หนึ่งปีที่แล้ว เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เปิดตัวกับพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ผู้พกความมั่นใจมาเต็มที่ พร้อมกับถอดหมวกนักวิชาการ จากตำแหน่งสุดท้ายในฐานะอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาเป็น ‘นักการเมือง’ เต็มตัว

แม้สุดท้ายจะพ่ายแพ้ให้กับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แต่สุชัชวีร์ก็ไม่ได้พ่ายหมดรูป เขาได้รับเลือกมากเป็นอันดับที่ 2 ด้วยคะแนนกว่า 2.5 แสนคะแนน เอาชนะวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล และยังเป็นที่หนึ่งในซีกอนุรักษนิยมด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สกลธี ภัททิยกุล หรือพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง อีกทั้งยังพาพรรคประชาธิปัตย์ปักธงในสนามสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้ถึง 9 ตำแหน่ง หลังจากไม่มี ส.ส.ในสนามนี้เลยในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562

แน่นอน ทุกคนรู้ว่าเส้นทางทางการเมืองของสุชัชวีร์ไม่ได้หยุดแค่นั้นแน่นอน

หนึ่งปีให้หลัง เราโคจรมาเจอกับสุชัชวีร์อีกครั้ง วันนี้ เขารู้เส้นแบ่งในทางการเมือง ไม่ได้ ‘เล่นใหญ่’ เท่ากับรอบที่แล้ว เขามี ‘มาด’ ในทางการเมืองมากขึ้น ในการเลือกตั้งใหญ่ 2566 สุชัชวีร์ได้รับมอบหมายให้ดูแลสองเรื่องใหญ่ เขาเป็นหัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัยของพรรค และยังได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะทำงานด้านนโยบายกรุงเทพมหานครของพรรค เป็นโฉมหน้าคนรุ่นใหม่ไม่กี่คนของพรรคเก่าแก่อายุ 87 ปี ด้วยความคาดหวังว่า พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ในวันที่ทุกคนมีแต่วิเคราะห์ว่าพรรคที่นำโดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคนี้ กำลัง ‘ตกต่ำ’ ทั้งยังยากจะฟื้นฟู พร้อมกับตอบคำถามว่าด้วย Passion ทางการเมืองและ ‘เป้าหมาย’ ของเขาในอนาคต

ย้อนกลับไปมอง 1 ปีที่ผ่านมา กับประสบการณ์ทางการเมืองของคุณ เป็นอย่างไรบ้าง

เยอะมากครับ สำหรับผมถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตใหม่ เป็นประสบการณ์ที่ถาโถมเข้ามาในช่วงเวลาสั้นๆ อันดับแรกที่ผมมองเห็นก็คือ การเมืองไทยต้องการ ‘มืออาชีพ’ จำนวนมาก และต้องการคนทุกรุ่นเข้ามาร่วมกันจริงๆ

เอาเข้าจริงในแวดวงของ ‘มืออาชีพ’ นั้น เราแทบมองไม่เห็นเลยว่ามีคนกลุ่มนี้เข้ามาทำงานการเมือง ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรมืออาชีพที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประเทศด้านสาธารณูปโภค เรื่องพลังงาน แม้แต่หมอ พยาบาล ครูที่เป็นมืออาชีพ ที่จะกระโดดเข้ามาในการเมืองนั้นน้อยมากเลยจริงๆ สำหรับผม เป็นสิ่งที่การเมืองไทยขาดมากๆ 

แล้วคุณยังมองการเมืองในแง่บวกไหม

แน่นอน สาเหตุที่ผมออกมา เพราะตั้งใจอยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง ตอนที่ผมเป็นอธิการบดี เป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เราส่งเสียงดังๆ เลยว่า เราสามารถพัฒนาการศึกษาไทยได้ตามขั้นตอน 1 2 3 4 แต่กลายเป็นว่าส่งเสียงไปแล้วเงียบ ตอนเป็นนายกสภาวิศวกร นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เราเคยส่งเสียงไปว่า ระบบขนส่งมวลชนควรจะเป็น 1 2 3 แบบนี้ – แต่ก็เงียบอีก หรืออย่างเรื่องอุบัติเหตุ การออกแบบถนน เราเคยส่งเสียงไปยังภาครัฐ ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายจึงมีหนทางเดียวคือต้องออกมาลุยเอง ออกมาเจ็บเอง โดยมีความเชื่อว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงได้ หากมีมืออาชีพค่อยๆ ออกมาเรื่อยๆ 

ชีวิตประจำวันในฐานะนักการเมืองต้องทำอะไรบ้าง

โอ้โห หนักมากเลย – ต้องเรียกว่าเป็นชีวิตที่ควบคุมไม่ได้เลย บางทีก็ต้องรับโทรศัพท์ตั้งแต่เช้ามืดว่ามีประชุมด่วน หลังจากนั้น ทั้งวันมีประชุม มีงาน มีลงพื้นที่ แล้วลงพื้นที่แต่ละครั้งก็ไม่สามารถควบคุมเวลาได้ ไม่เหมือนกับการสอนหนังสือ ไม่เหมือนการทำงาน 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น

ในการลงพื้นที่แต่ละครั้ง เราอาจจะต้องอยู่ตรงนั้นเกินเวลา ก็ต้องรีบๆ  นั่งรถไป บางทีต้องต่อมอเตอร์ไซค์ หรือต้องวิ่งไป และงานบางทีก็ถึงค่ำมืด โดยเฉพาะงานเย็น ไม่ว่าจะเป็นงานสวดศพ งานแต่ง ทุกงานที่มีคนเชิญไป

สำหรับผม งานการเมืองเป็นอาชีพที่ทำงานหนักและท้าทายมากๆ และหลายๆ คน ก็คนอาจไม่ได้ให้ค่าในอาชีพนี้เท่าที่ควร

จริงๆ แล้วชีวิตทุกวันนี้ต่างกันแค่ไหน กับช่วงลงสมัครสนามเล็กอย่างผู้ว่าฯ กทม. 

จริงๆ แล้วไม่ต่างกันเลย วันที่ลงผู้ว่าฯ กทม. มันดุดันมากเลย เพราะช่วงเวลามันแคบๆ สั้นๆ และการเตรียมตัวก็ไม่ได้นาน วันนั้นกว่าจะประกาศวันเลือกตั้งก็ไม่มีใครรู้ ฉะนั้น เรามีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก 

บทเรียนในรอบนั้นก็คือสิ่งที่เราคิดว่าใช่ บางทีก็อาจจะไม่ใช่ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารนโยบาย เราตั้งใจสื่อสารนโยบายเพื่อแก้ปัญหา แต่บางทีก็อาจไม่ได้ทำให้เราชนะเลือกตั้งไง เพราะหลายคนอาจทำนโยบายเพื่อที่จะชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่มีนโยบายที่จะไปแก้ปัญหาก็ได้นะ

เพราะฉะนั้น ในทางการเมือง มันมีเรื่องที่ละเอียดอ่อนของมัน ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่น หรือในระดับประเทศ แล้วมันต้องใช้เวลา และถึงบางที มันก็ไม่อาจต้านทานกระแสที่มีอยู่ ณ วินาทีนั้น หรือ ณ วันนั้นได้ 

