สหภาพยุโรปเริ่มลดละการใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่เป็นนโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งอาจส่งผลสะเทือนประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มหลักๆ อย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

สหภาพยุโรปมีมติร่วมกันตั้งแต่เดือนมิถุนายนว่าจะยุติการใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป นับเป็นขั้นตอนหนึ่งในแผนการใหญ่ที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานที่หมุนเวียนได้เข้ามาในสายการผลิตเชื้อเพลิง ขณะที่สหภาพยุโรปเองเป็นหนึ่งในผู้ซื้อน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก นำไปใช้งานหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การประกอบอาหารไปจนถึงการผลิตน้ำยาซักผ้า

นโยบายนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวออกมารณรงค์มาเนิ่นนานว่า การใช้น้ำมันพืชนั้นเกี่ยวโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างทารุณ

ฝรั่งเศสและนอร์เวย์เป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มลดการใช้น้ำมันปาล์มเมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้ประเทศผู้ผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มหวั่นเกรง เพราะพืชชนิดนี้เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจที่สำคัญ หากดูเพียงอินโดนีเซียและมาเลเซียสองประเทศ ก็คิดเป็น 80% ของการผลิตน้ำมันปาล์มทั้งโลกแล้ว

องค์กร Eyes on the Forest ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของเหล่าเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมก่อตั้งโดย WWF เปิดเผยข้อมูลว่าในระยะเวลากว่า 31 ปีที่ผ่านมา เกาะสุมาตราในอินโดนีเซียได้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปแล้ว 56% จากพื้นที่ทั้งหมด 250,000 ตารางกิโลเมตร และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มนี้เอง ถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญให้เกิดการทำลายป่าไม้

อินโดนีเซียเคยขู่ว่าจะโต้กลับหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงการค้า ถึงกับกล่าวว่าสหภาพยุโรป จะกระตุ้นให้เกิด “สงครามการค้า” หากลดการใช้น้ำมันปาล์ม

ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมหลักของมาเลเซีย เทเรซ่า ค็อก (Teresa Kok) วิพากษ์ว่า “นับเป็นการตัดสินใจอันไม่น่าพึงใจที่สุด และขัดแย้งกับหลักการของการค้าเสรีและเป็นธรรม การโหวตของสมาชิกสภา (ฝรั่งเศส) คววรได้รับการประณามอย่างรุนแรง”

ชื่อเสียงที่ติดลบของน้ำมันปาล์มทำให้ภาคธุรกิจเริ่มตื่นตัว เพื่อไม่ให้เสียชื่อเสียง บริษัทด้านอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่เริ่มจัดซื้อจัดหาน้ำมันปาล์มจากผู้ผลิตที่ฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืน แต่บางครั้งการสืบสาวต้นตอของการผลิตก็เป็นเรื่องยากในห่วงโซ่อุปทานอันซับซ้อนหลายขั้น บางแห่งจึงเริ่มใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น ใช้ดาวเทียมมาสอดส่องซัพพลายเออร์ ควบคุมและขจัดการตัดไม้ทำลายป่า

หรือผู้ผลิตรายใหญ่ของ Olam ซึ่งผลิตทั้งน้ำมันปาล์ม โกโก้ และถั่ว ก็ได้สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาให้ลูกค้ารายใหญ่เช่น เนสต์เล่ และมอนเดลีซ ใช้งาน เพื่อติดตามสินค้าตั้งแต่เกษตรกรมาจนผ่านตัวกลางต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานมาจนถึงปลายทาง

ที่มาภาพ: Antara Foto/Rony Muharrman/via REUTERS

ที่มา:

Tags: , , , ,