1.
หากติดตามการเมืองตลอดปีที่ผ่านมา นับจากเหตุการณ์พยายาม ‘ก่อกบฏ’ ในสภาฯ โดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปีที่แล้ว ก็จะพบว่ามีสัญญาณแห่งความไม่ลงรอยกันระหว่าง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ป. ที่ 1 และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ป. ที่ 2 มาโดยตลอด หากจำกันได้เวลานั้น การก่อกบฏเท่ากับการขู่กรรโชกขอตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นของ ป. ที่ 3 คือ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา มาให้ร้อยเอกธรรมนัส เพื่อที่ธรรมนัสจะได้มีอำนาจในการคุม ส.ส.ในพรรคมากขึ้น แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นความล้มเหลว จบลงด้วยการที่ 1. พลเอกประยุทธ์สามารถดึง ส.ส.ในพรรคกลับมาได้ ท่ามกลางข่าวลือเรื่องการ ‘แจกเงิน’ ให้กับ ส.ส.กลางสภา 2. การปลดธรรมนัส และ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากคณะรัฐมนตรี และทำให้ธรรมนัสกลายสภาพเป็น ‘หอกข้างแคร่’ ของพลเอกประยุทธ์ไปตลอดกาล
2.
หากสัมพันธ์ 2 ป. เหนียวแน่นจริง เรื่องนี้ก็ควรจะจบด้วยการตัดธรรมนัสออกจากวงโคจร ทุกชีวิตดำเนินต่อไป หากแต่ไม่เป็นเช่นนั้น พลเอกประวิตรยังเลือกเก็บธรรมนัสไว้ข้างกาย และตัดสินใจประลองกำลังกับพลเอกประยุทธ์ สนามแรกอยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญ ที่อยู่ดีๆ พลเอกประยุทธ์ ตัดสินใจเปลี่ยนใจกะทันหัน จากเดิมที่เดินหน้าแก้ในรูปแบบ ‘หาร 100’ คำนวณตามจำนวน ส.ส.พึงมี กลับไปเป็น ‘หาร 500’ เพื่อลด ส.ส. ซึ่งเอื้อต่อพรรคเล็กมากกว่า
3.
ทั้งนี้ ในรูปแบบหาร 100 จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ต้องมีเสียงประชาชนเลือกถึง 3.5 แสนเสียง ขณะที่หาร 500 นั้น เพียง 7 หมื่นคะแนน ก็ได้ ส.ส.เข้าสภา 1 คนแล้ว ฉะนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าสูตรที่พลเอกประยุทธ์สนับสนุนนั้น เป็นประโยชน์กับ ‘พรรคเล็ก’ มากกว่า และไม่จำเป็นต้องอาศัย ส.ส.เขตมากเท่ากับสูตรหาร 100 สิ่งที่หลายคนเข้าใจก็คือในเวลานั้น พลเอกประยุทธ์กลัวพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ สูตรจึงควรกลับไปที่หาร 500 ตามเดิม แต่ไม่ได้คิดถึงว่ามีพรรคเกิดใหม่ ตั้งใหม่ในเวลาใกล้เคียงกันด้วยพรรคที่ชื่อ ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ด้วย
4.
พรรครวมไทยสร้างชาติเกิดขึ้นจากชื่อนโยบายของพลเอกประยุทธ์ แม้จะเป็นพรรคเก่าที่ตั้งโดย เสกสกล อัตถาวงศ์ แต่เมื่อ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ รวมถึง เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และบรรดา ส.ส.ลายครามจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคซีกรัฐบาลหลายคนรวมตัวกัน ก็ย่อมสร้างเสียงฮือฮาในแวดวงการเมือง มีข่าวกระเซ็นกระสายมาโดยตลอดว่า พลเอกประยุทธ์จะเข้าร่วมกับพรรคนี้ หลังเกิดเหตุการณ์กบฏธรรมนัส
5.
แต่ก็ไม่เคยมีความชัดเจนเท่ากับเมื่อพีระพันธุ์ตัดสินใจมาเป็นหัวหน้าพรรคนี้ด้วยตัวเอง นั่นหมายความว่า ถ้ารัฐธรรมนูญกลับไปใช้สูตรหาร 500 พรรครวมไทยสร้างชาติก็มีโอกาสเกิดมากกว่า สุดท้ายพรรครวมไทยสร้างชาติจะเป็นพรรคของพลเอกประยุทธ์จริงๆ ไม่ต้องฟาดฟันกับบรรดาเสือ สิงห์ กระทิง แรด ไม่ต้อง ‘ต่อรอง’ อะไรกับใคร และในที่สุด พลเอกประยุทธ์จะได้เป็นตัวของตัวเอง
6.
แต่สุดท้าย การพลิกกลับไปหาร 500 ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพลเอกประวิตร ‘ออกแรง’ สั่งให้กลับไปหาร 100 อีกครั้ง สั่ง ส.ส. ไม่ให้เข้าร่วมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ และสั่ง ส.ว. ให้โดดสภาเช่นกัน เพื่อให้ร่าง ‘หาร 500’ ตามแรงดันของพลเอกประยุทธ์ถูกตีตกไป ณ เวลานั้น เหตุผลอย่างเป็นทางการคือในทางเทคนิค การกลับไปหาร 500 เป็นไปอย่างลำบาก แต่เหตุผลที่หลายคนเห็นตรงกันก็คือ พลเอกประวิตรต้องการให้’ยื้อ’ พลเอกประยุทธ์ยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐต่อไป เตะตัดขาไม่ให้พลเอกประยุทธ์ย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติมีโอกาสเกิดและเติบโตยากขึ้นในการเลือกตั้ง 2566
7.
เมื่อพลเอกประวิตรมีโอกาสชิมลางได้เป็นรักษาการนายกฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญให้พลเอกประยุทธ์พักงาน ระหว่างสิ้นเดือนสิงหาคม ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายนนั้น ข่าวแว่วว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่าง 2 ขั้วอย่างหนัก หลายคนที่เคย ‘เสียงดัง’ ต้องเคยสงบนิ่ง บางกลุ่มทุนที่เคยสนับสนุน โดนเบรกบางโครงการไว้ บางกลุ่มทุนพลังงานที่เคยสนับสนุน โดนเบรกบางโครงการไว้ เพราะเห็นว่าเริ่มมีใจให้ฟากพลเอกประยุทธ์ ท่ามกลางข่าวลือที่ว่าทั้ง 2 ล้วนมีทุนพลังงานอยู่ข้างหลัง เพียงแต่เป็นทุนพลังงานที่อยู่คนละข้างกัน มีการฟาดฟันกันภายในต่างกรรม ต่างวาระ จนในที่สุดก็มีสัญญาณกลับมาว่าต้องเป็นพลเอกประยุทธ์จัดการต่อเท่านั้น อย่างน้อยก็เพื่อให้ผ่านการประชุม APEC ไปได้
8.
การเมืองไทยสงบนิ่งอยู่สักระยะก่อนการประชุม APEC พร้อมกับข่าวการ ‘อพยพ’ ย้ายพรรคของ ส.ส. จำนวนมาก ไม่ว่าจะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ภาคใต้ ไม่ว่าจะ ส.ส.ชลบุรี มุ้ง สุชาติ ชมกลิ่น ไม่ว่าจะ ส.ส.นครศรีธรรมราช กลุ่มของ สายัณห์ ยุติธรรม จากพรรคพลังประชารัฐ ไปยังพรรครวมไทยสร้างชาติ และข่าวการอพยพกลับบ้านของมุ้งธรรมนัสกลับมาที่พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงข่าวการ ‘แทงกั๊ก’ ของนักการเมืองมืออาชีพอย่างกลุ่ม ‘สามมิตร’ ว่าสุดท้ายแล้วจะไปข้างไหนต่อ คำตอบที่ไม่ชัดเจน และความคลุมเครือดังกล่าว เป็นสัญญาณได้ว่า 2 ข้าง ได้แยกจากกันแล้วจริง สำทับด้วยเสียงเชียร์ ‘พลเอกประวิตร’ ทุกครั้งที่ให้การสนับสนุนการถ่ายทอดสด ‘บอลโลก’ แทนที่จะเป็นการขอบคุณรัฐบาลหรือขอบคุณพลเอกประยุทธ์
9.
เหตุและปัจจัยสำคัญก็คือ ตลอดเวลา 8 ปีของพลเอกประยุทธ์นั้น เป็นที่แน่นอนว่าต้องการจรัสแสงด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การต่อรองอำนาจและผลประโยชน์จากมุ้งต่างๆ เหตุและปัจจัยสำคัญก็คือ พลเอกประวิตรเองก็มีกลุ่มทุน และกลุ่มมุ้ง ส.ส.ของตัวเองที่ตัวเองสร้างขึ้นมา และต้องตอบแทน
10.
คำถามก็คือภายใต้ยุทธศาสตร์ 2 พรรค พรรคแรกคือพรรคพลังประชารัฐ ที่มีพลเอกประวิตรเป็นตัวนำ และพรรคที่สอง พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์เป็นตัวนำ จะเดินหน้าอย่างไรต่อไม่ให้เสียงแตก ไม่ให้ฝั่งอนุรักษนิยมเกิดการกระจายเสียง เพราะต้องไม่ลืมว่าฝั่งนี้ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคไทยภักดี พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคสร้างอนาคตไทย ฯลฯ
11.
คำถามก็คือ แล้วพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติที่มี 2 ลุง เป็นหัว จะอยู่ในฐานะของพันธมิตร แยกกันเดิน ร่วมกันตี หรือจะอยู่ในฐานะศัตรู คอยฟาดฟันกันเอง คำถามก็คือ แล้วเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. 250 คน ที่พลเอกประวิตรตั้งมากับมือ เมื่อถึงเวลาที่ 2 ป. แยกจากกัน จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์หรือพลเอกประวิตร
12.
และอีกคำถามก็คือ หากพลเอกประยุทธ์เหลือเวลาเป็นนายกฯ อีกเพียง 2 ปีแล้ว อีก 2 ปีหลังที่เหลือใครจะเป็นตัวตายตัวแทนคนต่อไป จะเป็นพี่ป้อม พลเอกประวิตร ที่อีก 2 ปีข้างหน้าจะมีวัยย่าง 80 ปี หรือจะเป็น อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือหากพลเอกประยุทธ์พ้นไปแล้ว พลเอกประวิตรอาจจับขั้วกับพรรคเพื่อไทย
13.
แต่โจทย์เฉพาะหน้าทั้งหมดก็คือจะทำอย่างไร ให้พรรครวมไทยสร้างชาติมีเสียงมากพอในการดันพลเอกประยุทธ์ให้ถึงฝั่งฝัน ท่ามกลางสถานการณ์ความนิยมที่ไม่ได้กระเตื้องขึ้นนักจาก 4 ปีก่อน และพลังเงิน พลังดูดทั้งหลาย ก็ไม่ได้คึกคักเข้มแข็งเท่ากับการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารเมื่อ 4 ปีก่อน และบรรดานายทุนทั้งหลายจะตัดสินใจอย่างไร ในเมื่อพรรคทหาร แยกออกเป็น 2 พรรค
14.
ทั้งหมดนี้ เป็นสถานการณ์ที่ฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งรวมตัวกันรัฐประหารรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 8 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ จุดที่วันหนึ่ง 3 ป. 3 ทหารเสือราชินี จะแยกทางกันเอง มีขุมกำลังของตัวเอง
15.
แต่สิ่งที่ฝ่ายนี้ตระหนักก็คือจะแพ้ไม่ได้เด็ดขาด พลเอกประยุทธ์จะยื้อเวลาของสภาฯ ชุดนี้ให้ยาวที่สุด จนถึงวันที่รวมไทยสร้างชาติมีพลังมากพอ พอที่รัฐบาลมีโอกาสจะสร้างผลงานในลมหายใจเฮือกสุดท้าย และเกมที่ทุกคนต้องจับตาก็คือ เมื่อถึงเวลาใกล้เพลี่ยงพล้ำ ฝ่ายอนุรักษนิยมจะมีพลังอะไรบางอย่างคอยสนับสนุนอยู่เสมอ เพียงแต่ครั้งนี้ อาวุธลับและพลังที่อยู่รอบตัวจะเปิดไพ่ไหนเพื่อ ‘ล้ม’ ฝ่ายตรงข้าม รักษาระบอบอำนาจนิยม และรักษาสิ่งที่ประคบประหงมกันมา 8 ปี ให้คงอยู่ต่อไป ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้าเท่านั้นเอง
Tags: Feature, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ประชารัฐ, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, The Momentum ANALYSIS, รวมไทยสร้างชาติ