เฉินม่าน (Chen Man) นั้นไม่เหมือนใคร เธอเป็นหญิงชาวจีนที่เกิดในปี 1980 เกิดและเติบโตในใจกลางปักกิ่ง และเป็นเจเนเรชันสุดท้ายของนโยบายลูกคนเดียวในประเทศจีน นโยบายชื่อก้องที่เปลี่ยนแปลงวิถีการเลี้ยงดูบุตรและการมองชีวิตในสังคมจีนไปอย่างมโหฬาร และถึงเธอจะก้าวไปมีโพรไฟล์ในเวทีโลกเป็นที่เรียบร้อย แต่ด้วยรากและการถูกหล่อหลอมมา เธอก็อาจเหมือนกับผู้เขียนและผู้อ่านหลายคนในบางมุม
ในฐานะที่เราต่างเติบโตมาในอ้อมกอดของขนบธรรมเนียมบางอย่าง กับทั้งได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและการเมืองอย่างมากมาย—โดยเฉพาะในเมืองหลวง เราคิดว่าเราพอจะเข้าใจสิ่งที่เธอสื่อผ่านภาพถ่ายมาตลอด 15 ปี
—ไม่ใช่แค่สื่อสารกับสังคมจีนหรือกระทั่งสังคมอย่างประเทศไทย ที่ไม่ค่อยรับรู้หรือยอมรับการมีอยู่ของความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสังคมตะวันตกที่มองโลกตะวันออกว่าผิดแปลกแตกต่างไปจากตน ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างในแง่บวกหรือแง่ลบก็ตาม
เรารู้จักเฉินจากนิทรรศการภาพถ่ายของเธอในชื่อ Fearless & Fabulous ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ภาพถ่าย Fotografiska สตอกโฮล์ม จนถึงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นิทรรศการนี้ถูกจัดขึ้นในห้องโถงขนาดใหญ่ที่จัดแบ่งสัดส่วนตามคอลเลคชันภาพถ่ายของเธอในปริมาณที่เยอะจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นงานย้อนรำลึกถึงศิลปิน (Retrospective) เยอะจนเราแปลกใจว่าทำไมเราถึงเพิ่งมารู้จักเธอเอาตอนนี้
ด้วยขนาดของห้องโถงและขนาดของชิ้นงานทำให้เรารู้จักเธอมากขึ้น และภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงกว่า เราก็ได้ถูกทำให้เชื่อว่า เธอคือหนึ่งในช่างภาพหญิงชาวจีน (หรือกระทั่งเอเชีย) ที่ไฮโพรไฟล์และน่าจับตาที่สุดของทศวรรษ เพราะเธอโอบกอดรากเหง้าของตัวเอง เข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง และกล้าวิพากษ์วิจารณ์กระแสสังคมต่างๆ ในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเป็นของตัวเอง
จุดเด่นที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในงานของเฉินคือ การใช้สีสันฉูดฉาดบนคอสตูม พร็อพ และรายละเอียดต่างๆ ในทุกชิ้นงานจนแทบจะเรียกเธอว่าเป็นสไตลิสต์ด้วยก็ย่อมได้, สไตล์ Futuristic ที่ปรากฏขึ้นผ่านกราฟิกดีไซน์และกระบวนการรีทัชใน Photoshop อย่างไม่ประนีประนอม, การพูดถึงความงามและความไม่งามของมนุษย์ผ่านการเลือกใช้นางแบบเชื้อสายจีนหรือเอเชียเพื่อสื่อว่าความงามคือความจริงแท้ (authentic) และการทลายกรอบของการแบ่งมนุษย์เป็นสองเพศ นั่นคือหญิงและชาย
