หลังลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘พี่เอ้’ ก็เริ่มกิจกรรมทางการเมืองของตน ด้วยการลงพื้นที่ รับฟังปัญหาจากประชาชน เพื่อหวังแก้ปัญหาและเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมืองสวัสดิการ-ทันสมัย-ต้นแบบอาเซียน’ สามคำนี้ที่เขากล่าวว่า “บอกบุคลิกของผมชัดเจนมาก”

Close-Up สนทนากับ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ถึงทิศทางของตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ตำแหน่งที่เขาใฝ่ฝันมาตลอด 30 ปี รวมถึงประเด็นร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเขา ทั้งการสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ การถูกตรวจสอบทรัพย์สิน และวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหากรุงเทพฯ โดยใช้ความรู้ทางวิศกรรมและเทคโนโลยี

อะไรคือเหตุผลที่คุณตัดสินใจลาออกลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อลงสมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ 

ความคิดที่อยากเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มันเกิดขึ้นในตัวผมมาตั้งนานแล้ว ย้อนกลับไปคือตั้งแต่ช่วงอายุ 18 เลย ตอนนั้นผมต้องย้ายมาเรียนแถวลาดกระบัง พ่อแม่จึงเอาเราไปฝากไว้กับบ้านคุณลุงซึ่งอยู่แถวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พวกคุณต้องไม่กล้าจินตนาการแน่ การที่เด็กอายุ 18 ต้องเดินทางด้วยรถเมล์ ต่อรถไฟ จากลาดพร้าวไปลาดกระบัง คือมันทั้งเหงื่อ ทั้งฝุ่น ไหนจะต้องโหนรถเมล์ ซึ่งกว่าจะถึงที่หมายก็หลังชุ่ม โทรมไปทั้งตัวแล้ว ตอนนั้นแหละที่เริ่มรู้สึกว่าทำไมกรุงเทพฯ ถึงมีปัญหามากขนาดนี้ 

พอช่วงอายุ 20 ที่มีโอกาสได้ทำโครงการวิธีการออกแบบอุโมงค์รถไฟ้าใต้ดิน แล้วมันสามารถแก้ปัญหาได้จริง ก็เริ่มรู้สึกว่า เออ สิ่งที่เราทำมันแก้ปัญหาได้นะ แล้วยิ่งได้ไปเจอผู้ว่ากรุงเทพฯ (ดร.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา) ได้เอาสิ่งนี้ไปให้เขาดู จนเขาเขียนจดหมายให้เราได้ไปเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (massachusetts institute of technology: mit) อีก มันบันดาลใจเรานะ ชีวิตเปลี่ยนเลย จากนั้นก็มีความรู้สึกว่าอยากเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ขึ้นมา

ผมก็รอจังหวะมาโดยตลอด จนครั้งนี้แหละที่คิดว่าเป็นจังหวะที่ดีหลังจากรอมาเกือบ 30 กว่าปี เพราะเป็นช่วงชีวิตที่เรามีความพร้อม มีประสบการณ์ ผ่านวิกฤตมาหลายเรื่องแล้ว ดังนั้นช่วงปลายปี 2564 ที่เริ่มมีข่าวว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เราก็ตัดสินใจรีบออกมาเริ่มเส้นทางตรงนี้เลย เพราะเราเสียเปรียบคนอื่น ชาวบ้านทั่วไปเขาไม่รู้จักหรอกว่า พี่เอ้ ดร.เอ้ อาจารย์เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คือใคร จึงต้องมีเวลาแนะนำตัวให้เขารู้จักเรา รู้ว่าเราทำอะไรมากขึ้น เลยตัดสินใจเปิดตัวเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา 

คุณสมบัติใดบ้างที่ทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองเหมาะสมแล้วในการลงสมัครตำแหน่งนี้

