งานปาฐกถาเสม พริ้งพวงแก้ว ครั้งที่ 24 จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ห้องประชุมจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยองค์ปาฐกประจำปีนี้คือ บาทหลวงไมเคิล แลปสลีย์ (Father Michael Lapsley) จากสถาบันเพื่อการเยียวยาความทรงจำ ประเทศแอฟริกาใต้
บาทหลวงไมเคิล แลปสลีย์ เกิดที่นิวซีแลนด์เมื่อปี 1949 ท่านเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักบวชตั้งแต่อายุ 17 ปี ก่อนจะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่อนุศาสนาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเนทัล เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปี 1973
บาทหลวงแลปสลีย์คือหนึ่งในเหยื่อของการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมแอฟริกาใต้ ในปี 1990 ท่านสูญเสียมือทั้งสองข้าง ดวงตาหนึ่งข้าง และร่างกายถูกไฟไหม้อย่างรุนแรงจากระเบิดที่ถูกส่งมาทางไปรษณีย์ ในฐานะที่ท่านเป็นปากเสียงให้กับผู้ที่ถูกกดขี่จากระบอบแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้
ในปี 1993 บาทหลวงแลปสลีย์คืออนุศาสนาจารย์ประจำศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อของความรุนแรงและการทรมานซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเคปทาวน์ ก่อนที่ศูนย์แห่งนี้จะกลายมาเป็น ‘สถาบันเพื่อการเยียวยาความทรงจำ’ ในปี 1998 เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเยียวยาผู้ที่ได้รับความบอบช้ำทางร่างกายและจิตใจ ก่อนจะขยายงานไปสู่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ผู้ลี้ภัย นักโทษ และทหารผ่านศึก
วงเสวนา ‘สันติวิธี วิถีเพื่อคืนความเป็นมนุษย์’ คือภาพสะท้อนของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย อันเป็นเรื่องราวต่อเนื่องจากสิ่งที่บาทหลวงแลปสลีย์กล่าวในปาฐกถา ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ คุณอวยพร เขื่อนแก้ว นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีแนวพุทธ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม (ศูนย์บ้านดิน) จังหวัดเชียงใหม่ และคุณโซรยา จามจุรี นักวิชาการที่ทำงานด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
พระไพศาล วิสาโล: “ยิ่งเราโกรธมากเท่าไร ยิ่งเราเกลียดมากเท่าไร ความเป็นมนุษย์ของเราก็จะมีน้อยลงเท่านั้น”
สันติวิธีหมายถึงอะไร คนมักจะเข้าใจว่าสันติวิธีคือการไม่ใช้ความรุนแรง ถามว่าไม่ใช้ความรุนแรงในระดับไหน ถ้าตอบว่าไม่ใช้ความรุนแรงทางกาย มันพอหรือยัง ในโซเชียลมีเดีย แม้จะไม่มีการใช้ความรุนแรงทางกาย แต่ก็เต็มไปด้วยความรุนแรงในแบบที่เรารับรู้ได้ เพราะมีการใช้ความรุนแรงทางวาจา การประณาม และการเหยียดหยาม เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงสันติวิธี การไม่ใช้ความรุนแรงทางกายจึงยังไม่เพียงพอ
เมื่อพูดถึงสันติวิธี เราต้องมองให้กว้าง นอกจากไม่ใช้ความรุนแรงทางกาย เช่น ไม่ทำร้าย ไม่ฆ่า ไม่ทำให้พิกลพิการ การไม่ใช้ความรุนแรงทางวาจาก็เป็นส่วนหนึ่งของสันติวิธี และบางครั้งความรุนแรงก็ไม่ได้เป็นความรุนแรงทางตรง แต่เป็นความรุนแรงในระบบ เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพราะโครงสร้างที่อยุติธรรม ไม่ให้ความเท่าเทียมกัน หรือมีการกีดกันคนบางกลุ่มด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา ภูมิภาค หรือสถานภาพทางเศรษฐกิจ อาตมาคิดว่านี่ก็เป็นความรุนแรงซึ่งบั่นทอนชีวิตและสร้างบาดแผลให้กับผู้คนได้ไม่น้อย
ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางกาย ทางวาจา หรือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง มันสร้างความเจ็บปวดและความเจ็บแค้นให้กับผู้ที่ถูกกระทำ ซึ่งสองอย่างนี้มันกัดกร่อนจิตใจของผู้ที่ถูกกระทำ และถ้าเราไม่มีการเยียวยา สิ่งเหล่านี้จะก่อปัญหา อย่างในแอฟริกาใต้ แม้แอฟริกาใต้ในยุคเนลสัน แมนเดลา จะมีการปรับปรุงหรือการยกเครื่องระบบต่างๆ เพื่อให้คนดำและคนขาวมีความเสมอภาคและมีความเท่าเทียมกัน แต่ก็มีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น คุณพ่อไมเคิล แลปสลีย์ ท่านตั้งข้อสังเกตว่าเวลามีคนตาย ความเศร้าโศกมันท่วมท้นเกินกว่าสภาวะตามปกติ มันแปลว่าอะไร มันแปลว่าความเศร้าโศกไม่ได้รับการปลดปล่อยหรือเปล่า หรือหลังจากแอฟริกาใต้เข้าสู่ยุคใหม่ ความรุนแรงในสังคมก็ยังมีเยอะมาก ทั้งที่คนดำได้รับความเสมอภาค แต่ความรุนแรงในสังคมเกิดขึ้นอย่างดาษดื่น มันแปลว่าอะไร มันแปลว่าความโกรธที่ถูกเก็บกดเอาไว้นั้นพรั่งพรูออกมา
บางครั้งความรุนแรงก็ไม่ได้เป็นความรุนแรงทางตรง แต่เป็นความรุนแรงในระบบ เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพราะโครงสร้างที่อยุติธรรม ไม่ให้ความเท่าเทียมกัน
ความเจ็บปวด ความเศร้า และความโกรธไม่ได้หายไปเพราะมีการปฏิรูปหรือการปฏิวัติ สิ่งนี้ทำให้งานที่ท่านทำมีคุณค่ามาก สถาบันเพื่อการเยียวยาความทรงจำต้องไปจัดการกับบาดแผลในจิตใจของผู้คน ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ในยุคที่เป็นประชาธิปไตย มีความเสมอภาค มีเสรีภาพ แต่ถ้าไม่ทำตรงนี้ก็จะก่อปัญหาทั้งกับตัวเอง กับครอบครัว กับสังคม และกับประเทศชาติ การเยียวยาจึงสำคัญมาก
สำหรับความเจ็บปวด จากประสบการณ์ของคุณพ่อไมเคิล แลปสลีย์ มีสองอย่างที่จะช่วยได้ คือการได้รับการยอมรับ และอีกอย่างคือเพื่อน หมายความว่าเมื่อมีความเจ็บปวด สูญเสียคนรัก หรือทุกข์ทรมาน การได้พูดถึงความเจ็บปวดและความเศร้าโศกของตัวเองให้คนอื่นได้รับรู้ มันช่วยได้เยอะ สองอย่างนี้ช่วยเยียวยาความเศร้าโศก รวมทั้งความรู้สึกผิดได้ แต่สำหรับความโกรธแค้นชิงชัง เรื่องนี้ไม่มีใครทำให้ได้ เจ้าตัวต้องทำเอง และถ้าไม่สามารถก้าวข้ามความโกรธแค้นชิงชังได้ บาดแผลก็จะไม่ได้รับการเยียวยา
สำหรับในยุคโซเชียลมีเดีย อาตมาคิดว่าต้องรู้ทันสองอย่าง คือรู้ทันว่าโซเชียลมีเดียก่อผลกระทบอย่างไรต่อจิตสำนึกหรือความนึกคิดของเรา และต้องรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่เราเสพหรือใช้โซเชียลมีเดีย
ตอนนี้เราต้องตระหนักว่า หนึ่ง โซเชียลมีเดียทำให้เราเสพติด สอง โซเชียลมีเดียทำให้เราคิดแคบ เพราะเราใช้โซเชียลมีเดียเพื่อยืนยันความคิดของเรา เราเสพโซเชียลมีเดียเพื่อยืนยันว่าความคิดของเราถูก และความคิดของคนที่ต่างจากเรานั้นผิด ซึ่งสิ่งนี้จะไปเสริมสร้างอัตตาว่ากูถูก มึงผิด เพราะข้อมูลที่เราได้รับ ความเห็นที่เราได้รับ ล้วนแล้วแต่มาจากคนคอเดียวกัน เพราะอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียจะส่งฟีดข่าวที่สอดคล้องกับความเห็นของเรา ยืนยันอคติของเรา ใครที่เห็นต่างจากเราก็จะถูกอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียตัดออกไป หรือเราก็ไม่อยากจะดู ถึงแม้จะมีเว็บไซต์มากมาย เราก็จะดูแต่เว็บไซตที่ถูกใจเรา ก็คือสนองความเห็นของเรา ยืนยันอคติของเรา
ตอนนี้เราต้องตระหนักว่า หนึ่ง โซเชียลมีเดียทำให้เราเสพติด สอง โซเชียลมีเดียทำให้เราคิดแคบ
สิ่งเหล่านี้ทำให้คนเราคิดแคบ และคิดว่าความคิดของตัวเองถูก คนที่คิดต่างจากเรานั้นผิด ความคิดที่ว่ากูถูก มึงผิด กลายเป็นว่ากูดี มึงชั่ว เพราะความถูกกับความดีมันอยู่ใกล้กันมาก ทันทีที่เราคิดว่าความคิดของเราถูก ก็จะขยับมาเป็นความคิดของเราดี และจากความคิดของกูดี ก็กลายเป็นกูดี มึงชั่ว พอเราคิดว่ากูดี มึงชั่ว คนชั่วก็สมควรจะได้รับการกระทำทุกอย่าง ถูกด่า ถูกจับ ถูกฆ่า เพราะพอเราคิดว่าเมื่อกูดี สิ่งที่กูทำย่อมดีทั้งนั้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับขบวนการที่เชื่อว่าขบวนการของตัวเองดี ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นขบวนการศาสนาหรือขบวนการการเมือง
6 ตุลาเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะคนจำนวนมากคิดว่านักศึกษาผิด นักศึกษาชั่ว เมื่อชั่วแล้วฆ่าทิ้งก็ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้น การทำชั่วในนามของความดีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไป เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย และโซเชียลมีเดียก็มาเสริมความคิดนี้ เสริมความคิดที่ว่ากูดี มึงชั่ว กูถูก มึงผิด เพราะฉะนั้นก็ทำให้การใช้ความรุนแรง อย่างน้อยด้วยวาจา ด้วยข้อความ ด้วยความเห็น เกิดขึ้นโดยไม่ยั้งคิด และนำไปสู่ความสะใจ ซึ่งอาตมาคิดว่าความสะใจนั้นนำไปสู่ความรุนแรงเสมอ
พื้นฐานของสันติวิธีคือการไม่ยอมให้ความโกรธความเกลียดเข้ามาครอบงำจิตใจ จริงอยู่ที่คนเรามีสิทธิ์โกรธ มีสิทธิ์เกลียด แต่ถ้าปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ การกระทำของเรา คำพูดของเรา ก็จะเป็นความรุนแรงได้ง่าย และสิ่งที่เราทำก็จะไปบั่นทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น และสุดท้ายมันก็กลับมาบั่นทอนความเป็นมนุษย์ของเรา เพราะยิ่งเราโกรธมากเท่าไร ยิ่งเราเกลียดมากเท่าไร ความเป็นมนุษย์ของเราก็จะมีน้อยลงเท่านั้น
อาตมาคิดว่าเราต้องเริ่มต้นจากความใจกว้าง สงสัยไว้บ้างว่าที่เราคิดอาจจะไม่ถูก สิ่งที่เราคิดอาจจะผิด ถ้าเราไม่สงสัยเลยว่าสิ่งที่เราคิดอาจจะผิด มันเป็นอันตราย ความสงสัยทำให้เราเปิดใจรับฟังคนอื่น และใคร่ครวญทบทวนตัวเอง
อวยพร เขื่อนแก้ว: “เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความรู้เรื่องความรุนแรง”
สิ่งที่น่าตกใจคือเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งต้องทำหน้าที่เยียวยาคนที่ได้รับความรุนแรง ไม่มีความรู้ว่าความรุนแรงคืออะไร เรามักจะบอกว่าความรุนแรงก็คือมีใครเอาอะไรมาตีหัวเรา หรือเขาด่าพ่อแม่เรา หรือเขาเอาปืนมายิง เราเข้าใจแค่นั้น เราไม่เข้าใจว่าโจ๊กก็เป็นความรุนแรง โจ๊กของเราเต็มไปด้วยการดูถูกคนอื่น เรานั่งดูรายการตลกที่เขาดูถูกคนอีสาน เราก็หัวเราะ เรามีรายการทีวีที่ดูถูกคนข้ามเพศ เรามีการ์ตูนที่ล้อเลียนผู้หญิงเยอะแยะไปหมด และมันถูกทำให้เป็นความบันเทิง
ความรู้เรื่องความรุนแรงในสังคมของเรามีน้อยมาก เราไม่ได้ถูกสอนในครอบครัว ไม่ได้ถูกสอนในโรงเรียน ไม่ได้ถูกสอนในสื่อ นอกจากนั้น ครอบครัวกลับถ่ายทอด สั่งสอน และอบรมเรื่องความรุนแรงให้เราด้วยซ้ำ เพราะเราทำความรุนแรงกับคนในบ้านหรือกับเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนบ้านเกิดความรุนแรง เราก็นิ่งเงียบ เพราะฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่เกิดความรุนแรงกับคนที่ต่างจากเรา เช่น พี่น้องชาวมุสลิม คนม้ง คนปกาเกอะญอ คนเขมร เราก็จะเฉย เพราะเราถูกสอนให้เฉย ไม่ใช่เรื่องของเรา หรือถูกสอนผิดๆ ด้วยซ้ำว่าสมแล้วที่โดน
