เมื่อวานนี้ (28 สิงหาคม 2023) สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศห้ามนักเรียนสวมใส่ชุด ‘อาบายะห์’ (Abaya) ในสถานศึกษา เพราะขัดต่อหลักการของ ‘รัฐโลกวิสัย’ (Secular State) ว่าด้วยการแยก ‘ศาสนา’ ออกจากเรื่องของรัฐ 

รัฐโลกวิสัยคืออะไร?

รัฐโลกวิสัย หรือรัฐฆราวาส (Secularism) คือแนวคิดการแยกเรื่องราวทางศาสนาออกจากกิจการของรัฐอย่างชัดเจนและเด็ดขาด โดยรัฐต้องเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ หรือแสดงออกเพื่อสนับสนุนศาสนาเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ก็เพื่อรักษาหลักการเสรีภาพการนับถือศาสนา (Religious Freedom) ภายใต้สังคมเสรีประชาธิปไตย

แต่ในกรณีประเทศฝรั่งเศส มีการนิยามคำศัพท์สำหรับรัฐโลกวิสัยโดยเฉพาะด้วยคำว่า ‘เลซิเต’ (Laïcité) เนื่องจากคำศัพท์ในภาษาอังกฤษอย่าง Secularism ไม่ครอบคลุมความหมายที่แท้จริงของรัฐโลกวิสัยในฝรั่งเศส ซึ่งมีบริบทเฉพาะตามประวัติศาสตร์ทางการเมือง 

ต้นกำเนิดของรัฐโลกวิสัยในฝรั่งเศส ต้องย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 18 เมื่อยุคแห่งความโชติช่วงทางปัญญา (Enlightenment) ในยุโรป ส่งเสริมแนวคิดเสรีภาพและความเท่าเทียมของปัจเจก ซึ่งก่อให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789

 ขณะที่สังคมฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติก็ปกครองด้วยระบอบเทวราชา โดยมีการผูกโยงกับศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก ว่าด้วยพระเจ้าให้อาญาสิทธิ์กษัตริย์ในการปกครองโดยตรง กษัตริย์จึงมีความชอบธรรมและมีอำนาจเหนือทุกอย่าง

ดังนั้น เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเสรีภาพและความเท่าเทียมของปัจเจก จึงมีการพยายามลบล้างมรดกเดิม โดยเฉพาะการผูกโยงศาสนาเข้ากับรัฐ 

ทว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสำเร็จในปี 1905 เมื่อมีการตรากฎหมายการแยกศาสนจักรและรัฐ (Law on the Separation of the Churches and the State) โดยมีเนื้อหาว่า ฝรั่งเศสจะรับรอง ไม่เลือกปฏิบัติกับทุกศาสนา ทุกความเชื่อทางจิตวิญญาณ และเป็นเสรีภาพของประชาชนที่จะเชื่อ คิด หรือนับถืออะไรได้ตามใจชอบ (Freedom of Conscience) ขณะที่สถาบันของรัฐต้องวางตัวเป็นกลางทางศาสนา (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ทาง https://themomentum.co/french-secularism/)

ปัจจุบัน เลซิเตถือเป็นเสาหลักทางด้านความคิดแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยถูกระบุในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตราที่ 1 คือ 

“ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ดำรงความเป็นกลางทางศาสนา และไม่สามารถแบ่งแยกได้ (…)” 

ความคิดเห็นของรัฐท่ามกลางกระแสต่อต้าน

“โรงเรียนของพวกเรากำลังตกอยู่สถานการณ์ที่ยากลำบาก และเป็นระยะเวลาหลายเดือนที่มีการละเมิดแนวคิดรัฐโลกวิสัย ด้วยการสวมใส่ชุดอาบายะห์และชุดกามีซ (Kameez)

“เมื่อคุณเข้าไปในห้องเรียน คุณไม่ควรจะระบุศาสนาของนักเรียนด้วยการมองพวกเขาจากภายนอกเพียงอย่างเดียว” กาเบรียล อัตตาล (Gabriel Attal) รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศส อธิบายเหตุผลที่ต้องห้ามสวมใส่ชุดดังกล่าว เนื่องจากชุดอาบายะห์เป็นเครื่องแต่งกายในกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม จึงถูกมองว่า ขัดกับหลักการความเป็นกลางของรัฐโลกวิสัย คือพลเมืองไม่ควรสวมใส่หรือใช้สัญลักษณ์ใดๆ ที่แสดงออกถึงกิจกรรมทางศาสนา

ขณะเดียวกัน สหภาพผู้บริหารสถานศึกษา (Syndicat National des Personnels de Direction de l’Éducation Nationale: SNPDEN-UNSA) ก็ออกมาแสดงความยินยอมต่อนโยบายของรัฐบาล โดย ดิดิเยร์ จอร์จ (Didier Georges) ระบุว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่ามาตรการที่ชัดเจนจากรัฐบาล

“สิ่งที่เราต้องการจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ คือคำตอบที่บอกว่าใช่หรือไม่ เราพอใจกับทุกอย่าง เพราะการตัดสินใจเกิดขึ้นแล้ว” จอร์จแสดงความคิดเห็นกับรอยเตอร์ 

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส เมื่อ เคลมองติน โอแตง (Clementine Autain) ส.ส.จากพรรคลาฟร็องแซ็งซูมีซ (La France Insoumise: LFL) แสดงความคิดเห็นว่า รัฐกำลังทำตัวเป็น ‘ตำรวจเครื่องแต่งกาย’ และหมกมุ่นกับการลบล้างอัตลักษณ์ของกลุ่มมุสลิม