อย่างแรกคือระยะเวลาของชีวิตมันใช่ ถ้าเกิดผมเพิ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี หรือเป็นหัวหน้ามาแค่ปีเดียว แล้วกระโดดมาลงสมัครผู้ว่าฯ แบบนี้เลย มันก็ไม่ใช่นะ แต่ผมเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยย่างเข้าปีที่ 7 แล้ว เป็นสมัยที่ 2 แล้ว ได้เริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะจับต้องได้จริงๆ ได้ลองทำงานที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ มาก็ไม่น้อย โดยเฉพาะเวทีเกี่ยวกับวิศกรรม ที่ผมเชื่อว่าหลายคนเคยเห็นผมมาเป็นวิศกรอาสา แก้ปัญหาฝนตก น้ำท่วม แผ่นดินไหว ป้ายล้ม โรงงานระเบิด ก็ยังเห็นผมอยู่ตลอดเวลา 

นี่แหละที่ผมเรียกว่า จังหวะชีวิตมันพอดี 

จากประสบการณ์ที่คุณเล่ามา ทำไมคุณถึงไม่สนใจต่อยอดงานด้านการศึกษา ด้านวิศวกรรม แต่มุ่งไปที่ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เลย

ความสำเร็จของทุกงานมันต้องรู้สึกว่าใช่กับเรานะ หลายคนทำงานที่ไม่ใช่กับตัวก็ไม่สนุก ไม่รู้สึกแฮปปี้ แต่ถ้าอันไหนเป็นงานที่ใช่ มันจะเหนื่อยจะยากแค่ไหน เราก็ยังอยากทำอยู่ 

ซึ่งสำหรับผม ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คืองานแบบหลัง ตำแหน่งนี้มีลักษณะพิเศษอยู่คือ เป็นงานที่ต้องเป็นทั้งพ่อบ้าน คอยดูแลลูกเรื่องการศึกษา คอยดูแลพ่อแม่เกี่ยวกับสาธารณสุข ในขณะเดียวกันคือต้องเป็นคนที่คอยตามซ่อมทุกเรื่องในกรุงเทพฯ ซึ่งนี่คือลักษณะงานของวิศกรรม

ดังนั้นมันตรงหมดเลย วิศกรรม การศึกษา สาธารณสุข งานนี้มันจึงทั้ง ‘ใช่’ และ ‘ชอบ’ สำหรับผม 

แล้วทำไมถึงตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ คุณมองเห็นอะไรในพรรคนี้

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย อะไรอยู่นานๆ ก็อาจมีคนทั้งรักและไม่รัก มีอดีตที่เรากลับไปแก้ไขไม่ได้ อันนี้ก็เป็นรสนิยมทางการเมืองของแต่ละคนว่าเขาเลือกมองในแง่มุมไหน

แต่สำหรับผมกับพรรคประชาธิปัตย์นั้น แม้ว่ามีเรื่องราวมากมาย เจออะไรไปเยอะ โดนสั่งสอนไปไม่น้อย ผ่านมาทุกรูปแบบ แต่ผมกลับมองเห็นถึงการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่กำลังสร้างพรรค มีอะไรที่ดูน่าสนใจมากขึ้น ก็อยากให้มองส่วนนี้กัน 

ที่สำคัญคือเขาให้โอกาสผม เอ้ สุชชัชวีร์ คนที่ไม่เคยทำงานการเมืองมาก่อน ไม่เคยสังกัดพรรคใด แต่เขาให้โอกาส ผมจึงตัดสินใจเข้าสังกัด 

ผมมองว่าการสังกัดพรรคมันจะดีต่อคนในกรุงเทพฯ ด้วยนะ เพราะว่างานของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ มันคือการสร้างให้สำเร็จ ทำให้ได้ ดังนั้นการสังกัดพรรคการเมืองจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมาย บรรลุความตั้งใจได้ง่ายขึ้น 

ยกตัวอย่างถ้าเกิดผมได้เป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง หากเราจะไปขอความร่วมมือจากคนหรือพรรคการเมืองอื่นๆ มันจะเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เพราะเขาไม่ชอบเรานะ แต่เพราะเขาไปสัญญากับชาวบ้านเอาไว้อีกแบบ ดังนั้นการสังกัดพรรคจะช่วยให้ผมสามารถบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ในแบบที่ตั้งใจไว้ได้ 

