ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการคือวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ทุกพรรคการเมืองต่างเปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนำธงลงชิงชัยในศึกการเลือกตั้ง พร้อมเข็นนโยบายหาเสียง โห่ร้อง ติดประกาศให้ได้รับรู้กัน บ้างก็เป็นนโยบายที่พร้อมรับประทานให้เงินตกถึงท้องทันที บ้างก็นโยบายระยะยาวพร้อมเปลี่ยนประเทศไทย 

แต่ถ้าย้อนกลับไปในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ที่ผ่านมา เสียงหนึ่งที่ดังไม่แพ้เสียงประชาชนทั่วไปคือเสียงของ ‘คนรุ่นใหม่’ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก (First Time Voters) ซึ่งมีไม่ต่ำ 8 ล้านคน จากบรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด คิดเป็นตัวเลขพบว่าอยู่ที่ร้อยละ 30 ซึ่งเป็นตัวเลขที่หลายคนให้ความสนใจ ด้านหนึ่งเป็นเพราะว่าในช่วงเวลานั้นกว่าจะได้เลือกตั้งก็ต้องรอนานถึงกว่า 8 ปี ตั้งแต่ปี 2554 ทำให้กลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกครั้งแรกจึงมีจำนวนมาก และส่งผลต่อผลการเลือกตั้งในคราวนั้นเป็นอย่างมาก 

ส่วนการเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังจะเข้าโค้งสุดท้าย สิ่งที่หลายคนตั้งคำถามคือเสียงของ ‘คนรุ่นใหม่’ ในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว และ ‘First Time Voters’ ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งรอบนี้เป็นครั้งแรก พวกเขามีความคิดทางการเมืองอย่างไร และพวกเขาอยู่ตรงไหนในสมการการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งครั้งนี้

คนรุ่นใหม่คือใครและอยู่ตรงไหนของสังคม

สิริพรรณบอกว่าอันดับแรกต้องแยกเป็นสองประเด็น หนึ่งคือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกที่อายุ 18-24 ปี และส่วนที่สองคือ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่กว้างและครอบคลุมตั้งแต่ผู้ที่อยู่ในช่วงปลาย เจเนอเรชัน Y จนถึง เจเนอเรชัน Z ซึ่งมีสำนึกทางการเมืองและมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่แตกต่างจากเจเนอเรชัน X และเบบี้บูมเมอร์ รวมถึงผ่านประสบการณ์ทางการเมืองที่กระทบกับชีวิตและการทำงานโดยตรง เช่น การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงการยุบพรรคการเมืองที่เป็นม้ามืดและแบกความหวังของคนรุ่นใหม่

หากมองในเชิงวิชาการและใช้แนวคิดทางตะวันตก คือหลังวัตถุนิยม (Post-Materialism) พบว่าคนรุ่นใหม่คือคนที่เติบโตในช่วงที่ทรัพยากรของโลกค่อนข้างสมบูรณ์ ครบถ้วนด้วยเครื่องอุปโภคมีการผลิตเป็นจำนวนมาก (Mass Production) และการบริโภคเองก็ไม่ได้ขาดแคลน ต่างไปจากคนรุ่น  เจเนอเรชัน X หรือเบบี้บูมเมอร์ ที่ผ่านเห็นประสบการณ์ความอยากลำบากจากสงคราม นั่นคือการตีความหมายของคนรุ่นใหม่ในแนวคิดเหล่านี้ 

แต่ในสังคมไทย การตีความหมายของคนรุ่นใหม่กลับต่างออกไป เพราะว่าคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยเติบโตมาในช่วงเจเนอเรชัน Y เจอการรัฐประหาร 2 ครั้ง คือในวันที่ 19 กันยายน 2549 และในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งยังเจอความยากลำบากที่มาจากผลกระทบทางการเมือง ดังนั้นคนเหล่านี้ไม่ได้มองรัฐประหารเป็นความเคยชิน แต่มองว่าการรัฐประหารคือสิ่งเลวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างชัดเจน

“หากมองเชื่อมกับการเลือกตั้ง คิดว่าตรงนี้ต่างหากคือจุดเส้นแบ่งระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเดิม ที่คนรุ่นเดิมอาจมองว่าการรัฐประหาร เป็นเรื่องเดิมๆ เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้น ส่วนคนรุ่นใหม่ต้องมาเจอปีรัฐประหารปี 2557 แล้วต้องมาท่องค่านิยม 12 ประการ หรือการเห็นอำนาจนิยมในพื้นที่โรงเรียนมากขึ้น การไม่ยอมอ่อนข้อกับสิ่งที่ผิดปรกติ รวมถึงไลฟ์สไตล์ที่ต้องการใช้ชีวิตเป็นอิสระไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ เป็นต้น”

