สารภาพว่าตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นภาพนิ่งโปรโมตภาพยนตร์ ผมก็บอกกับตัวเองว่าจะไม่มีทางพลาด ‘มนต์รักนักพากย์’ แน่นอน
ภาพนิ่งที่ถูกปล่อยออกมา ทำให้เห็นเหล่านักแสดง พล็อตเรื่องคร่าวๆ และองค์ประกอบศิลป์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกลิ่นอายการย้อนกลับไปในเมืองไทยยุคปี 2513 แค่นี้ก็ทำให้ตื่นเต้นแล้วว่า หนังจะออกมารูปแบบไหน
แต่สิ่งเหล่านี้มาพร้อมความคาดหวังที่พร้อมจะกลายเป็นความผิดหวังทันที หากหนังไม่ ‘โดน’ อย่างที่คิด แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ผู้กำกับคือ นนทรีย์ นิมิบุตร เจ้าของภาพยนตร์ไทยในตำนานหลายเรื่อง เช่น 2499 อันธพาลครองเมือง (2540) นางนาก (2542) หรือจันดารา (2544) รวมถึงการแคสต์ตัวละครที่มารับบทหลักก็น่าสนใจ ทำให้ผมมั่นใจลึกๆ ว่า หนังจะต้องออกมาดีและน่าประทับใจ
เป็นโชคดีที่ผมมีโอกาสได้ดูมนต์รักนักพากย์ในโรงภาพยนตร์ ก่อนที่ตัวภาพยนตร์จะออกฉายทางสตรีมมิงเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เป็นหลัก ทำให้ได้สัมผัสและซึมซับทั้งภาพ สี เสียง ในบรรยากาศที่เอื้อต่ออรรถรสอย่างเต็มที่ กับความละเมียดละไมในงานศิลปะชิ้นนี้
พร้อมกับการเดินออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยความอบอุ่นหัวใจ
‘มิตร’ ผู้เชื่อมโยง ‘มิตร’
มนต์รักนักพากย์เป็นหนัง Road Movie ที่มีรถเร่ขายยาของบริษัทโอสถเทพยดาที่บรรทุกเครื่องฉายหนังเป็นพาหนะ สะท้อนฉายถึงความฝัน การผันเปลี่ยนของยุคสมัย และเรื่องของ ‘มิตร’ ทั้งมิตรในนามของพระเอกตลอดกาล และมิตรในความหมายของมิตรภาพ เคล้ากลิ่นอายของบรรยากาศเมืองไทยปี 2513
ตัวหนังเล่าถึงคณะรถเร่ของบริษัทโอสถเทพยดา ที่ประกอบไปด้วย มานิตย์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ) หัวหน้าทีมและนักพากย์หลักของคณะ, เก่า (จิรายุ ละอองมณี) เด็กหนุ่มสมาชิกของคณะ ผู้มีบุคลิกเจ้าชู้และยียวน, ลุงหมาน (สามารถ พยัคฆ์อรุณ) สมาชิกวัยเก๋าของคณะ คนขับรถมาดใจดีและอบอุ่น ผู้พารถเร่และคณะเดินทางตามเส้นทางแห่งฝัน รวมไปถึง เรืองแข (หนึ่งธิดา โสภณ) นักพากย์หญิงที่เข้าร่วมทีมระหว่างทาง ขณะที่แต่ละคนก็มีความหวังและความฝันแตกต่างกันไป
‘มิตร’ ทั้งสี่เชื่อมโยงกันด้วยมิตรที่เป็นชื่อของพระเอกตลอดกาลของเมืองไทยอย่าง มิตร ชัยบัญชา ฉากหลังของภาพยนตร์คือเมืองไทยในยุคที่รถเร่ฉายหนังกลางแปลงซึ่งมาพร้อมนักพากย์ ยังเป็นมหรสพที่รับความนิยม และเป็นยุคที่มิตร ชัยบัญชา กำลังโด่งดังถึงขีดสุด รถเร่ฉายหนังที่ได้รับความนิยมทั้งหลายจึง ‘ต้องมี’ หนังของมิตรเพื่อดึงคนเข้ามาดูให้มากที่สุด
ไม่ใช่แค่การฉายหนังกลางแปลงเท่านั้น แต่เป้าหมาย (ที่น่าจะเป็นเป้าหมายหลักด้วยซ้ำ) ของคณะรถเร่คือ ‘การขายยา’ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย การเดินทางของคณะรถเร่ฉายหนังไปตามที่ต่างๆ จึงเป็นการพกพาความรัก ความฝัน และความเคารพในตัวมิตร ชัยบัญชา รวมถึงความรักต่อการฉายหนังและอาชีพนักพากย์ ไปพร้อมกับ ‘เป้าหมายทางธุรกิจ’ ที่ต้องทำยอดขายยาให้ได้
แต่ไม่ว่ายุคสมัยใด ก็ย่อมมีสิ่งใหม่ที่พร้อมเข้ามาแทนที่สิ่งเก่า เช่นเดียวกับรถเร่ฉายหนังของทีมมานิตย์ ที่ได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากรูปแบบการพากย์ที่ใช้นักพากย์คนเดียวเปลี่ยนหลายเสียงทั้งชายหญิง และการมาถึงของรถฉายหนังล้อมผ้า ที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่า รวมถึงมีทีมพากย์ครบครันทุกเสียง
ความบันเทิงคู่การตลาด
องค์ประกอบสำคัญของมนต์รักนักพากย์ คือเรื่องของหนังกลางแปลง ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีเอกลักษณ์คือการฉายในเวลากลางคืน ยุคนั้นอย่างที่ทราบว่า สหรัฐอเมริกาและโซเวียตกลายเป็นมหาอำนาจของโลก และต่างมีแนวคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน
โดยเฉพาะอเมริกาที่มีแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้อย่างมาก ไทยจึงกลายเป็นเสมือน ‘ฐานที่มั่น’ ในการปฏิบัติการของอเมริกา ควบคู่ไปกับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ซึ่งหนึ่งในปฏิบัติการที่ว่า คือการฉายหนังกลางแปลง โดยในเวลานั้น หนังกลางแปลงไม่ได้เป็นแค่ความบันเทิง แต่เสมือนเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่อุดมการณ์ด้านการเมือง สร้างความเชื่อ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ และการขายผลิตภัณฑ์อีกด้วย
นั่นจึงทำให้การฉายหนังกลางแปลงไปพร้อมกับขายยา หรือที่เรียกกันว่า ‘หนังขายยา’ ได้รับความนิยม รวมไปถึง ‘หนังล้อมผ้า’ ที่เป็นการจัดฉายหนังกลางแปลงโดยมีการล้อมผ้ารอบๆ บริเวณจุดฉายหนัง แต่ต่างกับหนังขายยาตรงที่หนังล้อมผ้ามีการเก็บเงินผู้ชม ขณะที่หนังขายยาให้ผู้ชมเข้าชมฟรี โดยมีรายได้จากการขายสินค้าหรือขายยาในช่วงการพักโฆษณา ดังที่เราได้เห็นในมนต์รักนักพากย์ตลอดทั้งเรื่อง
นักแสดงผู้โอบอุ้มการเดินทางของภาพยนตร์
แน่นอนว่านักแสดงคือส่วนสำคัญอย่างยิ่งของมนต์รักนักพากย์ ซึ่งแต่ละคนถูกแคสต์มาอย่างดี ดังที่ผู้กำกับนนทรีย์ เคยให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่งว่า ตัวละครอย่าง มานิตย์, เก่า และน้าหมาน ถูกเขียนขึ้นมาเพราะมี ‘ภาพ’ นักแสดงในใจอยู่แล้ว ขณะที่บทเรืองแข ต้องใช้เวลาในการตีโจทย์ ก่อนที่จะกลายเป็นหนูนา ซึ่งเหมาะสมมากที่สุด
มานิตย์ที่รับบทโดยเวียร์ ศุกลวัฒน์ เหมาะสมด้วยทั้งคาแรกเตอร์และการแสดง ด้วยความเป็นหัวหน้าของคณะ และนักพากย์หลักของทีม มานิตย์จึงเป็นชายที่มีบุคลิกแข็งแกร่ง ดูพึ่งได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นชายที่เริ่มเข้าสู่วัยกลางคน และด้วยความที่ยุคสมัยนั้นยังไม่ใช่ยุคสมัยแห่งข้อมูลข่าวสาร ในมนต์รักนักพากย์ มานิตย์จึงเป็นชายหนุ่มที่อาจหัวโบราณสักเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสมาชิกที่เด็กกว่าในคณะอย่างไอ้เก่า แต่แน่นอนว่า ยี่ห้อความเป็นนักแสดงที่เข้าถึงบทบาท ทำให้เวียร์ตีโจทย์การแสดงของมานิตย์ออกมาได้น่าประทับใจ รวมถึงการเก็บรายละเอียดการแสดงต่างๆ ได้ดีเยี่ยม มีหลายฉากน่าประทับใจ แต่ฉากที่ผมชอบการแสดงของเขาที่สุด คือฉากงานศพของมิตร ชัยบัญชา ที่ความเศร้าโศกเสียใจถูกแสดงออกผ่านใบหน้าเหยเกปานใจจะขาดของเวียร์ ราวกับ ‘โลก’ ของเขา ‘ล่มสลาย’ ไปแล้วตรงหน้า
ไอ้เก่าที่รับบทโดยเก้า จิรายุ ยอมรับว่า แรกเห็นตัวอย่างภาพยนตร์ ผมยังสลัดภาพการเป็นนักแสดงซิตคอมที่ฉายประจำทุกสัปดาห์อย่าง ‘หกฉากครับจารย์’ ของเขาไม่ได้ รวมถึงภาพการเป็นนักร้องนำวงร็อกและบุคลิกสนุกสนานที่เราเห็นตามโซเชียลฯ แต่เมื่อเข้าสู่โหมดการแสดงจริงจัง เก้ายังทำออกมาได้อย่างมืออาชีพ และตัวบทที่ค่อนข้างเสริมให้บุคลิกเขาโดดเด่น ทำให้ตัวละครไอ้เก่า ‘ขโมยซีน’ แทบทุกครั้งที่โผล่ออกมา (คนดูปรบมือหัวเราะชอบใจเกือบทุกฉากที่ไอ้เก่าโผล่มา) ทั้งความเจ้าชู้ ความยียวน ไปจนถึงบุคลิกของ ‘เด็กรุ่นใหม่’ ในยุคสมัยนั้น ที่หลายครั้งก็มักพร่ำบ่นขัดใจเรื่องความล้าหลังและยึดติดสิ่งเดิมของหัวหน้ามานิตย์อยู่บ่อยๆ
น้าหมานที่รับบทโดยสามารถ พยัคฆ์อรุณ ถือเป็นบทที่เซอร์ไพรส์มาก และได้รับคำชมจากคนรอบตัวผมที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว บุคลิก หน้าตา น้ำเสียง ของสามารถถือว่าเหมาะสมกับบทน้าหมาน ลุงคนขับรถรุ่นใหญ่ใจดี ที่มีความเป็นผู้ใหญ่ เข้าใจโลก นิ่งสงบราวกับน้ำไร้การกระเพื่อม แต่มีหลักเหตุและผล ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้งที่ถึงบทน้าหมาน อย่างไรก็ดี ด้วยความเป็นคน ‘รุ่นเก่า’ น้าหมานจึงมีบุคลิกที่ ‘ยังไงก็ได้ ตามใจหัวหน้า’ ให้ได้เห็นอยู่ตลอดเช่นกัน
เรืองแขที่รับบทโดยหนูนา แทบจะเป็นหญิงสาวเดียวในเรื่อง กับการมาร่วมรถเร่เพื่อเก็บเงินตามฝันในการเป็นเลขานุการที่พระนคร ซึ่งทำให้คณะรถเร่ดูมีสีสันยิ่งขึ้น การแสดงของหนูนาเป็นสิ่งที่แทบไม่ต้องกังวล ทั้งการแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้า แววตา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของเธอ
จะว่าไป รถเร่ของคณะขายยาโอสถเทพยาก็ไม่ต่างกับภาพสะท้อนของคนแต่ละเจนฯ ที่จำลองการใช้ชีวิตอยู่บนรถคันเดียวกัน และกำลังมุ่งหน้าไปสู่บางสิ่งด้วยความหวัง ความฝัน ทัศนคติที่มีต่อชีวิต ซึ่งแตกต่างกันออกไป
องค์ประกอบศิลป์ กลิ่นอายแห่งความคิดถึง
นอกจากเรื่องของบทและการแสดง ความดีงามของมนต์รักนักพากย์ คือองค์ประกอบศิลป์ต่างๆ ที่ทำให้หวนคิดถึงเมืองไทยปี 2513 (แม้อีกนานกว่าผมจะเกิดมาบนโลกนี้ก็ตาม)
เสื้อผ้า ทรงผม แพ็กเกจจิงยา รถเร่ ตั๋วหนัง สลากกินแบ่ง ของกิน และอีกมากมายที่ถูกแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ที่แม้เด็กรุ่นใหม่อาจไม่ทัน แต่ก็สามารถสัมผัส ‘ความคลาสสิก’ ของสิ่งของเหล่านี้ได้ ขณะที่คนที่น่าจะอินจนน้ำตาคลอ น่าจะเป็นผู้ชมรุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นปู่ย่าตายาย ที่ได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนวันวานที่ยังคงอยู่ในความทรงจำ แม้จะเพียงผ่านหน้าจอก็ตาม
และแน่นอนว่า ไม่ใช่แค่องค์ประกอบในเรื่องของอุปกรณ์ประกอบฉาก แต่ยังหมายรวมไปถึงโลเคชันในการถ่ายทำ ไม่ว่าจะเป็นตลาด ร้านขายของ หนังกลางแปลง และอื่นๆ
รายละเอียดเหล่านี้สะท้อนถึงความรัก ความประณีตและใส่ใจในรายละเอียดของงาน ซึ่งเสริมตัวงานนอกจากความสนุกในแง่ความบันเทิงแล้ว ยังมีคุณค่าในฐานะงานศิลปะที่ดีชิ้นหนึ่งด้วย
จดหมายรักถึงหนังไทย
มนต์รักนักพากย์ฉายภาพความเฟื่องฟูของหนังไทยในยุคนั้นให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจ รวมถึงชี้ให้เห็นเรื่องของ ‘การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย’ ที่มีอยู่ในทุกประวัติศาสตร์ อยู่ที่ว่าเราจะปฏิเสธมัน หรือโอบรับไว้ และปรับเปลี่ยนตาม ซึ่งแน่นอนว่า ทุกทางมีผลลัพธ์และราคาต้องจ่ายที่ต่างกันไป
ถ้าจะมีความเสียดายเล็กน้อยเกี่ยวกับมนต์รักนักพากย์ ก็อาจเป็นเรื่องของตัวบทที่บางช่วงบางตอนก็ ‘คลี่คลาย’ ง่ายไปหน่อย แต่นั่นก็ไม่ได้ลดทอนความงดงามของหนังเรื่องนี้ลงไป นอกจากนี้ น่าเสียดายที่มันควรได้ฉายในโรงหนังให้ผู้คนได้เสพอรรถรสอย่างเต็มที่ แต่ก็เข้าใจได้ที่หนังเรื่องนี้เป็นการออกทุนสร้างโดยเน็ตฟลิกต์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ ‘ทีไทย ทีมันส์’ จึงทำให้แพลตฟอร์มหลักที่ฉายคือในสตรีมมิงชื่อดัง ย้อนแย้งเล็กน้อยกับการทำ ‘จดหมายรักถึงหนังไทย’ ในวันที่การชมภาพยนตร์ในโรงถูกลดทอนความจำเป็นลงเรื่อยๆ จากการมาถึงของสตรีมมิงทั้งหลาย
อ้างอิง
https://sciplanet.org/content/11619
https://www.sarakadeelite.com/lite/outdoor-cinema/
https://www.silpa-mag.com/history/article_55099
Tags: Netflix, Screen and Sound, มนต์รักนักพากย์, NetflixTH