คำว่า ‘กรุงเทพฯ’ ในอุดมคติของคุณมีหน้าตาแบบไหน

เราจะเป็นผู้นำองค์กรไหนมันต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์ เริ่มจากร่างภาพในหัวว่าอยากเห็นองค์กรของเรา บริษัทของเรา หรือเมืองของเรา หรือประเทศของเรา เป็นอย่างไร ผมพูดในวันเปิดตัวชัดเจนเลยว่าวิสัยทัศน์ต้องชัดเจน ว่าเปลี่ยนเมืองกรุงเทพฯ เป็น ‘เมืองสวัสดิการ-ทันสมัย-ต้นแบบอาเซียน’ 

คำว่า ‘เมืองสวัสดิการ’ จากปัจจุบันดูเหมือนเรามีการศึกษาฟรี สาธารณสุขฟรี แต่ความจริงมันไม่ใช่เลย สังเกตสิว่าทำไมไม่มีใครเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ต้องไปโรงเรียนชื่อดัง จ่ายเงินแพงๆ หรือเจ็บป่วยต้องไปรอคิวโรงพยาบาลที่มีคณะแพทย์ แบบนี้แปลว่าสวัสดิการมันฟรีก็จริง แต่มันไม่มีคุณภาพ ไม่ตอบโจทย์คนในเมือง 

ดังนั้นหากจะทำสวัสดิการที่มีคุณภาพ ก็ต้องมาคุยกันก่อนว่าอะไรคือคุณภาพ ซึ่งสำหรับผมคือการที่เด็กเล็กได้อาหารถูกหลักโภชนการ โตขึ้นมาได้เรียนฟรี มีคุณภาพ เด็กเล็กได้กินอาหารครบ 5 หมู่  สามารถแข่งขันกับเขาได้ พ่อแม่เจ็บป่วยก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาลตั้งแต่ตี 3 ตี 4 เพื่อรอรักษาอีกทีตอนบ่าย ในขณะที่ศูนย์บริหารสาธารณสุขอยู่ใกล้บ้าน แต่กลับไม่มีใครเข้า เพราะไม่มีหมอ แบบนั้นไม่เอา ต้องแก้ไข 

ต่อมาคำว่า ‘ทันสมัย’ ทุกวันนี้ — ขอโทษทีเถอะ ถ้าเกิดว่าคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ผลลัพธ์มันก็เป็นแบบเดิม เห็นได้ชัดว่าวิธีการมันใช้ไม่ได้แล้ว มันต้องเป็นวิธีที่แตกต่างและแก้ไขได้จริง ซึ่งผมมองเรื่องเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ การบริหารต้องฉลาด จัดการน้ำท่วมต้องกดสวิตช์ หรือประตูน้ำก็เลิกการใช้กุญแจไขได้แล้ว 

สุดท้ายคือคำว่า ‘ต้นแบบอาเซียน’ ต้องมองหาคู่แข่งที่ดีกว่า มันจะผลักดันให้เราตั้งใจ ให้เรามีวินัยมากขึ้น เรื่องฟุตปาธลองเทียบกับสิงคโปร์สิ ว่าเราตามเขาตรงไหนบ้าง ทำให้เหมือนหรือดีกว่าได้ไหม แบบนี้คือการตั้งเป้าหมายที่ผมอยากให้เกิดขึ้นกับการแก้ปัญหาในกรุงเทพฯ

นี่คือความฝันของผม กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัย และเป็นต้นแบบอาเซียน สามคำนี้บอกบุคลิกของผมชัดเจนมาก 

ปัญหาด้านการศึกษา โดยเฉพาะปัญหาค่าเทอมแพง คุณมองวิธีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรบ้าง 

ถ้ามีคำว่าแพงเกิดขึ้น คนรวยนี่เราไม่ต้องเป็นห่วงเขานะ เขาอาจจะส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชนแพงๆ หรือส่งไปเรียนเมืองนอกได้ แต่ที่ผมห่วงคือคนชั้นกลางถึงชั้นล่างที่ปัจจุบันเขาจนนะ แต่เขากำลังโหนอยู่  เพราะด้วยความที่เขารักลูก เลยต้องพยายามส่งเสียให้เรียนโรงเรียนที่ดี ที่แพง การศึกษาของลูกเลยทำให้ชีวิตของเขาลำบากมาก 

