“ถ้าคิดว่าตัวเองโดนคุกคามแล้วทำไมไม่กดบล็อกไป”
“รอดูแชตเต็มดีกว่า เรื่องเกิดมานานแล้ว ทำไมเพิ่งมาพูด”
“ก็แค่แชตคุยเสียวเองไหม ตัวเองก็เล่นกับเขาเหมือนกันแหละ”
ตัวอย่างความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียจากกรณีที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลได้รับข้อกล่าวหาว่าคุกคามทางเพศคนในทีมผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ที่แม้ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงจากพรรค และออกแถลงการณ์ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นจากผู้ถูกกล่าวหาแล้ว แต่ยังไม่มีคำชี้แจงที่เป็นการปฏิเสธว่าเนื้อหาของแชตไม่ใช่เรื่องจริง
ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จากกรณีนี้ คือเมื่อใดที่มีข่าวการคุกคามทางเพศ การกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ก็จะเกิดขึ้นด้วยจนดูเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเมื่อเป็นการคุกคามทางเพศออนไลน์ ความรุนแรงของการกระทำก็ยิ่งถูกทำให้ดูเบาบางลงไปอีก
แม้จะไม่มีการสัมผัสร่างกายหรือวาจาที่ส่อถึงการคุกคามทางกายภาพอย่างชัดเจน แต่การคุกคามทางเพศออนไลน์ก็ถือเป็นการคุกคามทางเพศรูปแบบหนึ่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเหยื่อได้เช่นกัน แต่กลับไม่ได้ถูกมองว่าเป็นปัญหาขนาดนั้น และมีแนวโน้มที่จะเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
นอกจากการคอมเมนต์คุกคามบุคคลในภาพ ซึ่งเป็นการคุกคามทางเพศออนไลน์ที่พบเห็นได้บ่อย การคุกคามทางเพศออนไลน์ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในรูปแบบของบทสนทนาที่เนื้อหาส่อไปในทางอนาจาร หรือที่เรียกกันว่า ‘Textual Harassment’ เกิดจากคำว่า Text และ Sexual Harassment ซึ่งโดยรวมมีความหมายว่า การคุกคามทางเพศโดยใช้ข้อความออนไลน์
Textual Harassment ไม่เท่ากับการสนทนาแบบคุยเสียว (Dirty Talk) อย่างที่หลายคนพยายามจะมองให้เป็นเช่นนั้น เพราะแม้จะเป็นการคุยแชตด้วยข้อความทะลึ่งส่อถึงเรื่องเพศเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างออกไป คือเรื่องของความยินยอม ซึ่งในหลายครั้งแม้เหยื่อจะไม่ได้เอ่ยคำปฏิเสธออกไป ณ ขณะที่เรื่องกำลังดำเนิน ก็ไม่ได้แปลว่าเหยื่อยินยอม เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึง
จากการสำรวจของ Deloitte พบว่า ผู้หญิงร้อยละ 52 เคยเผชิญกับการล่วงละเมิดที่เกิดจากเหตุแห่งเพศ ไม่ว่าจะเป็นการถูกตั้งคำถามในเรื่องของความสามารถ ไปจนถึงคำพูดดูหมิ่นเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะพบกับสถานการณ์เช่นนี้ได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อเกิดขึ้นในที่ทำงานก็ทำให้การต่อสู้เพื่อตนเองเป็นไปยากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การกล่าวโทษเหยื่อจากกรณี Textual Harassment โดยวิธีการตั้งคำถามประเภทว่า ‘ถ้าไม่ชอบทำไมไม่กดบล็อกไป’ สะท้อนให้เห็นว่าผู้วิจารณ์ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นที่เหยื่อต้องเผชิญ เช่น อำนาจระหว่างผู้กระทำกับเหยื่อ หรือผลกระทบอื่นๆ จากสังคมรอบข้างที่อาจทำให้เหยื่อไม่สามารถตัดความสัมพันธ์กับผู้กระทำได้ทันที
ยกตัวอย่างกรณีของ ชารันจิต ซิงห์ จันนี (Charanjit Singh Channi) อดีตรัฐมนตรีในรัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย ที่ถูกสั่งให้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากส่งข้อความที่ไม่เหมาะสมให้พนักงานหญิง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีสมาชิกพรรคการเมืองในอินเดียมองว่า การกระทำของเขาไม่ผิดและออกมาบอกว่า Textual Harassment ไม่ถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งที่จริงแล้ว การกระทำดังกล่าวคือการล่วงละเมิดทางเพศ และยังถือเป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบอีกด้วย
“คำพูด รูปภาพ และพฤติกรรม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการคุกคามได้ ไม่ว่าจะเป็นต่อหน้าหรือไม่ก็ตาม” กัลปานา โคตากัล (Kalpana Kotagal) นักกฎหมายจากสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงกรณีการคุกคามในที่ทำงานว่า ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเชิงกายภาพหรือไม่ หากไร้ความยินยอม ก็ถือเป็นการคุกคามได้ทั้งหมด
เมื่อเกิดกรณีการคุกคามทางเพศขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพหรือทางออนไลน์ แทนที่จะตั้งคำถามกับเหยื่อหรือปกป้องผู้กระทำด้วยการหาความชอบธรรมให้การกระทำนั้นๆ เราอาจต้องทำความเข้าใจถึงเรื่องของการคุกคามทางเพศที่มีเส้นแบ่งในเรื่องของความยินยอมก่อน ว่าความยินยอมต้องเกิดขึ้นด้วยวาจา ณ ขณะนั้นอย่างชัดเจน สำหรับกรณี Textual Harassment ก็เช่นกัน หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งส่งข้อความที่ไม่เหมาะสมไปยังอีกฝ่ายโดยไม่ได้รับความยินยอม นั่นก็ถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศแล้ว
ที่มา:
– https://www.nytimes.com/2021/06/08/us/workplace-harassment-remote-work.html
– https://time.com/77540/non-consensual-sexting-the-hot-new-way-to-make-someone-really-uncomfortable/
– https://www.shethepeople.tv/blog/sending-inappropriate-text-messages-to-women-is-harassment/
Tags: การคุกคามทางเพศ, consent, ความยินยอม, Textual Harassment, คุกคาม