ประเด็นสำคัญหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ก็คือการที่พรรคฝ่ายอนุรักษนิยมไม่สามารถเอาชนะพรรคฝ่ายตรงข้ามได้ และไม่สามารถรวมเสียงมากพอในการตั้งรัฐบาล

ชัดเจนว่าเสียงที่ต้องการ เปลี่ยนนั้นมากกว่าเสียงที่ต้องการอยู่แบบเดิม การเปลี่ยนนั้นส่งผลรุนแรง ไม่ใช่การเปลี่ยนแบบเพื่อไทย เปลี่ยนให้ปากท้องดีขึ้น แต่เป็นการเปลี่ยนแบบก้าวไกลที่รุนแรง รวดเร็ว กว่า เป็นความรู้สึกร่วมไม่ว่าจะคนเจเนอเรชันใหม่ เจเนอเรชันเก่า เป็นความเห็นร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนเมือง คนชนบท

ผลการเลือกตั้งนอกจากจะเปลี่ยนอย่างรุนแรงแล้ว ยังส่งผลไปถึงขั้วอำนาจเดิม ซึ่งเคยมีนายพล 3 ป. เป็นตัวตายตัวแทน ให้สูญสลายไปโดยปริยาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้มเหลวในสนามเลือกตั้ง ทั้งที่เป็นคนกุมอำนาจ จัดการกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงทุนกับพรรคไปไม่น้อย แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นที่น่าพอใจ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา อีกหนึ่ง ป. ตัดสินใจ โดดหนีก่อน ภายหลังรู้ว่าการแตกแยกของพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรจะพาให้ทุกอย่างพังอย่างแน่นอน

การล่มสลายของ 3 ป. อาจดูดีในสายตาของ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ เพราะความหมายโดยนัยคือการทำลายระบอบที่ลากยาวมานานนับสิบปี เป็นชัยชนะของผู้ที่ต้องการจะเปลี่ยน คล้ายกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่สามารถเอาชนะ จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และ พันเอก ณรงค์ กิตติขจร จะต่างกันบ้างที่วันนั้น อาจมีส่วนผสมของนายทหารอีกกลุ่ม แต่รอบนี้คือการเอาชนะผ่านการเลือกตั้ง ที่แม้ระบบจะพิกลพิการเพียงใด แต่ถึงที่สุดก็เป็นชัยชนะผ่านเสียงประชาชนล้วนๆ

เป็นผลสืบเนื่องมาจากการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่การยุบพรรคอนาคตใหม่ต้นปี 2563 และปฏิกิริยาที่ตามมาหลังจากนั้น ทุกคนล้วนหวังว่าความขัดแย้ง ความไม่พอใจทั้งหมด จะจบลงที่หีบเลือกตั้ง หลังจากลองด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ประสบความสำเร็จ 

ในอีกด้านหนึ่ง หนึ่งก็คือฝ่ายอนุรักษนิยมต้องหา ‘ตัวตายตัวแทน’ ตัวใหม่ มารับบทเป็นหนังหน้าไฟ เพื่อต่อสู้กับพรรคก้าวไกล และต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันก็เพื่อรักษาดอกผลจากการรัฐประหารเมื่อ 9 ปีก่อนให้คงอยู่ต่อไป โดยไม่โดน ‘เช็กบิล’

ประเด็นก็คือฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นมีองคาพยพมากกว่า 3 ป. แต่คือระบบทั้งหมด อนุรักษนิยมยุคนี้คือการสมานกันระหว่างนักการเมืองที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง อำนาจเชิงจารีต กองทัพ หรือแม้แต่ทุนผูกขาดที่คอยอยู่เบื้องหลัง แม้ไม่ใช่อนุรักษนิยม แต่ต้องการคอนโทรลรัฐบาล

ฟังดูเหมือนทฤษฎีสมคบคิด แต่ยิ่งนานวันเรื่องอย่างนี้ยิ่งแปลก ส.ว. บางคนที่เคยบอกจะโหวตพิธา เปลี่ยนใจไม่ยอมโหวต ส.ว. บางคนตั้งเงื่อนไขใหม่ว่าด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฉากทัศน์แปลกๆ ว่าด้วยการที่ ส.ว. โหวตไม่ผ่าน พิธารวบรวมเสียงได้ไม่ถึง 376 เสียงเกิดขึ้นทุกวัน กระแสข่าวข้ามไปถึงว่าหากไม่ผ่านรอบแรกจะต้องโหวตนายกฯ กันกี่รอบ แล้วกี่รอบถึงควรจะเปลี่ยนตัว

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ คือแผนที่ใครบางคนวาดหวัง… 

เริ่มจากหวังให้พรรคเพื่อไทยเขี่ยพรรคก้าวไกลออกจากการร่วมรัฐบาลให้ได้ แล้วไปจับเอาพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเดิมอย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งจะทำให้รวมเสียงได้ 287 เสียง และหากไม่หนำใจ ก็ให้รวม ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ไปด้วย ก็จะได้มากถึง 322 เสียง

หวังให้ฝ่ายอนุรักษนิยมกุมบังเหียนรัฐบาลชุดนี้ เริ่มจากรัฐบาลชุดที่มีแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ กระทรวงดีๆ จะตกอยู่กับพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ต่างจากรัฐบาลประยุทธ์ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นฉากทัศน์ที่น่าหนักใจยิ่งสำหรับพรรคเพื่อไทย