ดังนั้นสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำ คือทำให้โรงเรียนใกล้บ้านมีคุณภาพที่ดี มีครูดี หลักสูตรดี ดูแลลูกเขาได้อย่างครบถ้วน ตอนผมลงพื้นที่ผมยิ่งเห็นปัญหาเลยคุณ โหย…คนกรุงเทพฯ น่าสงสารมากกว่าที่เราคิดนะ คนลำบากเยอะมาก ขนาดแค่เรื่องอาหารหลัก 5 หมู่ของศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก เขายังได้ไม่เพียงพอ ก็เลยตั้งใจว่าภายใน 4 ปี จะมีโรงเรียนต้นแบบ 50 เขตที่สู้กับโรงเรียนที่คนเคยเชื่อถือหรือโรงเรียนระดับนานาชาติยี่ห้อดังๆ ให้ได้

เรื่องน้ำเน่าที่ต้องผ่านการใช้เทคโนโลยีในแบบของคุณมีรูปแบบอย่างไร  จะแก้ปัญหานี้ได้มากน้อยแค่ไหน

หากมาดูที่สาเหตุว่าทำไมน้ำมันเน่า คำตอบคือน้ำมันนิ่ง อย่าว่าแต่คลองไหนเลย ในบ่อปลาถ้าไม่มีออกซิเจนหมุนเวียน อยู่ในบ้านเฉยๆ ก็เน่า ทีนี้คิดต่อแล้วน้ำนิ่งมาจากอะไร ก็มาจากการที่เปิดปิดประตูน้ำยังต้องรอคนอยู่ ทุกวันนี้คนจะเปิดให้น้ำไหลตรงนี้ ก็กลัวว่าน้ำจะไปขึ้นอีกที่ มันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเราใช้เครื่องมือ ใช้เทคโนโลยีคำนวณ วิเคราะห์การเปิดปิดประตูน้ำ มันจะทำให้น้ำมีการไหลเวียนได้มากกว่านี้ 

ต่อมาเราจะแก้ไขด้วยระบบปั๊มน้ำ ทุกวันนี้คลองไม่มีอากาศ เพราะปั๊มที่มีอยู่ทำงานบ้าง ไม่ทำงานบ้าง เลยทำให้น้ำนิ่ง ไม่ไหลเวียน แล้วก็เน่า 

สุดท้ายคือต้องบำบัดน้ำก่อนลงคลอง ถ้าเกิดไม่มีการบำบัดแล้วน้ำมาอย่างไรปล่อยไปอย่างนั้น มันจะใสได้อย่างไร  เราจึงต้องสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียโดยเฉพาะบริเวณชุมชนละแวกคลอง ซึ่งมันจำเป็นต้องทำตั้งแต่วันนี้เลย เปลี่ยนจากทุกวันนี้ที่คนต่างหันหลังให้คลอง ให้กลับมาหันหน้าให้คลองได้อีกครั้ง 

ปัญหาเรื่องขนส่งสาธารณะที่เป็นอีกปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ คุณมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไรที่แตกต่างจากเดิม และเห็นผลได้จริง 

เรื่องของการขนส่ง ทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์  และขนส่งประเภทอื่นๆ ต้องเริ่มจากการคิดก่อนนะว่านี่คือสวัสดิการของรัฐ เพราะการเดินทางทำให้เด็กได้ไปโรงเรียน ให้คนได้ไปเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลให้กับประเทศ จึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องถือเป็นสวัสดิการพื้นฐาน