สำหรับผม เป็นอะไรที่เรียกว่าความตั้งใจ ความรู้ความสามารถก็เรื่องหนึ่ง แต่บางที จังหวะชีวิตและดวงอาจมีผลมากกว่าก็ได้ ดังนั้นสรุปง่ายๆ ก็คือ มันต้องเดินทางไปเรื่อยๆ ท้อไม่ได้ คุณอาจจะทำดีที่สุด ทำถูกที่สุด แต่มันอาจจะไม่ใช่วันของเรา ฉะนั้นต้องทำต่อไปจนกว่าจังหวะนั้นจะมาถึง

หลังจากจบเลือกตั้งผู้ว่าฯ ผมแสดงเจตนารมณ์ชัดแล้วว่าจะไม่ถอยหลังกลับไป จะเดินต่อไปจนกว่าเราจะมีโอกาสได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ รวมถึงพลังที่เรามีในวัยเราเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศในภาพใหญ่ให้ได้ เราจะแสดงความมุ่งมั่นเพื่อจะไปสู่การแก้ปัญหาให้ได้ ไม่ได้คิดทบทวนเลยครับ เดินต่อ

ในส่วนของคุณ พรรคประชาธิปัตย์มอบหมายให้ดูเรื่องการศึกษา ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเป็นอย่างไร

ต้องขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่มอบให้ผมทำสองเรื่องใหญ่ที่ผมถนัดแล้วก็ชอบ เรื่องแรกคือนโยบาย กทม. เพราะเห็นกันอยู่ ค่าฝุ่นพีกทุกวันเลย น้ำก็ยังท่วมหนักกว่าเดิม เรื่องการจราจรก็ยังมีปัญหา ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เรานำเสนออย่างต่อเนื่องมากขึ้นๆ ซึ่งวันนี้ประชาชนก็เห็นแล้วว่าทำแบบเดิม ทำแบบเก่า วิธีแบบเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 

อีกเรื่องคือเรื่องการศึกษา ถึงแม้เราเป็นวิศวกร แต่เราอยู่ภาคการศึกษามาทั้งชีวิต ผมก็เป็นครู พ่อแม่ก็เป็นครู เป็นนักบริหารการศึกษา และทุกปัญหาของประเทศไทย รากฐานจริงๆ แล้วก็มาจากเรื่องการศึกษา เลยได้ทำเรื่องที่ผมชอบและมี Passion ทั้งสองเรื่อง

ว่ากันเฉพาะเรื่องการศึกษา โดยส่วนตัวคุณมองโจทย์เรื่องการศึกษาขณะนี้อย่างไร 

ตอบตรงๆ เลยว่า เราใช้เวลาในการ ‘ศึกษา’ ปัญหาต่างๆ นั้นนานเกินไป ยกตัวอย่าง – เราปฏิรูปการศึกษากันตั้งแต่ปี 2542 หรืออาจจะก่อนหน้านั้นอีก บอกได้เลยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็รู้ ผู้ปกครองก็รู้ หรือแม้แต่เราทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในภาคการศึกษาก็รู้กันทั้งหมดว่า ปัญหาในเรื่องการศึกษามีอะไรบ้าง รู้หมดแล้ว เอกสารมีไม่รู้กี่ตั้งแล้ว แต่กลับยังไม่เคยปฏิบัติสักทีหนึ่ง ฉะนั้น ปัญหาแรกก็คือ ปัญหาที่เราไปอยู่แต่กับปัญหา มันต้องก้าวข้ามปัญหาไปแล้ว หมดเวลาปฏิรูป ได้เวลาปฏิบัติเสียทีหนึ่ง 

อีกข้อหนึ่ง คนอาจจะถามว่า – รู้แล้วทำไมไม่ปฏิบัติ? สำหรับผม ปัญหาของเราคือเราไม่มีผู้นำ เพราะว่าพอปัญหามันมีมาก ก็ต้องการผู้นำที่เป็นมืออาชีพที่เข้าใจปัญหา และสามารถบริหารปัญหาเป็น ต้องได้ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ที่เข้าใจเรื่องการศึกษาจริงๆ ถึงจะบอกว่าไปทำ 1 2 3 4 อย่างนี้นะ พอทำ 1 2 3 4 เสร็จแล้วจะตามด้วย 5 6 7 8 อย่างไร ทั้งหมดเรามัวแต่รอผู้นำ แล้วคนทำเป็นไม่ได้ทำ และคนทำก็อาจจะไม่ได้เป็นมืออาชีพทางด้านนี้เสียทีเดียว

ในฐานะคนที่เคยเป็นอธิการบดี เคยบริหารมหาวิทยาลัยมา ปัญหาเรื่องการศึกษาอะไรที่คุณมองเห็นบ้าง ที่คุณเห็นแล้วหงุดหงิด รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงแน่ๆ 

(นิ่งคิด) จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยหงุดหงิดเกี่ยวกับการศึกษานะ ต้องพูดอย่างนี้ เพราะบางครั้งเราใช้อารมณ์เรื่องการศึกษามากไป ผมพยายามที่จะเอาตัวออกจากปัญหา และใส่ความหวังเข้าไปครับ 

ผมเคยเป็นอธิการบดี เคยเป็นประธาน ทปอ. แล้วก็เคยเป็นประธานอธิการบดีในกลุ่มอาเซียน เรารู้เลยว่าในความสิ้นหวัง มันมีความหวังอยู่ เอาจริงๆ ในหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ตอนนี้เป็นตัวท็อปของโลกไปแล้ว จากประเทศที่อายุไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาฯ นี่ 100 ปีนะ สิงคโปร์เพิ่ง 50 กว่าปีเอง แต่วันนี้กลายเป็นตัวท็อปด้านการศึกษาของโลกทุกระดับชั้นเลย แสดงว่าเราก็ทำได้ 

มาเลเซีย แต่ก่อนสู้ประเทศไทยไม่ได้เลย แต่ทุกวันนี้ การศึกษาเขาชนะประเทศไทยทุกระดับชั้น อินโดนีเซียก็ตามมา วันนี้พุ่งแรงแซงทางโค้งเลย วิธีแก้ปัญหาการศึกษาของอินโดนีเซียคือผลักดันให้คนเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ 

เวียดนาม ขนลุกครับ ของจริงเลย วันนี้เวียดนามปั้นเด็กให้เก่งภาษา ให้เก่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตั้งแต่อนุบาล คือเราเห็นวิธีการทำ มันแพตเทิร์นเดียวกันทั้งนั้น เราเห็นแล้ว แต่เราไม่มีโอกาสได้ทำ ถ้าเรามีโอกาสได้ทำ เรารู้เลยว่าเราจะทำอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วประเทศไทยไม่แพ้ประเทศพวกนี้ ขอเพียงเราเริ่มลงมือทำ เริ่มมีมืออาชีพเข้ามา ผมมั่นใจเลยว่าประเทศไทยก้าวไปเป็นประเทศตัวท็อปของอาเซียนได้ไม่ยาก

