ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสในค.ศ. 1789 ศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก ถือเป็นศาสนาแห่งรัฐ ศาสนาประจำชาติฝรั่งเศส กษัตริย์มีอำนาจเหนือทุกอย่าง เป็นเทวราชาที่ถืออำนาจโดยตรงจาก “พระเจ้า” ซึ่งประเทศฝรั่งเศสอยู่ภายใต้ระบบการปกครองแบบเทวสิทธิ์ (Divine right monarchy) ทว่าในยุคต่อมาระหว่างปี 1789 ถึง 1905 แนวโน้มที่ต้องการลดอิทธิพลของศาสนาคริสต์เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับประเทศฝรั่งเศส ค.ศ. 1905  นับว่าเป็นปีที่สำคัญว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนา ระหว่างช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ความต้องการของรัฐบาลฝรั่งเศส (ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้สาธารณรัฐที่ 3) ที่จะแยกเรื่องของรัฐออกจากเรื่องศาสนาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน โดยรัฐบาลในสมัยนั้นเห็นว่าการมีกฎหมายที่แยกเรื่องของรัฐออกจากเรื่องศาสนาเป็นการเคารพเสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งจะปกป้องเสรีภาพในการเลือกถือศาสนา (Liberty of conscience) และเสรีภาพในการปฏิบัติกิจต่างๆ ตามความเชื่อส่วนตัว

โดยในวันที่ 9 ธันวาคม 1905 การแยกเรื่องศาสนาออกจากเรื่องรัฐได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กฎหมายการแยกศาสนจักรและรัฐ (Law on the Separation of the Churches and the State / La loi de séparation des Eglises et de l’Etat) หรือที่รู้จักกันว่า กฎหมาย 1905 (The Law of 1905 / La loi 1905) ซึ่งกฎหมาย 1905 นี้ได้เปลี่ยนประเทศฝรั่งเศสที่ได้ขึ้นชื่อว่า “ลูกสาวคนโตของศาสนจักร” ให้กลายเป็นรัฐฆราวาส (Secular state / Laïcité) โดยสมบูรณ์ 

แม้ว่าชื่อทางการของกฎหมาย 1905 จะกล่าวเพียงแค่ศาสนจักรและรัฐ แต่ทว่ากฎหมายดังกล่าวครอบคลุมความเชื่อทางจิตวิญญาณอื่นๆ ทั้งนี้กฎหมาย 1905 กำหนดให้สาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นกลางต่อทุกศาสนา และปฏิบัติต่อศาสนาต่างๆ อย่างเท่าเทียม และรัฐจะรับรองศาสนาทั้งหมด ไม่ว่าเป็นศาสนาคริสต์ หรือศาสนายูดาห์ ซึ่งเป็นศาสนาสองศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้น ยิ่งไปกว่านั้นรัฐจะไม่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องของความเชื่อทางจิตวิญญาณ และปล่อยให้ประชาชนมีสิทธิเลือกที่จะนับถือศาสนาต่างๆ ตามที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสม โดยไม่มีการสนับสนุน หรือชี้ชวนให้นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

หลังจากที่กฎหมาย 1905 ได้ประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 1906 ส่งผลให้บาทหลวง พระสงฆ์ สังฆราช รวมทั้งรับบี (นักบวชในศาสนายูดาห์) ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจของสงฆ์ รวมทั้งการสร้างศาสนสถานกลายเป็นภาระของศาสนจักร หรือองค์กรสูงสุดที่บริหารดูแลศาสนานั้น ซึ่งรัฐจะไม่เข้ามาสนับสนุนด้านการเงินใดๆ

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าความเป็นกลางทางศาสนาของประเทศฝรั่งเศสที่มีรากฐานจากกฎหมาย 1905 กำลังเผชิญกับความท้าทายที่มากับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามตั้งแต่ยุค “Trente Glorieuses” (ทรองต์ กลอรีเอ้อส์ – ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองระหว่างปี 1945 – 1975) 

ทั้งนี้กฎหมาย 1905 นี้ไม่ได้พูดถึงศาสนาอิสลาม เนื่องจากในสมัยนั้นประชาชนฝรั่งเศสที่นับถือศาสนาอิสลามมีจำนวนน้อยมาก โดยชาวมุสลิมในประเทศฝรั่งเศสที่มาจากอดีตประเทศเมืองขึ้นฝรั่งเศสในทวีปแอฟริกา เช่น โมร็อกโก ตูนิเซีย และแอลจีเรีย แทบจะไม่มีให้เห็น

