เมื่อกล่าวถึงประเทศญี่ปุ่นในด้านการท่องเที่ยว หลายคนคงนึกถึง ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการยกย่องในฐานะ ‘มรดกโลก’ จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ในปี 2013
เพียงแค่จินตนาการว่า ได้มีโอกาสใช้เวลาพักผ่อนด้วยการปีนเขา เพื่อชมแสงตะวันแรกบนภูเขาที่สูงที่สุดในแดนอาทิตย์อุทัย ก็นับว่าเป็นความทรงจำที่ล้ำค่าและลืมไม่ลงไปชั่วชีวิต
ทว่าฝันหวานของใครหลายคนอาจต้องพังทลายไปเสียก่อน ไม่ใช่แค่เพราะอุปสรรคจากหนทางอันยากลำบากในการปีนเขา แต่ปัจจุบัน ภูเขาไฟฟูจิต้องเผชิญกับภาวะ ‘มลพิษ’ ที่เพิ่มขึ้น เมื่อสำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานว่า นักท่องเที่ยวที่มากเกินไปกำลังทำให้สภาพแวดล้อมของภูเขาแห่งนี้แย่ลงเรื่อยๆ
วิกฤตของภูเขาไฟฟูจิ: ผู้คนที่มากมาย มลพิษและปัญหาที่มากขึ้น
“สภาวะนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปกำลังก่อปัญหา” มัตซาทาเกะ อิซุมิ (Masatake Izumi) เจ้าหน้าที่ประจำเมืองยามานาชิ (Yamanashi) และผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับภูเขาไฟฟูจิ อธิบายสถานการณ์นี้กับเดอะการ์เดียน โดยเสริมว่า ภาพบรรยากาศบนภูเขาที่หนาแน่น เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจีนและไต้หวัน กลายเป็นเรื่องปกติที่เห็นได้ในทุกวัน
“วันนี้ดูเหมือนแออัดมากใช่ไหม แต่ความจริงแล้วเราเผชิญสภาพเช่นนี้อย่างน้อย 10 ครั้งในช่วงวันหยุด” อิซุมิเล่าถึงความแออัดในหมู่ท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานของสื่อข่าวท้องถิ่น อาซาฮี (Asahi) ระบุว่า จำนวนนักปีนเขาในปี 2023 อาจพุ่งสูงกว่าปี 2022 หลังมีการผ่อนปรนนโยบายจำกัดผู้คนจากโรคระบาดโควิด-19
อย่างไรก็ตาม การหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวที่ล้นเกิน ทำให้เกิดมลพิษอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนกับสถานที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นขยะจากอาหาร ของใช้ มลพิษจากขนส่งสาธารณะ รวมถึง ‘ถุงที่มีของเหลวสีเหลือง’ หรือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ห้องน้ำไม่เพียงพอต่อการมาเยือนของผู้คนจำนวนมาก
ยังไม่รวมถึงความวุ่นวายจากอาการบาดเจ็บของนักปีนเขา เช่น ข้อเท้าบิด แผลและรอยฟกช้ำ หรือแม้กระทั่งอาการหายใจผิดปกติจากสภาวะอากาศที่เบาบางบนภูเขา เพราะนักท่องเที่ยวหลายคนละเลยการปฏิบัติตามข้อกำหนดการเดินทาง
“หากมีผู้คนหลั่งไหลมาอีก นั่นหมายความว่า เราจะต้องยุ่งขึ้นเรื่อยๆ
“ในฤดูปีนเขานี้ เรามีผู้ป่วย 5 รายที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล” ชินซากุ ฮามะ (Shinsaku Hama) พยาบาลผู้ทำหน้าที่คัดแยกผู้ป่วยในขั้นที่ห้า (Stage 5) ของการปีนเขากล่าว
“ภูเขาไฟฟูจิไม่ใช่ภูเขาทั่วไป เราต้องการให้ทุกคนสนุกกับการปีนเขา แต่พวกเขาก็ต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดี” มาซายูกิ โออิชิ (Masayuki Oishi) เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานดูแลภูเขาไฟฟูจิในฐานะมรดกโลก กล่าวกับหนังสือพิมพ์ไมนิจิ (Mainichi)
เธอเผยว่า ปัญหาบาดเจ็บส่วนใหญ่มาจากการปีนหน้าผา เพราะนักปีนเขาหลายคนแต่งกายไม่เหมาะสมกับกิจกรรม และเตรียมอุปกรณ์ไม่พร้อม อีกทั้งยังไม่พักบนกระท่อมในภูเขา เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่เย็นจัดในยามค่ำคืน ทั้งหมดนี้เพิ่มความเสี่ยงจากการอาการเจ็บป่วย
ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น หากคำนึงถึง ‘รายได้ทางเศรษฐกิจ’ ที่ควรจะได้รับจากจำนวนนักท่องเที่ยวมากมาย พนักงานบางส่วนมองว่า พวกเขาไม่ได้รับกำไรมากเท่าที่คำนวณไว้
“คนลงจากรถบัสเพื่อไปปีนเขา หลังจากนั้น พวกเขาก็ซื้อแค่ไอศกรีมระหว่างที่กำลังลงมาจากเขา แล้วก็ขึ้นรถบัสกลับบ้าน แค่นี้เลย” อิซุมิอธิบาย
เสียงของนักท่องเที่ยวกับความพยายามแก้ไขปัญหาของรัฐ
“เราไม่มีภูเขาแบบนี้ในเนเธอร์แลนด์ พวกเราจึงมาที่นี่ เพื่อจะมาสัมผัสประสบการณ์ท่องโลกธรรมชาติ
“แต่ถ้ามีผู้คนมากมายขนาดนี้ ภูเขาไฟฟูจิจะยังสวยอยู่หรือ?” มาร์ติน ฟาน เดอ อักเกอร์ (Martijn van der Akker) และลีแอน ชูร์มาน (Leanne Schuurman) แสดงความคิดเห็น หลังต้องประสบกับ ‘สภาวะแออัด’ ในหมู่นักท่องเที่ยว พวกเขาจึงเห็นด้วยกับการเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อปีนเขา โดยระบุว่า อาจจะเป็นคำตอบที่ดี หากการจำกัดผู้คนเพื่อให้บรรยากาศและธรรมชาติดีขึ้น