ขณะเดียวกัน สิริพรรณยังได้ให้ความเห็นว่า คำว่าคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้มีความเป็นกลุ่มเป็นก้อนเดียวกันจนสามารถนิยามแบบตีขลุมได้ เนื่องจากมีความแตกต่างทางความคิดพอสมควร และมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่เส้นแบ่งที่ชัดเจนที่สุดสำหรับการเมืองไทยคือ การมีรัฐบาลพลเรือนและรัฐบาลทหาร โดยงานวิจัยดังกล่าวพบว่าคนรุ่นใหม่ที่มีน้อยกว่าอายุ 40 เห็นผลกระทบด้านลบจากการรัฐประหาร ดังนั้นคนรุ่นนี้มีแนวโน้มไม่เอารัฐบาลทหารมากที่สุดในบรรดาเจเนอเรชันต่างๆ 

ส่วนตัวเลขในเชิงปริมาณ พบว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกราว 4 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ซึ่งอาจเป็นตัวเลขที่ดูไม่เยอะ แต่หากดูแบบเหมารวมเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 18-40 อาจจะรวมแล้วประมาณร้อยละ 44 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 

“เชื่อว่าอย่างน้อย ร้อยละ 60 มีแนวโน้มว่าคนรุ่นใหม่อยากเห็นรัฐบาลพลเรือน เป็นผู้นำเพราะพวกเขาล้วนเติบโตมาจากผลพวงของการรัฐประหาร ที่ทำให้ชีวิตเขาอยู่ภายใต้ความสิ้นหวังทางการเมือง”

แนวความคิดของคนรุ่นใหม่ซับซ้อนกว่าที่เห็น

คำถามสำคัญของงานวิจัยดังกล่าวคือ คนรุ่นใหม่ในเมืองหรือในแถบพื้นที่ชนบทมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันหรือไม่ พบว่าภายในคนรุ่นใหม่มีระหว่างช่องว่างระหว่างกัน ไม่ได้เป็นเอกภาพอย่างชัดเจน เช่น ช่องว่างระหว่างชนบทและในเมือง และช่องว่างระหว่างรายได้ ซึ่งสัมพันธ์กับความแนวความคิดทางการเมืองโดยตรง

“เวลาเราไปฟังนักวิชาการพูดถึงคนรุ่นใหม่ มักพูดในเชิงมีความหวังมองในมุมบวกว่า คนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปแล้ว มีสำนึกทางการเมืองที่ชัดเจน และมีความสามารถมากมาย ไปงานหนังสือแห่งชาติ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จริงๆ ประเทศไทยคงเปลี่ยนได้ราวกับพลิกฝ่ามือ แต่งานวิจัยชิ้นนี้กลับบอกเราว่าคนรุ่นใหม่เองมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกันค่อนข้างสูง และไม่มีความเป็นเอกภาพเสียทีเดียว 

“ถ้าถามว่าคุณมีความหวังกับประเทศไหม ก็จะได้คำตอบแตกต่างกัน คนในกรุงเทพฯ ที่มีฐานะดีตอบว่ามีความหวัง กลับกัน คนที่มีฐานะน้อยลงมาก็ประเมินว่าเขาอาจจะไม่มีทรัพยากรเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นความหวังของเขาจึงลดน้อยลงตามลำดับ แต่กลับกันถ้าถามว่าคุณมีความหวังกับตัวเองไหม พบว่าคนรุ่นใหม่ส่วนมากมีความหวังกับตัวเองมากกว่าจะมีความหวังกับประเทศ”

สิริพรรณยังชี้อีกว่า แม้คนรุ่นใหม่ร้อยละ 75 จะมีความศรัทธาในการเลือกตั้ง มีแนวคิดเป็นประชาธิปไตย ซึ่งอาจค่อนมาทางเสรีนิยมหรือรัฐสวัสดิการก็ตาม แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ที่ชื่นชอบแนวความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ยังอยากเห็นผู้นำมาจากรัฐราชการทหารที่เข้มข้น ยังอยากเห็นความเป็นชาตินิยมหรือราชาชาตินิยม ซึ่งสอดคล้องไปกับข้อสรุปงานวิจัยที่ว่ายังมี คนรุ่นใหม่ที่ยังชื่นชอบในตัวพลเอกประยุทธ์อยู่เช่นกัน รวมถึงมีคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้อีกกว่าร้อยละ 10 ซึ่งเป็นเรื่องปกติในทุกประเทศและสังคม แต่สิ่งที่น่าตระหนกคือ คนรุ่นใหม่ศรัทธาในสถาบันการเมืองต่ำที่สุด โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ไปจนถึง วุฒิสภา ทหาร ตำรวจ และผู้แทนราษฎรในสภาฯ โดยให้เหตุผลไว้ 2 ประการดังนี้

1. ประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่ชัดเจน เปลี่ยนสถาบันทางการเมืองบ่อย โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เช่น การรัฐประหาร การประท้วง ยุบสภาฯ 

2. การแสดงออกและบทบาทของรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงบุคลิกของผู้นำ ก็เป็นตัวบ่งบอกว่ามีแนวคิดแตกต่างจากคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน 

“คณะรัฐมนตรีหรือบุคคลในสภาฯ หลายคนแต่งตัวหรูหราสวยงาม แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้คิดเช่นนั้น ตัวชี้วัดคือชุดผ้าไหม พวกเขาตั้งคำถามว่า ‘ผ้าไหม’ มีค่าจ้างในการซักรีดเท่าไร ราคาของชุดผ้าไหมนั้นเท่าไร และการซักรีดนั้นต้องใช้ทรัพยากรใดบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่ง ชุดมันบ่งบอกสถานภาพว่าคุณไม่ต้องรีดผ้าเอง หากแต่คุณต้องใช้เงินจ้างซักรีด จึงนำไปสู่คำถามมากมายว่าเงินเหล่านั้นภาษีประชาชนหรือไม่ ไปจนถึงความไว้เนื้อเชื่อใจตามมา”

อย่างไรก็ตาม โดยรวมคนรุ่นใหม่ยังศรัทธาในการเลือกตั้ง ยังศรัทธาในตัวโครงสร้างประชาธิปไตย แต่รัฐบาลชุดนี้ต่างหากคือสิ่งที่พวกเขาไม่ศรัทธา 

พื้นที่การแสดงออกของคนรุ่นใหม่

บนถนนหนการเมืองในปี 2562 เป็นต้นมา ประเทศไทยเผชิญการเมืองทั้งในและนอกสภาฯ แทบทุกวัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าม้อบบนท้องถนนส่วนหนึ่งเกิดจาก ‘คนรุ่นใหม่’ อาทิ กลุ่มคณะราษฎร 2563 กลุ่มทะลุฟ้า ฯลฯ ไปจนถึงข้อเรียกร้องต่างๆ มากมาย ที่บ้างคนว่าเป็นการ ‘ทะลุเพดาน’ บ้างก็ว่า ‘ข้ามเส้น’ จนเกินงาม 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ได้สรุปไว้ตอนหนึ่งว่า แม้จะยึดถือวิถีทางประชาธิปไตย แต่ส่วนหนึ่งกลับคิดว่าสันติวิธีไม่ใช่ทางออก

สิริพรรณกล่าวว่า คนรุ่นใหม่มีประสบการณ์ของการชุมนุม โดยในช่วงต้นปี 2563 มีการประท้วงแบบสันติตลอดมา แต่หลายครั้งกลับพบว่าตอนจบของการชุมนุมกลับเต็มไปด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำแรงดันสูง จากประสบการณ์ตรงดังกล่าว ทำให้ไม่มั่นใจว่าการแสดงความคิดเห็นต่างในพื้นที่สาธารณะจะได้รับการได้ยินและนำมาสู่การเคารพยอมรับใช้วิธีสันติวิธีในการเจรจาระหว่างกัน

“เมื่อมีพื้นที่แสดงความต้องการน้อยก็ย่อมรู้สึกว่าตนเองถูกกดทับเป็นเรื่องธรรมดา สันติวิธีผ่านการเลือกตั้งจึงอาจไม่ใช่คำตอบ”

จากงานวิจัยพบว่า การชุมนุมของคนรุ่นใหม่เกิดมาจากช่องว่างทางสถานะของกลุ่มชนชั้นในเมือง โดยร้อยละ 15 ของเยาวชนที่เข้าร่วมม็อบ มีอายุราว 14-34 ปี ผู้เข้าร่วมมากที่สุดคือชนชั้นกลาง รองลงมาคือชนชั้นรากหญ้าในเมืองใหญ่ ส่วนคนที่มีสถานะทางการเงินมั่นคงมักไม่ออกมา 

“คนชนชั้นกลางในเมืองมีความพร้อมในระดับหนึ่งมองเห็นศักยภาพตัวเองที่จะเปลี่ยนแปลง แต่คนชนชั้นรากหญ้าคือกลุ่มคนที่จนตรอกแล้วจริงๆ ยิ่งในช่วงโควิด ขาดรายได้มาจุนเจือสังคมและครอบครัว ทำให้ไม่มีทางเลือกต้องออกมาเรียกร้อง ซึ่งตรงนี้เองคือความอันตรายหากสังคมผลักดันให้เขาจนตรอกไม่มีทางเลือกไม่มีทางไป หลายครั้งจะสะท้อนออกมาด้วยความรุนแรง เพราะเขาไม่มีทางเลือกหรือเครื่องมืออื่นที่จะตอบโต้ได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องร่วมกันคิดและตอบรับว่าจะโอบอุ้มเขาได้อย่างไร”

ข้อสรุปหนึ่งที่น่าสนใจของงานวิจัยพบว่า คนรุ่นใหม่มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่เห็นว่าความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากผู้ปกครองจนไม่สามารถพูดคุยกันได้ในเรื่องดังกล่าว แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่พอรับได้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่แม้เห็นไม่เหมือนกันทางการเมืองแต่ก็อยู่ร่วมกันได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาให้เห็นว่าสังคมไทยมีกระบวนการเยียวยาในครอบครัวที่ดีใน 2 เรื่องประกอบด้วย

1. การกล่อมเกลาผ่านสถาบันครอบครัวของสังคมไทยยังคงแข็งแรง แน่นอนว่าส่งผลไปถึงการเลือกตั้งเช่นกัน เนื่องจากคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในเจเนอเรชัน Y เวลาถามว่าเลือกตั้งเลือกพรรคใด ก็จะตอบว่าต้องกลับไปถามที่บ้านฟังความคิดเห็นของผู้ปกครองก่อน

2. คนไทยมีวิธีหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ซึ่งในสังคมตะวันออกโดยเฉพาะฝั่งเอเชีย หากเกิดการทะเลาะในครอบครัวทางออกหนึ่งคือการไม่กลับมากินข้าวหรือไม่พูดคุยระหว่างกัน แต่ไม่นานก็กลับมาเป็นครอบครัวดังเดิม เมื่อขัดแย้งแล้วก็หลีกเลี่ยงโดยการไม่พูดถึงเรื่องการเมือง เป็นต้น 

ส่วนสาเหตุในช่วงหลังที่ทำให้ม็อบน้อยลง เนื่องจากมีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ประจวบกับการเลือกตั้งใกล้เข้ามา จึงยังคงเห็นเป็นความหวัง และเป็นพื้นที่แสดงพลังของพวกเขา แม้จะน้อยนิดแต่ดีกว่าการออกมาลงถนน แล้วโดนปราบปรามด้วยความรุนแรงจากภาครัฐ

ก้าวข้ามความขัดแย้งไม่ได้ หากไร้คำตอบ ‘ความขัดแย้ง’ คืออะไร

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือจุดขายของพรรคพลังประชารัฐ โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่บอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ หากเลือกพรรคของเขาจะสามารถ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ได้

เราชวนสิริพรรณคุยว่า แล้ว ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ในมุมมองของคนที่วิจัยเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองระหว่างคนรุ่นต่างๆ นั้นเป็นอย่างไร

“เรื่อง ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ สำหรับประเทศไทย อาจเป็นเรื่องที่คนคิดภาษิตนี้ขึ้นมาอาจทำไม่ได้จริง เนื่องจากหากไม่ระบุว่าความขัดแย้งดังกล่าวคืออะไร มีการเจ็บปวดเกิดขึ้นจริงไม่ว่าจะทางกายหรือใจ ผู้กระทำต้องยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น หากทำไม่ได้ก็ย่อมไม่สามารถก้าวข้ามไปได้ มีแต่ยิ่งกลบเกลื่อนและปิดบังเรื่องดังกล่าว ซ้ำร้าย แสร้งว่าไม่รู้เรื่อง ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าไม่มีทางผ่านความขัดแย้งไปได้แน่นอน