ถ้ารอบนี้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ การศึกษาไทยจะเปลี่ยนอย่างไรบ้าง

ขอให้มั่นใจ เพราะอันดับแรก พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่อยู่กับเรื่องการศึกษามานาน ถ้าให้พูดแบบเป็นธรรมก็คือนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ประชาธิปัตย์ก็เป็นผู้ผลักดันใช่ไหม กองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษา (กยศ.) ก็ประชาธิปัตย์ ใช่ไหม ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายคือทำให้คนมีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัยมากขึ้น เรื่องนมโรงเรียนก็ประชาธิปัตย์ใช่หรือเปล่า… แต่เราไม่ค่อยไปบอกว่าทำอะไรมาแล้วบ้าง 

เอาละเรื่องในอดีต ทำแล้วก็ถือว่าได้ทำ แต่ในอนาคตความท้าทายมันมากขึ้น อย่างน้อยที่สุด วันนี้ที่ผมมาดูเรื่องการศึกษา ประชาชนได้เห็นหน้าแล้วว่าคนที่อยู่ในภาคการศึกษาจริงๆ คนที่ทำเรื่องนี้มา เป็นคนรับผิดชอบ นั่นก็คือมีการส่งคนมาทำงานด้านนี้อย่างถูกที่ถูกทางใช่ไหม สะท้อนว่าได้คนที่มี Passion มีความรู้ มีประสบการณ์ เข้ามาทำโดยตรง

อีกเรื่องคือนโยบายของเรา เราไม่ได้ดูเฉพาะปัญหาในวันนี้ แต่เราตั้งใจพัฒนาการศึกษาให้ไปอนาคต นโยบายเรียนปริญญาตรีฟรีเป็นอะไรที่เรามั่นใจ เพราะเราเห็นอินโดนีเซียแล้ว อินโดนีเซียสามารถผลักดันเด็กให้เข้ามหาวิทยาลัยได้ปีละ 5-7 ล้านคน 

เกาหลีใต้ เด็กมัธยมได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี 100% ขณะที่เด็กไทยวันนี้เข้าสู่ระบบ TCAS ไม่ถึง 2 แสนคนแล้ว บวกนอก TCAS มีอีกแค่ 1 แสนคน เพราะฉะนั้น จำนวนเด็กที่เรียนมหาวิทยาลัยต่อมีไม่มาก และในอนาคตต่อไป กำลังในการแข่งขันเราอาจไม่มีเลย นั่นหมายความว่าวันนี้ประชาธิปัตย์และผมเองก็รู้ว่าเราจะแก้ปัญหาระยะสั้นอย่างไร เริ่มตั้งแต่การให้เรียนปริญญาตรี หมายความว่าเราพยายามดึงเด็กเข้าสู่กระบวนการสร้างทักษะสูง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยรอดได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ 

ขณะเดียวกันเรามีความรู้ความเข้าใจว่าเด็กเล็-เด็กไทยสูงเฉลี่ยน้อยกว่าเด็กจีน เด็กเกาหลี เด็กญี่ปุ่น วันนี้ นักกีฬาของชาติเหล่านี้ เวลาเราจะพูดด้วยต้องเงยหน้าพูด ทว่าเด็กไทยกลับมีความสูงเพิ่มขึ้นไม่เท่าไร นโยบายนมโรงเรียนฟรี 365 วัน จึงเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ 

สำหรับผม นโยบายประชาธิปัตย์ด้านการศึกษาไม่ฉาบฉวยนะ เป็นอะไรที่เรามุ่งมั่น และเราคิดที่จะทำให้เด็กไทยในอนาคตต่อสู้ได้ ให้ประเทศไทยต่อสู้ได้ เพราะฉะนั้น อยากให้มั่นใจว่า เราตั้งใจเข้ามาทำงาน ขอให้เลือกเราเถอะ เพราะเราอาสาที่จะมาดูแลลูกหลานของท่าน ขอให้ไว้ใจเรา ไว้ใจผมเถอะ ผมก็ลูกเล็ก ไม่ได้ทำไปเพื่อใคร อยากให้ลูกๆ เติบโตในประเทศที่เขาจะได้เป็นพลเมืองชั้นหนึ่งสักทีหนึ่ง

นโยบายเรียนปริญญาตรีฟรีแสดงว่าเด็กจะเข้าถึงอุดมศึกษามากขึ้น จะมีองค์ความรู้มากขึ้นที่จะทำงาน

สำหรับนโยบายเรียนปริญญาตรีฟรี มาจากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ที่น่าตกใจมากก็คือ ประเทศไทยคือมีเด็กเกิด 100 คน มีคนที่เรียนถึงระดับปริญญาตรีเพียง 30 คน ช็อกครับ เกาหลีเกือบ 100% หรือญี่ปุ่นวันนี้ประชากร 55% จบปริญญาตรี 

ขณะที่อินโดนีเซียเอง เด็กเข้าเรียนปริญญาตรี 5-6 ล้านคนต่อปี ต้องถามว่าถ้าเป็นแบบนี้ ประเทศไทยจะสู้เขาได้อย่างไร อย่าลืมนะ เด็กไทยออกไปตอน ม.3 เยอะมาก เพราะไม่มีแรงเรียนถึง ม.6 และแน่นอน ไม่มีแรงเรียนถึงปริญญาตรี 

สำหรับผม ปริญญาตรีมันเปลี่ยนแรงงานคนธรรมดาเป็นคนมีทักษะ ถูกไหม ถ้าเกิดผมจบ ม.6 ผมก็เป็นแรงงานธรรมดา แต่ถ้าผมเรียนเพิ่มอีก 4 ปี ผมเป็นวิศวกรโยธา ผมได้เป็นนักกฎหมาย เป็นนักบัญชี เป็นคุณหมอ เป็นพยาบาล เป็นหมอฟันได้

สรุปง่ายๆ คือ นโยบายประชาธิปัตย์จะส่งคนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษามากขึ้น

ใช่ เพราะการสร้างคนไทยให้มีทักษะสูงคือทางรอดของประเทศนะ ถ้าเราจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง อย่างในปัจจุบัน รายได้ต่อหัวเราอยู่ที่ 6,000-7,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี แต่วันนี้ เกาหลีใต้เขาไป 3-4 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ นี่ ต้องถามว่าจะหลุดจากตรงนี้ไปตรงนู้นได้อย่างไรถ้าหากทักษะไม่เพิ่มขึ้น แล้วทักษะอะไรที่จะเพิ่มขึ้นได้ ก็คือทักษะจากการเรียนมหาวิทยาลัย 4 ปี ถูกไหม

อีกอย่างหนึ่งคือ ตอนนี้เด็กไทยไม่ค่อยเกิดแล้ว รุ่นผมเกิด 1.2 ล้านคน รุ่นนี้จนถึงรุ่นปัจจุบัน จะไม่ถึง 5 แสนคนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เด็กไทยเหลืออยู่นิดเดียว การเรียนปริญญาตรีฟรีจึงต้องเป็นสวัสดิการพื้นฐานเด็กไทยให้เด็กไทยเข้าเรียนให้ได้มากที่สุด หรือเข้าเรียนได้ทั้งหมดแบบเกาหลีใต้

ถ้าเกิดเราไม่ทำอย่างนี้ ประเทศไทยจะไม่มีทางสู้ได้และในอนาคตจะดึงไม่ขึ้น ประชาธิปัตย์จึงตั้งใจให้เด็กไทยได้เรียนฟรีถึงปริญญาตรี 100% งบประมาณเรามีเพียงพอ เพราะเด็กไทยวันนี้ไม่ได้มีจำนวนมากนัก นั่นคือสิ่งที่เราตั้งใจที่สุด

คำถามก็คือแล้วคุณจะคุมคุณภาพมหาวิทยาลัยหรือหลักสูตรที่ให้เด็กเหล่านี้เข้าเรียนได้อย่างไร

(ตอบทันที) อยากจะถามแบบนี้เลยนะ คุณภาพใครก็ชอบ ใครก็ต้องการคุณภาพนั่นละ แต่วันนี้ปริมาณก็ไม่มี เหมือนนักรบ วันนี้ปริมาณไม่มี มีอยู่ 2 คนจะไปสู้อะไรได้ วันนี้ประเทศไทยจะสู้ได้ต้องได้ปริมาณ แล้วได้ทั้งคุณภาพ 

วันนี้ปริมาณคนที่เข้ามหาลัย เด็กเกิด 100 คนเข้าได้ 30 คน ปริมาณก็ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้น อันดับแรก เอาปริมาณก่อน แล้วค่อยสร้างคุณภาพไปพร้อมๆ กัน

คุณภาพไม่ใช่เรื่องที่สร้างได้วันเดียว แต่ต้องสร้างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่เราต้องร่วมกันผลักดัน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น มันรวมถึงเอกชนด้วย เอกชนเองก็ต้องลงทุนกับการพัฒนาเด็กในมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน รวมทั้งผู้ปกครองเองก็ต้องส่งเสริมลูกให้เข้าถึงระดับปริญญาตรีให้ได้ 

ก็จะมีคำถามว่าคุณส่งเข้าไปเรียนปริญญาตรีทั้งหมด แต่เด็กจบใหม่ออกมาไม่มีงานทำ คุณจะทำอย่างไร

ต้องบอกแบบนี้ คำพูดที่ว่าอาจจะไม่ใช่… ประเทศไทยอัตราการตกงานไม่ได้เยอะนะ ในความเป็นจริง ตัวเลขจากการศึกษาหลายครั้งพบว่า การตกงานมาจากหลายปัจจัย 

ปัจจัยแรกคืออาจจะเห็นว่างานเป็นสิ่งที่ไม่ตรงสาย ปัจจัยที่สองคือเรื่องเงินเดือนที่อาจจะยังไม่โดนใจ วันนี้ ผู้ประกอบการต้องการคนเพียงเดียวแต่ทำงานได้หลากหลาย เช่น ถึงแม้จะจบวิศวะฯ แต่ผู้ประกอบการไม่ได้อยากได้วิศวกรที่ออกหน้างานอย่างเดียว แต่อยากได้วิศวกรที่สรุปหน้างานคอมพิวเตอร์ได้ ทำพรีเซนเทชันได้ ช่วยขายงานได้ 

วันนี้ผู้ประกอบการต้องการแบบนั้น ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะว่าวันนี้เด็กที่ออกมาจากมหาวิทยาลัยน้อย ทำให้เขาเลือกหลายๆ คนไม่ได้ ข้อจำกัดตรงนี้เขามี ดังนั้นต้องปรับปรุงหลักสูตร ไม่ใช่จบวิศวะฯ ก็เรียนแต่วิศวะฯ ไม่ใช่จบศิลปศาสตร์ก็มีความรู้เพียงด้านศิลปศาสตร์ แต่ยังต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยี 

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสเราจะสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเปิดวิชาให้นักศึกษามีโอกาสมากขึ้นเหมือนในต่างประเทศ อย่างผมนี่จบวิศวะฯ แต่ได้ Minor ในด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เรียนไปเขาก็แถมปริญญาให้อีกใบหนึ่งทางด้านบริหารเทคโนโลยี 

หรือการเรียนมัธยมปลาย ประเทศไทยเป็นประเทศท้ายๆ ในโลกนี้ ที่ยังแบ่งสายวิทย์-คณิต หรือสายศิลป์ เพราะปัจจุบัน มนุษย์มันต้องได้ทั้งวิทย์ทั้งศิลป์แล้ว 

ถ้าเรามีโอกาส เราจะไปปลดล็อกตรงนี้ให้หมด และเชื่อได้ว่าในอนาคต เด็กไทย 1 คน จะมีทักษะหลากหลาย มีประโยชน์แก่ทั้งตัวเขา และเป็นประโยชน์ต่อคนที่ต้องการจ้างงาน

สมมติเข้าไปเป็นรัฐบาล ถ้าคุณได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สิ่งแรกที่จะทำคืออะไร

อันดับแรกก็คือ อยากให้กำลังใจครูครับ สังเกตนะเวลามีคุยกันเรื่องนี้ทีไร ครูเป็นจำเลยสังคมทุกที พอไปว่าแต่ครู ก็เหมือนเราไปว่าคนที่ดูแลลูกเรา เขาจะมีกำลังใจมาดูแลลูกเราไหม 

ถ้าเกิดเป็นผม อันดับแรกนะ ผมจะไปกราบครูทุกคนเลย บอก ‘ครูครับ เราต้องช่วยกันนะครับ ครูเป็นคนที่สำคัญที่สุดเลย ผมก็ลูกครู ถ้าเกิดครูไม่ดีผมไม่มาถึงจุดนี้หรอกครับ เพราะฉะนั้น มาช่วยกันนะครับ’ แต่ก็รู้นะว่ายุคนี้มันเป็นยุคแห่งการท้าทาย ช่วยกัน ก็คือมาดูแลลูกเราแล้ว ครูก็ต้องพัฒนาตัวเองไปด้วย 

จากนั้นต้องแสดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งเด็ก ทั้งผู้ปกครอง ทั้งครู รวมทั้งเอกชนที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษาด้วยกัน

เอาละ 4 ปีนี้เราทำอะไรบ้าง เรารู้แล้วว่าวันนี้เด็กไทยต้องพัฒนาเรื่องวิทย์-คณิตใช่ไหม กับเรื่องภาษา สำคัญที่สุดคือเรื่องภาษาตั้งแต่เด็กเล็กนะ งบประมาณเรามีเพียงพอ เราเอามาลงเรื่องเด็กเล็กเรื่องนี้ เด็กโตเรื่องนี้ แล้วก็วัดผลให้เป็นธรรมทั้งครูทั้งนักเรียน สุดท้าย พออะไรชัดเจนก็เกิดกำลังใจ เกิดค่านิยมที่ดี ชัดเจนกับทุกฝ่าย เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือได้

หลายคนอาจจะมองว่าเรื่องที่สำคัญเรื่องใหญ่ คือเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง คุณมองว่าเป็นเรื่องใหญ่กว่าเรื่องการศึกษาไหม

เพราะพลเมืองของประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่พ้นความยากจนไง เขาคิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่นะครับ ถามว่าเขาหาเงิน หาเช้ากินค่ำมา เงินเขาเอาทำอะไร เขาเอาไปให้ลูกเขาเรียนหนังสือนะครับ หรือเอาไปทำอะไรที่ทำให้ลูกเขาชีวิตดีขึ้นกว่าตัวเขาใช่ไหม เขาคิดอยู่ตลอดละ ไม่ใช่ว่าไม่คิด เพียงแต่ว่าเขายังไม่เห็นชัดเจนว่าจะทำให้ชีวิตลูกเขาเป็นอย่างไร ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้จบ ป.6 ม.3 ม.6 เงินเดือนแทบไม่ต่างกัน ป.6 อาจจะสัก 9,000 ม.3 อาจจะสัก 10,000 ม.6 อาจจะสัก 10,000-12,000 เขาบอกแบบนี้ก็ไม่ต้องเรียนหรอก 6 ปี 

เพราะฉะนั้น เราต้องให้กำลังใจเขา บอกเขาว่ารัฐจะดูแลลูกเขาเต็มที่ ขอให้ท่านกัดฟันส่งลูกท่านมาโรงเรียน ส่งเสริมลูกท่านในสภาพที่ท่านดูแลได้ ดังนั้น ถ้าเขาได้เห็นนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ว่าในอนาคตลูกเขาเรียนปริญญาตรีฟรี ใครก็อยากให้เรียนโรงเรียน อยากให้เรียนปริญญาตรี เพราะมันเปลี่ยนชีวิตคนได้ คนที่พูดว่าปริญญาตรีไม่สำคัญ ไม่จริง ยังสำคัญสุดๆ เพราะมันเป็นปริญญาที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคน 

เราต้องตอกย้ำเขาว่า ลูกของเขากับลูกของผม ลูกคนเดียวกัน เรามาช่วยกันดูแล ตรงนี้ละครับที่จะช่วยให้เขามีความหวัง ร่วมกันส่งลูกเขาให้ถึงฝั่ง ตรงนี้สำคัญไม่แพ้เรื่องปากท้องที่เขาต้องสู้อยู่ทุกวัน

ถึงวันนี้ Passion ทางการเมืองของคุณคืออะไร

(น้ำเสียงจริงจัง) อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้ ผมแค้น มีโอกาสได้เงินภาษีไปเรียนเมืองนอก ได้เห็นโลก คนไทยเราไม่แพ้ใครในโลก เห็นเด็กไทยไปอยู่ในต่างประเทศ น่ารัก เรียนหนังสือดี ขยัน มีโอกาสทำงานระดับโลกกับคนระดับโลก แต่กลับมาอยู่ที่ประเทศไทยกลับไม่มีโอกาส 

ผมเป็นนายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทยบางทียังน้อยใจ ส่งพวกเราไปเรียนทำไม มาแล้วไม่ให้โอกาสเราพัฒนาเต็มศักยภาพของพวกเราที่เอาเงินภาษีประชาชนเรียน 

แค้น แต่ชีวิตที่ผ่านมาก็ทำหน้าที่ตัวเองดีที่สุด และพยายามจะส่งเสียง พยายามจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่มี สุดท้ายก็ต้องออกมาลุยเอง เจ็บเอง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และอยากใช้พลังที่มีอยู่ ทั้งความรู้ความสามารถแล้วก็ Passion ความกล้า ความดุดันในการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศ 

และสุดท้ายลูกก็ยังเล็ก เลือดกำเดาไหลทุกวันจากฝุ่น ไม่มีใครช่วย แล้วเราจะทำอย่างไร อนาคตจะสอนเขาอย่างไร เขาจะอยู่อย่างไรกับประเทศนี้ เมื่อมีโอกาส ก็อยากเข้าไปเปลี่ยนแปลง

ในฐานะที่คุณมีประสบการณ์เรียนต่อในต่างประเทศ มีโอกาสได้ใช้ชีวิตในต่างประเทศ คุณมองกระแสเด็กไทยจำนวนไม่น้อยอยากย้ายประเทศอย่างไร

ไม่ว่าและเข้าใจ ทุกคนแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิตและก็ครอบครัวของเขา ในใจลึกๆ ไม่มีใครอยากย้ายประเทศหรอก เพราะว่าเราอยู่บ้าน บ้านก็คือบ้าน ไม่มีใครอยากจะออกจากบ้านหรอก ไม่มีใครอยากออกจากบ้านไปทำงานต่างจังหวัด ไม่มีใครอยากออกจากบ้านไปทำงานที่อื่น ทุกคนรักบ้านทุกคน แต่ถ้ามันไม่อึดอัดจนเกินไป ไม่มีใครอยากไปไหน ตัวผมเองก็มีเพื่อนไม่น้อยที่ไม่กลับมาประเทศไทย แต่ใจจริงเขาอยากกลับทุกวัน

ทีนี้ ตั้งคำถามใหม่ดีกว่า เราจะเปลี่ยนประเทศอย่างไรให้เขาได้อยู่ที่นี่ และได้ทำอะไรอย่างเต็มศักยภาพของเขา วันนี้ ถ้าเราไม่เริ่ม หรือพอจะเริ่มปั๊บ ก็เตะตัดแข้งตัดขากัน แล้วบอกว่าไม่เชื่อ แข่งไม่ได้ 

ผมเองเจอหลายครั้งเลยนะที่ไม่ได้แข่งอะไร แต่แข่งกับความ ‘ไม่เชื่อ’ เช่น เราจะแก้ปัญหาน้ำท่วม เขาก็บอกทำไม่ได้ จะแก้ปัญหาฝุ่น ก็มีคนบอกว่าทำไม่ได้ การศึกษาไทยสู้เขาได้ ก็บอกว่าทำไม่ได้อีก สุดท้ายมันจะได้ได้อย่างไร 

อันดับแรก พวกเราถ้าเป็นผู้ใหญ่กว่า ต้องให้กำลังใจ ต้องให้ความเชื่อ ถ้าเกิดมีเด็กรุ่นใหม่บอกอยากเป็นนักบินอวกาศ แล้วบอก ไม่ได้หรอก อ้าว จบสิ ก็ต้องบอกว่าได้ ลูกทำได้ถ้าลูกตั้งใจเรียน หรืออยากเป็นนักกีฬาโอลิมปิก ก็ต้องบอกว่าลูกทำได้ถ้าเกิดลูกมีวินัย ถ้าลูกมีความฝัน 

วันนี้ต้องกลับมาแล้ว ต้องกลับมาสร้างกระแส Thailand Wave หรือ T-WAVE ได้แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้อาหรับส่งคนไปโคจรรอบโลกแล้ว ส่งวิศวกรจบปริญญาเอกไปโคจรรอบโลกได้ วันนี้ชาติอาหรับส่งสัญญาณแรงๆ แล้วว่า เขาไม่ได้จะขายน้ำมันอย่างเดียวนะ เขาจะเป็นที่ที่สร้างนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่แพ้ญี่ปุ่นหรือเกาหลี 

