุกเข้าสถานที่ราชการ ร้านค้า หรือขัดขวางการส่งสินค้าที่นำเข้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้
นอกจากนี้ ดาร์มาแน็งยังเสริมว่า เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ขอให้เน้นการรักษาความปลอดภัยในบริเวณสนามบินชาร์ลเดอโกล (Roissy-Charles de Gaulle airport) สนามบินออร์ลี (Orly Airport) รวมถึงรุยจิส (Rungis) ตลาดค้าส่งอาหารจากทั่วโลกเป็นพิเศษ
ขณะเดียวกัน กาเบรียล อัตตาล (Gabriel Attal) นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสคนใหม่ พยายามต่อรองกับกลุ่มผู้ชุมนุม ทว่าความพยายามของเขาล้มเหลว ท่ามกลางกระแสจับตามองและความคาดหวังจากสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาถูกเปรียบเปรยในฐานะ ‘คีย์แมน’ ของมาครงที่ทำหน้าที่ช่วงชิงความนิยมทางการเมืองจากประชาชนอีกครั้ง
“ผมอยากจะให้อธิบายทุกอย่าง และดูว่าเราทำอะไรกับมาตรการเหล่านี้ได้บ้าง” อัตตาลระบุ พร้อมเสริมว่า เขารับฟังทุกข์ของเกษตรกรที่ต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน เช่นการที่ไม่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบางอย่าง ซึ่งต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปที่ทำได้
ไม่ใช่แค่บนท้องถนน แต่ความไม่พอใจของกลุ่มเกษตรกรครั้งนี้ยังปะทุขึ้นในพิพิธภัณฑ์ลูฟต์ (Lourve Museum) เช่นเดียวกัน หลังมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองแสดงออกด้วยการ ‘ขว้างซุป’ ใส่ภาพของ โมนา ลิซา (Mona Lisa) เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
“อะไรสำคัญมากกว่า? ศิลปะหรือสิทธิในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืน
“ระบบเกษตรกรรมของพวกคุณมันห่วย เกษตรกรของพวกเราทั้งหมดจะตายกันหมดแล้ว” นักเคลื่อนไหวตะโกนด่าทอ ก่อนจะถูกลากตัวออกจากพิพิธภัณฑ์
อ้างอิง
https://www.reuters.com/world/europe/why-are-french-farmers-protesting-2024-01-24/
Tags: มาครง, ม็อบเกษตรกร, กาเบรียล อัตตาล, Gabriel Attal, France, ม็อบเกษตรกรฝรั่งเศส, เอ็มมานูเอล มาครง, เกษตรกรรม, EU, ปารีส, ฝรั่งเศส, European Union