ริชาร์ด เดล ผู้กำกับฯ ชาวอังกฤษที่ทำหนังมานานกว่า 20 ปี บอกว่า นี่เป็นงานแรกในชีวิตการทำงานที่เขาไม่ได้ไปออกกองถ่ายทำด้วยเลยสักฉาก เพราะรู้ว่าต่อให้เขาเอาตัวเองไปอยู่หน้าเซ็ต ก็คงไม่มีนักแสดงฟังเขาอย่างแน่นอน
ด้านโปรดิวเซอร์จาก BBC อย่าง สตีเฟน แมคโดนา ก็ไม่ได้มีปัญหากับการที่ผู้กำกับฯ ของเขาจะไม่ไปเหยียบกองถ่ายเพราะควบคุมนักแสดงไม่ได้
ทั้งที่ริชาร์ดเป็นผู้กำกับฯ มือดีที่มีดีกรีทั้ง BAFTA Awards และ Emmy Awards การันตีความสามารถ ส่วนสตีเฟนคือผู้อยู่เบื้องหลังงานใหญ่มาแล้วหลายต่อหลายงาน รวมถึง Walking With Dinosaurs หนังที่เด็กๆ ก็รัก ผู้ใหญ่ก็ชอบ
แต่ที่เป็นอย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นนั้นก็เพราะว่าในภาพยนตร์เรื่อง Earth: One Amazing Day ซึ่งเป็นการร่วมงานกันของทั้งคู่ นักแสดงเกือบทั้งหมดในเรื่องนั้น ไม่ว่าจะบทนำหรือตัวประกอบ คือบรรดาสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติจริงๆ ซึ่งต่อให้เป็นผู้กำกับระดับเทพแค่ไหนก็ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าพวกเขาต้องอยู่ตรงไหนและทำอะไร
แม้ว่า ‘หน้าหนัง’ อาจจะชวนให้นึกถึงหนังสารคดีเกี่ยวกับสัตว์ แต่ทั้งผู้กำกับฯ และโปรดิวเซอร์ยืนยันว่า พวกเขาไม่ได้ตั้งใจทำผลงานชิ้นนี้ให้เป็นสารคดี แต่ใช้ทุกความพยายามในการทำออกมาให้เป็น ‘หนัง’ ที่มีครบรส ทั้งแอ็กชั่น ดราม่า และเสียงหัวเราะ โดยถ่ายทอดผ่านความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นใน 1 วันบนโลกนี้
ทั้งยังเป็นหนังที่ทั้งสองหวังว่า เมื่อได้ดูตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว เรื่องราวของ ‘สัตว์’ ต่างๆ จะทำให้ ‘คน’ ที่ได้ดูเดินออกจากโรงไปด้วยมุมมองบางอย่างที่ต่างไปจากเดิม
โปรเจกต์ Earth: One Amazing Day เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร
สตีเฟน: ประมาณสัก 5 ปีก่อน แต่ช่วง 2 ปีแรกจะเป็นช่วงที่เราใช้ไปกับการวางแผน รวมถึงการคุยกันว่า ตกลงเราจะทำเรื่องนี้กันจริงๆ ใช่ไหม เหตุผลที่จะทำหนังเรื่องนี้คืออะไร แล้วถ้าทำ เราจะทำออกมาอย่างไร ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องคุยกันให้ชัดเจน ก่อนที่ริชาร์ดจะเข้ามาร่วมทีมและเริ่มต้นถ่ายทำกันในช่วง 3 ปีหลัง
แล้วเหตุผลที่ทำให้คุณตัดสินใจทำหนังเรื่องนี้คืออะไร
