การเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ที่เรียกได้ว่า ‘แดงตลอดกาล’ นับตั้งแต่ครั้งพรรคไทยรักไทยถือกำเนิดในปี 2544 และเคยมี ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ชาวเชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน ในนามพรรคเพื่อไทย ศรัทธาของประชาชนในพื้นที่ต่อพรรคนี้ก็ดูเหมือนยังไม่เสื่อมคลาย
หากจะมีข้อท้าทายที่เคยเกิดขึ้น ก็คือการเกิดและเติบโตของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ในการเลือกตั้งปี 2562 ในพื้นที่ ‘เขต 1’ จังหวัดเชียงใหม่ ที่พรรคเพื่อไทยชนะพรรคอนาคตใหม่เพียง 800 คะแนนเท่านั้น ดูจะเป็นความท้าทายเดียวที่พรรคเพื่อไทยเผชิญอยู่
กับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปีหน้า กับการลงพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยที่ปักธง ‘แลนด์สไลด์’ ทั้งในภาคเหนือหรือ ‘ทั้งแผ่นดิน’ เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ชื่อ ชั้น และความสำเร็จเดิมของพรรคนั้น จะเป็นสิ่งที่ ‘ซ้ำรอย’ ได้แน่นอนไหม ท่ามกลางพลวัตทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ใน พ.ศ. นี้
ในขณะที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า พรรคการเมืองย่อมต้องยึดโยงกับประชาชน พรรคใดก็ตามที่หวังครองพื้นที่เชียงใหม่ ย่อมต้องเท่าทันโจทย์อันท้าทายที่มาจากความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ และความต้องการที่แท้ของประชาชน
The Momentum พูดคุยกับ ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้คร่ำหวอดในวงการประวัติศาสตร์และสังคมไทยมายาวนาน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเหลียวหลังมองประวัติศาสตร์ และแลหน้าหาคำตอบของอนาคต หากพรรคการเมืองใดหวังจะครองใจพื้นที่เชียงใหม่ ควรทำอย่างไร และโฉมหน้าของเชียงใหม่จะเปลี่ยนไปเช่นไรบ้าง
ในฐานะนักประวัติศาสตร์ อาจารย์เห็นความยึดโยงระหว่างพรรคเมืองกับประชาชนเป็นแบบใด และมีวิวัฒนาการอย่างไร
ความยึดโยงระหว่างพรรคเมืองกับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นหลังจากมีการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยจากโลกตะวันตก รวมทั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในประเทศไทย สิ่งที่คนในสังคมรู้สึกเสมอคือ ใครก็ตามที่จะไปยึดกุมอำนาจรัฐหรือใช้อำนาจรัฐจะต้องรับผิดชอบต่อสังคม จึงต้องมีกระบวนการสรรหาผู้รับผิดชอบดังกล่าว ซึ่งเปลี่ยนจากกษัตริย์มาเป็นพรรคการเมือง
ตัวพรรคการเมืองจึงถือกำเนิดขึ้นมาในโลกและจากตะวันตกมาสู่ไทย เพื่อตอบสนองต่อปัญหาของสังคมและทำให้พลเมืองทั้งหมดได้รับความก้าวหน้าหรือได้รับส่วนแบ่งของทรัพยากรที่ดีขึ้น ทำให้พรรคการเมืองและประชาชนยึดโยงกันมาโดยตลอด
แต่สำหรับสังคมไทย เราพบว่าพรรคการเมืองไม่ได้ทำหน้าที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างที่ตั้งใจ ตั้งแต่อดีต 2475-2540 ตัวพรรคการเมืองมักจะไปยึดโยงหรือไปเกาะกับระบบราชการ
นอกจากนั้น ในช่วงปี 2516 เป็นต้นมา ระบบเศรษฐกิจทำให้เกิดเจ้าพ่อท้องถิ่นหรือที่ในปัจจุบันเรียกว่า ‘บ้านใหญ่’ พรรคการเมืองใช้วิธีที่ไปเกาะกับบ้านใหญ่ ใช้บ้านใหญ่เป็นฐานแล้วก็หวังว่าบ้านใหญ่จะไปดูแลประชาชน กลายเป็นระบบอุปถัมถ์ไปในที่สุด
รองศาสตราจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์ นิยามคำว่า ระบบอุปถัมถ์ คือความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียมกัน คอยยึดโยงกับประชาชนและหวังว่าบ้านใหญ่จะดูแลเป็นผลตอบแทน
จุดเปลี่ยนคือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทำให้พรรคการเมืองสามารถขายนโยบายได้
ปี 2544 การเข้ามาของพรรคไทยรักไทย นำโดย ทักษิณ ชินวัตร และทีม ได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีการไปโดยสิ้นเชิง เขามีทีมที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็น อ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย, หมอมิ้ง-พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, หมอเลี้ยบ-สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือคนอย่าง หมอหงวน-สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่นำเสนอนโยบาย 30 บาท เป็นนโยบายครั้งแรกที่ยึดโยงกับประชาชน
หลังจากนั้นมา นักการเมืองจึงจำเป็นที่ต้องพูดถึงนโยบายมากขึ้น
แต่สิ่งที่น่าตกใจคือแปดปีของรัฐบาลปัจจุบันนี้ เขาอิงอยู่กับระบบราชการ และอิงอยู่กับบ้านใหญ่ ทำให้บ้านใหญ่มีอิทธิพลมากขึ้น ซึ่งพวกนี้เคยหมดอิทธิพลไปในสมัยทักษิณ
ดั้งนั้น สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นของบ้านเราในการเลือกตั้งครั้งต่อไป คือการดึงเชือกระหว่างสองด้าน ด้านหนึ่งคือนโยบายที่จะเข้าไปยึดโยงกับประชาชน และอีกด้านคือระบบราชการและบ้านใหญ่
นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ถามว่าใครชนะ ผมว่าแนวโน้มของระบบราชการและบ้านใหญ่อาจจะนำอยู่ แต่ขณะเดียวกัน ด้านที่ยึดโยงกับนโยบายก็มีน้ำหนักมากขึ้นและอาจจะมีแรงมากกว่า
ทำไมเชียงใหม่ถึงไม่มี ‘บ้านใหญ่’ เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ
เชียงใหม่มีระบบเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนกว่าที่จะมีใครมาผูกขาดทรัพยากรได้ทั้งหมด หากเป็นบ้านใหญ่หมายความว่าเขาจะต้องผูกขาดทรัพยากร หรือผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากรไว้ได้มากที่สุด
ถ้าย้อนไปปี 2500-2510 คิดว่ามีกลุ่มคนที่กุมทรัพยากรไว้ เช่น ครั้งหนึ่ง นักการเมืองท้องถิ่นที่มาจากตระกูลตันตรานนท์ ได้ผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากร แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นบ้านใหญ่ เพราะมันมีการขัดขากันหลายฐาน ต่างจากบ้านใหญ่นครปฐมหรือนครสวรรค์ที่กุมอำนาจทั้งหมดอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน
ตระกูลชินวัตรเองก็พยายามที่จะเข้าไปเชื่อมกลุ่มที่มีอิทธิพลย่อยๆ อย่างในชุมชน ก็จะมีคนผูกขาดทรัพยากรอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ได้ผูกขาดทั้งจังหวัด แบบจังหวัดเล็กๆ ทักษิณเองก็อยากจะไปเชื่อมกับคนพวกนี้อยู่ เพียงแต่ว่าคนพวกนี้ไม่ใช่ตัวชี้ขาด นโยบายของเขาต่างหากที่เป็นตัวชี้ขาดทั้งหมด
คิดว่าเพราะอะไร เชียงใหม่และภาคเหนือจึงยังคงเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย
สิ่งสำคัญสำหรับภาคเหนือกับอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงของพรรคไทยรักไทยในอดีต ทั้งสองภาคมีลักษณะคล้ายกัน คือในช่วงหลังปี 2540 เป็นต้นมา ประชาชนกำลังเลื่อนฐานะและเริ่มเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ประกอบการในชนบท (Entrepreneur) ซึ่งในการเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการชนบทนี้ย่อมต้องการที่พักพิงหลัง และผมคิดว่า ทักษิณ หมอมิ้ง หมอเลี้ยบ และหมอหงวน คือผู้ทำสิ่งที่สำคัญมากๆ คือให้ที่พักพิงดังกล่าว นั่นคือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้พี่น้องที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยในชนบท เริ่มผันเงินจำนวนมากไปสู่การลงทุนได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเก็บเงินก้อนหนึ่งเอาไว้รักษาตัวเองและครอบครัว
นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรครองรับทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ทำไมพื้นที่อื่นๆ จึงไม่ได้หันมานิยมพรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักไทย
หากดูตามพื้นที่เศรษฐกิจ พบว่าผู้ที่สนับสนุนทักษิณคือเหนือและอีสาน ในขณะที่ผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ขับไล่ทักษิณ ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคใต้และภาคตะวันออก ซึ่งมีเศรษฐกิจที่โตมาก่อนและสามารถขับเคลื่อนเลื่อนชั้นเป็นผู้ประกอบการได้ โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้รับแรงสนับสนุนจากระบบราชการและบ้านใหญ่
ดังนั้น เมื่อทักษิณเข้ามา จึงรู้สึกว่าสิ่งที่ทักษิณทำกำลังเบียดบังผลประโยชน์ที่ตนเคยได้รับจากบ้านใหญ่
สรุป ผมคิดว่านโยบายสำคัญที่ทำให้คนเหนือและคนอีสานมาร่วมกับทักษิณ คือนโยบายที่ทำให้ชีวิตเขาลดความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ ลงไป ในขณะเดียวกันชีวิตเขามีโอกาสจะก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค โอทอป และอื่นๆ
แต่ในอีกแง่หนึ่ง ความนิยมในตัวคุณทักษิณตั้งแต่ปี 2548 ที่เคยเกิด ‘ทักษิณแลนด์สไลด์’ ก็ไม่สามารถกลับไปสู่จุดเดิมได้อีก เพราะเหตุใดความนิยมนี้จึงเปลี่ยนไป และปัจจุบันเป็นอย่างไร
คิดว่าความนิยมของทักษิณลดลงตั้งแต่ช่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ และการเคลื่อนไหวของ กปปส. โดยชนชั้นกลางในเขตเมืองเกิดความรู้สึกว่ายอมไม่ได้กับการคอร์รัปชันใหญ่ที่เกิดขึ้นในระบบราชการ รวมไปถึงการนำเรื่องพระมหากษัตริย์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมือง และผลักดันกลุ่มทักษิณให้กลายเป็นศัตรูร้าย
สิ่งที่น่าสนใจคือกระแสการกลับมาของพรรคเพื่อไทย ถึงแม้จะไม่เท่าเดิมแต่ก็พอมองเห็นอยู่บ้าง ครั้งล่าสุด ที่คุณหญิงอ้อ-พจมาน ณ ป้อมเพชร มาเปิดตัว อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร ที่เชียงใหม่ ผมประเมินว่าเพื่อทำให้พรรคเพื่อไทยในเชียงใหม่เป็นปึกแผ่นมากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็แปลว่าพรรคเพื่อไทยในเชียงใหม่ไม่แน่นเหมือนสมัยก่อน รวมทั้งการที่พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนเอาคุณทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ไปอยู่เขต 3 สันกำแพง และดึงคุณจักรพล ตั้งสุทธิธรรม คนรุ่นใหม่เจ้าของตลาดและโรงแรมในเชียงใหม่ มาเขต 1 ชี้ให้เห็นเลยว่า เพื่อไทยต้องการแลนด์สไลด์และเสียงจากคนรุ่นใหม่ ในขณะเดียวกันก็กำลังกังวลกับพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะในเขต 1 ตรงนี้อาจชี้ได้ว่ากระแสกลับมาก็จริง แต่ไม่เท่าเดิม
พื้นที่เขต 1 ส่วนใหญ่คือนักศึกษาจำนวนมาก และจากการเลือกตั้งรอบที่แล้วชี้ว่าเพื่อไทยชนะก้าวไกลแบบคะแนนห่างกันไม่มาก ดังนั้น ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ได้ให้ความสนใจกับทักษิณ ไม่ค่อยสนใจพรรคเพื่อไทย ผมคิดว่าความฝันเขาไปอยู่ที่พรรคอนาคตใหม่ อยู่ที่ก้าวไกลมากกว่า
หาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ถูกพักงานการเมือง ผมเชื่อว่าเขาจะไปไกลกว่านี้ ตอนนั้นเขามีคะแนนเป็นที่นิยมสูงมาก ผมจัดสัมมนาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเพียงสองครั้งเท่านั้นที่คนมาฟังกันเยอะมาก ครั้งแรกคือคุณอานันท์ ปันยารชุน มาพูดเรื่องปักษ์ใต้ คนมาฟังเป็นพัน ครั้งที่สองจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ เชิญคุณธนาธรมาพูด ประชาชนและนักศึกษามาฟังกันจนล้นอาคาร
เนื่องจากแปดปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียความหวัง หรือ Social Hope ความหวังว่าตัวเองจะขยับขยายเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจได้ถูกทำลายไป ดังนั้น สิ่งที่เขาหวังตอนนี้คือมีใครสักคนหนึ่งที่จะทำให้ความหวังเหล่านั้นกลับคืนมา และนำพาสังคมให้เกิด Social Hope อีกครั้ง
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พรรคฝั่งรัฐบาลไม่สามารถครองใจคนเหนือและคนอีสานได้
สิ่งที่เขาทำไม่ได้คือการทำให้คนเหนือคนอีสานรู้สึกว่าตัวเองจะมีความหวังเหมือนการได้รับ 30 บาทรักษาทุกโรค ยิ่งในเชิงเกษตรกรยิ่งเห็นชัด ฝ่ายพรรครัฐบาลรังแกคนที่อยู่ชายขอบค่อนข้างมาก ยกตัวอย่าง
เรื่องที่หนึ่ง นโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 2.8 หมื่นชุมชน
เรื่องที่สอง รัฐบาลนี้สนับสนุนการเกษตรในรูปแบบเดิมหมดเลย คือการประกันราคาสินค้า ไม่สามารถที่จะคิดใหม่หรือแหวกแนวคิดเดิมๆ ออกไปได้ เช่น ภาคเหนือ เชียงใหม่ส่งออกมะม่วงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่กลับไม่มีนโยบายอะไรที่ชัดเจนที่มารองรับและทำให้เกิดการพัฒนาต่อ
ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ ที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถทำให้ชาวบ้านเกิดการกระบวนการเคลื่อนฐานะของผู้คน
หากพรรครัฐบาลมีนโยบายที่ออกมาเพื่อเป็นที่พักพิงหลัง ก็จะสามารถครองใจภาคเหนือและอีสานได้ แต่ทุกวันนี้ผมยังไม่เห็น
แสดงว่าพื้นที่ภาคเหนือก็ไม่จีรังว่าในอนาคตจะเป็นของเพื่อไทยต่อไป มีสิทธิเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
ถ้าหากพรรคเพื่อไทยไม่มีนโยบายที่จะพัฒนา สอดคล้องกับผู้คนที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงในเชียงใหม่ ก็มีแนวโน้มว่าไม่สามารถรักษาฐานที่มั่นได้ สมมติว่าเขาจะยืนอยู่แบบเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงอยู่กับการจำนำข้าว หรือไม่คิดถึงเรื่องอื่น ไม่นานก็ต้องไป
ถ้าคิดสิ่งที่จะสอดคล้องกับสังคมก็มีสิทธิที่จะอยู่ในใจพี่น้องภาคเหนือและอีสานได้ เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองก็จะต้องมี Think Tank ที่จะคอยจับชีพจรสังคมอยู่เสมอ
คิดอย่างไรกับพรรคพลังประชารัฐในตอนนี้
ดูจะไม่มีอนาคต ผมคิดว่าทางที่เขาจะอยู่ได้ตอนนี้ คือต้องไปสนับสนุนบ้านใหญ่ และบ้านใหญ่ก็จะสนับสนุนเพื่อที่เขาจะได้คะแนนเสียง
แต่อย่าลืมว่าบ้านใหญ่ต่างๆ เหล่านี้คือกลุ่มคนที่หากวันหนึ่งถ้าพรรคเพลี่ยงพล้ำก็จะโดดหนีทันที บ้านใหญ่เหล่านี้จะไม่มีความผูกพันถึงขนาดยอมเป็นยอมตายไปกับพรรค
ดังนั้น การพึ่งพิงบ้านใหญ่ที่กระจัดกระจาย จะทำให้คุณได้คะแนนสูง จนทำให้การเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเป็นลำดับที่สอง แต่อย่าลืมว่าไม่สามารถผูกเขาไว้ได้ตลอด ดังนั้น ผมเชื่อว่าเลือกตั้งครั้งต่อไปพลังประชารัฐคงจบแน่ๆ
อีกแง่หนึ่ง เครือข่ายชนชั้นนำทั้งหมดที่สนับสนุน 3 ป. เริ่มมองว่าจะหาทางออกอย่างไรกับกลุ่มนี้ดี ส่วนตัวคิดว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่ได้มีโอกาสกลับมา ผมเชื่อว่า ป.แรกคือประยุทธ์ ช้ำเกินไปแล้ว แต่คนต่อไปอาจจะมาแทนคือ ป.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ ป.ป๊อก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กลับกันหากกลุ่มชนชั้นนำให้ประยุทธ์ไปต่ออีกรอบ ผมคิดว่าเขาพลาด ดีไม่ดี เครือข่ายชนชั้นนำอาจปล่อยประยุทธ์ออก แล้วไปดึงเอา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือคนอื่นเข้ามาแทนที่
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าไม่เพียงแต่ 3 ป. เท่านั้น เป็นเรื่องของกลุ่มทุนและเครือข่ายใหญ่ที่อยู่ข้างหลัง
แคนดิเดตนายกฯ แบบไหนที่อาจารย์สนใจ
ผมมองถึง ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ คนที่กลุ่มอนุรักษนิยมส่วนหนึ่งยอมรับและคนรุ่นใหม่ก็อยากทำงานด้วย ซึ่งท้ายที่สุดในเกมการเมืองใหญ่ ผมคิดว่ายังไม่เห็นคนแบบนี้
ถามว่าสำหรับพรรคเพื่อไทยที่เปิดตัวอุ๊งอิ๊งค์ ก็ยังไม่ได้แสดงความชัดเจนอะไร นอกจากว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็น ‘ชินวัตร’ และเพื่อที่จะดึงคะแนนเสียงและสร้างความเป็นปึกแผ่นในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
ในความเห็นผม หมอชลน่าน ศรีแก้ว กลับน่าสนใจกว่า ขยับมาอีกนิด ถ้าหลายคนกลืนเลือดหันมาเลือกพรรคภูมิใจไทย ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล คุมบังเหียน ก็ยังน่าสนใจกว่าคนในสายทหาร ซึ่งแปดปีทหารแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีศักยภาพเพียงพอในการบริหารประเทศ
คิดว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาส ‘แลนด์สไลด์’ อย่างที่ปักธงไว้ไหม
คิดว่าเพื่อไทยคงได้เยอะ เต็มที่เลยผมคิดว่า 180-190 ที่นั่ง ไม่น่าถึง 200 ที่นั่ง แต่ถึงแม้แลนด์สไลด์ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากคุณจะไปจับมือกับพรรคอื่นๆ
เชื่อว่าถ้าเพื่อไทยต้องจับ คงเลือกอนุทิน ชาญวีรกูล แต่จะไม่จับมือกับก้าวไกล ผมคิดว่าเขาประเมินว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญสำหรับเขา
พรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยเหมือนจะอยู่ฝั่งที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ทำไมอาจารย์ถึงมองว่าเป็นคู่แข่ง หรือไม่น่าจับมือกันได้
พรรคก้าวไกลมีนโยบายบางอย่างที่เกินกว่าพรรคเพื่อไทยจะร่วมแบกรับได้ หรือบางเรื่องไปไกลเกินกว่าที่ทุกคนเคยเห็น ถ้าเอาฐานรากของก้าวไกลมาอยู่บนบ่าของพรรคเพื่อไทยก็ดูเป็นเรื่องที่ยากเกินไป เพราะฉะนั้น การเลือกเข้าร่วมกับอนุทินหรือภูมิใจไทยจะง่ายกว่า
มองอย่างไรกับการที่หลายคนบอกว่า ทักษิณ ชินวัตร คือบุคคลเดียวที่จะสู้กับอำนาจนิยมได้
ในขณะนั้น ทักษิณเองก็เป็นอำนาจนิยมแบบหนึ่ง เพียงแต่ว่าแบ่งสรรอำนาจ ครั้งหนึ่งทักษิณเคยกล่าวว่า ‘เขตไหนไม่เลือกเรา เราก็ไม่ไปดูแล’ ระบอบทักษิณมีทั้งการปราบปรามยาบ้า มีผู้เสียชีวิตกว่าสองพันคน รวมถึงเหตุการณ์ในภาคใต้ ซึ่งชื่อของทักษิณหรือว่าแบรนด์ของทักษิณก็ยังคงต้องแบกรับและแบกประวัติศาสตร์ตรงนี้ต่อไป
คิดอย่างไรกับวลีที่มักพาดพิงพรรคเพื่อไทยว่า ‘สู้ไปกราบไป’
ตรงที่ผมบอกว่า ยังไงทักษิณก็ไม่มีทางที่จะร่วมกับก้าวไกล เพราะว่าทักษิณก็เป็นนักการเมืองน่ะ… เหมือนกับคนที่คอยมองหาจังหวะโอกาสที่ตัวเองจะได้ผลประโยชน์มากที่สุด เพราะฉะนั้นก็ไม่แปลกใจที่เป็นแบบนี้ แล้วนี่คือการปฏิบัตินิยมของนักการเมืองไทยที่ทำกันตลอดเวลา นั่นคือคุณต้องแสดงความจงรักภักดีให้มากที่สุด
มีข้อถกเถียงว่า หากจะเปลี่ยนแปลงประเทศ พรรคเพื่อไทยบอกว่าเศรษฐกิจปากท้องต้องมาก่อน ส่วนพรรคก้าวไกลมองว่าต้องแก้โครงสร้างก่อน อาจารย์มีมุมมองต่อประเด็นนี้อย่างไร
ถ้าหากพูดถึงเศรษฐกิจ เราจะไม่พูดถึงเศรษฐกิจที่เราจะไปหยิบยื่นให้ เราต้องพูดถึงโครงสร้างเศรษฐกิจ ถามว่า เศรษฐกิจสำคัญไหม ผมเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจสำคัญมาก แต่ต้องคิดถึงโครงสร้างเศรษฐกิจ
โครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงคือทำให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินมากกว่านี้ สมมติผมเป็นรัฐบาล สิ่งแรกที่ผมจะทำกับจังหวัดเชียงใหม่ คือสำรวจที่ดินว่าที่ดินไหนเป็นที่ดินทหารหรือราชพัสดุที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้แล้วไม่สร้างสรรค์ ขอเอามาให้ชาวบ้านเช่าสัก 50 ปี อะไรทำนองนี้ นี่คือโครงสร้างเศรษฐกิจ
ผมเห็นด้วยกับเพื่อไทยครึ่งหนึ่ง เห็นด้วยกับก้าวไกลอีกครึ่งหนึ่ง คือ เศรษฐกิจสำคัญแต่ต้องดูโครงสร้าง ถ้าเราไม่แก้โครงสร้างก็ไปไม่รอดจริงๆ
สมมติว่าเราจะพูดถึงการส่งออกสินค้าทั้งหมด เราจำเป็นต้องคิดถึงโครงสร้างที่ไม่กระจุกตัวบนผู้ส่งออกรายย่อย ลำไย ตอนนี้ถูกล้งจีนยึด มะม่วงผู้ลงทุนที่กำลังจะเข้ามาก็เป็นล้งจีน รัฐจำเป็นที่จะต้องมาคิดตรงนี้ จำเป็นที่ต้องคิดถึงโครงสร้างสินค้าเฉพาะ (Niche Market) ยกตัวอย่าง ยุคนี้คือยุคที่มีทุเรียนภูเขาไฟ พวกนี้คือผู้ประกอบการชนบท (Rural Entrepreneurs) และสิ่งเหล่านี้เป็นสินค้าเฉพาะที่ไปได้ดีกับตลาด โครงสร้างการส่งออกของเราก็จะเป็นแบบนี้
แต่ถ้าเราไปแก้ที่โครงสร้างแล้วต้องรอตายแน่ๆ ตอนนี้วิกฤตหลังโควิดมีคนจนมหาศาล ข้อมูลของทีดีอาร์ไอ (TDRI: Thailand Development Research Institute/ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) ที่ทำร่วมกับโครงการคนจนเมือง เผยว่าตอนนี้มีคนที่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายประมาณ 48% ทุกคนต้องวิ่งไปกู้หนี้ยืมสินมากขึ้น หนี้นอกระบบสูงขึ้นเกือบ 30-40%
ดังนั้น คนถึงเบื่อรัฐบาลนี้มาก ตัวเลขเหล่านี้ชี้เลยว่าเศรษฐกิจพัง
คำว่า ‘คนจนเมือง’ คืออะไร
คนจนเมือง หรือ Urban Poor คือคนที่โดนเมืองซึ่งกำลังกลายเป็นพื้นที่กีดกันคนจนออกไป ขบวนการนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า Gentrification คือ กระบวนการที่ทำให้เมืองเป็นพื้นที่ของคนชนชั้นกลางค่อนไปถึงบน ขบวนการนี้ถ้าเราไม่ได้ระวัง จะดันคนจนออกไปเรื่อยๆ ดังนั้น คนจนเมืองจะมีชีวิตอยู่ยากขึ้น
ทั้งนี้ เมืองเหมือนกับฟองน้ำที่มีรูใหญ่ คนจนเมืองก็สามารถเป็นเหมือนหยดน้ำที่ไหลเข้าไปได้ แต่ตอนนี้เมืองกลายเป็นฟองน้ำที่แน่นมากขึ้น นึกถึงฟองน้ำอย่างดีกับอย่างไม่ดี อย่างดีมันจะแน่น จนคนจนที่เหมือนหยดน้ำไม่สามารถเข้าไปได้ แถมถูกดันออกมา วิธีคิดแบบนี้กำลังจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น
แต่หากเราคิดกันใหม่ว่า เมืองเป็นพื้นที่ที่จะทำให้คนเข้ามาแล้วปรับตัวได้ เมืองจะกลายเป็นตัวต่อข้ามกันไปมาระหว่างชนบทกับเมือง เมืองที่คนทุกชนชั้นสามารถเดินทางถึงกันได้ และเอื้ออำนวยให้กับคนจนเมืองปรับตัวได้ พร้อมทั้งพยุงให้กับเศรษฐกิจโดยรวม
จากคำว่าคนจนเมือง พบว่าถ้าเมืองยังเป็นแบบนี้ต่อไป กลุ่มคนจนเมืองมีแต่ตายกับตาย คนจนเมืองจะถูกถีบออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสลัมไม่มี พื้นที่สลัมเต็ม และจำเป็นต้องไปเช่าบ้านที่ทำให้ชีวิตคนจนถูกกดขี่มากขึ้น
ผมคิดว่าโครงสร้างของเศรษฐกิจเชียงใหม่จะต้องปรับเปลี่ยน โครงสร้างของการใช้ที่ดินจะเปลี่ยน อย่างที่ผมพูดว่าที่ดินที่เป็นของหลวง จะขอยืมได้ไหม ขอเช่าได้ไหม ทั้งหมดเพื่อเปลี่ยนให้คนเข้ามา อาจจะไม่ทำการเกษตรก็ได้ แต่เช่ามาเพื่อทำตลาด เช่ามาทำให้ประชาชนมีรายได้
พรรคการเมืองควรส่งเสริมนโยบายอย่างไร จึงเหมาะสมกับการพัฒนาเมืองเพื่อให้เป็นเมืองของทุกคน
นักการเมืองเสนอนโยบายแบบมอบปลาช่วยชาวบ้านอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำให้ทุกคนในเมืองจับปลาเองได้ โดยให้เมืองเป็นเมืองของทุกคน ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นพรรคการเมืองไหนที่หันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ผมคิดว่าเขาไม่ได้มองเห็นหรือให้ความสำคัญกับเมือง แบบที่จะเอื้อประโยชน์กับคน เขาผูกพันอยู่กับการเป็นสมาร์ตซิตี้ ทำให้ที่ดินที่เขาพัฒนาไว้มีราคามากขึ้น
นโยบายที่ควรส่งเสริมอาจจะคล้ายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เสนอเรื่องกรุงเทพฯ ดีกว่า การจัดการพื้นที่ให้หาบเร่แผงลอย แม้ว่าจะมีการเคร่งครัดบ้าง มีการขีดเส้นไว้ชัดเจนว่าหยุดหนึ่งวันเพื่อทำความสะอาด อันนั้นคือการเปิดพื้นที่เพื่อให้มีคนพัฒนาตัวเองได้
ส่วนภาคเกษตรกรชาวไร่ชาวนา เสนอว่าถัดจากนี้ไปจะไม่ทำการเกษตรแบบเดิม ต้องเปลี่ยนเป็นผู้ประกอบการในชนบท โดยไม่ใช่การจำนำข้าวแบบที่มีมา เปลี่ยนพี่น้องภาคชนบทให้กลายเป็นผู้ประกอบการ
ส่วนที่สำคัญที่สุดไม่ใช่แค่เชียงใหม่ แต่ต้องเป็นทุกเมือง คือต้องมีนโยบายที่ทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมใช้ชีวิตกัน พื้นที่สาธารณะในเมือง เราจะมาร่วมแชร์กันอย่างมีคุณค่า ขณะเดียวกันก็ลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้คนจน ถ้าพรรคการเมืองคิดอย่างนี้ได้ก็จะมีความหวังเพิ่มขึ้น
ถ้าเป็นนโยบายที่สัญญาแล้วทำได้จริง แม้จะมีแรงเสียดทานและข้อพิพาทตามมา เชื่อว่าแบบนี้คนส่วนใหญ่ก็คงยังเห็นด้วย
ถ้าพรรคใดให้คำสัญญาต้องทำ เช่น ในกรณีกัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล โกยคะแนนได้ไปจากตรงนี้
แม้ว่าท้ายที่สุดก็จะถูกแรงต้านทาน แต่สิ่งสำคัญคือไม่ใช่การให้แบบไร้เหตุผล แต่เข้าไปปลดล็อกอะไรบางอย่าง ปลดล็อกสิ่งที่คนส่วนหนึ่งรู้สึกว่า อันนี้ไม่เท่าเทียมหรือน่าจะจัดการ
พรรคภูมิใจไทยฉลาดที่ไปจับต้องนโยบายกัญชา ซึ่งเป็นส่วนที่คนตั้งคำถามกันเยอะ อาจจะไม่ต่างจากเรื่องเบียร์คราฟต์ หรือสุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล แต่ถึงอย่างไรคงต้องดูกันต่อไป
นโยบายที่ในอนาคตต้องมีแน่ๆ คือนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ ท้องถิ่น อย่างเดียวอาจจะไม่พอ ต้องถามว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้วทำอะไรอีก เช่น ลดอำนาจมหาดไทย เปลี่ยนการจัดการทั้งหมด
สำหรับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเท่าที่อาจารย์ได้สัมผัส มองว่าพวกเขามีแนวคิดทางการเมืองอย่างไรบ้าง
เท่าที่เจอ ส่วนใหญ่ คนรุ่นใหม่แบ่งเป็นสามกลุ่มหลักๆ ประกอบด้วย
1. คนรุ่นใหม่ในระบบมหาวิทยาลัย
2. คนรุ่นใหม่หนุ่มสาวที่สนใจในแวดวงของเอ็นจีโอ
3. คนรุ่นใหม่ที่อยู่นอกกระบวนการศึกษาหรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สามกลุ่มที่เจอจะคล้ายๆ กัน คือส่วนใหญ่เขาจะเลือกด้วยตัวเอง เท่าที่สัมผัสยิ่งเด็กรุ่นใหม่จะยิ่งมีความเกรี้ยวกราดและกระตือรือร้นทางการเมืองมาก สมมติว่ามีพรรคใหม่ที่เกิดขึ้นและมีแนวคิดที่อยากเปลี่ยนสังคม ระบบ หรืออะไรที่มากกว่าพรรคก้าวไกล พวกเขาก็พร้อมที่จะไป
คนรุ่นใหม่ตอนนี้เปลี่ยนระบบคิดหมดแล้ว สิ่งที่เราเรียกว่า ‘กาลเทศะ’ แบบไทยๆ อาจจะหมดยุค คำว่า ‘สัมมาคารวะ’ อาจเป็นคนรุ่นผม แต่คนรุ่นนี้เขาพูดกันว่า ‘สัมมาคาราโอเกะ’ ไปแล้ว
อะไรคือความท้าทายที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามจะมาลงสนามเชียงใหม่
ถ้าพรรคไหนจะมา ขอให้ทำประโยคนี้ให้เป็นรูปธรรมได้ ‘เชียงใหม่เป็นเมืองของทุกคน’ ถ้าคิดแล้วทำให้เป็นรูปธรรมได้ก็ได้แต้ม ได้แต้มจากทั้งชนชั้นกลางในเชียงใหม่และจากพี่น้องชาวบ้านที่อยู่ภาคชนบท
ได้แต้ม หมายถึงต้องมีนโยบาย เช่น พื้นที่สาธารณะ เปลี่ยนพื้นที่ของรัฐให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับจ้างงานที่สามารถดึงพี่น้องชนบทเข้ามาเรียนรู้ เพื่อที่จะได้กลับไปสร้างงานเอง มีนโยบายชัดๆ ที่ทำให้คนเชียงใหม่รู้สึกได้ว่ามีสำนึกของความเป็นท้องถิ่น
เชียงใหม่เป็นเมืองที่ประหลาด คือคนเชียงใหม่มีความสำนึกเป็นคนเชียงใหม่สูง ดังนั้นจะทำอะไรคงต้องอิน (Inner) ความเป็นเชียงใหม่
ถ้ามาก็เริ่มจากกระแสของเชียงใหม่จัดการตัวเองได้เลย กระจายออกมาจากศูนย์กลาง (Decentralized) ให้เห็นว่าเชียงใหม่สามารถพัฒนาและจัดการกับโครงสร้างเศรษฐกิจได้
เท่านี้เชื่อว่าการครองใจคนเชียงใหม่ก็คงทำได้ไม่ยาก… และผมหวังว่าจะทำได้
Fact Box
- ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาทำวิจัยและเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
- การเข้ามาของพรรคไทยรักไทย นำโดย ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค ประกอบไปด้วยสมาชิกจากหน้าเก่า-ใหม่จากหลายพรรคการเมือง ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544 ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมกัน 248 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม
- จุดเด่นที่ทำให้พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้น ประกอบด้วยการมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งนำระบบปาร์ตี้ลิสต์ หรือ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เข้ามาใช้เป็นครั้งแรก พร้อมกับมีนโยบายประชานิยมที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น