หากเรื่องดำเนินไปแบบนี้ พรรคเพื่อไทยอาจถอนตัวจากรัฐบาล และเมื่อตัดสินใจถอนตัว ก็อาจเป็นพรรคเพื่อไทยเองที่แตกเป็นเสี่ยง มี ส.ส. จำนวนหนึ่งพึงใจจะอยู่เป็นรัฐบาลต่อ และ ส.ส.​ อีกจำนวนหนึ่งที่ยังมั่นในหลักการประชาธิปไตยยอมไปเป็นฝ่ายค้าน ขณะที่พรรคก้าวไกลจะโดนสารพัดคดีถาโถมเข้ามา ทำให้พรรคก้าวไกลที่เป็นฝ่ายค้านอยู่แล้ว ถูกสกัดกั้นอีกรอบไม่ให้พรรคก้าวไกลกลับมาเป็นใหญ่อีกในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ในเวลาเดียวกัน จะมีบุคคล หรือกลุ่มบุคคลหนึ่งขึ้นมาดำรงสถานะ ‘หัว’ ของพลังอนุรักษนิยมใหม่ ทดแทน พลเอกประยุทธ์ ทดแทนพลเอกประวิตร และพลเอกอนุพงษ์ หัวนั้นอาจเป็นได้ทั้งหัวหน้าพรรคการเมือง สื่อมวลชนสายปั่นที่เก่งในทางปลุกระดม อาจเป็นได้ทั้งอดีตนายทหารสักคน หรืออาจเป็นกลุ่มทุนที่เสียประโยชน์หากก้าวไกลขึ้นมาเป็นใหญ่ แต่ละฝ่ายต่างเป็นเอกเทศต่อกัน จับมือกันเฉพาะกิจโดยมีเดิมพันอันยิ่งใหญ่ มีทุนสนับสนุนตามสมควรต่อใครก็ตามที่เดินด้วยจุดประสงค์นี้ แต่ล้วนมีเป้าหมายสุดท้ายเดียวกัน

เวลานี้ เรื่องราวจากฝั่งอนุรักษนิยมจึงเป็นเรื่องราวที่ ‘รับบรีฟ’ มาว่าด้วยความอันตรายของพรรคก้าวไกลที่อาจกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา หรือเรื่องทัศนคติแบ่งแยกดินแดน ซึ่งปลิวว่อนอยู่ทั่วกลุ่มไลน์ เพื่อกล่อมไปเรื่อยๆ ว่าพรรคก้าวไกลนั้นเป็น ‘ภัยคุกคาม’ มากเพียงใด

แล้วทั้งหมดจะนำไปสู่อะไร? อย่าลืมว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยสรุปย่อนั้นเป็นเรื่องคล้ายๆ กัน ว่าด้วยการแก่งแย่งขึ้นเป็นใหญ่ของฝ่ายขวา อันเริ่มต้นจากการกลับประเทศไทยของจอมพลถนอม ไม่ว่าจะนายทหารที่หวังขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก ไม่ว่าพรรคการเมืองที่หวังให้อำนาจนอกระบบอุ้มชู แม้แต่คนในรัฐบาลชุดนั้น ต่างก็ต้องการล้มนายกฯ ของตัวเอง และอยู่ในพล็อตอันล้ำลึก ซึ่งนำไปสู่การล้อมปราบ สังหารหมู่นักศึกษาในช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม

ถึงวันนี้ ยังมีตัวละครลับอีกมากที่อยู่หลังฉาก หวังจะขีดเส้นเรื่องให้เป็นไปตามที่ตนเองหวัง เป็นความพยายามฝืนโลกครั้งสุดท้ายในวันที่โลกยังคงหมุนต่อไป 

คำถามใหญ่ของฝ่ายอนุรักษนิยม ณ วันนี้ก็คือพวกเขากำลังสู้กับอะไร สู้กับทักษิณ สู้กับก้าวไกล หรือสู้กับความเปลี่ยนแปลง ถ้าพวกเขาชนะแล้ว พวกเขาจะได้อะไร ได้ประเทศที่เป็นปึกแผ่น มั่นคง หรือได้ประเทศที่แตกเป็นเสี่ยง ความขัดแย้งระหว่างรุ่น ระหว่างวัย ขยายตัวมากกว่าเดิม แล้ว ณ วันนั้น เศรษฐกิจ-สังคมไทย จะไปสู่จุดไหน ต้องใช้เวลามากขนาดไหนในการฟื้น 

ทุกรอบที่ผ่านมา ฝ่ายอนุรักษนิยมมองอะไรสั้นๆ กำจัดอะไรไปทีละตอน ทีละท่อน เหมือนกับการกำจัดพรรคไทยรักไทย แล้วได้พลังประชาชน เหมือนกับการพยายามจัดการกับพรรคเพื่อไทย แต่กลับได้พรรคอนาคตใหม่ เหมือนกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ แล้วตามมาด้วยการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่ข้อเรียกร้องไปไกลกว่าที่พวกเขาจะคาด

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ จะเป็นข้อสรุปว่าการเมืองที่เน้นต่อรองอำนาจแบบเดิม ผ่านเสียงในสภาฯ แล้วเอาประชาชนผู้ใช้สิทธิออกจากสมการนั้นยังเป็นไปได้อยู่หรือไม่ แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหนในสมการการเมืองแบบใหม่ 

และแน่นอน คำตอบของเรื่องนี้ จึงไม่ได้มีแค่ ‘พิธาจะเป็นนายกฯ หรือไม่’ ไม่ใช่แค่ว่าเสียงเลือกตั้งของประชาชนผ่านการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคใดชนะ พรรคใดรวมเสียงได้ แต่คือการวัดว่าฝั่ง ‘อนุรักษนิยม’ ยังสู้กลับอยู่ไหม และจะเปิดไพ่ไหนเพื่อสู้

หลังเลือกตั้งรอบนี้ จึงไม่ได้เห็น Democracy Strikes Back อีกแล้ว แต่เป็น The Empire Strikes Back ของจริง…



Tags: , ,