สตีเฟน: เหตุผลหลักเลยคือเรื่องของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาก เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้วที่ BBC เคยทำเรื่อง Earth ออกมา เทคโนโลยีมันคนละเรื่องเลย เอาแค่คุณภาพของกล้องที่ใช้ในตอนนั้นอาจจะสู้คุณภาพของกล้องโทรศัพท์มือถือเดี๋ยวนี้ไม่ได้ด้วยซ้ำไป ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เราเก็บภาพสัตว์ได้อย่างใกล้ชิดกว่าในอดีต และความใกล้ชิดนั้นทำให้เราสามารถเล่าเรื่องในวิธีที่ต่างไปจากเดิมและไม่เคยทำมาก่อนได้
ริชาร์ด: มันทำให้เกิดภาษาใหม่ในการถ่ายทอดเรื่องราว เกิดเป็น visual language ที่นำไปสู่ emotional language ได้ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมสนใจโปรเจกต์นี้ เพราะอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากภาพทำให้เราสามารถสื่อสารในสิ่งที่คิดว่าเป็นข้อความสำคัญได้
เราทำหนังเรื่องนี้ขึ้นไม่ใช่เพราะว่าเราสนใจเรื่องสัตว์ ไม่ใช่เพราะว่าเราอยากรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของมัน แต่เพราะเราต้องการจะสื่อถึงเรื่องชีวิตและโลกใบนี้ อยากให้คนดูได้มองโลกและมองชีวิตต่างออกไปหลังจากดูหนัง อาจจะมองบางเรื่องที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก หรือให้ความสำคัญกับบางอย่างในชีวิตมากขึ้น
ถ้าดูจากงานที่ผ่านมาของริชาร์ด จะเห็นว่าผลงานส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าเรื่อง ‘คน’ แทบทั้งนั้น ทำไมถึงเลือกให้เขามากำกับฯ โปรเจกต์ซึ่งใช้ ‘สัตว์’ เป็นตัวเดินเรื่อง
สตีเฟน: ผมกับริชาร์ดรู้จักกันมานานแล้วและรู้ว่าเขาทำงานอะไรมาบ้าง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ทำหนังแนวนี้ด้วยกัน และที่เลือกร่วมงานกับเขาก็เพราะว่าเรารู้ว่าเขาจะสามารถใส่ส่วนผสมของความเป็นคนลงไปในเรื่องที่มีสัตว์เป็นหลักได้
ริชาร์ด: ผมว่ามันเป็นการร่วมงานกันที่น่าสนใจนะ เพราะถ้าพูดถึงการทำหนังแนว natural history ผมถือเป็นคนนอกวงการนี้ คนส่วนใหญ่ที่จับงานหนังสารคดีธรรมชาติโดยตรง เขาใช้เวลาแทบทั้งชีวิตการทำงานของเขากับการทำงานในสายนี้ เพราะฉะนั้นโปรเจกต์นี้มันจึงเป็นการเชื่อมโลกการทำงานสองแบบเข้าด้วยกัน ระหว่างคนทำหนังแนว natural history ที่มีความชำนาญด้านนี้มากๆ กับคนทำหนังที่เป็น moviemaker ด้วยส่วนผสมนี้ หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่หนังสารคดีสัตว์โลกที่พูดถึงพฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์ในเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะเราทำหนังโดยที่ไม่ยึดกับขนบในการเล่าเรื่องแบบนั้น
ในโลกนี้มีสัตว์เป็นล้านๆ ชนิด คุณตัดสินใจอย่างไรว่าจะเลือกสัตว์ชนิดไหนมาอยู่ในหนังบ้าง
