1
เมื่อตอนที่ป๊าส่ง ‘มิว’ มาอยู่กับอาม่าที่กรุงเทพฯ มิวในวัยเด็กไม่ค่อยจะเข้าใจนักว่า ทำไมอาม่าถึงเห็นแก่ตัว อยากให้เขาย้ายมาอยู่ที่นี่ด้วย
มิวออกมานั่งหน้าบ้านด้วยอารมณ์ขุ่นมัว ขณะที่ ‘โต้ง’ เด็กชายข้างบ้านกำลังเล่นหมากฝรั่งกับพี่สาวที่ริมหน้าต่างชั้นบน
หมากฝรั่งของโต้งพลัดหล่นลงมาบนหัวมิว นั่นเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่ได้พบกัน และเป็นฉากแรกที่ผู้ชมได้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายสองคนที่ค่อยๆ สนิทสนมกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยพันธะที่ทำให้มิวต้องอาศัยอยู่กับอาม่า เวลาทำให้ทั้งสองได้มีบทสนทนาร่วมกันทีละน้อย ในตอนที่เล่นเปียโนตัวเก่ง หล่อนบอกกับหลานชายว่า อยากเล่นเปียโนเก่งเหมือนอากงไหม เผื่อว่าวันหนึ่งมิวจะได้ใช้ดนตรีบอกความรู้สึกบางอย่างกับใครสักคน
2
‘ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล’ เดบิวต์จาก คน ผี ปีศาจ ในฐานะผู้กำกับหนังยาวเรื่องแรกในปี 2547 กระทั่ง 3-4 ปีต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2550 รักแห่งสยาม หนังเรื่องที่สามของเขาลงโรงฉายในไทยเป็นครั้งแรก โปรโมตด้วยหน้าหนังรักวัยรุ่นหนุ่มสาวแบบ Feel Good ทำให้หลายคนที่ได้ดูตัวอย่างคิดว่าเป็นเรื่องราวของคู่รักวัยรุ่นสองคู่จึงตัดสินใจตีตั๋วเข้าชม
ทว่าหนังกลับเซอร์ไพรส์ผู้ชมเมื่อดำเนินมาถึงกลางเรื่อง ฉากที่โต้งและมิวจูบกัน เรียกเสียงกรี๊ดของคนดูในโรงบางส่วน และเป็นที่พูดถึงในวงกว้างเมื่อหนังจบ ทั้งกลุ่มที่ประทับใจมาก และกลุ่มที่ไม่พอใจเพราะรู้สึกว่าถูกหลอกให้มาดู ไม่ใช่แค่ความเซอร์ไพรส์ที่ทำให้คนดูยุคนั้นยังคงจดจำเสมอมา แต่เพราะ รักแห่งสยาม พิสูจน์ผลลัพธ์ด้วยตัวของมันเองว่า นี่คือหนังดราม่าคุณภาพดีจริงๆ
ที่สำคัญหนังยังแจ้งเกิดนักแสดงวัยรุ่นหน้าใหม่อย่าง ‘มาริโอ้ เมาเร่อ’ และ ‘วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล’ รวมถึงวงดนตรี August ภายในระยะเวลาอันสั้น รักแห่งสยาม ถือเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จในแง่คำวิจารณ์เชิงบวก ด้วยรายรับกว่า 40 ล้านบาท จากทุนสร้าง 18.5 ล้าน และได้รับรางวัลสูงสุดจากรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 17 รวมถึงรางวัลอื่นๆ จากต่างประเทศ และด้วยกระแสต่างๆ ที่ช่วยส่งให้มาริโอ้, วิชญ์วิสิฐ และวง August โด่งดังในประเทศจีนในเวลาต่อมา
รักแห่งสยาม น่าจะเป็นหนังแมสเรื่องแรกๆ ที่จุดกระแสใกล้เคียงปรากฏการณ์ Boy’s Love แต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ยังไม่เข้าใกล้เส้นนั้น คือความเรียลลิสติก ที่ทุกคนเชื่อได้ว่ามันเกิดขึ้นได้จริงๆ กับการดำรงชีวิตของมนุษย์
3
ชูเกียรติ ผู้กำกับบอกทำนองว่า รักแห่งสยาม ไม่ได้เป็นหนังเกย์ แต่เป็นหนังที่พูดถึงความรักหลากหลายรูปแบบ และพูดถึงความเป็นมนุษย์สามัญ
ในสังคมส่วนใหญ่ เรามักจะมองเห็นหน้าตาของความรักในรูปแบบของชายและหญิง แต่เมื่อมองสารัตถะของหนังเรื่องรักแห่งสยาม เราจะเห็นสิ่งที่ผู้กำกับต้องการสื่อสารว่า ความรักก็คือความรัก มันเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าเราจะมีเพศ วัย สถานภาพ หรือบทบาทใดก็ตาม
ผ่านมา 16 ปี เมื่อไรที่มองย้อนกลับไป เรามักจะมองเห็น รักแห่งสยาม ในฐานะที่มันเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่เล่าชีวิตความรักของเพศเดียวกันได้อย่างเป็นมนุษย์และมีมิติ ยืนอยู่บนพื้นฐานของชีวิตปุถุชน มีความลื่นไหล ไม่ได้แฟนตาซี ไม่ได้ทำเพื่อจิ้น ไม่ได้เล่าให้ตัวละครเป็นตัวตลกเพื่อสร้างสีสัน และตอนจบอาจไม่ได้ Happy Ending เสมอไป
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว รักแห่งสยาม ถือเป็นหนังที่ฉายให้เห็นภาพของความหลากหลายอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นได้บ่อยครั้งนักในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้วัยรุ่นที่ได้ดูเข้าใจตัวเองมากขึ้น ทำให้พ่อแม่เริ่มเรียนรู้ลูกมากขึ้น ทำให้สังคมเริ่มทำความเข้าใจความรักในมุมมองอื่นๆ มากขึ้น และทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เริ่มหันมาผลิตสื่อ LGBTQ+ ที่มีมิติลุ่มลึกมากขึ้น โดยไม่ผลิตซ้ำความตลก การล้อเลียน และความรันทดอดสูของกลุ่มเพศหลากหลายแบบตื้นๆ เพียงแง่มุมเดียว
4
ปี 2565 ในงานกรุงเทพกลางแปลง รักแห่งสยาม มีอายุครบรอบ 16 ปี และได้ฉายในพื้นที่สยาม ซึ่งมีนัยสำคัญในฐานะที่เป็นพื้นที่หลักที่ตัวละครในเรื่องมาพบปะปฏิสัมพันธ์กัน รักแห่งสยาม เป็นสื่อบันเทิงก็จริงอยู่ แต่ก็สร้าง empower ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับคนดูและสังคมได้ อย่างน้อยๆ ก็คือการสร้างพื้นที่ของความเข้าอกเข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย เพราะโลกใบนี้มีความรักและความสัมพันธ์หลายรูปแบบเกินกว่าเราจะตัดสินได้ง่ายๆ
ทุกวันนี้ รักแห่งสยาม ยังคงเป็นหนัง Coming of age ในดวงใจของหลายๆ คน รวมถึงตัวเราด้วย ช่วงวัยเด็กเราอาจดูด้วยความรู้สึกสนุกไม่ได้ลงลึกเชิงอารมณ์ แต่เมื่อกลับมาดูช่วงเข้าวัยกลางคน ก็ยิ่งได้เข้าใจความเจ็บปวดรวดร้าวอันซับซ้อนของตัวละครมากขึ้น และนั่นหมายถึงการกลับมามองตัวเองด้วยความเข้าใจมากขึ้นเช่นกัน
16 ปีผ่านไป มิวและโต้งยังคงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน เวลากลับมาดูหนังเรื่องนี้ทีไรก็จะนึกหวนอดีตได้ทุกครั้ง
ทั้งย่านสยามในยุคสมัยที่ยังมีโรงหนังสกาลา ก่อนที่จุฬาฯ จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้เป็นห้างสรรพสินค้า
ร้านเทปและซีดี ก่อนที่ทุกคนจะหันไปฟังสตรีมมิงที่สะดวกสบายกว่า
โทรศัพท์มือถือฝาพับ และสมาร์ตโฟนของ Nokia ที่เราเคยใช้สมัยมัธยมฯ และองค์ประกอบอื่นๆ ที่สะท้อนยุคสมัยในอดีต
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่เรื่องราวความรักและเสียงเพลงในรักแห่งสยามน่าจะเป็นสิ่งคนดูอินได้ไม่ยาก เพราะความรักและดนตรีเป็นภาษาสากล มันจึงอยู่เหนือเพศและคำนิยามได้ และถ้าจะไปให้ไกลกว่านั้น ถ้าเรื่องราวในรักแห่งสยามเกิดขึ้นในสังคมที่เข้าใจความหลากหลายมากกว่านี้ สุนีย์อาจจะเข้าใจความรู้สึกของลูกชาย
ยอมรับในตัวตนที่ลูกเป็นโดยไม่มองว่ามันผิดไปจากสิ่งที่ตัวเองคาดหวัง และท้ายที่สุดโต้งกับมิวอาจจะได้รักกัน
หนังทำให้เราเห็นว่าความรักไม่สามารถกำหนดได้ด้วยเพศเสมอไป ในขณะที่กฎหมายและสังคมมีส่วนที่จะเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ของความรัก แต่หากเรามองคนเป็นคนเหมือนกัน ทุกเพศก็ควรได้โอกาสที่จะได้รับความเคารพ ได้มีพื้นที่ปลอดภัย มีสิทธิที่จะรัก และมีกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองในฐานะประชาชนโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยอคติใดใด
“ดั่งในใจความบอกในกวี ว่าตราบใดที่มีรักย่อมมีหวัง”
หวังว่าหลังจากฉากสุดท้ายในหนังจบลง เมื่อสังคมขับเคลื่อนก้าวไปข้างหน้า มิวกับโต้งอาจจะได้ลองคบกันอย่างที่ใจต้องการ
ภาพ: สหมงคลฟิล์มฯ
Fact Box
หากยังคิดถึงหนังเรื่องนี้ ในโอกาส Pride Month เดือนแห่งการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ The MOMENTUM ชวนดู ‘รักแห่งสยาม’ บนจอใหญ่อีกครั้ง ในกิจกรรม Empower your Pride วันที่ 25 มิถุนายน 2566 นี้ ที่โรงภาพยนตร์ เอสเอฟ เวิลด์ ซีนีมา เซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมกับฟังทัศนะจากผู้กำกับภาพยนตร์ ‘มะเดี่ยว’ - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เพื่อย้อนอดีตกลับไปมองหนังเรื่องนี้ และความเท่าเทียมทางเพศเมื่อ 16 ปีก่อน เทียบเคียงกับวันนี้ วันที่ซีรีส์วาย วันที่สื่อบันเทิงแนว Boy’s Love เป็นจุดขายหนึ่งของประเทศ
สามารถลงทะเบียนเข้าชมภาพยนตร์นี้ได้ฟรีทาง https://forms.gle/odnBvD3CwfaeqyWo9