วันนี้ (15 สิงหาคม 2565) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross domestic product หรือ GDP) พบว่าในไตรมาสที่ 2/2565 จีดีพีขยายตัวอยู่ที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์
สำหรับตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เดิมว่าจะอยู่ที่ 3.1 เปอร์เซ็นต์ และด้วยตัวเลขดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของจีดีพีไตรมาสที่ 2/2565 ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศหลักของอาเซียน โดยสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4.8 เปอร์เซ็นต์ อินโดนีเซียอยู่ที่ 5.4 เปอร์เซ็นต์ ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 7.4 เปอร์เซ็นต์ เวียดนามอยู่ที่ 7.7 เปอร์เซ็นต์ และมาเลเซียอยู่ที่ 8.9 เปอร์เซ็นต์
สำหรับจีดีพีส่วนที่ขยายตัวเร่งขึ้น ได้แก่ ส่วนอุปโภคบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ 6.9 เปอร์เซ็นต์ ขยายจาก 3.5 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการใช้จ่ายในหมวดบริการขยายตัวเร่งขึ้น 13.7 เปอร์เซ็นต์ จาก 4.1 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสก่อนหน้า กลุ่มโรงแรมและภัตตาคารมีการขยายตัว 56.9 เปอร์เซ็นต์ การส่งออกและบริการมีการขยายตัว 54.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การส่งออกสินค้าก็ยังคงขยายตัวได้ แม้จะมีการชะลอตัวลงบ้าง
อย่างไรก็ตาม การลงทุนรวมหดตัวประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวอยู่บ้างที่ 2.3 เปอร์เซ็นต์ แต่ในส่วนภาครัฐขยายตัวลดลง ขณะที่ดัชนีในสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง 0.5 เปอร์เซ็นต์ โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.08 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 66.53 เปอร์เซ็นต์ และสาขาการก่อสร้างปรับตัวลดลง 4.5 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ หากพิจารณาในช่วงครึ่งปีแรก GDP ไทยยังคงขยายตัวได้ 2.4 เปอร์เซ็นต์ โดยครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง มาจากภาคอุปโภคบริโภค การส่งออก และการบริการ ขณะที่ในส่วนอัตราการผลิต ที่พักแรม บริการด้านอาหาร การค้าส่ง-ค้าปลีก และการขนส่งสินค้า ยังขยายตัวเร่งขึ้น แต่ที่ขยายตัวลดลงคืออุตสาหกรรมและการก่อสร้าง
ดนุชายังระบุด้วยว่า อัตราการว่างงานของไทยนั้นปรับตัวลดลงอยู่ที่ 1.37 เปอร์เซ็นต์ ปรับจากก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศในขณะนี้ยังอยู่ที่ 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังคงสูง และด้านหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 61.1 เปอร์เซ็นต์
สำหรับเศรษฐกิจโลก ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 นั้นมีทิศทางชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ด้านจีนขยายตัว 0.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนนั้นยังขยายตัวได้ดี
ตัวเลขจากสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า ปัจจัยในช่วงครึ่งปีหลังบวกมาจากรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 5.7 แสนล้านบาท นักท่องเที่ยวประมาณ 7 ล้านคน โดยมีการปรับประมาณการใหม่ คาดว่าจะมีรายรับเพิ่มเป็น 6.6 แสนล้านบาท และนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 ล้านคน
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทย จีดีพีตลอดทั้งปีน่าจะเคลื่อนอยู่ที่ 2.7-3.3 เปอร์เซ็นต์ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปจะมีปัจจัยสนับสนุน 3-4 เรื่อง อาทิ กิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งใกล้เคียงภาวะปกติ การเดินทางภายในประเทศเป็นไปอย่างปกติ ขณะที่ภาครายได้ ภาคครัวเรือน ก็มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากจีนกำลังมีปัญหาภาวะหนี้สินจากภาคอสังหาริมทรัพย์ และยังคงมีข้อจำกัดภายในประเทศด้านภาระหนี้สิน อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งส่งผลต่อภาระการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และต้นทุนของภาคเอกชน ซึ่งจะกระทบการปรับโครงสร้างหนี้ในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน
Tags: Report, เศรษฐกิจ, GDP, ไทย