ริชาร์ด: ก็เลือกจากสัตว์ที่พวกเราชอบไง (หัวเราะ) จริงๆ แล้วการเลือกว่าจะถ่ายทำสัตว์ชนิดไหนบ้างเป็นหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดของการทำหนังเรื่องนี้ เกณฑ์ที่เราเอามาใช้ในการตัดสินใจก็คือดูว่าวิถีชีวิตของสัตว์เหล่านั้นมันตรงกับคอนเซปต์ในการเล่าเรื่องของเราไหม เราตั้งใจที่จะเล่าเรื่องของแต่ละวันในโลก โดยอยากให้เริ่มต้นขึ้นและจบลงที่ช่วงเวลาเดียวกัน สัตว์ที่เลือกจึงต้องมีเรื่องราวที่ตรงกับเส้นเรื่องนี้ ที่สำคัญ เรื่องนั้นต้องเป็นเรื่องที่น่าสนใจและคาดไม่ถึงด้วย
ยกตัวอย่างหมีแพนด้า เราอาจจะมองว่ามันเป็นหมีอ้วนจอมขี้เกียจที่วันๆ ไม่ทำอะไรเลยนอกจากกิน กิน แล้วก็กิน แต่จริงๆ แล้วการกินคืองานของมัน ที่เราเคยมองว่ามันขี้เกียจและเอาแต่กินทั้งวัน นั่นคือมันทำงานหนักอยู่ต่างหาก
หรืออย่างนกฮัมมิงเบิร์ดที่ตัวเล็กจิ๋วเสียจนไม่สามารถสะสมอาหารไว้ในร่างกายได้ เพราะฉะนั้นหนทางเดียวที่จะทำให้มีชีวิตรอดก็คือต้องกินไปเรื่อยๆ แล้วมันก็หาอาหารได้เฉพาะตอนกลางวันเท่านั้น พอถึงตอนกลางคืนก็มองไม่เห็นแล้ว เพราะฉะนั้นช่วงระหว่างวันที่ยังมีแสงแดดอยู่ มันก็จะต้องกินให้มากที่สุด เพื่อว่าเมื่อกลางคืนมาถึง มันจะได้อยู่นิ่งๆ รอเวลาให้ความมืดผ่านไป และออกหากินอีกครั้งเมื่อเวลาเช้ามาถึง ซึ่งก่อนหน้านี้เวลาเราพูดถึงฮัมมิงเบิร์ด เราก็มักจะนึกถึงแต่ความสวยงามของมันเท่านั้น แต่ไม่ได้รู้หรือคิดมาถึงตรงนี้
สตีเฟน: อีกเรื่องคือเราเลือกสัตว์โดยพยายามให้มันมีบาลานซ์ในเรื่อง ให้มันมีทั้งดรามา มีเรื่องรัก มีอารมณ์ความรู้สึกหลากหลายอยู่ในเรื่อง ซึ่งยืนยันเลยว่าตัดสินใจยากมากว่าจะเอาหรือไม่เอาอะไร หลายชนิดถ่ายมาแล้วสุดท้ายเราก็ไม่ได้ใช้ เรามีฟุตเทจที่ถ่ายมารวมแล้วประมาณ 60 เทระไบต์ ซึ่งริชาร์ดต้องนั่งดูฟุตเทจพวกนี้เพื่อเลือกว่าจะเล่าเรื่องออกมาแบบไหน
ริชาร์ด: สัตว์ทุกชนิดที่เห็นในเรื่องนี้ ไม่มีตัวไหนเลยที่เราเลือกเพราะว่า เฮ้ย เอาตัวนี้ดีกว่า เพราะว่าภาพสวย แต่ทุกชนิดที่เราเลือกมาพูดถึงนั้นมีภาพสวยมาก เรียกว่าตลอดการทำงานนี้ ไม่มีครั้งไหนที่เราเจอกรณีที่ว่า เรื่องเจ๋งแต่ภาพไม่สวยพอที่จะสร้างอิมแพกต์บนจอภาพยนตร์
สตีเฟน: บางฉากที่เห็นในหนังเรื่องนี้ อาจจะเป็นภาพที่หลายๆ คนอาจจะคุ้นตาอยู่บ้าง เพราะเป็นภาพที่คล้ายกับที่เคยเห็นในสารคดีเรื่องอื่น ซึ่งสำหรับเราแล้ว ไม่ถือเป็นเรื่องแปลกอะไร เพราะจุดประสงค์ในการทำหนังเรื่องนี้ไม่ใช่การคัดสรรภาพที่สวยที่สุดและแปลกใหม่ที่สุดมานำเสนอ แต่เป็นการนำภาพสัตว์ต่างๆ มาใช้เล่าเรื่องชีวิตใน 1 วันที่เชื่อมโยงกับแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก
ทำไมคุณถึงเลือกให้อิกัวน่าและงูบนเกาะกาลาปากอสมาอยู่ในฉากแรกๆ ของเรื่อง แทนที่จะเปิดด้วยสัตว์ที่คนทั่วไปมองว่าน่ารัก
ริชาร์ด: เพราะเราอยากได้เรื่องที่ให้อารมณ์ตื่นเต้น ฉากนี้เราตั้งใจให้มันเป็นเหมือนกับฉากไล่ล่าที่เร้าใจในหนังแอ็กชั่น เอาเป็นว่าให้ตื่นเต้นในระดับที่อยู่ในหนังตระกูล (เจมส์) บอนด์ก็ยังได้
สตีเฟน: เฉินหลงซึ่งเป็นคนบรรยายเสียงภาษาจีนดูฉากนี้แล้วก็ยังบอกเลยว่า “คุณคงไม่ว่าอะไรนะ ถ้าผมจะขอขโมยฉากนี้ไปใช้ในหนังเรื่องต่อไปของผมด้วย ผมจะฝังตัวเองในทรายเหมือนกับพวกอิกัวน่า แล้วก็ให้มีงูมาจ้องเล่นงานผม” ซึ่งมันก็ตรงกับสิ่งที่เราตั้งใจทำในฉากนี้ นั่นคือทำให้เป็นเหมือนหนังแอ็กชั่น
เวอร์ชั่นภาษาจีนมีเฉินหลงเป็นคนลงเสียงบรรยาย ในขณะที่เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษเป็น โรเบิร์ต เรดฟอร์ด เพราะอะไรคุณถึงเลือกนักแสดงรุ่นใหญ่คนนี้มาเป็นคนเล่าเรื่อง
ริชาร์ด: สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้คือเราอยากให้คนดูดูแล้วรู้สึกว่า เรื่องทั้งหมดนั้นถูกเล่าด้วยน้ำเสียงที่น่าเชื่อถือ แต่ก็อบอุ่นและเป็นมิตร อารมณ์ในการบรรยายที่เราคิดกันไว้ก็คือเหมือนฟังเรื่องเล่าอยู่ที่บ้าน เพราะเราไม่ได้เล่าเรื่องแบบวิทยาศาสตร์ แต่เรากำลังเล่าในสิ่งที่เชื่อมโยงกับคนดู เราเลยอยากได้เสียงที่ฟังแล้วทำให้รู้สึกว่านั่งดูหนังอยู่กับคุณตาหรือคุณลุงคนโปรด แล้วคุณลุงหรือคุณตาก็เป็นคนเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง
ในช่วงต้นของหนัง เสียงในการบรรยายจะค่อนข้างเนิบเมื่อเทียบกับตอนท้าย ซึ่งเป็นความตั้งใจของเราที่อยากให้เป็นแบบนั้น อยากให้คนดูค่อยๆ มีความรู้สึกร่วมเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงตอนจบที่เป็นเสียงบรรยายว่า “We have the lives of all animals in our hands.” แล้วก็เห็นด้วยกับคำพูดนี้ ซึ่งโรเบิร์ตถ่ายทอดออกมาได้ดีมาก เขารู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ และทำให้การเล่าเรื่องไปถึงจุดที่เราต้องการได้
อีกอย่างหนึ่ง การที่โรเบิร์ตให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ถือเป็นเรื่องดีกับหนัง เพราะเขามีความน่าเชื่อถือสูง และถ้าเขาจะรับงานอะไร คุณรู้ได้เลยว่ามันไม่ใช่เพราะเรื่องเงิน แต่เป็นเพราะเขาเห็นคุณค่าในงานนั้นจริงๆ
ตลอดเวลา 3 ปีในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ มีโลเกชั่นไหนที่คุณไปออกกองด้วยบ้าง
