หากยังจำกันได้ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เกิดคดีอุกฉกรรจ์ที่คนร้าย 2 คนขับมอเตอร์ไซค์ปิดบังตัวตนใช้อาวุธปืนยิง หยอด-ธนสรณ์ ห้องสวัสดิ์ เยาวชนอายุ 19 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ลูกหลงของกระสุนปืนยังไปโดน ครูเจี๊ยบ-ศิรดา สินประเสริฐ ครูโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ขณะกำลังเดินไปกดเงินตู้เอทีเอ็มใกล้จุดเกิดเหตุจนเสียชีวิต เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ สร้างความเศร้าสลด และอยู่ในความสนใจของสังคมเป็นอย่างมาก
ในตอนแรก หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องของเด็กช่างตีกัน เป็นความไม่ลงรอยระหว่างสถาบันศึกษา แต่เมื่อตำรวจตามสืบสวนเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด กลับพบว่า การกระทำอุกอาจดังกล่าวนับเป็น ‘องค์กรอาชญากรรมขนาดย่อม’ โดยมีการวางแผนอย่างละเอียด ทั้งทางหนีทีไล่ วางแผนเก็บแต้มคู่อริ รวมไปถึงมีรุ่นพี่เป็นพี่เลี้ยง นอกจากนี้ ยังมีกองทุนสำหรับจ้างทนายเพื่อสู้คดี ซึ่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากการลงขันจากเงิน ‘ทุนสีเทา’ ของสมาชิกอย่างน้อย 84 คน พร้อมกันนั้นยังมีการถอดบทเรียนทุกครั้งหลังก่อเหตุ เพื่อไม่ให้โดนจับได้อีกด้วย ผ่านไปกว่า 1 สัปดาห์ ชุดสืบสวนตำรวจสามารถเข้าจับกุม 8 ผู้ต้องสงสัยได้ในท้ายที่สุด พร้อมเดินหน้าจับกุมผู้สมรู้ร่วมคิดเพิ่มเติมเป็นลำดับถัดไป
The Momentum สรุป 10 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้เห็นว่า จากประเด็นเด็กช่างนำมาสู่ ‘องค์กรอาชญากรรม’ ได้อย่างไร
- วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เวลาประมาณ 09.30 น. เป็นวันเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงครูเจี๊ยบและหยอด บริเวณหน้าธนาคารทหารไทยธนชาต สาขาคลองเตย แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งครูเจี๊ยบเสียชีวิตในวันเดียวกัน หยอดบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
- ช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2566 คณะผู้บริหารโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ร่วมไว้อาลัยกับการสูญเสียของครูเจี๊ยบ บุคลากรคนสำคัญของโรงเรียน รวมถึงยังมีการยกระดับมาตรการความปลอดภัยรอบรั้วโรงเรียน และประสานการรับมือกับตำรวจหากเกิดสถานการณ์รุนแรง
- ช่วงบ่ายวันเดียวกัน พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีคนร้ายก่อเหตุยิงนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย โดยกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ ‘รับไม่ได้’ และต้องปราบปรามอย่างเด็ดขาด
ผบ.ตร.ระบุว่า ได้สั่งการไปเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในกระบวนการสอบสวน โดยสั่งการไปยังตำรวจในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการและนนทบุรี ซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่เด็กนักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาทกัน และจะมีมาตรการเชิงรุกเพื่อออกลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน รวมถึงกำหนดบทลงโทษต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดต่างๆ หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดิมซ้ำ