คำว่าสวัสดิการพื้นฐาน บางอย่างมันก็ฟรีก็ได้ เช่น เรื่องการศึกษา สาธารณสุข แต่การขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่จะขอยกตัวอย่างนั้น ทุกประเทศเขาจะแตกต่างนิดหนึ่ง คือมีการเก็บค่าใช้จ่ายไม่เกิน 20% ของค่าแรงขั้นต่ำ ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยคือ 300 บาทต่อวัน ค่าเดินทางจึงไม่ควรเกิน 60 บาทต่อวัน ดังนั้นอย่างมากราคาค่าเดินทางก็ควรจะเป็น 25 บาทต่อเที่ยว เผื่ออีก 10 บาทไว้เดินทางต่ออีกนิดหน่อย แค่นี้พอ หากจะเพิ่มค่าเดินทาง รัฐก็ต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้ประชาชนก่อน 

แล้วจะเกิดคำถามต่อมาว่า 25 บาทต่อเที่ยว รัฐจะอยู่อย่างไร ผมอยากชวนทุกคนคิดตามว่า ทุกวันนี้รถไฟฟ้าคือสวัสดิการของรัฐเหมือนกับท่อประปา กับสายไฟฟ้า แต่ปัจจุบันรัฐเขาก็ไม่ได้เก็บค่าท่อประปา ค่าสายไฟใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นรัฐก็ไม่ควรเก็บค่าตอม่อเรา ดังนั้นเรื่องการก่อสร้างขยายเส้นทางเพิ่มเติม รัฐก็ควรรับภาระไป ส่วนที่จะได้จากประชาชนคือค่าตั๋ว ซึ่งเอาจริงๆ ถ้ามานั่งดูสถิติ มันก็อยู่ได้นะ ทุกวันนี้กรุงเทพฯ จ้างเดินรถไฟฟ้าปีละ 7-8 พันล้านบาท ถ้าเกิดเราจำหน่ายตั๋วราคา 25 บาท แล้วมีคนนั่ง 8 แสนคนต่อวันเหมือนปัจจุบัน ในปีหนึ่งเราก็จะได้รายได้จากค่าตั๋วเกือบๆ 7 พันล้านแล้ว ไหนจะเงินค่าโฆษณา ค่าจัดเก็บค่าเช่าร้านค้าต่างๆ ในสถานีรถไฟฟ้าอีก อย่างไรมันก็อยู่ได้ 

ดังนั้นคำถามคือรัฐติดกระดุมเม็ดแรกถูกหรือไม่ วางแผนดีพอหรือเปล่า อย่าโยนภาระให้กับกรุงเทพฯ เอกชน และประชาชนอย่างเดียว เรื่องนี้ต้องคุยกัน ต้องทำให้ถูกต้อง 

ปัญหาเรื่องสาธารณสุขล่ะโดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย จะแก้ไขอย่างไรดี 

กรุงเทพฯ จริงๆ ไม่ธรรมดานะ มีโรงพยาบาล 11 โรงในสังกัด กทม. มีมหาวิทยาลัยที่มีคณะแพทย์ ผลิตแพทย์ ผลิตพยายบาล มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และศูนย์เครือข่ายอีกเป็นร้อย แสดงว่าครบถ้วนเลย เพียงแต่ในความเป็นจริง เรามีแต่อาคารกับสถานที่ แต่ไม่มีคนและเครื่องมือที่เพียงพอ 

เรื่องคน ต้องยอมรับว่าเรามีหมอไม่พอ แต่ก็ยังโชคดีที่หมอเป็นอาชีพที่คนเกษียณแล้วยังทำงานได้ดี ดังนั้นกรุงเทพฯ จึงต้องเพิ่มอัตราจ้างหมอ ยกระดับสาธารณสุขที่ไม่ค่อยมีหมอให้กลายเป็นศูนย์การแพทย์ มีหมอมาอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ โดยเจาะจงไปที่หมอเฉพาะด้านโรคผู้สูงอายุ และโรคเด็กเป็นสำคัญ ตรงนี้จะให้คนเขามีทางเลือกในการรับบริการได้ ไม่ต้องไปที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ถ้าทำได้แบบนี้ ชีวิตคนเปลี่ยนทันทีเลยนะ 

จากทั้งหมดที่พูดมา ไม่ว่าเรื่องการศึกษา ขนส่งสาธารณะ และสาธารณสุข หากคุณเป็นผู้ว่าฯ กทม. คุณวางระยะเวลาการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไว้กี่เดือน กี่ปี