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ผู้คนจากแอฟริกาเหนือซึ่งนับถือศาสนาอิสลามได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในฝรั่งเศส ทว่าชาวมุสลิมที่เข้ามานี้ไม่มีสถานที่สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ภาพของชาวมุสลิมฝรั่งเศสที่ละหมาดในท้องถนนได้ถูกนำเสนอโดยสื่อท้องถิ่น

งบประมาณรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาทั้งหมดได้ถูกยกเลิกโดยกฎหมาย 1905 ซึ่งส่งผลให้รัฐไม่สามารถออกเงินสร้างศาสนสถานสำหรับชาวมุสลิมได้ หากแต่ว่าสมาคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น สมาคมส่งเสริมทางวัฒนธรรม และสมาคมสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ได้ถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยให้รัฐบาลฝรั่งเศสสามารถอุดหนุนเงินช่วยเหลือสำหรับการสร้างสุเหร่าสำหรับชาวมุสลิม และนี่คือหนึ่งในแนวทางที่รัฐใช้เพื่อหลบหลีกข้อจำกัดของกฎหมาย 1905

ในปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสมีสุเหร่ากว่า 2,500 แห่ง โดยขนาดของสุเหร่าแต่ละแห่งจะขึ้นอยู่กับเมือง ในขณะที่จำนวนสุเหร่าในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 2002 อยู่ที่ 1,400 แห่งเท่านั้น

นอกเหนือจากเงินสนับสนุนที่สมาคมต่างๆ ได้รับจากรัฐบาลฝรั่งเศสแล้ว ในระยะหลังเงินทุนที่ช่วยเหลือการก่อสร้างศาสนสถานสำหรับชาวมุสลิมในฝรั่งเศสยังมาจากประเทศมุสลิมอีกด้วย โดยประเทศหลักๆ ที่ให้การสนับสนุนนี้ได้แก่ประเทศซาอุดีอาระเบีย

ในบางครั้ง แทนที่รัฐจะสนับสนุนด้านการเงินผ่านสมาคมเพื่อช่วยการก่อสร้างสุเหร่าด้วยการ ขายที่ดินเพียงหนึ่งยูโรให้แก่สมาคมที่ดูแลการก่อสร้างสุเหร่า ทว่าการขายที่ดินดังกล่าวกลับกลายเป็นปัญหาสำหรับชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องการให้มีสุเหร่าใกล้ๆ กับบ้านของพวกเขา

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญว่าด้วยกฎหมาย 1905 ในยุคปัจจุบัน คือ การสวมผ้าคลุมศีรษะของหญิงมุสลิม โดยในปี 2004 รัฐได้ออกกฎหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นกลางทางศาสนา หรือที่เรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า กฎหมายสตาซี่ (Stasi) ซึ่งกฎหมายที่ออกมานี้ได้ห้ามการสวมใส่สิ่งที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ภายนอกที่เกี่ยวข้องศาสนาภายในโรงเรียน อันที่จริงกฎหมายสตาซี่มีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามนักเรียนหญิงที่นับถือศาสนาอิสลามใส่ผ้าคลุมศีรษะทางศาสนา และหกปีหลังจากนั้น รัฐบาลได้ประกาศห้ามสตรีมุสลิมสวมใส่ผ้าคลุมที่ปกปิดใบหน้า เช่น บรูก้า (Burqa) ในที่สาธารณะ รวมทั้งสถานที่ราชการ หรือโรงเรียน เป็นต้น

หากมองแค่หลักการแล้ว กฎหมาย 1905 กำหนดให้รัฐนั้นต้องเป็นกลางในเรื่องศาสนา ผลลัพท์ของกฎหมายนี้แบ่งออกเป็นสองประเด็น คือ 1.) ความมีอิสระทางความคิดและความเชื่อ 2.) เงินทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของศาสนา หากแต่ว่าสังคมฝรั่งเศสได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลให้กฎหมาย 1905 ต้องปรับตามยุคสมัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถึงกระนั้นคำถามสำคัญที่หลายคนต้องฉุดคิด คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้กฎหมายที่มีอายุกว่า 100 ปีก่อน สามารถตอบสนองกับความท้าทายใหม่ในสังคมฝรั่งเศสปัจจุบันได้

บรรณานุกรม

https://www.legifrance.gouv.fr/affichTexte.do?cidTexte=JORFTEXT000000508749

https://www.lexpress.fr/actualite/societe/islam-de-france_1579699.html

 

https://www.vie-publique.fr/questions/laicite-quoi-consiste-loi-2004-signes-religieux-ecole.html

Tags: , ,