แม้ว่าทางการญี่ปุ่นจะออกข้อห้ามการเยี่ยมชมภูเขาไฟฟูจิที่ครอบคลุมทุกมิติ เหมือนการเยี่ยมชม ‘โขดหินอูลุรู (Uluru)’ ในประเทศออสเตรเลีย แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน มีความพยายามจาก โคทาโร นากาซากิ (Kotaro Nagasaki) ผู้ว่าราชการเมืองยามานาชิ ที่เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการสร้าง ‘รถไฟรางเบา’ และเก็บค่าผ่านทาง เพื่อควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวไปยังจุดปีนเขาสเตจที่ห้า
“เราต้องเปลี่ยนจาก ‘ปริมาณ’ ให้เป็น ‘คุณภาพ’ สำหรับการท่องเที่ยวบนภูเขาไฟฟูจิ” นากาซากิเผยในสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งยังระบุว่า จะพยายามหามาตรการชั่วคราวเพื่อลดความอันตรายจากการปีนเขา
อย่างไรก็ตาม เอนิโก คซาโป (Eniko Csapo) นักท่องเที่ยวชาวฮังการี ก็แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป เธออธิบายว่า การหลั่งไหลของผู้คนในภูเขาไฟฟูจิไม่ใช่เรื่องประหลาด แต่มารยาทก็เป็นสิ่งสำคัญในการมาเยือน
“เอาเข้าจริง ฉันไม่แปลกใจเลยที่ภูเขาไฟฟูจิเต็มไปด้วยผู้คน นี่ไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสำหรับการปีนเขาอย่างลำพัง เพราะทุกคนมีความฝันเดียวกันในการมาเยือนที่แห่งนี้
“แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการแสดงความเคารพ บางคนไม่ได้ใส่ใจเลยว่า ภูเขาไฟฟูจิเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์” คซาโประบุและเสริมว่า นักท่องเที่ยวควรต้องเตรียมถุงขยะมาทุกครั้ง เพื่อไม่ทิ้งของเรี่ยราดกลางทาง
มองสถานการณ์อื่นในโลก เมื่อการท่องเที่ยวของผู้คนที่มากเกินไปก่อให้เกิดปัญหาตามมา
ไม่ใช่แค่ภูเขาไฟฟูจิในดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย แต่ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นในทวีปยุโรป บาร์เซโลนา (Barcelona) เมืองท่องเที่ยวที่โดดเด่นทั้งเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร และฟุตบอล ก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะ ‘อาชญากรรมการปล้น’ ที่ขึ้นชื่อไม่แพ้สถานที่สุดฮิปในทั่วทุกมุมโลก
แต่วิธีการแก้ไขปัญหาของบาร์เซโลนา คือการจัดการกับ ‘เมือง’ ผ่านแผน Plan 2020 โดยคำนึงถึงประชากรที่อยู่อาศัยเป็นอันดับแรก
“ผมไม่สนใจการพัฒนาเมืองในฐานะแหล่งท่องเที่ยว เราไม่ได้ต้องการนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราอยากให้พวกเขามาน้อยลง” ชาเวียร์ มาร์เซ (Xavier Marcé) สมาชิกสภาท้องถิ่นบาร์เซโลนาผู้ดูแลเรื่องการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อธิบายและเสริมว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เมืองบาร์เซโลนา แต่ปัจจัยอื่นๆ ทำให้เมืองดูแย่ลง
วิธีของทางการสเปน คือการกระจายผู้คนไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ออกจากย่านที่ได้รับความนิยม เช่น มหาวิหารซากราดาฟามิลิอา (Temple Expiatori de la Sagrada Família) ถนนคนเดินลาลัมบรา (La Rambla) หรืออุทยานปาร์กเกวญ (Park Güell) ด้วยข้อเสนอให้ลูกค้า ‘ผ่อนจ่ายค่าที่พักโรงแรม’ ในย่านห่างไกลจากศูนย์กลางผู้คน
ทว่ามีรายงานจากทางการสเปนว่า นโยบายนี้ไม่ได้สร้างความแตกต่างนัก เพราะทุกคนก็ยังแห่ไปท่องเที่ยวบริเวณมหาวิหารซากราดาฟามิลิอาอยู่ดี เนื่องจากรัฐไม่สามารถควบคุมแอปพลิเคชันจองที่พักอย่าง Airbnb ได้
นอกจากนี้ วิธีการอื่นๆ อย่างการใช้ขนส่งสาธารณะก็ล้มเหลว เพราะอำนาจที่จำกัดของแคว้นคาตาลุญญา (Catalunya) เมื่อทางการสเปนยังคงมองว่า ยิ่งนักท่องเที่ยวมากเท่าไร ยิ่งดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ
อ้างอิง
https://www.asahi.com/ajw/articles/14922523
https://www.asahi.com/ajw/articles/14978598
https://www.theguardian.com/world/2020/jan/25/overtourism-in-europe-historic-cities-sparks-backlash
Tags: ญี่ปุ่น, สเปน, บาร์เซโลนา, Barcelona, มลพิษ, ฟูจิ, นักท่องเที่ยว, คาตาลุญญา, มลพิษจากการท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว, ภูเขาไฟฟูจิ