สามอย่างนี้ เรื่องสาธารณสุขสำคัญสุดเลย โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่พอเจอกับผู้สูงอายุและเด็กยิ่งน่าเป็นห่วง ดังนั้นต้องจัดการทันที โรงพยาบาลของกรุงเทพฯ 11 แห่ง ซึ่งมีหมอดีๆ อยู่แล้ว จะเสริมกำลังเป็นโรงพยาบาลผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น เพราะโควิดก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง อันตรายถึงตายได้ ตรงนี้จะเห็นได้ภายใน 6 เดือนเลย เพราะสถานที่สมบูรณ์อยู่แล้ว เรามีมหาวิทยาลัย มีคณะแพทย์ของเราเอง การดึงหมอเก่งๆ สามารถทำได้ทันที ส่วนสาธารณสุขเหมือนกัน จะเพิ่มการจ้างงาน ให้ค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น 

ส่วนการศึกษาเป็นเรื่องระยะยาว แต่ถ้าไม่ทำ แป๊บเดียวก็จะสายเกินไป ดังนั้นขอเวลาสักหน่อย โดยสองปีแรกจะเห็นภาพโรงเรียนต้นแบบ 50 เขต ชัดเลยว่าเป็นอย่างไร และครบสี่ปีจะเห็นผลได้ชัดเลย เด็กเข้าเรียนตอนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ออกไปมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็สามารถต่อยอดได้ทันที แต่ที่จะทำให้เร็วกว่านั้นคือการดูแลเด็กเล็ก ภายใน 6 เดือนจะมีอาหารเช้าฟรี มีการบันทึกสุขภาพ ไม่เช่นนั้นแล้ว ต่อให้เราทุ่มไปเท่าไร ถ้าเขากินไม่อิ่ม อะไรก็ไม่ดีขึ้นจริง

สุดท้ายคือเรื่องรถไฟฟ้า ถ้าผมดำรงตำแหน่งแล้ว เรื่องจะถึงรัฐบาลทันที จะเป็นตัวแทนของประชาชนที่ตามจี้ติด ให้เรื่องมันเดิน ให้มันเกิดมาตรฐานเดียวกัน 

หลังจากคุณเปิดตัวแสดงวิสัยทัศน์ไปเมื่อช่วงปลายปี 2564 มีประเด็นหนึ่งที่หลายคนตั้งคำถามคือ ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม.ก็เป็นตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งนั้น แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถดูแลและแก้ไขปัญหาของกรุงเทพฯ ได้ดีนัก แล้วทำไมคนกรุงเทพฯ ต้องเลือกคุณสุชัชวีร์ที่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์อีกล่ะ

ผมมั่นใจว่าเราไม่สามารถวิจารณ์อะไรที่เกิดขึ้นในอดีตได้ ไม่ว่าเรื่องผู้ว่าฯ หรือเรื่องใดๆ ในชีวิตของเรา และอีกอย่างคือผู้ว่าฯ ในอดีต ทั้งจากประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ ที่ก็มีข้อดีอยู่เยอะ เพียงแต่ในการต่อสู้ทางการเมือง เรามักจะไม่หยิบยกข้อดีมาอธิบาย แต่มักจะเป็นจุดอ่อนเพื่อที่จะมาเปรียบเทียบกันมากกว่า มันจึงเป็นเหตุให้เกิดประเด็นแบบนี้ขึ้นมา 

ดังนั้นสำหรับเรื่องนี้ผมคงไปพูดถึง วิจารณ์ หรือแก้ต่างแทนผู้ว่าฯ คนอื่นไม่ได้ จึงอยากชวนให้มองถึงผลงานดีๆ ในอดีตที่พวกเขาเคยทำเคยสร้างกันมาจะดีกว่า