“ในเยอรมนี มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ฮิตเลอร์สังหารชาวยิวนับล้านราย ชาวเยอรมันเก็บประวัติศาสตร์ดังกล่าวไว้ให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ว่า บรรพบุรุษของเขาทำผิดพลาดอย่างไร บันทึกทุกอย่างไว้ในพิพิธภัณฑ์ ในรัฐสภาของเขาเพื่อจะไม่ให้เกิดการผิดพลาดซ้ำรอย”

พรรคการเมืองหรือนายกแบบไหนที่คนรุ่นใหม่เลือก

จากข้อมูลในงานวิจัยพบว่า คนรุ่นใหม่มีจุดยืนทางการเมืองที่มีแน้วโน้มไปทางเสรีนิยมประชาธิปไตย บวกกับรัฐสวัสดิการ ดังนั้นพออนุมานได้ว่า นายกรัฐมนตรีที่ตรงใจคนรุ่นใหม่ คือคนที่มีแนวคิดที่เป็นประชาธิปไตยมาก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นก็สามารถทำให้มั่นใจได้ว่าสามารถดูแลประชาชนได้ระดับหนึ่ง มองเห็นเรื่องความเลื่อมล้ำในสังคม กล้าชนกับทุนนิยมผูกขาด เน้นการกระจายรายได้ การจัดสรรงบประมาณที่เข้าถึงสังคมส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนชั้นรากหญ้า และที่สำคัญคือเรื่องธรรมาภิบาล 

“คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งมองว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำมากกว่าเพื่อความเป็นกลาง ดังนั้นสรุปได้ว่า คนรุ่นใหม่อยากได้รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย ผู้นำที่ฟังเสียงประชาชน มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะดูแลเขา ทั้งในเรื่องปากท้อง เรื่องความเท่าเทียม คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพที่ประชาชนจะมีชีวิต รวมถึงเป็นผู้นำที่สื่อสารกับประชาชนอย่างให้เกียรติ กล่าวโดยง่ายคือ รู้ด้วยสามัญสำนึกของมนุษย์ ว่าประชาชนคาดหวังอะไร

“จะเป็นพรรคการเมืองอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยมก็ได้ เพียงแต่ว่านิยมชมชอบในวิถีของประชาธิปไตย ไม่ล้มล้างการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะขวาหรือซ้ายก็ต่างช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน”

ขณะเดียวกันในหลายประเทศ อาทิ ประเทศฟินแลนด์ กลับได้พรรคการเมืองที่มาจากนักการเมืองกลุ่มขวาจัดในประเทศ สิ่งที่สะท้อนกลับมาคือ ‘ความแตกต่าง’ ระหว่างอนุรักษนิยมในประเทศไทยกับฝ่ายขวาในซีกโลกตะวันตก

“ประเทศฟินแลนด์เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ประชาธิปไตยสวัสดิการ’ ทำไมพรรคฝ่ายขวาชนะ เพราะพรรคฝ่ายขวายังเป็นประชาธิปไตยมากๆ แต่มีรัฐสวัสดิการ และนโยบายของเขาอาจจะงดรับผู้อพยพ หรือนโยบายเสรีนิยมบางประการออก แล้วสนับสนุนประชาชน ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นซ้ายที่สุดอยู่ดี แต่ในบ้านเรา หากเป็นพรรคอนุรักษนิยม ก็จะเห็นพรรคที่สื่อสารกับประชาชนด้วยเพลงปลุกใจ ด้วยคำพูดที่แสดงอำนาจที่เหนือกว่า ตอบคำถามโดยดูถูกหรือเห็นประชาชนโง่ นี่คือความแตกต่างระหว่างอนุรักษ์นิยมในสังคมไทยกับประเทศในโลกตะวันตก”

ทางออกของเงื่อนตายในการเลือกตั้ง 2566 

ข้อกังวลหนึ่งของคนรุ่นใหม่คือ กับดักที่เป็นดั่งเงื่อนตาย 250 ส.ว.ที่จะสามารถกลับมาเลือกนายกฯ ได้อีกครั้ง

“เชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่จะเป็นตัวเปลี่ยนสังคมได้ ย้อนกลับไปการเลือกตั้งปี 2562 พลังคนรุ่นใหม่ยังมีอำนาจไม่มากพอ เพราะว่าระบบเลือกตั้งครั้งนั้นทำให้มีพรรค 1 ที่นั่งถึง 12 พรรค ส่วนหนึ่งคนรุ่นใหม่เลือกเพราะเป็นทางเลือกใหม่ๆ แต่ตอนนี้คนรุ่นใหม่รู้แล้วว่า เลือกพรรคเหล่านั้นไปก็กลายเป็นสวนกล้วยให้พรรคใหญ่ ยิ่งระบบการเลือกตั้งเปลี่ยน ทำให้พรรคเหล่านั้นไม่กลับเข้ามา ครั้งนี้พลังของคนรุ่นใหม่จึงถูกทำให้มีอิทธิฤทธิ์มากขึ้นด้วยระบบเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป”

ส่วนเรื่องเงื่อนตาย สิริพรรณเชื่อว่าสังคมจะตั้งคำถามกับการกระทำของ ส.ว.มากขึ้น ว่าจะโหวตสวนประชาชน หรือโหวตตามเจตนารมย์ประชาธิปไตยที่ประชาชนและคนรุ่นใหม่เป็นผู้แสดงพลัง แน่นอนว่าหลายฝ่ายกังวลเรื่อง ‘การแขวนสภาฯ’ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองได้ 

“หากฝั่งพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ เพราะเสียง ส.ส.ไม่พอ ฝั่งฝ่ายค้านในปัจจุบันก็ได้เสียงไม่พอเกินครึ่งนึงเช่นกัน ก็อาจจะทำให้สภาฯ ต้องอยู่ในสภาวะ ‘รอ’ ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน 

“ตัวอย่างในต่างประเทศมีให้เห็น เช่น ประเทศเบลเยี่ยมก็เป็นประเทศที่ตั้งรัฐบาลยากเพราะมีหลายพรรค มีอยู่ช่วงหนึ่งต้องรอไปมากกว่า 2 ปี ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล ทำให้รัฐบาลรักษาการดูแลไป ซึ่งตรงนี้เองทำให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องการผสมข้ามขั้ว แต่ประเทศไทยคงไม่ถึงกับการไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะ ส.ว.จะหมดวาระในเดือนพฤษภาคมปีหน้า หมายความว่าต้องได้รัฐบาลก่อนช่วงเวลาดังกล่าวแน่นอน”

นอกจากนี้ เสียงของคนรุ่นใหม่มีความสำคัญทั้งในและนอกสภาฯ ส่วนหนึ่งต้องรณรงค์ให้ออกมาเลือกตั้งให้มากที่สุดหากยังอยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนไป และอีกส่วนคือการช่วยกันออกมาส่งเสียงถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ดำเนินการอย่างสุจริตและโปร่งใสรวมถึงแก้ปัญหาบัตรเลือกตั้งที่ยังคงมีความยุ่งยาก และส่งเสียงไปถึง ส.ว.ว่าในการเลือกตั้งที่จะถึงกรุณาเลือกตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรและประชาชน

ขณะเดียวกัน สิริพรรณเชื่อว่า หากมีการยุบพรรค พลังของคนรุ่นใหม่ที่เคยเกิดขึ้นจะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม แล้วจะไม่ใช่เพียงแต่พลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะเป็นการรวมตัวของประชาชนที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

Fact Box

  • ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจด้านการเมืองเปรียบเทียบ พรรคการเมือง และระบบการเลือกตั้ง ไปจนถึงพลวัติทางการเมือง
  • งานวิจัย Youth Study Thailand 2020-2021 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย (FES Thailand) จัดทำขึ้นโดย ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และจิราภรณ์ ดำจันทร์ เป็นงานวิจัยที่ทำการศึกษาคนรุ่นใหม่ จำนวน 1463 คน เจเนอเรชัน Y และเจเนอเรชัน Z อายุระหว่าง 14-35 ปี และเกิดในช่วงปี 2530-2551 โดยเป็นการทำแบบสอบถาม สัมภาษณ์และเก็บข้อมูลในช่วงการเมืองร้อนแรงในปี 2563 เป็นต้นไป ถึงความคิดเห็นทางการเมือง ความหวัง และช่องว่างระหว่างฐานะของคนรุ่นใหม่ที่ส่งผลต่อเรื่องการเมือง ไปจนถึงอนาคตของประเทศไทยในสายตาคนรุ่นใหม่
  • อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ทาง https://thailand.fes.de/publications
Tags: , , , ,