ริชาร์ด: ไม่มีเลย นี่เป็นหนังเรื่องเดียวในชีวิตการทำงานของผมที่ผมไม่ได้ไปออกกองถ่ายทำด้วย เพราะรู้ว่าต่อให้ไปก็คงไม่มีสัตว์ตัวไหนฟัง จะให้ไปพูด “แอ็กชั่น!” ใส่หมีแพนด้า มันก็คงไม่แสดงให้ แต่สตีเฟนไปมาบ้าง
สตีเฟน: โลเกชั่นที่ผมไปก็จะมีทางตอนเหนือของจีนที่เราถ่ายภาพฝูงนกกระเรียนมงกุฎแดง ซึ่งสวยงามมากแต่ก็ถ่ายทำยากมากเช่นกัน เพราะเราพยายามจับภาพช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้น และเป็นภาพที่เราเอามาใช้เป็นซีนเปิดในเรื่อง นอกนั้นก็มีทางตอนใต้ของจีนที่เราถ่ายค่างกระหม่อมขาว และที่ไปมาอีกฉากก็คือหมีแพนด้า เพราะการได้แฮงเอาท์กับหมีแพนด้านี่อยู่ในลิสต์สิ่งที่ต้องทำของผมเลย (หัวเราะ)
ริชาร์ด: ถึงจะไม่ได้ไปที่โลเกชั่น แต่หน้าที่ของผมคือว่าวางแผนว่าควรจะให้กล้องอยู่ตรงไหนบ้าง เราเป็นผู้กำกับการแสดง แต่เรากำกับสัตว์ไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือกำกับมุมมองของภาพที่เราจะมองสัตว์เหล่านี้ ซึ่งมันคือหัวใจหนึ่งในการทำหนังเรื่องนี้เลย เพราะเราต้องคิดว่าอยากให้คนดูเห็นภาพนั้นแล้วรู้สึกอย่างไร คือการคิดว่าจะให้กล้องอยู่ตรงไหนนี่มันต้องผ่านการตอบคำถามหลายอย่างนะ อย่างเช่นต้องตอบให้ได้ว่าเราอยากให้คนดูรู้สึกเหมือนกำลังมองสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก หรือเป็นส่วนหนึ่งของโลก หรือช็อตแบบไหนที่จะเล่าเรื่องได้
อย่างซีนที่เป็นเรื่องของค่างกระหม่อมขาวที่ซ่อนตัวในหน้าผา เรื่องเล่าของซีนนั้นก็คือความกลัวที่เกิดขึ้นเมื่อความมืดคืบคลานเข้ามา ช็อตที่คิดไว้ก็คืออยากเห็นเงาค่อยๆ ทาบทับบนหน้าผาและปฏิกิริยาของค่างที่มีต่อเงาดำนั้น เราอยากให้คนดูเห็นว่ามันมีความกลัว มีความระทึกใจในการซ่อนตัวอยู่ในหลืบบนหน้าผานั้น เสร็จแล้วเราก็มาคิดกันว่าจะเก็บภาพนั้นได้อย่างไร เพราะถ้าใช้โดรนบินเข้าไปใกล้เกิน ค่างก็อาจจะตกใจกลัวโดรน แต่ถ้าใช้เลนส์ซูมติดกับโดรนก็ยากอีก เพราะโดรนจะเสียสมดุล มันเลยเป็นปัญหาด้านเทคนิค ซึ่งเป็นหน้าที่หนึ่งของสตีเฟนที่ต้องดูว่าจะใช้วิธีไหนให้ได้ภาพนั้น สุดท้ายซีนนี้เราใช้วิธีบังคับโดรนให้บินวนเวียนอยู่แถวนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะเริ่มถ่ายทำจริง เพื่อให้ค่างแถวนั้นคุ้นเคยกับเสียงโดรนและไม่ตกใจ
สตีเฟน: ซีนนี้นี่ถือว่าเป็นอีกซีนที่ยากจริงจัง เราคุยกันเพื่อหาความเป็นไปได้หลายทางมาก คิดไปถึงขั้นว่าจะใช้บอลลูนติดกล้องแล้วลอยขึ้นไปไหม หรือจะสร้างเป็นหอคอยสูงประมาณ 300 เมตร เพื่อให้กล้องอยู่ในระดับเดียวกับสายตาของค่างดี สุดท้ายก็ใช้วิธีอย่างที่ริชาร์ดเพิ่งบอกไป ซึ่งถึงจะยากเย็นแต่เราก็คิดว่ามันเป็นการลงแรง ลงความคิดที่คุ้มค่ามาก เพราะมันทำให้เราได้ถ่ายทอดภาพนี้ให้คนอื่นได้เห็นด้วย
ริชาร์ด: จริงๆ แล้วผมว่าทุกขั้นตอนในการทำงานมันเริ่มต้นและกลับมาที่คำถามว่า “What’s the story?” และ “What’s it really about?” จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าบางครั้งระหว่างที่ทำงานไปเรื่อยๆ เราอาจจะลืมได้ว่า หัวใจของเรื่องที่เรากำลังทำอยู่คืออะไร แต่ถ้านึกได้และยึดตรงนั้นไว้ให้มั่น มันจะบอกทุกขั้นตอนในการทำงานได้ทั้งหมด
อย่างฉากที่เป็นเพนกวินชินสแตรปบนเกาะซาวาดอฟสกี้บริเวณขั้วโลกใต้ที่มีเพนกวินเป็นล้านตัว คุณรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องใช้กล้องตามถ่ายเพนกวินตัวไหน
สตีเฟน: อ๋อ…เราก็แคสต์เพนกวินที่จะมาเข้าฉากกันเป็นอาทิตย์ๆ เลยไง (หัวเราะ)
ริชาร์ด: สำหรับเรื่องของเพนกวินนี่วิธีทำงานของเราจะเป็นอีกแบบ เนื่องจากโลเกชั่นนั้นเป็นที่ที่เดินทางเข้าถึงยากและมีเวลาจำกัดมากในการถ่ายทำ การถ่ายทำจึงเป็นลักษณะที่ไปถึงแล้วก็ถ่ายทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่ถ่ายได้มาก่อน และมาหาวิธีเล่าเรื่องในขั้นตอนของการตัดต่อ ผมมองว่าการเป็นผู้กำกับฯ ที่ดีมันไม่ใช่แค่เรื่องการกำกับฯ แต่การตัดต่อก็สำคัญด้วย เพราะเราต้องรู้ว่าจะทำให้ช็อตต่างๆ ที่ถ่ายมานั้นเล่าเรื่องได้อย่างไร
สตีเฟน: การเก็บภาพเพนกวินพวกนี้ใช้เวลา 6 สัปดาห์ ซึ่ง 4 สัปดาห์เป็นเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปที่เกาะแล้ว เหลืออีก 2 สัปดาห์สำหรับการถ่ายทำ ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องเวลาและอุปกรณ์ที่ใช้ด้วย
ริชาร์ด: เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทีมงานซึ่งไปที่เกาะนั้นทำกันจริงๆ ก็คือ การบันทึกภาพพฤติกรรมของเพนกวินในแต่ละวันว่าพวกมันทำอะไรกันบ้าง แต่พอถึงตอนที่มานั่งดูฟุตเทจ สิ่งที่เรามองเห็นและอยากเล่ามันคือเรื่องของความรักของพ่อและแม่ ภาพการออกหาอาหารของเพนกวินอาจจะเป็นภาพที่อยู่ในสารคดีสัตว์โลกเรื่องอื่นก็ได้ แต่ในเรื่องนี้ก็จะต่างจากเรื่องอื่นตรงนี้ แกนหลักของมันคือเรื่องของความรัก และเราใช้คำว่า ‘commute’ ในการบรรยายชีวิตประจำวันของเพนกวิน ซึ่งมันทำให้มีเซนส์ของการออกไปทำงานในแต่ละวัน ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้กับแฟรงค์ (แฟรงค์ คอทเทรลล์-บอยซ์) ที่เป็นทีมเขียนบทด้วย
สตีเฟน: แฟรงค์เป็นนักเขียนบทฝีมือดีที่มีชื่อเสียงมาก แต่นอกงานเขาก็เป็นคนที่น่าสนใจเช่นกัน เป็นคนที่เป็นแฟมิลี่แมนสุดๆ เขามีลูก 6 คน ทุกคนยังอยู่ในบ้านเดียวกัน ด้วยตัวตนของเขาที่เป็นแบบนี้เลยทำให้เขาสามารถทำให้คำพูดที่ใช้ในการบรรยายฟังแล้วเข้าใจง่าย เห็นภาพ และทำให้เกิดความรู้สึกร่วม
ริชาร์ด: ขณะที่การถ่ายทำซีนของเพนกวินเป็นการถ่ายมาก่อนให้ได้มากที่สุด แล้วเรามาเลือกอีกทีในขั้นตัดต่อ ในทางตรงกันข้ามเราก็มีฟุตเพจแบบที่เราใช้แทบจะทุกช็อตที่ถ่ายมานะ อย่างซีนที่เป็นการต่อสู้กันของยีราฟ อันนั้นคือมีฟุตเทจเดียวเลย คนที่ถ่ายซีนนี้มาเป็นคนที่ทำงานถ่ายสารคดีสัตว์โลกในพื้นที่นั้นมาประมาณ 30 ปีแล้ว และนี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นภาพนี้ ซึ่งมันเกิดขึ้นไม่บ่อยและคาดเดาไม่ได้ว่าจะเห็นเมื่อไร เรียกว่าที่เห็นในหนังนั่นคือแทบจะเป็นทั้งหมดของที่เขาถ่ายมาเลย
ลูกๆ ของพวกคุณได้ดูหนังเรื่องนี้กันแล้วหรือยัง
สตีเฟน: ตอนที่ลูกสาวอายุ 3 ขวบ ผมเคยให้ลูกดูซีนระหว่างอิกัวน่าและงู และตอนนั้นที่ให้ดูนี่ยังไม่ใช่แบบไฟนอลนะ ยังเป็นเวอร์ชั่นที่ยังต้องตัดต่อกันอยู่เลย ซึ่งอันนี้ไม่แนะนำให้พ่อแม่คนอื่นทำตามเพราะมีความเสี่ยงที่ลูกดูแล้วอาจจะกลัวงูไปตลอดชีวิตก็ได้ (หัวเราะ) แต่ปฏิกิริยาของลูกตอนที่ดูซีนนี้ก็คือเชียร์อิกัวน่าแบบ “สู้เขา! อย่ายอมแพ้ เธอทำได้” ซึ่งรีแอ็กชั่นของลูกสาว 3 ขวบ ไม่ได้ต่างจากพ่อวัย 80 ของผมเลย เรียกว่าไม่ว่าจะวัยไหนก็รู้สึกร่วมแบบเดียวกันได้จากหนังเรื่องนี้
ริชาร์ด: ลูกคนเล็กของผมยังเล็กเกินไปนิดที่จะพาไปดูเรื่องนี้ แต่ลูกคนโตที่อายุ 13 ไปดูแล้ว ถึงลูกจะบอกแค่สั้นๆ ว่า ก็ชอบอยู่เหมือนกันนะพ่อ บอกแบบหน้านิ่งๆ แต่เชื่อเถอะว่าถ้ามาจากปากลูกคนนี้ที่เอาใจยากมากแล้ว อันนี้ถือเป็นคำชมที่ยิ่งใหญ่เลยล่ะ (หัวเราะ)
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือการได้เห็นปฏิกิริยาที่คนมีต่อหนังเรื่องนี้เวลาเอาหนังไปฉายในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะปฏิกิริยาของเด็กๆ อย่างที่เอสโตเนีย เราได้ฉายในงานฟิล์มเฟสติวัลที่คนดูเป็นเด็ก ซึ่งเด็กๆ ชอบกันมาก ทั้งยิ้ม ทั้งหัวเราะ และไม่มีใครกลัวฉากไหนเลย การได้เห็นว่าเด็กรู้สึกอย่างไรกับหนังเรื่องนี้มันทำให้เห็นว่าเด็กๆ เขามองโลกกันแบบไหน วันก่อนนี้เพิ่งมีคนเดินมาคุยกับผมแล้วบอกว่า เขาว่าหนังเรื่องนี้ไม่น่าจะเหมาะกับเด็กนะ แต่ผมว่าจริงๆ แล้วมันคือการที่พ่อแม่คิดแทนว่าลูกจะรู้สึกอย่างไรมากกว่าจะเป็นความรู้สึกของลูกจริงๆ