อีกประเด็นที่อยากจะบอกให้ทุกคนได้มั่นใจ คือถึงแม้ผมจะมาลงสมัครกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ผมมีอิสระ 100% เลย พรรคไม่ได้มายุ่งเกี่ยวในเรื่องของนโยบาย ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวในเรื่องวิธีการทำงานเลย อันนี้เป็นเรื่องจริง สิ่งที่พรรคทำคืออำนวยความสะดวกให้เราได้เข้าถึงปัญหาของประชาชนเท่านั้น ส่วนโนยบาย วิธีการ หรือแม้แต่การตอบคำถามอะไรต่างๆ ก็มีความเป็นอิสระ ยังเป็นสุชัชวีร์คนเดิมที่มีความมุ่งมั่น กล้าหาญ กล้าเปลี่ยนแปลง ไม่ทำให้ทุกท่านผิดหวังแน่นอน 

ประเด็นการตรวจสอบทรัพย์สินของคุณที่เกิดขึ้น มีความกังวลบ้างไหม

ความกังวลเรื่องของความบริสุทธิ์ไม่มีเลย เพราะผมใช้ชีวิตเปิดเผยโปร่งใสนะ นิตยสารบ้านและสวนมาขอให้ถ่ายบ้าน ก็เปิดเผยให้ดู ให้เห็นว่าเราใช้ชีวิตแบบเปิดเผยโปร่งใส เช่นเดียวกับการแสดบัญชีทรัพย์สิน ก็แสดงอย่างละเอียดให้เห็น และสามารถอธิบายได้ทุกอย่างเลย ดังนั้นความบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้กังวล

แต่เรื่องประเด็นทางการเมืองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถูกไหม ซึ่งอันนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวผมแล้ว ผมอาสาออกมา ทิ้งชีวิตทุกอย่างหมดเลย  อยากจะเห็น อยากจะเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบเดิมๆ เป็นการเมืองที่สร้างสรรค์ อยากจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งอนาคต แต่กลับมีประเด็นนี้ขึ้นมาทั้งที่ผมบริสุทธิ์ใจขนาดนี้ 

ดังนั้นคำถามนี้ไม่ได้เป็นคำถามที่ควรถามผมคนเดียว แต่ต้องถามคนอื่นด้วย

เกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ชีวิตทางการเมืองของคุณเป็นอย่างไรบ้าง เหมือนกับที่คิดไว้ก่อนหน้านี้ไหม

บอกเลยว่ามีความสุขทุกวัน เพราะผมได้ทำสิ่งที่ผมรอมานานแม้จะเหนื่อยขนาดไหนก็ตาม ดูสภาพสิ นอนก็น้อย ตัวก็ดำ ผิวก็คล้ำ คอก็แสบ ผมเดินลงพื้นที่วันละ 15-20 กิโลเมตร แต่ก็มีความสุขเพราะได้ทำสิ่งที่รัก 

นอกจากมีความสุขแล้วคือตัวเองเปลี่ยนไปเยอะมาก รู้จักเห็นใจมากยิ่งขึ้น เชื่อไหมสิ่งที่เคยได้ยินมา สิ่งที่ได้เห็นในยูทูบ ในความเป็นจริงแย่กว่านั้นมาก คนกรุงเทพฯ ลำบากกว่าที่เราเห็นมากจริงๆ ไม่น่าเชื่อว่าแค่ปัจจัย 4 ยังไม่มี บางบ้านน้ำยังไม่ไหล ไฟยังไม่สว่าง ทางไม่เคยดี ลูกเขาไม่ได้กินอาหารอย่างถูกหลักโภชนา เห็นคนติดเตียง เห็นน้ำทะลัก เห็นคนต้องนอนอยู่กับน้ำเน่าทั้งที่คลองก็ติดแม่น้ำเจ้าพระยา 

พอยิ่งได้ลองเดินในกรุงเทพฯ ผมยิ่งเข้าใจปัญหามากขึ้นนะ แล้วที่มันคับแค้นกว่าคือเราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ 

ดังนั้นวันนี้ผมจึงไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นผู้สมัครนะ แต่คิดว่าตัวเองเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ไปแล้ว เพราะถ้าคิดว่าเป็นผู้สมัครก็จะไปสวัสดี ไปหาเสียงอะไรแบบนั้น แต่ตอนนี้คิดว่าไปทำงานแล้ว เจอปัญหาอะไรก็ใช้เวลาอยู่ตรงนั้นนานมาก ต้องไปดูถึงต้นตอปัญหา แล้วมาคิด วาด ออกแบบ ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรให้ผู้คนหมดทุกข์ได้ทันทีในวันนี้

ถ้าไม่ได้ทำงานในฐานะผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คุณมองเส้นทางการเมืองของตัวเองต่อไปอย่างไร

ไม่ว่าจะทำอะไร ผมมีหลัก 3 ข้อ ซึ่งถือเป็นคัมภีร์บริหาร ไม่ว่าจะทำงานองค์กรไหน หากเป็นผู้นำ ต้องยึดถือ 3 ข้อนี้ตลอด 

ข้อที่ 1 คือ focus

ข้อที่ 2 คือ focus 

ข้อที่ 3 คือ focus 

ให้เหมือนกับที่เราเคยประกาศจะสร้างโรงพยาบาลต้นแบบ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร มีเงินแค่ศูนย์ ไม่มีอะไรเลย ซึ่งถ้าสมองเราคิดแค่เรื่องทำไม่ได้ พูดไปแล้วทำไม่ได้ ทำอะไรจะไม่สำเร็จแน่ ก็คงไม่ต้องทำอะไรเลย แต่พอเริ่มลงมือก็มีคนเริ่มลงเงินหมื่นแรก แสนแรก ล้านแรก ร้อยล้านแรก วันนี้โรงพยาบาลตอกเสาเข็มเดินหน้าแล้ว

เหมือนกัน วันนี้ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นผู้สมัคร ต้องคิดว่าเราเป็นผู้ว่าฯ ไปแล้ว ปัญหาคือไม่ใช่ไปหาเสียง ไม่ใช่คิดว่าฉาบฉวย ดังนั้นคำตอบคือ ตอนนี้ผมโฟกัสกับเรื่องนี้อยู่

เป็นไปได้แค่ไหนที่คุณจะทำให้ชีวิตคนกรุงเทพฯ เป็นเหมือนสโลแกนตามป้ายต่างๆ ที่ว่า ‘กรุงเทพฯ ชีวิตที่ลงตัว’

ผมบอกได้ว่า ผมอยากเห็นคนกรุงเทพฯ มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี สูดอากาศได้เต็มปอด น้ำสะอาดไม่มีเน่าให้เห็น อุ่นใจว่าพ่อแม่มีรัฐคอยดูแลอยู่ ไม่ต้องกังวลเรื่องอนาคตของลูกเขาว่าจะโตอย่างไร จะได้รับการศึกษาที่ดีไหม และเชื่อใจว่าผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ จะอยู่ข้างเขา พร้อมช่วยเหลืออยู่เสมอ

Fact Box

  • สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์  เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากนั้นได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขา M.Sc. (Geotechnical Engineering) และสาขา M.Sc. (Technology and Policy), และระดับปริญญาเอกสาขา Sc.D. (Geotechnical Engineering) จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ในประเทศสหรัฐอเมริกา
  • หลังจากนั้นสุชัชวีร์ กลับมารับตำแหน่ง อธิการบดีที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และยังรับตำแหน่งนายกสภาวิศวกร และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี เพื่อลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
  • เมื่อต้นปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ได้เชิญ สุชัชวีร์ มาชี้แจงเกี่ยวกับการร่ำรวยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ หลังพบว่าในปี 2564 สุชัชวีร์ คู่สมรส และบุตร มีทรัพย์สินรวมกว่า 342 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่ก้าวกระโดดจาก ปี 2559 ที่มีทรัพย์สินรวม 44 ล้านบาท และปี 2561 ที่มีทรัพย์สินรวม 74 ล้านบาท
  • จนถึงปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วทั้งหมด 3 คน ได้แก่ นายธรรมนูญ เทียนเงิน (2518-2520) นาย อภิรักษ์ โกษะโยธิน (2547-2551) และ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร (2552-2559)
Tags: , , , , , , ,