นอกจากงานของเฉินจะเคยไปแสดงที่ Victoria & Albert Museum ที่ลอนดอน เธอยังเคยทำงานกับนิตยสารแฟชั่นแนวหน้าของฟากตะวันตกอย่าง Vogue, Elle และ Haper’s Bazaar, L’official, Marie Claire, Esquire หรือสายฮิปอย่าง i-D เธอยังถ่ายภาพให้กับแบรนด์สินค้าชั้นนำของโลกมากมาย รวมถึงถ่ายภาพเซเลบริตี้ชั้นนำของโลกอย่างริฮานนา, นิโคล คิดแมน, วิคตอเรีย เบคแฮม, เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์, ฟ่าน ปิงปิง, ซาง ซียี่, เฟย์ หว่อง ไปจนถึงป้าลายจุด ยาโยย คุซามา จนถูกเรียกขานกันยกใหญ่โดยเฉพาะจาก The New York Times ว่าเธอเป็นแอนนี่ เลโบวิตส์ (Annie Leibovitz) ของโลกตะวันออก ซึ่งแน่นอน เธอและเราเองไม่ได้เชื่ออย่างนั้น
คอลเลคชันภาพถ่ายที่โด่งดังและเป็นที่ชื่นชอบของเราเหลือเกินประกอบไปด้วย Whatever the Weather (2012) ที่มาพร้อมกับ China 12 Colours (2011), Long Live the Motherland (2011) และ The Austronaut (2004) งานสามชุดนี้สะท้อนธีมที่เธอทำงานด้วยได้เป็นอย่างดี
เริ่มกันที่สองโปรเจกต์แรกที่เฉินทำร่วมกับ i-D Magazine โดยใน Whatever the Weather เฉินถ่ายภาพพอร์ทเทรตเด็กสาวที่เธอเลือกมาจากโรงเรียนมัธยมฯ ในธิเบตเพื่อนำมาลงปก i-D 12 เวอร์ชั่น และ China 12 Colours ถ่ายภาพ 12 เด็กสาวจาก 12 ชนกลุ่มน้อยในจีนในธีม 12 สีสันฉูดฉาดตั้งแต่โทนเย็นอย่าง Ultramarine ไปจนถึงโทนร้อนอย่าง Maroon เพื่อสื่อว่าใน ‘ความเป็นจีน’ ที่ถูกมัดรวม (centralized) และทำให้เชื่อมาตลอดว่าเป็นหนึ่งเดียวนั้น แท้จริงแล้วประกอบไปด้วย 50-60 เชื้อชาติที่ประกอบกันขึ้นมา และพวกเขาทั้งหมดต่างก็มีวัฒนธรรม ภาษา ประเพณี และอัตลักษณ์ที่ต่างกันออกไป และแน่นอน ไม่ได้มีเพียงรัฐจีนเท่านั้นที่บีบอัดเชื้อชาติต่างๆ ให้รวมเป็นหนึ่งแบบนี้ แต่ยังรวมถึงคนนอกที่มองเข้าไปในยังประเทศจีนด้วย
อีกประเด็นหนึ่งคือนอกจากนางแบบของภาพถ่ายสองชุดนี้จะสวยงามในแบบของพวกเธอ (เมื่อมองดูภาพถ่ายเหล่านี้ ผู้เขียนเองปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือความงาม) เด็กสาวชาวจีนในเมืองใหญ่ที่เธอและเราคุ้นเคยก็มีความสวยงามในแบบของพวกเธอเช่นกัน
เฉินให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับ ‘ความงาม’ ที่ถูกบีบอัดให้มีความหมายเดียว เหมือนกับ ‘ความเป็นจีน’ ที่ก็ถูกบีบอัดมาก่อน เช่น หากจะสวยเราต้องมีเปลือกตาสองชั้น มีดวงตากลมโต มีผิวขาวสว่างนวลใสไร้ที่ติ และหากเราแตกต่างไปจากนิยามเหล่านี้ (ซึ่งใช่หรือไม่ ว่าได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกอีกที) เราจะไม่สวย ทำให้นอกจากผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งจะขายดี วัยรุ่นจีนในปัจจุบันจำนวนมากก็หันไปหาศัลยกรรมพลาสติก ซึ่งเฉินเองออกตัวเสมอว่าไม่สนับสนุนเท่าใดนัก โดยนางแบบอีกคนที่เป็นขาประจำของเฉินก็คือ หลวี่ เยี่ยน (Lu Yan) นางแบบที่มักถูกเหยียดว่าเป็นนางแบบที่น่าเกลียดที่สุดในประเทศจีน
ขยับมาต่อกันที่ Long Live the Motherland ที่เธอถ่ายภาพนางแบบชาวจีนในชุดสีแดงเพลิงในจัตุรัสเทียนอันเหมิน สาวจีนอีกนางหนึ่งยืนทำท่าตะเบ๊ะบนดาดฟ้ากับธงชาติจีน สาววัยรุ่นแฟชันนิสตาสะพายกระเป๋าแบรนด์เนมขี่จักรยานไปพร้อมกับหนังสือเรียนตั้งสูงๆ และอีกหลายภาพที่หากมองผ่านๆ อาจเหมือนเธอกำลังพูดถึงแง่ลบของลัทธิบริโภคนิยม แต่มันกลับเป็นอะไรที่ตรงกันข้าม เพราะดูเหมือนสิ่งที่เฉินอยากทำนั้นไม่ใช่การ ‘ตัดสิน’ แต่คือการ ‘บันทึก’ บรรยากาศและความเป็นจริงในสังคมเมืองของจีนในยุคของการเปลี่ยนแปลง
—เปลี่ยนจากปิดเป็นเปิด จากประเพณีดั้งเดิมเป็นแฟชั่น จากครอบครัวเป็นปัจเจก จากรัฐบุรุษสู่คนธรรมดา ฯลฯ ผ่านความทรงจำที่เธอมีในปักกิ่งที่เธอยังใช้ชีวิตและทำงานในสตูดิโอของเธออยู่จนปัจจุบัน เมืองที่เธอเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยญาติผู้ใหญ่ในชุมชน และเมื่อปั่นจักรยานไปเรียนก็ต้องผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมิน อันเป็นสถานที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ได้ดีที่สุดในสายตาเธอ
ไร้ข้อปฏิเสธว่างานชุดนี้เป็นชุดที่สื่อสารกับฟากตะวันตกได้ดีที่สุดในบรรดางานหลายสิบชุดของเธอ เพราะมันสะท้อนภาพสังคมจีนที่เธอเคยกล่าวว่าตรงข้ามกับความเป็นจีนหรือความเป็นเอเชียที่ถูกถ่ายทอดผ่านหนังใหญ่ทั้งหลาย “คนยุโรปหลายคนดูหนังเรื่อง Farewell My Concubine แล้วมาเมืองจีนด้วยความคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรแบบนั้น แต่สุดท้ายพวกเขากลับเห็นวัยรุ่นจีนเล่นสเก็ตบอร์ด เต้นเบรคแดนซ์ ได้พบเจอกับช่างภาพแฟชั่น และซีนฮิปฮอปแทน” ซึ่งนั่นก็ได้เปลี่ยนภาพจำของสังคมประเพณีจ๋าแบบตะวันตกได้อย่างมีประสิทธิภาพทีเดียว
สุดท้าย ขาดไม่ได้กับ The Austronaut งานชุดแรกๆ ในชีวิตการทำงานที่เธอใช้ Photoshop แต่งรูปสาวหมวยในเมคอัพสุดฟิวเจอริสติกให้อยู่ในหมวกอวกาศที่เป็นกระจกใส จนเราเกือบจะมองพวกเธอเป็นหุ่นยนต์ไร้ชื่อ ไร้นาม และไร้เพศ งานของเฉินหลายชุดนั้นถูกทำขึ้นบนธีมเหนือจริงแบบนี้ เช่น ในบางครั้งก็ใช้นางแบบเป็นตัวแทนของ motif ต่างๆ ของจีน ทั้งหมดทำให้เรามองว่าเหล่านางแบบนั้นอาจไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งนั่นก็ไม่ผิดอะไร แถมเราเองกลับมองว่ามันเป็นการทลายกำแพงของขั้วตรงข้ามต่างๆ ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือไม่ (ในงานชุดนี้และอีกหลายชุด) เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย (ในงานที่เธอให้ ฟ่าน ปิงปิง แต่งเป็นซุปเปอร์แมน บรูซลี และเช เกวารา) และเป็นตะวันออกหรือตะวันตก (ในภาพที่เธอให้ ริฮานนา แต่งชุดที่ดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลมาจากฟากตะวันออก)
และนี่คือที่มาของประเด็นที่เป็นที่พูดถึงและถูกตอกย้ำจนทำให้เฉินถูกดิสเครดิตอยู่บ่อยครั้งในการทำงานยุคแรก นั่นก็คือการแต่งภาพอย่างหนักจนหลายคนมองว่ายากจะเรียกเธอว่าช่างภาพ แต่ไม่แปลกหากเรารู้ก่อนว่าก่อนจะมาเป็นช่างภาพ เธอมีพื้นเพทาง Chinese painting และกราฟิกดีไซน์ แถมตอนเรียนยังทำงานพาร์ทไทม์เพื่อเก็บเงินซื้อโปรแกรม Photoshop แบบถูกลิขสิทธิ์มาใช้สร้างผลงานด้วย และไม่แปลกยิ่งกว่าเดิมหากเรามองว่าการทำงานสร้างสรรค์นั้นไม่มีขอบเขตหรือเส้นแบ่ง แต่สามารถกระโดดข้ามไปข้ามมา หรือกระทั่งผสมผสานทักษะและใช้เครื่องมือที่เรามีอยู่ในมือให้เป็นประโยชน์ได้
“หลายคนมองว่าสิ่งที่ฉันทำเป็นงานศิลปะเฟคๆ แต่ Photoshop เป็นแค่เครื่องมือในการผลิตงานศิลปะของฉัน แต่มันไม่ได้นิยามตัวงาน” เธอพูดถึงการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสะท้อนความจริง “มันคือความจริงที่เราควบคุมและทำให้มันสมบูรณ์ตามแบบที่เราเลือกได้”
เฉินมองว่านี่คือความท้าทายของเธอเอง และในฐานะผู้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านเรื่องเล่า เราก็มองว่ามันท้าทายสำหรับเราเช่นกัน ว่าเราจะสามารถควบรวมสิ่งที่เราคิดและถ่ายทอดมันออกมา ‘อย่างไร’ ไม่ใช่ผ่านสื่อชนิดใด เพราะใช่หรือไม่ว่า ความคิดเบื้องหลังชิ้นงานนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะมันคือการบอกกับโลกว่าเราเป็นใคร เรามองสังคมที่เราอยู่อย่างไร และอะไรทำให้เราเป็นเรา เฉินเองคงรู้คำตอบของสามคำถามนี้ดี
ความท้าทายอีกอย่างของเธอคงเป็นการบาลานซ์ตัวเองระหว่างงานคอมเมอร์เชียล (ทั้งที่งานเธอเป็นช่างภาพและงานที่เธอเป็นแบบให้) กับงานที่ใช้ความคิดและตัวตนของเธอสร้างมันขึ้นมา “บางทีฉันก็ตื่นมาแล้วพบว่าตัวเองกำลังจมอยู่กับงานคอมเมอร์เชียลเป็นสิบ จนต้องถามตัวเองว่านี่ฉันกำลังทำอะไรอยู่ ฉันรู้สึกเหมือนกำลังใช้เวลาแบบเสียเปล่า” เฉินว่าไว้ในบทสัมภาษณ์ฉบับหนึ่ง “ฉันไม่สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกลึกๆ และความคิดของตัวเองได้เลย”
ส่วนเราเองก็ได้เรียนรู้ความจริงเหล่านี้จากเธอ และคิดว่าอาจถึงเวลาแล้วที่เราอาจต้องลองวางข้อจำกัดลงบ้าง แล้วทดลองความเป็นไปได้ต่างๆ ตามแต่เครื่องมือที่เรามีและอาจมีในอนาคต รวมทั้งการโอบกอดประวัติศาสตร์ส่วนตัวของตัวเอง ยอมรับในสิ่งที่ก่อร่างสร้างเราขึ้นมา และเติบโตต่อไปโดยไม่ลืมที่จะทบทวนกับตัวเองเสมอว่าอะไรคือความเชื่อของเรา—ทั้งหมดนี้อาจสำคัญกว่ารูปแบบของตัวงานเสียอีกก็ได้
อ้างอิง: