“Good artists copy. Great artists steal.” — Picasso
“ศิลปินชั้นดีลอกเลียนแบบ ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ขโมย” — ปีกัสโซ

 

คงไม่มีโรงเรียนหรือสถาบันทางศิลปะแห่งใดผลิตสร้าง ‘ศิลปิน’ หรือบุคลากรผู้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘นักสร้างสรรค์’ โดยยึดเอาแนวคิดจากประโยคข้างต้นมาใช้เป็นแนวทางในการเรียนการสอนนักศึกษา เพราะนอกจากจะฟังขัดกับนิยามและความหมายของคำว่า ‘สร้างสรรค์’ (Creativity) ซึ่งยึดโยงอยู่กับความคิดริเริ่มหรือการสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ค้นพบแนวทางอันเป็นปัจเจกแล้ว ประโยคที่ว่าก็ยังดูขัดกับจริยธรรมและจรรยาบรรณของคนทำงานสร้างสรรค์เอาเสียเหลือเกิน

แต่แทบไม่น่าเชื่อว่าประโยคสะเทือนโลกศิลปะนี้จะมาจากปากของบุคคลที่นักสร้างสรรค์ทั้งหลายยอมรับและยกย่องให้เป็น ‘The Great Artist’ หรือ ‘ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่’ แห่งโลกศิลปะสมัยใหม่ ปาโบล ปีกัสโซ (Pablo Picasso) และคงจะสนุกไม่น้อยหากวันนี้เขายังมีชีวิตและได้พบกับชายชื่อ โวล์ฟกาง เบลทราคคี (Wolfgang Beltracchi) บุคคลที่ว่ากันว่าเป็นทั้งศิลปินนักลอกเลียนแบบ หัวขโมย และนักต้มตุ๋นขั้นเทพในร่างเดียวกัน

โวล์ฟกาง เบลทราคคี อาจเข้าข่ายหรืออาจเป็นมากกว่าศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ปีกัสโซว่าไว้ เพราะเขาไม่ได้แค่ลอกเลียนแบบงานสร้างสรรค์ของคนอื่นเท่านั้น แต่ยังขโมยรูปแบบหรือสไตล์ในงานจิตรกรรมของศิลปินอื่นๆ ด้วย เหมือนไม่เหมือนไม่รู้ แต่ที่รู้คืองานจิตรกรรมมากกว่า 300 ชิ้นที่เขาสร้างขึ้นในช่วงปี 1970-2010 ด้วยเทคนิคการปลอมขั้นเทพ ก็ถูกส่งเข้าตลาดประมูลงานศิลปะระดับโลก สร้างรายได้จำนวนมหาศาลพอๆ กับสร้างความเสื่อมเสียให้แก่เขาและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างประเมินค่าไม่ได้ เพราะจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดเลยว่าผลงานการปลอมส่วนที่เหลือของเขากระจัดกระจายไปอยู่ในอ้อมอกของพิพิธภัณฑ์ ตลาดซื้อขายงานศิลปะ หรืออยู่ในคอลเลกชันส่วนตัวของมหาเศรษฐีผู้โชคดีท่านใดบ้าง

โวล์ฟกาง เบลทราคคี เติบโตมาในครอบครัวที่แม่เป็นครู และพ่อเป็นช่างซ่อมแซมงานจิตรกรรมในโบสถ์ พวกเขาอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อไกเลนเคียร์เชน (Geilenkirchen) ในรัฐนอร์ดไรน์-เวสต์ฟาเลน (Nordrhein-Westfalen) ของประเทศเยอรมนี เบลทราคคีเริ่มต้นเรียนรู้เทคนิคการวาดภาพจากพ่อโดยอาศัยวิธีครูพักลักจำ จนกระทั่งสามารถวาดเลียนแบบผลงาน Mother and Son with Handkerchief (1903) ของปีกัสโซได้ในวัยเพียง 15 ปี

Mother and Son with Handkerchief, ปีกัสโซ (ซ้าย) และเบลทราคคี (ขวา)

อัจฉริยภาพและความมั่นใจในตัวเองของเบลทราคคีปรากฏให้เห็นชัดเจนในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Beltracchi: Die Kunst der Fälschung (The Art of Forgery) ซึ่งว่าด้วยชีวิตในบางช่วงตอนของเขา เบลทราคคีอ้างว่าสำหรับเขาและครอบครัว การวาดภาพเป็นเพียงแค่กิจกรรมหนึ่งที่ไม่ต่างไปจากการแปรงฟัน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความยิ่งใหญ่หรือความศักดิ์สิทธิ์อย่างที่ศิลปินส่วนใหญ่อ้างถึง สำหรับเขา มันคือบางสิ่งในชีวิต และเป็นบางสิ่งที่สร้างความบันเทิงใจให้กับเขาเท่านั้นเอง

หลังถูกไล่ออกจากโรงเรียน เบลทราคคีเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนศิลปะประจำเมืองอาเคน (Aachen) โดยเรียนเกี่ยวกับภาพถ่าย ภาพประกอบ และงานกราฟิก ที่นั่น เบลทราคคีไม่ได้แค่ใช้ชีวิตสนุกสุดเหวี่ยงตามวิถี Sex, Drugs & Rock ‘n’ Roll แต่ยังเริ่มต้นเลียนแบบและปลอมแปลงภาพเขียนเพื่อขายให้กับพ่อค้าในตลาดนัดขายของเก่าเป็นครั้งแรกอีกด้วย

เส้นทางแห่งการปลอมแปลงงานศิลปะของเบลทราคคีเริ่มต้นจากจุดนั้น เขาเรียนรู้ทั้งเทคนิค รูปแบบ ยุคสมัย และพัฒนาการของงานจิตรกรรม ผ่านภาพเขียนที่เขาซื้อและสะสมจากตลาดนัดขายของเก่า จากนั้นจึงซ่อมแซมและขายคืนให้กับตลาดค้าของเก่าในราคาใหม่ กระทั่งวันหนึ่ง พ่อค้าขายของเก่าแนะนำเขาให้วาดคนใส่เข้าไปในภาพวาดทิวทัศน์ โดยให้เหตุผลว่าจะช่วยให้ขายภาพได้ง่ายและได้ราคาสูงขึ้น เบลทราคคีทำตามคำแนะนำดังกล่าว ทว่าผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม เพราะภาพเดิมที่เขียนมาอย่างดีแล้ว ทำให้เขาไม่สามารถเติมภาพคนหรือองค์ประกอบอื่นเข้าไปได้อย่างเต็มที่ และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เบลทราคคีเกิดความคิดที่จะสร้างงานจิตรกรรมขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยการลอกเลียนรูปแบบ เทคนิค รวมถึงลายเซ็นของศิลปินต้นฉบับ

ผลงานที่เบลทราคคีปลอมแปลงและเลียนแบบนั้นมีตั้งแต่ศิลปินเซอร์เรียลลิสต์รุ่นใหญ่อย่างมักซ์ แอนสท์ (Max Ernst) ที่แม้แต่คนใกล้ชิดของมักซ์ แอนสท์ เห็นแล้วยังต้องเอ่ยปากชื่นชมในความงาม รวมไปถึงศิลปินมีชื่ออีกมากกว่า 50 คน อาทิ ไฮน์ริช แคมเปนด็องค์ (Heinrich Campendonk) เฟอร์นอร์เลร์ แช (Ferdinand Leger) มักซ์ เพชสไตน์ (Max Pechstein) อองเดร เดราน์ (Andre Derain) หรือแม้แต่ศิลปินในตำนานอย่างโยฮันเนส แวร์เมียร์ (Johannes Vermeer) เรมบรันดท์ (Rembrandt) แม้กระทั่งเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ที่เบลทราคคีอ้างว่าเขียนได้แบบสบายๆ

เบลทราคคีขณะปลอมแปลงงานจิตรกรรม โดยใส่ผงฝุ่นในเฟรมผ้าใบเก่า

แต่การทำซ้ำงานจิตรกรรมที่มีอยู่แล้วก่อนหน้าและมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ก็ถือเป็นเรื่องโง่เง่าเกินไปสำหรับเขา เพราะไม่ว่าจะทำซ้ำขึ้นมาใหม่อีกกี่ครั้ง มันก็เป็นได้แค่งานลอกเลียนแบบ แถมยังง่ายที่จะถูกจับได้เสียด้วย เบลทราคคีจึงใช้พรสวรรค์และทักษะในการลอกเลียนสร้างภาพขึ้นมาใหม่บนเฟรมผ้าใบเก่าๆ ที่หาซื้อได้จากตลาดนัดขายของโบราณ และทำการเติมเต็มช่องว่างในงานของศิลปินจากจินตนาการของเขาเอง ซึ่งนั่นหมายความว่าเขาได้ลดทอนและเพิ่มเติมมุมมองหรือองค์ประกอบบางอย่างเข้าไปในภาพ โดยลอกเลียนเพียงเทคนิคและรูปแบบการแสดงออกดั้งเดิมของศิลปินผู้นั้น

เบลทราคคีไม่ได้แค่เติมเต็มช่องว่างทางจินตนาการของศิลปินเท่านั้น แต่เขายังเติมเต็มช่องว่างทางประวัติศาสตร์ด้วยการเขียนภาพที่ไม่มีอยู่หรือไม่ถูกค้นพบของศิลปิน ทว่าเคยถูกอ้างถึงในวรรณกรรมหรือเคยปรากฏอยู่ในงานเขียนทางประวัติศาสตร์มาก่อน โดยอาศัยการสร้างเรื่องเล่าที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับภาพดังกล่าว และทิ้งร่องรอยไว้ให้นักประวัติศาสตร์ศิลป์หรือผู้เชี่ยวชาญได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพนั้นอย่างเป็นปริศนา เช่น ภรรยาของเขาเคยมีปู่เป็นนักสะสมงานศิลปะ และหนึ่งในผลงานที่อยู่ในชุดสะสมนั้น (ในภาพถ่ายจัดฉาก) ก็คือผลงานการปลอมแปลงของเขานั่นเอง

ความเป็นอัจฉริยะด้านการปลอมแปลงของเบลทราคคีที่ว่านี้นำความมั่งคั่งมาสู่เขาและครอบครัวอย่างคาดไม่ถึง เขาเดินทางไปรอบโลก สร้างบ้านพักหรูหราในเยอรมนีและฝรั่งเศส และทำการปลอมแปลงงานจิตรกรรมจำนวนมาก โดยมอบหมายให้ภรรยาของเขา เฮเลเน เบลทราคคี (Helene Beltracchi) ทำหน้าที่เสนอขายภาพพร้อมกับเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาพเขียนแก่ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับรองความเป็นของแท้ให้กับงานจิตรกรรมชิ้นนั้นๆ ก่อนจะส่งไปขายหรือประมูลในตลาดศิลปะในมูลค่าหลายล้านยูโรต่อผลงานหนึ่งชิ้น

แต่โชคก็ไม่ได้เข้าข้างเขาเสมอไป ในปี 2010 ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีตรวจสอบงานจิตรกรรมถูกร้องขอจากแกลเลอรีแห่งหนึ่งให้ตรวจสอบผลงานจิตรกรรมที่ชื่อ ภาพสีแดงและม้า (Rotes Bild mit Pferden) ของจิตรกรชาวดัตช์ผู้โด่งดัง ไฮน์ริช แคมเปนด็องค์ กระทั่งค้นพบหลักฐานในเวลาต่อมาว่าในปี 1914 ซึ่งถูกอ้างว่าศิลปินสร้างงานชิ้นนี้ขึ้น ยังไม่มีการคิดค้นสีขาวไทเทเนียมไวต์ (Titanium White) อย่างที่พบในงานจิตรกรรมปลอมแปลงฝีมือเบลทราคคี

(บน) Rotes Bild mit Pferden ผลงานการปลอมแปลงของเบลทราคคี ซึ่งถูกประมูลไปเมื่อปี 2006 ด้วยมูลค่า 2.9 ล้านยูโร
(ล่าง) Harlequin and Columbine (1913) ของไฮน์ริช แคมเปนด็องค์

หลังถูกเปิดโปง เบลทราคคียอมรับว่ามีผลงานส่วนหนึ่งของเขากระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ที่มีชื่อหลายแห่งทั่วโลก โดยมีผลงาน 200-230 ชิ้นที่ยังคงหมุนเวียนอยู่ในตลาดศิลปะ และยังไม่ถูกค้นพบหรือถูกเปิดเผยจากผู้เป็นเจ้าของ ในปี 2011 เบลทราคคีถูกศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี ส่วนเฮเลเนต้องโทษจำคุก 4 ปี โดยทั้งคู่ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2 ล้านยูโรให้กับนักสะสมที่ประมูลได้ ภาพสีแดงและม้า ในขณะที่บริษัทจัดประมูลต้องชดใช้ส่วนที่เหลืออีก 900,000 ยูโรให้กับนักสะสมรายดังกล่าว โดยระหว่างการรับโทษจำคุก คู่สามีภรรยาได้รับอนุญาตให้ทำงานในสตูดิโอที่อยู่นอกเรือนจำได้ตามปกติในช่วงเวลากลางวัน แต่ต้องกลับเข้าห้องขังในเวลากลางคืน

จดหมายและซองจดหมายที่เบลทราคคีและภรรยาส่งถึงกันระหว่างต้องโทษจำคุก

ในที่สุด เส้นทางชีวิตอันมั่งคั่งของอัจฉริยะนักปลอมก็ต้องจบลง แต่เส้นทางชีวิตที่ท้าทายในฐานะศิลปินคนหนึ่งสำหรับเขาเพิ่งจะเริ่มต้น เบลทราคคีผู้ยืนยันมาตลอดว่าไม่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งใดๆ กับศิลปะ ในท้ายที่สุด เขากลับใช้มันเป็นเครื่องมือสื่อสารกับภรรยาในระหว่างต้องโทษจำคุก จดหมายที่เต็มไปด้วยภาพวาดลายเส้นและภาพตัดแปะ (Collage) มากกว่า 8,000 หน้าถูกส่งหากันนับครั้งไม่ถ้วน เขาเริ่มเขียนภาพเพื่อนนักโทษในคุก และสร้างงานตามแบบฉบับของตัวเองตลอดช่วงเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในสตูดิโอนอกเรือนจำ กระทั่งมีนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกภายใต้ลายเซ็น ‘โวล์ฟกาง เบลทราคคี’ ในปี 2014 และจัดแสดงผลงานอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ผลงานบางส่วนของเบลทราคคีที่สร้างขึ้นตามรูปแบบเฉพาะของเขาเอง

ในโลกแห่งการซื้อขายงานศิลปะ แม้ว่าหลายคนจะยอมรับในความเป็นอัจฉริยะด้านการปลอมแปลงและเลียนแบบงานจิตรกรรมของโวล์ฟกาง เบลทราคคี แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโลกของศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์ ‘ความเป็นของแท้’ ในงานจิตรกรรม สถาบันประมูลงานศิลปะ หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งคนใกล้ชิดในครอบครัวของเขาเอง

ความสำเร็จและความล้มเหลวของเบลทราคคีทำให้เราได้เห็นคุณค่าและมูลค่าของระบบซื้อขายงานศิลปะ และกระบวนการทำของปลอมให้กลายเป็นของจริง โดยมีเม็ดเงินมหาศาลปลิวว่อนเป็นแรงจูงใจให้กับทุกฝ่าย ได้เห็นความหลงใหลที่นักสะสมมีต่อผลงานศิลปะและลายเซ็นของศิลปิน หรือแม้แต่การตั้งคำถามต่อความเป็นของแท้ของเทียมและการผลิตซ้ำในโลกศิลปะ

ไม่ว่าโวล์ฟกาง เบลทราคคี ในวันนี้จะถูกมองในฐานะอาชญากรหรือศิลปิน แต่เขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เผยให้เห็นความย้อนแย้งและตลกร้ายในโลกศิลปะ เมื่อคุณค่าของงานจิตรกรรมชิ้นหนึ่งไม่ได้ถูกตระหนักถึงเพียงแค่สิ่งที่ปรากฏอยู่บนระนาบของผืนผ้าใบ หากเกี่ยวโยงอยู่กับชื่อเสียง ประวัติความเป็นมาของศิลปิน ความเป็นผู้ริเริ่ม บริบทที่เกี่ยวข้องกับเวลา และยุคสมัยในประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่ล้วนแต่มีผลและนำไปสู่การประเมินมูลค่าของงานจิตรกรรมชิ้นนั้นๆ

คงตลกไม่น้อย ถ้าวันหนึ่ง โวล์ฟกาง เบลทราคคี จะพาตัวเองและงานศิลปะของเขาเข้าไปอยู่ในระบบดังกล่าว โดยที่มีนักสะสมและผู้ชมตั้งคำถามถึงความเป็นของแท้ในงานของเขา หรือความเป็นศิลปินที่แท้ของตัวเขาเอง ประวัติฉาวของเบลทราคคีในอดีตจะสร้างหรือลดคุณค่า-มูลค่าให้กับงานของเขาหรือไม่ อย่างไร คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป เช่นเดียวกับที่เคอร์ติส บริกก์ส เจ้าของแกลเลอรี Art Room 9 ซึ่งจัดแสดงผลงานชุดหนึ่งของเบลทราคคี กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เบลทราคคีก็เหมือนใครสักคนที่สลับป้ายฉลากไวน์ราคาถูกมาแปะไว้บนขวดไวน์ราคาแพง เพื่อให้ผู้คนได้ลิ้มลองรสชาติของมัน และตอนนี้คนที่ได้เห็นงานศิลปะของเขาสามารถตัดสินใจได้เองว่าคุ้มค่าพอที่จะซื้อมันหรือไม่”

FACT BOX:

  • โวล์ฟกาง เบลทราคคี และเฮเลเน เบลทราคคี มีลูกสาวและลูกชายที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพ่อของพวกเขามีอาชีพเป็นนักปลอมแปลงงานศิลปะ
  • จดหมายที่เบลทราคคีและเฮเลเนส่งถึงกัน ต่อมาถูกรวมเล่มเป็นหนังสือในภาษาเยอรมันชื่อ Beltracchi: Selbstpörtrat และ Beltracchi: Ein Schluss mit Engeln
  • เรื่องราวของเบลทราคคีปรากฏอยู่ในงานเขียนและหนังสือหลายเล่ม รวมถึงภาพยนตร์สารคดีชื่อ Beltracchi: Die Kunst der Fälschung (The Art of Forgery), 2014 กำกับโดยอาร์เนเบียร์ เกนชต็อค (Arne Birkenstock) ลูกชายของทนายความผู้ต่อสู้คดีให้กับเบลทราคคี
  • ปัจจุบัน เบลทราคคีและภรรยาทำงานศิลปะและใชัชีวิตอยู่ในเมือง Montpellier ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส
Tags: , , , , , , , , , ,