“จากมุมมองของนักปลูกต้นไม้ เกาะกลางไม่ใช่ที่ที่เหมาะจะปลูกต้นไม้เลย ต้นไม้ทุกต้นต้องการพื้นที่ในการเติบโต โดยเฉพาะในส่วนของราก” คือคำพูดของผู้เชี่ยวชาญต่อโครงการ ‘เกาะกลางซับฝุ่น’
เกาะกลางซับฝุ่น เป็นโครงการสมัย พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในช่วงเวลาที่ฝุ่น PM2.5 เป็นภัยคุกคามชีวิตคนกรุง
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 อัศวินได้โพสต์ประชาสัมพันธ์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ต้นไม้เกาะกลางในโครงการดังกล่าว ปลูกขึ้นตามผลการศึกษาของสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่าจะสามารถแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นมาในช่วงปี 2561 เป็นต้นมาได้ โดยถนนเส้นแรกๆ ที่มีการริเริ่มนำต้นไม้ลงปลูกบริเวณเกาะกลางถนน คือถนนสุขุมวิทตามแนวสถานีรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวเหนือ
จากวันนั้นจวบจนถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 3 ปีเต็ม ท่านผู้อ่านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว หรือมีโอกาสสัญจรผ่านถนนสุขุมวิทช่วงเขตพระโขนงอยู่บ้าง น่าจะทราบดีว่า ทุกวันนี้ต้นไม้ที่ถูกนำมาลงปลูกกับโครงการนั้นยังไม่หายไปไหน
แม้ต้นข่อยบางส่วนอาจดูราวกับว่าไม่ได้รับการตัดแต่งให้เป็นทรงพุ่มหนาสวย เขียวชอุ่มชุ่มชื่นใจเหมือนกันตลอดทั้งสาย ส่วนไทรอังกฤษบางต้นที่แห้งกรอบใบโกร๋น หรือลำต้นเอียงกระเท่เร่จนน่าหวาดเสียวนั้นก็มีให้เห็นอยู่บ้าง แต่อาจถือว่ายังดีที่ยังไม่ถึงกับล้มตายแห้งหายไปจนหมด เหมือนอย่างเกาะกลางถนนเส้นอื่นในอดีต
อย่างไรก็ดี ลำพังเพียงแค่ลงพื้นที่ไปสำรวจและเก็บภาพเกาะกลางเพียงอย่างเดียว ไม่อาจตอบคำถามให้เราได้ว่า สรุปแล้วต้นไม้เกาะกลางเหล่านี้สามารถดูดซับฝุ่น PM2.5 ได้จริงตามคำโฆษณาหรือไม่ และมีความเหมาะสมกับพื้นที่เมืองกรุงเทพฯ มากน้อยเพียงใด
ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ รุกขกรอาชีพและอาจารย์ประจำภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ ‘เกาะกลางซับฝุ่น’ แห่งกรุงเทพมหานคร
“แน่นอนว่าต้นไม้ทุกชนิดมีคุณสมบัติในการช่วยลดฝุ่นอยู่แล้ว แต่จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับขนาดของต้นไม้เหล่านั้น ต้นไม้ที่มีประสิทธิภาพในการลดฝุ่นสูงจะต้องเป็นต้นไม้ที่มีเรือนยอดสูงใหญ่และใบขนาดเล็กจำนวนมาก อย่างต้นจามจุรีหรือต้นมะขาม ซึ่งไม่เหมาะกับการปลูกบนเกาะกลางที่มีพื้นที่จำกัด”
รุกขกรอาชีพมองว่า กทม. ก็คงเข้าใจข้อจำกัดนี้ดี จึงได้เลือกต้นข่อยหรือไทรอังกฤษที่เป็นไม้พุ่มมาปลูก แต่หากถามว่าต้นไม้ขนาดกลางค่อนไปทางเล็กเช่นนี้สามารถดักจับฝุ่นได้หรือไม่ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้เสียทีเดียว ปัญหาก็คือผลลัพธ์นั้นเทียบอะไรไม่ได้เลยกับไม้ยืนต้นขนาดใหญ่
“ทุกวันนี้เวลาขับรถแล้วลองกวาดตามองซ้ายขวา เราจะเห็นต้นไม้บนเกาะกลางที่อยู่ทางขวามือบ้างประปราย แต่หากมองไปทางซ้ายมือ กลับแทบไม่มีต้นไม้ให้เห็นบนทางเท้า ทั้งที่จริงๆ แล้ว หากต้องการปลูกต้นไม้เพื่อให้เป็นเกราะป้องกันที่จะลดโอกาสที่ประชาชนจะสูดหายใจเอาฝุ่นเข้าไป บริเวณที่เหมาะสมกว่าเกาะกลางมาก คือสองข้างถนนหรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ที่มีผู้คนเข้าไปปฏิสัมพันธ์”
ฉะนั้น จากมุมมองของนักปลูกต้นไม้ เกาะกลางไม่ใช่ที่ที่เหมาะจะปลูกต้นไม้เลย ต้นไม้ทุกต้นต้องการพื้นที่ในการเติบโต โดยเฉพาะในส่วนของราก
“ถึงแม้ว่าเราจะมองด้วยตาไม่เห็นจากบนผิวดิน แต่รากต้นไม้ที่อยู่ใต้ดินต้องการพื้นที่ปริมาณมากที่จะแตงแขนงแผ่ขยายออกไปรอบๆ นอกจากความท้าทายที่อยู่ใต้ดินแล้ว ต้นไม้บนเกาะกลางยังต้องเผชิญกับความท้าทายเหนือผิวดินอีก นั่นคือสิ่งก่อสร้างที่อยู่เหนือเกาะกลาง ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟฟ้า หรือทางด่วน ซึ่งล้วนขัดขวางไม่ให้ต้นไม้ได้รับแสงเต็มที่
“นี่คือสาเหตุที่ทำให้ต้นไม้เกาะกลางไม่สามารถคงทนอยู่ได้นาน หากจะทำให้มั่นใจว่าอยู่รอด ต้นไม้จะต้องได้รับการบำรุงดูแลอย่างเข้มข้น ด้วยองค์ความรู้และ Know-how รวมไปถึงงบประมาณมหาศาล”
ข้อดีอย่างเดียวที่พรเทพบอกว่าพอจะมองเห็นเกี่ยวกับต้นไม้บนเกาะกลาง คือเรื่องของความสวยงามและความจรรโลงใจที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้รถใช้ถนน เมื่อได้เห็นพื้นที่สีเขียวอยู่ใกล้แค่เอื้อมขณะขับขี่สัญจรไปมา
“แต่ในเมื่อการปลูกต้นไม้บนเกาะกลางมันยุ่งยากและท้าทายมากถึงเพียงนี้ คำถามสำคัญ คือหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ได้มามันคุ้มค่าหรือไม่กับงบประมาณที่ต้องสูญเสียไป
“และสอง ทำไมเราถึงไม่หันมาโฟกัสกับการปลูกต้นไม้บนพื้นที่อื่นๆ ที่มีอยู่อีกมากมาย ที่ซึ่งต้นไม้เหล่านั้นสามารถเป็นได้มากกว่าไม้ประดับ หรือประติมากรรมมีชีวิตที่ทำได้แค่รอวันตาย”
Tags: Urban & City, เกาะกลางถนน, ต้นข่อย, Feature, อัศวิน ขวัญเมือง, กรุงเทพมหานคร