ระหว่างที่ถ่ายทำเรื่องนี้ มีวันไหนบ้างไหมที่คุณรู้สึกว่า กำลังพยายามทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ริชาร์ด: ทุกวัน (หัวเราะ) เรื่องที่ดีสำหรับการทำหนังก็คือ เมื่อมันมาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว เรามักจะรู้สึกว่า ทำไมเราไม่ทำให้มันเสร็จเร็วกว่านี้นะ มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ เวลาไปถึงจุดนั้นได้ แต่ระหว่างทางมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่างไรก็ตาม ในความยากนั้นก็ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นงานที่ผมภูมิใจกับมันมาก มันเป็นงานที่ไม่ใช่แค่ทำเพื่อเงินแล้วก็จบไป แต่คืออะไรที่เราภูมิใจกับมันจริงๆ
นอกจากจะภูมิใจในตัวงานแล้ว ความสุขอีกอย่างของการทำหนังเรื่องนี้ก็คือการที่เรามีโอกาสทำให้คนดูได้เห็นว่า ในโลกนี้มีเรื่องที่น่ามหัศจรรย์มากแค่ไหน และที่มากไปกว่านั้นก็คือความมหัศจรรย์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาทุกๆ วัน และมนุษย์อย่างเราโชคดีแค่ไหนแล้วที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกที่น่ามหัศจรรย์ใบนี้
Fact Box
ริชาร์ด เดล เป็นนักทำหนังที่เริ่มต้นขึ้นจากการผลิตซีรีส์ให้กับ BBC ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นคนทำหนัง และสร้างชื่อให้ตัวเองด้วยสไตล์งานในแบบที่เรียกว่า factual drama ริชาร์ดเป็นเจ้าของรางวัล BAFTA Awards ปี 1999 สาขา Originality จากเรื่อง The Human Body ทั้งยังเป็นเจ้าของรางวัล Emmy Awards สาขา Outstanding Informational Programming – Long Form จากเรื่อง Rx for Survival: A Global Health Challenge เมื่อปี 2005
นับถึงทุกวันนี้ ริชาร์ดมีผลงานกำกับฯ มาแล้วทั้งหมด 17 เรื่อง โดยเรื่องล่าสุดก็คือ Earth: One Amazing Day
สตีเฟน แมคโดนา เป็นโปรดิวเซอร์ของ BBC ที่อยู่เบื้องหลังงานหนังของ BBC หลายเรื่องในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงเรื่อง Walking With Dinosaurs 3D ที่ทำรายได้ทั่วโลกมากกว่า 120 ล้านเหรียญ
ครอบครัวของริชาร์ดและสตีเฟนรู้จักกันมานาน แต่ทั้งคู่มาสนิทกันมากขึ้นก็ตอนที่ทำหนังเรื่อง Earth: One Amazing Day ด้วยกัน โดยริชาร์ดบอกว่า ประสบการณ์ในการทำงานของสตีเฟนมีส่วนช่วยเสริมการทำงานของผู้กำกับฯ อย่างเขามาก เพราะสตีเฟนเป็นโปรดิวเซอร์ที่เข้าใจโลกธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็เข้าใจฝั่งคนทำงานด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงให้เวลาทีมงานเต็มที่ในขั้นของการตัดต่อเพราะรู้ว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญต่อการเล่าเรื่องอย่างมาก เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด