ผลงานชิ้นล่าสุดของคณะ FULLFAT Theatre ที่กำกับโดย นพพันธ์ บุญใหญ่ ผู้เขียนออกจะแปลกใจที่รอบแรกๆ ของการแสดงคนดูค่อนข้างบางตา ทั้งที่ปีที่แล้ว คณะนี้สร้างชื่อเสียงให้ตัวเองได้อย่างดีจากละครเรื่อง Co/exist ก็ไม่รู้ด้วยเพราะโปสเตอร์ของละครที่ใช้ฟอนต์แบบไทยๆ จึงไม่ฮิปดึงดูดเท่าไร หรือเพราะผู้คนกลัวฝุ่น PM2.5 กันแน่ แต่ได้ข่าวมาว่า รอบหลังๆ คนดูหนาแน่นขึ้น ซึ่งถ้าใครอยากหาการแสดงดีๆ คุ้มค่ากับการออกจากบ้านฝ่ามลพิษ ผู้เขียนขอฟันธงว่า Taxiradio เป็นตัวเลือกที่เข้าท่า
นพพันธ์กลับไปใช้พื้นที่ของ Warehouse 30 อีกครั้งต่อจาก Co/exist แต่คราวนี้ไม่ใช่โกดังร้างอีกต่อไปแล้ว ปัจจุบันเป็นสเปซสุดเก๋ที่มีทั้งร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า และโรงหนังขนาดย่อม (แต่ยังคงมีปัญหายุงชุมเวลากลางคืน ถ้าเจ้าของสถานที่มาอ่านเจอก็ฝากแก้ไขด้วยเถิดจ้ะ) เมื่อเข้าไปในโรงละครก็พบกับความแปลกประหลาดชวนงง ฉากละครเต็มไปด้วยพร็อพแนวเหลี่ยมๆ สูงๆ บรรยากาศไซไฟตั้งกองเป็นหย่อมๆ ไหนจะขาไมค์ กลองชุด และคีย์บอร์ด ตบท้ายด้วยพระจันทร์สีแดงดวงโตที่ฉากหลัง
เมื่อเริ่มการแสดง นพพันธ์สวมบทบาทของดีเจพูดนำเข้ารายการและเปิดเพลง แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงของนักแสดงพูดผ่านไมค์แทรกเข้ามาซ้อนทับกับเสียงวิทยุ ทำให้การจับความไม่ง่ายนัก ผู้ชมต้องแยกประสาทมากกว่าปกติตั้งแต่ฉากแรกของละคร นี่เป็นการเกริ่นนำถึงโทนของละครได้ดี เพราะนับจากนี้ต่อไปอีก 90 นาทีจะมีความซับซ้อนต่อเนื่องมาตามอีกหลายระลอก
เนื้อหาของ Taxiradio คือการเล่าเรื่องสลับไปมาของตัวละครสี่ชีวิต (แสดงโดย วิชญ์พล ดิลกสัมพันธ์, กิตติภูมิ วงศ์เพ็ญทักษ์, ลฎาภา โสภณกุลกิจ และกมลสรวง อักษรานุเคราะห์) ทั้งการให้ปากคำของคนขับแท็กซี่หาเช้ากินค่ำ หญิงสาวที่ปวดฉี่ขั้นวิกฤตท่ามกลางรถติดขนัด ชายหนุ่มที่พยายามกลับไปหาครอบครัวหลังจากถูกยิงตายในการชุมนุม (น่าจะช่วงปี 2553) และเซอร์สุดกับตัวละครหญิงที่เหมือนจะเป็นลูกเทพที่สามารถหยุดฟ้าฝนได้ (!?)
สิ่งที่ผู้เขียนชอบในงานของนพพันธ์คือ ผลงานของเขาเปลี่ยนแปลงรูปแบบอยู่เสมอ แทบจะไม่เคยมีการซ้ำรอยตัวเอง นพพันธ์ทำมาหมดแล้วทั้งละครดราม่า ละครตลกแอบเสิร์ด ละครเคลื่อนไหวทางร่างกาย ส่วนในด้านเนื้อหานั้น ในขณะที่ผู้คนมักพูดถึง Co/exist ว่ามันเป็นละครที่ออกจะ ‘ฝรั่ง’ มาก ด้วยความที่ละครพูดภาษาอังกฤษ หรือจังหวะดำเนินเรื่องที่ตัดฉึบฉับราวหนังฮอลลีวู้ด ทว่าในเรื่อง Taxiradio นั้นเป็นอะไรที่สุดแสนจะ ‘ไท้ยไทย’
ความเวรี่ไทยใน Taxiradio เกิดขึ้นเพราะเรื่องราวของตัวละครทั้งสี่นั้นคือสิ่งเราทุกคนล้วนเคยพบเจอ หากคุณเคยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ -เมืองที่เขาบอกว่าเป็นชีวิตดีๆ ที่ลงตัว (บางครั้งผู้เขียนก็แอบเปลี่ยนสโลแกนเป็น ‘ชีวิตดีๆ ที่ลงนรก’) คุณย่อมเชื่อมโยงกับเหล่าตัวละครได้ไม่ยาก มีมุกหนึ่งที่ผู้เขียนแทบจะหยุดหัวเราะไม่ได้ เมื่อหญิงสาวพบว่าตัวเองตายไปแล้ว โดยสาเหตุที่เธอตายก็เพราะรถติดอยู่บนถนนลาดพร้าว!
แต่แม้เนื้อหาจะเป็นเรื่องคุ้นชิน สารใน Taxiradio ก็ไม่ได้ย่อยง่ายนัก โครงสร้างของละครเรื่องนี้ยั่วล้อกับคนดูอย่างยียวน ตัวละครทั้งสี่ผลัดกันพูดผ่านไมค์สลับไปมา โดยที่บางครั้งเรื่องราวเดิมยังไม่จบดี เมื่อตัวละครเดิมกลับมาเล่าเรื่องต่อ เราก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นเรื่องต่อเนื่องกับคราวที่แล้วหรือไม่ หลายฉากยังให้ตัวละครสองตัวพูดไปพร้อมกัน สร้างความสับสนว่าเรื่องราวมันเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกันแน่
หากแยกกายวิภาคด้านเสียงของ Taxiradio อย่างละเอียด มันไม่ได้มีแค่เสียงจากไดอะล็อกของนักแสดง แต่ยังมีเสียงของดีเจและเพลงของเขา บวกด้วยเสียงจากดนตรีสด-กลองและคีย์บอร์ด (บรรเลงโดย วทัญญู นิวัติศัยวงศ์ และอาภาวี เศตะพราหมณ์) ดังนั้นอาจเปรียบเทียบได้ว่า การดำเนินไปของ Taxiradio เหมือนกับการเปลี่ยนวิทยุไปเรื่อยๆ แบบถี่รัว และบางครั้งคลื่นสองคลื่น (หรือมากกว่า) ก็แทรกซ้อนเข้าหากัน
แต่ความซ้อนทับกันไปมาเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากการตัดแปะอย่างลวกๆ แต่เป็นการออกแบบมาอย่างดี น่าชื่นชมมากที่นักแสดงทุกคนจำ ‘บท’ และ ‘จังหวะ’ ของตัวเองได้อย่างแม่นยำ แถมยังสอดประสานกับนักดนตรีทั้งสองอย่างแนบเนียน อีกทั้งผู้เขียนยังรู้สึกว่าโครงสร้างเฉพาะตัวของ Taxiradio ไปด้วยกันได้ดีกับ ‘กระแส’ การใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ที่ทุกอย่างดูไหลไปอย่างรวดเร็วและดูสะเปะสะปะ เช่น ไม่ได้เดินสยามสแควร์แค่ไม่กี่เดือน กลับไปอีกทีร้านรวงเปลี่ยนไปหมดแล้ว หรือเครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์ที่ยังไม่เคยได้ใช้ ตัดภาพมาก็ประกาศยกเลิกเสียแล้ว
อีกสิ่งที่ผู้เขียนชอบใน Taxiradio คือความเหนือจริงที่ปรากฏแทบทั้งเรื่อง ตั้งแต่การตาย การเกิดใหม่ การทะลุมิติเวลา หรือกระทั่งการปรากฏของตัวละครเหนือมนุษย์ (เทพ?) โดยเฉพาะเรื่องหลังที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นมุกที่ร้ายกาจ เพราะแม้กรุงเทพฯ จะได้ชื่อว่า ‘เมืองเทพสร้าง’ แต่ในละครเรื่องนี้ เราได้เห็นว่าตัวละครเทพประสบความปวดหัวจากเมืองนี้ไม่ต่างอะไรจากมนุษย์เดินดินทั่วไป
อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางคนอาจตั้งข้อกังขาว่า นี่เป็นงานศิลปะอีกชิ้นหนึ่งที่มานั่งบ่นถึงความห่วยแตกของกรุงเทพฯ หรือเปล่า ผู้เขียนขอแก้ต่างแทนว่าไม่ใช่เสียทีเดียว การส่งเสียงบ่นถึงความบกพร่องของตัวเมืองหรือระบบเมืองมีหลายแนวทาง บ้างอาจส่งเสียงดังๆ ด้วยการเอาขวานจามรถ บ้างล่ารายชื่อในเวบ Change.org ส่วน Taxiradio เป็นเสียงเล่าผ่านไมค์ของคนสี่คนในโกดังแห่งหนึ่งที่ทำออกมาอย่างมีชั้นเชิง
เอาเข้าจริงแล้วตอนที่ดู Taxiradio จบใหม่ๆ ผู้เขียนจะชอบโครงสร้างและวิธีการนำเสนอของเรื่อง แต่ออกจะเฉยๆ กับเนื้อหาโดยรวม อาจเพราะมันไม่ได้เป็นเรื่องหวือหวาแปลกใหม่อะไรนัก อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป ผู้เขียนเริ่มซึมซับถึงเสน่ห์ของละครช่วงท้าย ที่หลังจากเต็มไปด้วยความตลกแดกดันมาทั้งเรื่อง ฉากพระจันทร์ในตอนจบก็ทั้งเศร้าแต่อบอุ่นเป็นพิเศษ
ความรู้สึกกึ่งๆ เช่นนี้ คล้ายกับเวลาผู้เขียนถูกถามว่า รักหรือเกลียดกรุงเทพฯ บางครั้งตอบแบบทันทีทันใดไม่ได้ แต่ละครเรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า ตัวเองคงต้องใช้ชีวิตในเมืองป่วงๆ แห่งนี้ต่อไป ยามใดเหนื่อยมากนักก็ปลอบประโลมด้วยการเงยหน้ามองดวงจันทร์…แม้จะมองไม่ค่อยเห็นนักก็ตาม
Fact Box
Taxiradio แสดงถึงวันที่ 2 มีนาคม 2561 ณ Warehouse 30 ซ.เจริญกรุง 30 (BTS สะพานตากสิน หรือ MRT หัวลำโพง) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/573397426345743