หรือเกาหลี วันนี้เขาทำงานด้านภาพยนตร์ ด้านเพลงไม่แพ้สหรัฐอเมริกา หรืออินเดียวันนี้ ก็เขียนโปรแกรมเก่งสุดยอดของโลก มาเลเซียก็ไปไกลมาก สุดท้าย เหลือแต่ประเทศไทย ที่ผมเห็นว่าเราควรต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ต้องให้กำลังใจกัน ทำให้เกิด T-Wave ให้เห็นว่าคนไทยทำได้ แล้วสุดท้ายจะเกิดค่านิยมที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ค่านิยมเชิงลบไปหมด สุดท้ายก็เพื่อให้คนอยากอยู่ อยากสู้ และถีบตัวเองไปยังระดับโลกให้ได้

ถามสั้นๆ ง่ายๆ ในฐานะตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ทำไมรอบนี้ ถึงต้องเลือกพรรคประชาธิปัตย์ 

ถามคำถามง่ายๆ เลย อีก 20 ปีจากนี้ไป ท่านจะเห็นอะไรในพรรคการเมือง อย่างน้อยที่สุดท่านชอบหรือไม่ชอบพรรคผม ไม่เป็นไร แต่ผมว่าในใจวันนั้นต้องมีพรรคประชาธิปัตย์ 

อีก 30 ปีจากนี้ท่านอยากเห็นพรรคอะไรในการเมือง เห็นพรรคประชาธิปัตย์ไหม พรรคนี้ด้วยความที่เขาเติบโตมาในลักษณะของการเป็นสถาบันการเมือง เขาไม่มีเจ้าของ การเกิดขึ้น และการพัฒนา ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง ลงหรือขึ้น มันมาจากคนมารวมกันเป็นพรรคการเมือง ไม่ใช่ทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะพรรคนี้ถูกทดสอบ เขาเรียกว่าด้วย Test of Time พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นพรรคที่ผ่านการทดสอบด้วยเวลามา และผมก็มั่นใจว่าในอนาคต พรรคก็จะผ่านการทดสอบด้วยเวลาต่อไป 

แต่กระนั้นพรรคเองก็ต้องเปลี่ยนแปลง พรรคเองก็ต้องพัฒนา ไม่เช่นนั้นแล้วต่อให้อยู่ไปมันก็ไม่โต ไม่ได้อยู่ในหัวใจของคน ผมมีความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ว่ายังพัฒนาได้ 

แล้วอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เวลาเขาพูดถึงเรื่องอุดมการณ์ พูดถึงความเชื่อในเรื่องอุดมการณ์ พรรคเองก็เชื่อในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตแปะไว้อยู่ แล้วพรรคประชาธิปัตย์วันนี้เองก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆ ผมเองก็ได้รับโอกาสให้ทำเรื่องใหม่ๆ ตรงกับ Passion ตรงกับสิ่งที่ผมอยากจะทำ

พรรคนี้มีแต่คนอาวุโสเต็มพรรคไปหมดจริงไหม 

ทำไมเราต้องไม่ชอบคนแก่ด้วยนะ วันนี้ถ้าผมกลับบ้านไป ผมไม่มีพ่อแม่อยู่ที่บ้านยุ่งแล้วนะ เพราะว่าไม่รู้จะไปเล่าเรื่องหรือขอคำแนะนำผู้อาวุโสจากไหน หรือบางทีต้องฝากให้เขาดูแลลูกๆ ด้วยใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราอย่าไปมองคนแก่ว่าไม่มีประโยชน์ 

จริงๆ แล้วเชื่อเถอะ คนพูดเอง พ่อแม่เราเราก็รัก มีอะไรเราก็ขอพ่อแม่เราใช่ไหม จริงๆ ถ้ามองเข้าไป พรรคประชาธิปัตย์มีคนทุกรุ่น แล้วก็มีผู้อาวุโสอยู่ จริงๆ เป็นความอบอุ่น เป็นเสน่ห์ของสังคม และเป็นเสน่ห์ของพรรคเรา

แต่คุณเข้ามาในช่วงเวลาที่หลายคนเห็นว่าพรรคมีปัญหามากที่สุด ไม่ได้มี ส.ส.เยอะ ไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนยุครุ่งเรือง คุณรู้สึกอย่างนั้นไหม

จากใจนะ ทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือว่าภาคใดๆ ก็ตาม มันก็มีช่วงจังหวะขึ้นลงของมันเป็นธรรมชาติ ผมไม่อยากจะให้เราคิดว่าถ้าเกิดเราจะทำอะไรแล้วต้องมาเกาะยอดคลื่นเขาเสมอไป ที่จริงแล้วถ้าเกิดใครโชคดี เกาะยอดคลื่นนั้นก็ดีเหมือนกันนะ แต่มันก็อาจจะไม่สนุกเท่าไร 

บางครั้ง ถ้าเกิดเรามาทำตั้งแต่ต้นก็อาจได้อรรถรสอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้เรามีโอกาสได้เรียนรู้ในหลายๆ มิติ มีโอกาสได้ทำหลายอย่างที่ไม่คิดว่าเราต้องทำ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน เป็นเรื่องดีทั้งนั้นละครับ

รู้สึกอย่างไรที่มีคนบอกว่าพรรคนี้มีความเป็นอนุรักษนิยมสูง

ความอนุรักษนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ความอนุรักษ์สุดโต่ง คำที่บอกว่าเป็นความ Conservative สูงนี่ไม่ใช่ พรรคประชาธิปัตย์ถือกำเนิดเป็นลักษณะของอนุรักษ์และเป็นเสรีนิยมด้วย คือถึงแม้ถ้าเกิดแบ่งครึ่งซ้ายกับขวา ประชาธิปัตย์ไม่ได้ขวาสุดจะเป็นเลยจุดกลางมานิดหนึ่ง หลายๆ อย่างก็มีความเป็นซ้าย โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการ ถูกไหม 

แต่เรื่องของการอนุรักษ์ก็คือธำรงไว้ด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตรงนี้ชัดเจน แต่เรื่องสวัสดิการ เรื่องการสนับสนุนคน ต่อสู้เพื่อสิทธิของความเท่าเทียม อันนี้เต็มรูปแบบ เพราะฉะนั้นประชาธิปัตย์เป็นอนุรักษนิยม แต่ก็มีความเป็นเสรีนิยมอยู่ในตัวครับ

ในฐานะที่เป็นนักการเมืองแล้ว คุณมองความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไร 

สำหรับผมปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองถึงปัจจุบันทำลายประเทศไทยที่สุด และกำลังทำลายประเทศต่อไปนักการเมืองบางคนตอกลิ่มความขัดแย้งเพื่อประโยชน์ส่วนตนและกลุ่มของตน ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีใครชนะ เขาอาจจะชนะเลือกตั้งด้วยการตอกลิ่มความขัดแย้ง แต่ก็ต้องถามเขาว่าลูกเขาอยู่ในสังคมนี้หรือเปล่า หลานเขาอยู่ในสังคมนี้หรือเปล่า เขาอาจจะได้ชัยชนะทางการเมือง แต่ประเทศไทยอาจแพ้โดยสิ้นเชิง ผมไม่ชอบเลย 

ทั้งหมดนี้ มันทำให้คนมองเราจากที่เป็นมืออาชีพที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อลูกของเรา พอเห็นเรามาอยู่ฝ่ายนี้เขาเห็นเราเป็นลบเฉยเลย กลายเป็นปิดประตูใส่หน้าเรา ไม่ได้ฟังนโยบาย ไม่ได้ฟัง Passion ของเรา สุดท้ายคนที่มีความรู้ความสามารถก็ไม่ออกมา เพราะออกมาก็กลัวถูกกระแสอีกฝั่งหนึ่งมาอัดเขาโดยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกบูลลี่โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม 

เพราะฉะนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครชนะ มันควรจะจบสิ้นสักที แต่ผมเองยังไม่กล้าไปสอนใคร อย่างน้อยที่สุดผมจะไม่พูดเรื่องนี้ ผมจะไม่ใช้กระแสความขัดแย้งเพื่อหวังผลทางการเมือง ผมจะผลักดันนโยบายเป็นหลักเพื่อเอาใจชนะประชาชน 

ถึงแม้จะมีหลายคนมาบอกผมว่าอย่าไปคุยกับเขาเลย เขาเป็น ‘ฝั่งนู้น’ ไม่เลือกเราอยู่แล้ว แต่สำหรับผม ผมก็ต้องพูดเรื่องการเมือง แล้วผมจะทำอะไรบ้าง เพราะท้ายที่สุดผมเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์เรายึดมั่นในอุดมการณ์ บางครั้ง สิ่งที่เราพูดไปหรือเราจะทำมันอาจไม่ได้คะแนนเสียง แต่มันเป็นเรื่องที่เราต้องทำ วันนี้มีแต่ความหวังว่าในอนาคตเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจะลดน้อยลง

แล้วคุณจะแก้เรื่องนี้อย่างไร ในฐานะที่เข้ามาในแวดวงนี้แล้ว 

อันดับแรก แก้ด้วยตัวเรา เพราะเรามาทำงานการเมือง เราเริ่มเป็นคนสาธารณะแล้ว สิ่งแรกคือเราต้องไม่ทำอย่างเขา แล้วเราจะพูดสิ่งที่เรานำเสนอซ้ำๆ เรื่องวิธีแก้ปัญหาฝุ่นพิษ แก้ปัญหาน้ำท่วม แก้ปัญหาการศึกษา เราจะพูดของเราอย่างนี้ ให้เขาเห็นภาพเดียวกับเรา และเราจะไม่ไปพูดเรื่องความขัดแย้ง เราพูดเรื่องสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเริ่มจากตัวเรา 

แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ประชาชนด้วย ถ้าประชาชนยังเลือกโดยไม่ได้มองนโยบาย ไม่ได้มองคอนเทนต์ ไปเลือกจากฝ่าย ประเทศไม่ได้อะไร สุดท้ายก็ไม่มีคนมานำเสนอ นอกจากมานำเสนอความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นก็ต้องขอร้องประชาชนด้วยว่าท่านก็ต้องช่วย ถ้าเกิดท่านไม่อยากเห็นความขัดแย้ง ท่านก็ต้องไม่เลือกหรือไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามความขัดแย้ง ท่านต้องเลือกตามนโยบายที่คนจะมาให้ลูกหลานท่าน สุดท้าย ก็จะค่อยๆ ลดความขัดแย้งไปได้ครับ

โจทย์สำคัญของการเลือกตั้งรอบนี้คืออะไร

รอบนี้เป็นรอบสุดแห่งความท้าทายเลย เพราะว่าอันดับแรก ความขัดแย้งยังมี และอาจจะมีไม่น้อยที่อาศัยความขัดแย้งนี้เป็นเรื่องของการหาเสียงซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากมาก เราอาจไม่ได้ทำเอง แต่คนอื่นทำ

อันดับที่สอง วันนี้ไม่มีใครพูดเลยว่าอนาคตของประเทศไทยอีก 10 ปีจะเป็นยังไง พี่แกหาเสียงแบบว่าเอาแต่เฉพาะหน้าเลย ตายสิครับ วิสัยทัศน์ของประเทศอยู่ไหน พิมพ์เขียวของประเทศอยู่ไหนไม่มีออกมาพูดกันเลย

แทนที่จะบอกว่าอนาคต 10 ปีของประเทศไทยเป็นอย่างไร เด็กไทยจะโตไปเท่าไร เด็กไทยจะเรียนปริญญาตรีกี่เปอร์เซ็นต์ เราจะสร้างความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไร เพราะจะพึ่งแต่การท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่รอด ต้องเอาความจริงมาพูดกัน และตั้งเป้าให้สูงไว้ แล้วบอกว่าต้องทำอย่างไรถึงตรงนั้นให้ได้ 

เพราะฉะนั้น มันเป็นความท้าทายทั้งในเชิงเนื้อหา ความท้าทายในเรื่องของอนาคต และยังเป็นการเลือกตั้งภายใต้ความขัดแย้งทางการเมือง ท้าทายสุดๆ ครับ

นายกฯ ที่ดีในความคิดเห็นของคุณเป็นอย่างไร

ตอบได้เลย ผู้นำ ไม่ใช่เฉพาะนายกฯ อันดับแรกต้องมีความรู้ ถูกไหม แล้วจะนำได้อย่างไร เราไม่สามารถนำโดยกำลังได้นะครับ ต้องนำโดยความรู้ แล้วก็ต้องนำโดยวิสัยทัศน์ 

ผมฝันอยากเห็นนายกฯ เป็นมืออาชีพ มีความรู้ และสามารถบอกวิสัยทัศน์ได้ว่า ‘ไป เราทนกันอีก 10 ปีนี้ เหนื่อยหน่อยนะเพื่อจะส่งลูกของเราให้ประสบความสำเร็จด้วยกัน เรามาดูแลลูกคนไทยด้วยกันนะ ลูกคุณกับลูกผม ลูกคนเดียวกัน เรามาส่งเขาด้วยกัน’ แล้ววันนั้น ผมก็อยากเห็นเด็กไทยสูง 180 เซนติเมตร ผมอยากเห็นเด็กไทยอย่างน้อยจบปริญญาตรี 80% อยากเห็นเด็กไทยออกไปมีรายได้ระดับนี้ ก้าวไปสู่ระดับโลกแบบนี้

เพราะฉะนั้น ผมอยากเห็นผู้นำที่มีความรู้ คนที่กล้าแสดงวิสัยทัศน์ที่ไปไกลๆ และเป็นคนที่กล้าให้ความหวัง ถึงแม้ความหวังนี่อาจจะดูไกล แต่กล้าให้ความหวังซ้ำๆ และที่สำคัญคือต้องคิดบวก นี่คือคุณสมบัติของผู้นำทุกระดับชั้นนะครับ ไม่ใช่แค่ผู้นำสูงสุดของรัฐบาล

คำว่าประชาธิปไตยในความหมายของคุณคืออะไร

ประชาธิปไตยคือประชาชน ชัด ประชาธิปไตยเท่ากับประชาชน การปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ไง เป็นใหญ่จริงๆ นะ แต่อยากจะเพิ่ม คือนอกจากประชาชนเป็นใหญ่แล้ว ก็ต้องเป็นระบบที่จะต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนด้วย นั่นคือความหมายที่ผมอยากให้มันเป็น

อาจมีคนบอกว่าประชาธิปัตย์ก็ร่วมรัฐบาลมา 4 ปีที่แล้วจนมาถึงทุกวันนี้ แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ คุณมองอย่างไร

จริงๆ ไม่เป็นธรรมแก่พรรคประชาธิปัตย์นะ เราแก้ไปหลายเรื่อง ลองดูเรื่องสินค้าเกษตรสิ มีการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์นะ กระทรวงพาณิชย์ที่หัวหน้าพรรคดูแลอยู่ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับท่านนะ ส่งออกจะ 10 ล้านล้านบาทแล้ว อยากให้เอาตัวเลข เอาข้อมูลมาพูดกัน ไม่ใช่ดราม่า 

เพราะพอเราเห็นอะไรที่เราไม่พอใจ เราอาจจะไม่สน ทำอะไรก็ไม่ดีๆๆๆ อยากให้เอาตัวเลขมาโชว์สิ หากตัวเลขไม่ดีตัวเลขมันจะบอกเองว่าใช่หรือไม่ใช่ 

เพราะฉะนั้น อยากให้เอาตรงนี้มาพูดกัน ไม่อยากให้ปิดกั้นหัวใจ ผมเชื่อว่ารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ทุกคน 4 ปีที่ผ่านมาทำได้ ไปดูตัวเลข ผมมั่นใจครับว่ามีผลงานแน่นอน

ถ้าประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล จะได้เห็นอะไรจากประชาธิปัตย์

ประชาธิปัตย์ขายอุดมการณ์ควบคู่กับนโยบาย อุดมการณ์ก็คือเราจะยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องนะ เพราะฉะนั้นนโยบายของเรามาจากอุดมการณ์ เราจะไม่ทำอะไรที่ฉาบฉวย จะไม่แบบให้ๆๆๆ แล้วอนาคตจะทำอย่างไรค่อยว่ากัน ตรงนี้ไม่มีครับ

อันนี้เป็นประสบการณ์โดยตรง ผมที่คุยกับหัวหน้าพรรค หัวหน้าพรรคบอกเสมอว่า “เอ้ สิ่งที่เราพูดไป นั่นคือคำมั่นสัญญา ถึงแม้เราตายไปแล้วแต่พรรคเรายังอยู่นะ จะให้เขามาว่าเราไม่ได้” เพราะฉะนั้นให้มั่นใจว่านโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ออกไป คิดแล้วคิดอีก โต้เถียงกันแล้วโต้เถียงกันอีก ให้มั่นใจว่าเป็นนโยบายที่ทำได้จริง 

แล้วไม่ใช่แค่ทำได้จริงเท่านั้น บางครั้ง ถ้าทำได้จริง… แต่สุดท้ายส่งผลเสียหายต่ออนาคตเราก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้น อยากให้มั่นใจในอุดมการณ์ นโยบาย ที่ตั้งใจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ลูกหลานเป็นสำคัญ

อยากถามว่าคุณชอบตัวละครใดใน Star Wars ที่คิดว่าตรงกับคุณที่สุด 

ชอบโอบีวัน เคโนบี มากที่สุด รู้ไหมว่าเพราะอะไร เพราะนอกจากเขาจะเป็นลูกศิษย์ที่ดี เขายังเป็นครูที่ดีที่สุด แล้วเขาเป็นคนที่เปี่ยมไปด้วยความหวังที่สุด 

เขาเป็นครูที่ดีที่สุดให้กับใครบ้าง อันดับแรกคือ อนาคิน สกายวอล์กเกอร์ (Anakin Skywalker) ถูกไหม ตอนหลังถึงแม้จะเปลี่ยนเป็น ดาร์ธ เวเดอร์ (Darth Vader) ด้านมืดครอบงำไปแล้วเขาก็ยังมีความหวังอยู่นะ เขายังสอนลูกศิษย์คนต่อไปอยู่นะ เขายังสอน ลุค สกายวอล์กเกอร์ แล้วก็ยังสอนเรย์ใช่ไหม เพราะฉะนั้น โอบีวัน เคโนบี นี่นอกจากเป็นลูกศิษย์ที่ดี ก็ยังเป็นครูที่ดี แล้วเขายังเป็นคนที่ไม่สิ้นหวัง ชอบมากครับ

เป็นโอบีวันยุคไหนดี

(หัวเราะ) ที่จริงตอนสุดท้ายก็เป็นอากาศธาตุใช่ไหม ที่จริงแล้วชอบทุกตอน ตอนแรกที่จะต้องไปสู้กับดาร์ธ มอล (Darth Maul) ที่ตัวแดง มารแดงที่แบบมีดาบ 2 ด้าน อาจารย์เขาพลาดท่าแล้วเขาก็ยังต่อสู้เอาชนะได้ แสดงว่าเขาเองสติก็ดีไม่แพ้อาจารย์ นั่นประทับใจมาก 

และถึงแม้คนอาจจะงอนๆ เขาที่แบบ… คนก็เตือนแล้วไม่น่าสอนอย่างอนาคิน แต่เขาก็เป็นคนที่รักษาสัจจะ เขาให้สัจจะกับอาจารย์เขาว่าต้องสอนอนาคินเป็นเจไดให้ได้ เขาก็ทำ… แล้วเขาก็ผิดหวัง แต่เขาก็มีหวัง ก็มาสอนลุค ชอบมาก ก็คือชอบทุกตอนเลยล่ะ เป็นตัวละครที่น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของ Hope เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง

Fact Box

  • สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเคยเป็นนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ครั้งหนึ่งในการรับน้องใหม่ของ สจล. สุชัชวีร์เคยรับบทเป็นพี่เนียน ใส่ชุดนักศึกษาท่ามกลางนักศึกษาใหม่ และเขามักชอบให้นักศึกษาเรียกเขาว่า ‘พี่เอ้’ เพื่อให้เกิดความใกล้ชิด
  • การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ เลยสักเสียง ทั้งที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญตลอดมา และสร้างผลงานทั่วประเทศได้อย่างน่าผิดหวังจนทำให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง และได้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน โดยในการเลือกตั้งรอบนี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะ ‘คัมแบ็ก’ ได้หรือไม่ ไม่ว่าจะในสนามกรุงเทพฯ หรือในสนามการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะ ‘ภาคใต้’ ที่มีการแข่งขันกันอย่างหนัก
  • ในการเลือกตั้งครั้งนี้ สุชัชวีร์ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 12 ซึ่งถือเป็นลำดับที่ค่อนข้างสูงหากเทียบกับคนเก่าแก่ของพรรค อาทิ ลำดับที่ 13 อย่าง สามารถ ราชพลสิทธิ์ ลำดับที่ 14 ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม หรือลำดับที่ 17 สุทัศน์ เงินหมื่น หลายคนวิเคราะห์ว่าเขาเป็นคน ‘วงใน’ ของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค แบบเดียวกับมาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค
Tags: , , , , , ,