ต่อมา ผบ.ตร.มอบหมายให้ใช้ ‘มาตรการขั้นเด็ดขาด’ โดยสั่งการให้ พลตำรวจเอก ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และพลตำรวจโท สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. สั่งการให้เร่งสืบสวนและจับกุมคนร้ายโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์และเป็นที่สนใจของประชาชน คนร้ายมีจิตใจโหดเหี้ยม ลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมแบบมือปืน
- ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 พบว่า หนึ่งใน ‘ข้อสังเกต’ ที่น่าสนใจคือภาพจากกล้องวงจรปิดไม่พบรถจักรยานยนต์คันที่ก่อเหตุ รวมถึงไม่พบคนร้ายตามรูปพรรณสันฐานตามที่มีข้อมูล
- เวลาผ่านไปกว่า 1 สัปดาห์ ตำรวจยกระดับการสืบสวนโดยให้ พลตำรวจโท ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ลงมาควบคุมการสืบสวนด้วยตนเอง รวมถึงให้เรียกระดมพลติดตามคนร้ายแบบ ‘ขุดรากถอนโคน’ ผ่านการสืบสวนจากกล้องวงจรปิดกว่า 1,000 ตัวทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนกระทั่งพบจักรยานยนต์คันที่ก่อเหตุ
ทั้งนี้ คนร้ายพยายามลบร่องรอยการติดตามได้เกือบทุกขั้นตอน รวมถึงขโมยแผ่นป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ของประชาชนทั่วไปจำนวน 2 ป้าย เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนสีรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุจากสีแดงให้เป็นสีน้ำเงิน และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของคนร้ายทั้งหมด โดยตำรวจได้ตามจับจากเบาะแสรถอีกคันที่ใช้ยกรถจักรยานยนตร์ของผู้ก่อเหตุไปเปลี่ยนสี จนกระทั่งตามพบในที่สุด
อีกส่วนหนึ่ง คือสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดตำรวจพบว่า มีคนร้ายอีก ‘หลายคน’ ที่ให้การช่วยเหลือ จึงเป็นข้อสังเกตได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็น ‘ขบวนการ’ เพราะไม่ได้มีแค่เพียงผู้ก่อเหตุลงมือทำ
- เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจัดทีมวิเคราะห์เส้นทางการหลบหนี พร้อมนำแฟ้มข้อมูลแผนประทุษกรรมกลุ่มบุคคลในเครือข่ายก่อนหน้าเพื่อเชื่อมโยง ซึ่งพบว่ามีลักษณะในการก่อเหตุของคนร้ายที่คล้ายคลึงกัน โดยคนร้ายแบ่งขั้นตอนวางแผนดูเส้นทางทั้งทางเข้าที่เกิดเหตุ เส้นทางหลบหนี ที่พักคอย จุดเปลี่ยน และจุดที่ตระเตรียมลงมือกระทำการ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ก่อเหตุเพียงคนเดียวไม่สามารถทำได้ จนกระทั่งพบพยานหลักฐานที่ยืนยันว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มที่มีผู้ร่วมขบวนการไม่ต่ำกว่า 5 คน และมี ‘เซฟเฮาส์’ อีก 4 แห่ง เป็นแหล่งกบดานทำกิจกรรม
เมื่อคืนนี้ (22 พฤศจิกายน 2566) เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนนครบาลได้จับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด 8 ราย พร้อมของกลางจำนวนมาก มาแจ้งข้อหาและเข้าห้องขังที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆแล้ว โดยสมาชิกผู้ร่วมขบวนการมีรายนามและข้อหาที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด ดังนี้
-
พฤฒิพล อายุ 22 ปี ถูกกล่าวโทษใน 4 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร, ร่วมกันยิงปืน โดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมชน
หากยังจำกันได้ อีกหนึ่งคดีที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก คือเหตุการณ์ยิงนักศึกษาช่างกลอุเทนถวาย ที่หน้าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2566 โดยคนขับมอเตอร์ไซค์ในคดีดังกล่าวหลบหนีไปได้ ซึ่งพฤฒิพลเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์ที่ยังหลบหนีอยู่ กระทั่งถูกจับกุมเมื่อคืนนี้ นอกจากนี้ เขายังมีหน้าที่เป็นเหรัญญิกที่คอยรวบรวมเงินของกลุ่มอีกด้วย
2. วรงชัย อายุ 20 ปี ถูกกล่าวโทษใน 1 ข้อหา ได้แก่ ร่วมสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด
-
วุฒิพงษ์ อายุ 25 ปี
-
สัญปกรณ์ อายุ 24 ปี
-
สหัสวรรษ อายุ 23 ปี
-
จิรายุส อายุ 23 ปี
-
ธนากร อายุ 22 ปี
-
อภิเดช อายุ 21 ปี
โดยผู้ต้องหาคนที่ 3-8 ถูกกล่าวโทษใน 1 ข้อหา คือร่วมสบคบกันตั้งแต่ 5 คน กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 หรือ ‘ซ่องโจร’
- ทางด้าน พลตำรวจตรี ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้การสืบสวนนครบาล กล่าวว่า จากข้อมูลการสืบสวนของตำรวจที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดสามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็น ‘องค์กรอาชญากรรม’ เพราะไม่ใช่แค่การขี่ัจักรยานยนต์มาก่อเหตุ แต่มีการวางแผนเกิน 10 คน ซึ่งเรียกว่า ‘ยิ่งกว่าในภาพยนตร์’ เสียอีก ไม่ว่าจะเป็นการมีรุ่นพี่ที่เคยผ่านประสบการณ์มาเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำดูแล และมีกองทุนที่รับบริจาคเพื่อนำเงินไปจัดซื้ออุปกรณ์ก่อเหตุ เงินประกันตัว และจ้างทนายมาต่อสู้คดี
- เลวร้ายไปมากกว่านั้น คือเมื่อถูกจับได้จนถึงชั้นเบิกความ ก็จะตามพรรคพวกมาฟังการไต่สวนของชุดสืบสวน เพื่อนำไป ‘พัฒนารูปแบบ’ การก่อเหตุเพื่อไม่ให้โดนจับได้อีก ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องในสังคมที่ควรมองข้าม เพราะลุกลามไปจนถึงมีผู้บริสุทธิ์ต้องเผชิญกับชะตากรรมเลวร้ายจากบุคคลกลุ่มนี้
- มากไปกว่านั้นยังพบว่า ขบวนการดังกล่าวมีการติดต่อพูดคุยกันผ่านกลุ่มลับในแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) มีชื่อกลุ่มว่า ‘PATUMWAN 890’ โดยมีสมาชิกถึง 103 คน ซึ่งสมาชิกทั้งหมดเป็นคนที่มีความคิดแบบเดียวกันทำนองว่า หากก่อเหตุเช่นนี้จะถือเป็น ‘ฮีโร่’ ของกลุ่มอีกด้วย อีกทั้งยังพบข้อความในทำนอง “พี่ขอแสดงความยินดีกับน้อง ช.ก.90 ที่พาน้อง ช.ก.91 ไปเกิดได้อย่างสมศักดิ์ศรีช่างกลปทุมวัน” อีกด้วย โดยข้อความดังกล่าวเกิดขึ้นหลังยิงครูเจี๊ยบประมาณ 3-4 ชั่วโมง
- ทางด้าน พลตำรวจโท ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่สร้างตัวเองขึ้นมาในโลกเสมือนจริง โดยสร้างกลุ่มขึ้นมาเพื่อรวบรวมกลุ่มคน ทั้งคนที่พ้นสถานะนักศึกษาและกลุ่มนักศึกษาปัจจุบันของสถาบันดังกล่าว เข้ามาร่วมกันสร้างค่านิยมเพื่อสร้างความภาคภูมิใจในสถาบันขึ้น โดยมีการติดภาพคนในสถาบันตัวเองที่เป็นเหยื่อหรือเสียชีวิต เพื่อปลุกเร้าให้เกิดการก่อเหตุความรุนแรงในลักษณะนี้ขึ้น อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังมีผู้เข้าข่ายที่ต้องตรวจสอบอีกมาก
ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัวและอันตรายอย่างมาก หากการกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินงานผ่านองค์กรอาชญากรรมขนาดย่อมจริง ก็น่าจับตามองต่อไปว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไรต่อ และนับเป็นคดีที่ประชาชนต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
Tags: ตำรวจนครบาล, ครูเจี๊ยบ, น้องหยอด, ช่างกล, เด็กช่างตีกัน