ขณะที่ อักเนส์ เดอ โฟ (Agnes De Feo) ระบุว่า กลุ่มมุสลิมในฝรั่งเศสจะรู้สึกเจ็บปวด และรู้สึกถูกตีตราอีกครั้งกับนโยบายดังกล่าว เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาถูกห้ามแต่งกายที่มีการแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนา เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสเคยประกาศห้ามสวมใส่ผ้าคลุมศีรษะหรือบรูกา (Burqua) ในปี 2004 รวมถึงการใส่ผ้าคลุมใบหน้าในปี 2020 

ทั้งนี้ เฌนนาต์ หญิงสาววัย 22 ปี ที่ใช้นามแฝง ก็แสดงความคิดเห็นกับรอยเตอร์ว่า เธอไม่เข้าใจถึงสาเหตุการห้ามสวมใส่ชุดอาบะยะห์

“อันที่จริง ชุดอาบะยะห์เป็นชุดยาว ออกจะหลวมๆ เป็นเสื้อผ้าธรรมดา และไม่มีนัยทางศาสนาแอบแฝงอยู่เลย”  เฌนนาต์กล่าว 

เช่นเดียวกับ ดาอูด ริฟฟี (Daoud Riffi) อาจารย์ผู้สอนวิชาอิสลามศึกษาที่ซิย็องโปลีลล์ (Science Po Lille) ก็ระบุว่า ชุดอาบายะห์ไม่มีความหมายในฐานะเครื่องแต่งกายของชาวมุสลิมโดยตัวมันเอง เพราะอันที่จริง ชุดนี้เป็นเพียงหนึ่งในแฟชั่นที่แพร่หลายในหมู่นักเรียนหญิง ผู้นิยมชมชอบชุดเดรสยาว หรือชุดกิโมโนในโลกออนไลน์

“ทุกคนต้องท้าทายความเชื่อดังกล่าว” ริฟฟีทิ้งท้าย 

มองอีกด้านรัฐโลกวิสัยในฝรั่งเศส: อาวุธเพื่อการกีดกันและแบ่งแยกจากความหวาดกลัวต่อมุสลิม 

แม้แนวคิดการแยกรัฐและศาสนาเคยดึงดูดกลุ่มมุสลิมอพยพในฝรั่งเศส และก่อให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่  

แต่ในระยะหลัง นโยบายดังกล่าวมักได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการกีดกันและเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยในสังคม เมื่อเกิดบรรยากาศความเกลียดกลัวคนต่างชาติ (Xenophobia) ในสังคมฝรั่งเศส เพราะเหตุการณ์การก่อการร้ายของมุสลิมหัวรุนแรงช่วงต้นทศวรรษ 2000 และความเชื่อในกลุ่มฝ่ายขวาชาตินิยมที่ว่า กลุ่มมุสลิมจะลบเลือนวัฒนธรรมที่แท้จริงของชนชาติฝรั่งเศส

ภาพสะท้อนดังกล่าวปรากฏให้เห็นชัดเจนในปี 2004 ผ่านนโยบายห้ามแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนา ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลมีเป้าหมายเจาะจงกลุ่มหญิงมุสลิมโดยเฉพาะ เมื่อการใช้สร้อยคอไม้กางเขนขนาดเล็กยังสามารถทำได้ในที่สาธารณะ 

ขณะที่มาตรการต่อผู้นับถือศาสนาอิสลามเริ่มทวีรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามสวมเครื่องแต่งกายบางอย่างที่แสดงออกความเป็นมุสลิม มูลข่าวการจำกัดโควตาอาหารฮาลาลในกลุ่มนักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศส หรือแม้แต่การแสดงออกของ เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีผู้เสนอ ‘ศาสนาอิสลามแบบฝรั่งเศส’ ที่อนุญาตให้รัฐเข้าไปควบคุม โดยไม่นึกถึงความเป็นจริงว่า ฝรั่งเศสต้องสนับสนุนและไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการของทุกศาสนาและความเชื่อตามหลักรัฐโลกวิสัย

“ประเทศนี้ดันทุรังที่จะกลืนวัฒนธรรม และบีบคั้นพลเมืองฝรั่งเศสให้อยู่ในหลักคุณค่าตามแบบฉบับสาธารณรัฐฝรั่งเศสหรือลัทธิความเป็นสากล แต่สิ่งที่หายไปคือชนชั้น เพศสภาพ เชื้อชาติ และศาสนา” ออเดรย์ เปอตีต์ (Audrey Pettit) คอลัมนิสต์จากจาโคแบง (Jacobin) แสดงความคิดเห็นถึงสภาพปัจจุบันในฝรั่งเศส

อ้างอิง

https://www.reuters.com/world/europe/france-ban-muslim-abaya-dress-state-schools-2023-08-27/

https://www.reuters.com/world/europe/french-ban-abaya-robes-schools-draws-applause-criticism-2023-08-28/

https://www.unsa-education.com/article-/snpden-unsa/

https://prachatai.com/journal/2018/03/75771

https://www.youtube.com/watch?v=l7qJ-lHGPW4

https://jacobin.com/2023/06/french-muslim-hijab-ban-laicite

Tags: , , , , , , , , , , , , ,