ความรุนแรงโดยตรงส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากโครงสร้าง เช่น ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อย ความรุนแรงกับคนพิการ ความรุนแรงกับคนจน ดังนั้น สำหรับวิธีเยียวยา สิ่งแรกที่ต้องทำคือหลังจากฟังเรื่องราวของเขา เราจะต้องบอกว่าเขาไม่ผิด และสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาเป็นเรื่องผิดปกติ ไม่ใช่กรรมเมื่อชาติที่แล้ว ผู้หญิงที่เข้ามาอบรม แต่ละคนมีบาดแผลเยอะมาก แต่เราจะบอกกับเขาว่ามันมาจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาเป็นสิ่งผิดปกติ เป็นสิ่งผิดธรรมชาติ เขาไม่ได้ผิด และขอบคุณเขาที่เขาไว้ใจและเล่าเรื่องราวให้คุณฟัง บอกว่าเขากล้าหาญมากที่อยู่กับความเจ็บปวดนี้มานาน และเขาผ่านมันมาได้
อำนาจส่วนใหญ่ที่เราเห็นคือเงิน ปืน และกฎหมาย แต่อำนาจที่ทำให้คนเล็กคนน้อยอยู่รอดได้ในสังคม คืออำนาจข้างใน คือความรัก ความเมตตา ความกล้าหาญ และปัญญา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกยกย่องว่าเป็นอำนาจ แต่สิ่งเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้คนเหล่านี้เป็นผู้รอด
เรามักจะบอกว่าความรุนแรงก็คือมีใครเอาอะไรมาตีหัวเรา เราไม่เข้าใจว่าโจ๊กก็เป็นความรุนแรง โจ๊กของเราเต็มไปด้วยการดูถูกคนอื่น
เงินหรือทรัพย์สิน มันเยียวยาจิตใจของคนไม่ได้ แต่มันช่วยให้เขาได้รับความเป็นธรรม คนที่กระทำความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยรัฐหรือใครก็ตาม การขอโทษคือสิ่งสำคัญมาก เขาต้องขอโทษเพื่อให้ความเป็นมนุษย์ของตัวเองฟื้นกลับคืนมา เมื่อเราดูถูกคน เมื่อเราทำร้ายคน เพื่อจะฟื้นความเป็นคนของเรากลับมา เมื่อเราขอโทษ เมื่อเราทำผิด จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เมื่อเราขอโทษ ความเป็นมนุษย์ของเราจะกลับคืนมา
การเยียวยาคืองานทางจิตวิญญาณ เพราะมันคือการฟื้นคืนจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ นี่คือหัวใจสำคัญ แต่ที่ผ่านมารัฐทำไม่ถูก เพราะรัฐทำไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตลอดเวลา บางคนเขาไม่เอาเงินชดเชย เขาต้องการให้คุณขอโทษ เขาบอกว่าเงินเยียวยาผมไม่ได้ เพราะมันไม่ได้บอกว่าคุณทำผิด แต่สำหรับบางคน เงินชดเชยทำให้ชีวิตของเขาดำเนินต่อไปได้ เพราะเขาสูญเสียหัวหน้าครอบครัว แต่หลายคนเขาต้องการให้ขอโทษ เด็กที่ถูกพ่อแม่ทำร้าย เขาแค่อยากให้พ่อแม่ขอโทษที่พ่อแม่ทำอย่างนั้น แต่คนที่มีอำนาจมักจะขอโทษใครไม่เป็น อำนาจที่เรามี อำนาจจากการเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ชาย เป็นคนไทย เป็นคนดี มันทำให้ความอ่อนน้อมถ่อมตนและความเป็นมนุษย์หายไป
โซรยา จามจุรี: “เรายังไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอที่จะพูดคุยเรื่องที่พาดพิงหรือกระทบกับอำนาจรัฐ”
ถ้าพูดถึงความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนภายนอกก็จะรู้ว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบหรือความรุนแรงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 แต่สิ่งที่คนภายนอกรับรู้จะเป็นแค่ข้อมูลข่าวสาร เป็นความรุนแรงในระดับปรากฏการณ์ อย่างการยิงและการวางระเบิด แต่ยังมีความรุนแรงในมิติอื่นๆ ที่สร้างผลกระทบกับผู้คน
เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงความรุนแรง เราต้องมองให้ครบทุกมิติ ไม่ใช่มองแค่ข้อมูลข่าวสาร แต่ต้องรวมไปถึงสาเหตุที่มาของการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ซึ่งคนข้างนอกแทบจะไม่รู้ว่าเกิดอะไร และมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เมื่อ 100-200 ปีที่แล้วอย่างไร
กลุ่มผู้หญิงที่ดิฉันทำงานด้วย เป็นผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่แบ่งฝ่าย คือมีทั้งผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นชาวพุทธและชาวมุสลิม ซึ่งเราก็เริ่มจากการไปเยี่ยมบ้าน ไปให้กำลังใจเขาที่บ้าน และทำให้เห็นว่าเขาไม่โดดเดี่ยว มีคนที่ให้กำลังใจและพร้อมจะรับฟังความทุกข์ที่เขาเผชิญ หลังจากนั้นก็มีการประสานงานเพื่อให้เขาได้รับความช่วยเหลือ เช่น สิทธิ์ที่เขาจะได้รับจากรัฐสำหรับการเยียวยา หรือถ้าเขาต้องการอาชีพ เราก็ประสานงานกับองค์กรเครือข่าย
หลังจากนั้น ถ้าเขามีความพร้อม เราก็นำผู้หญิงเหล่านี้มาตั้งวงคุยกัน เพื่อให้แต่ละคนมีโอกาสเล่าถึงความทุกข์ที่อยู่ในใจ แล้วก็เยียวยาซึ่งกันและกัน จากนั้นเราก็ให้เขารวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และถ้ามีความพร้อม ถ้าเขากล้าที่จะพูดนอกเหนือจากที่พูดในวง ถ้าเขากล้าจะสื่อสารกับสังคมภายนอก เราก็มีการฝึกอบรม ฝึกทักษะการสื่อสาร ให้เขามีโอกาสเล่าถึงบาดแผลของเขาให้สังคมภายนอกได้รับรู้ ได้เข้าใจ และได้เห็นอกเห็นใจ โดยผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เรามีรายการวิทยุ มีหนังสือที่เขาเขียน นี่คือส่วนหนึ่งของงานที่เราทำ
เวลาพูดถึงความรุนแรง เราต้องมองให้ครบทุกมิติ ไม่ใช่มองแค่ข้อมูลข่าวสาร แต่ต้องรวมไปถึงสาเหตุที่มาของการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน
หลังจากผ่านกระบวนการข้างต้น เขาจะมีกำลังใจและมีความเข้มแข็งมากขึ้น อย่างน้อยที่สุด เขารู้สึกว่าเขามีเพื่อน เขาไม่โดดเดี่ยว เขาเห็นว่ามีคนมาเยี่ยม มีคนมาให้กำลังใจ มีคนที่รับฟังความทุกข์ของเขา และมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง
การที่เราไปเยี่ยม นอกจากเป็นการให้กำลังใจ เราจะบอกกับเขาด้วยว่าเราไม่เห็นด้วยกับการที่คนในครอบครัวของเขาถูกทำร้าย ไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม ซึ่งมันทำให้เขารู้สึกว่าเขามีตัวตน ทำให้เขารู้สึกว่าเสียงของเขามีคนได้ยิน และเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เพราะเรื่องราวของเขาช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น โดยเฉพาะตอนที่เขาเล่าถึงการก้าวข้ามวิกฤตของชีวิต แล้วลุกขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาคนอื่น ลุกขึ้นมาเป็นนักปกป้องสิทธิ์ ลุกขึ้นมาเป็นผู้เยียวยาคนอื่นที่ยังอ่อนแรง
สำหรับกลุ่มผู้หญิงที่เราทำงานด้วย เราจะมีพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้คุยกัน ได้แลกเปลี่ยนกัน แต่ก็ต้องแล้วแต่ว่าเรื่องที่คุยกันเป็นเรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องที่ไปกระทบกับอำนาจรัฐ แน่นอนว่าก็คงมีปัญหาไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นของประเทศ คือยังไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอที่จะพูดคุยเรื่องที่พาดพิงหรือกระทบกับอำนาจรัฐ หรือถ้าเป็นเรื่องที่กระทบกับอำนาจของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐก็รู้สึกไม่ปลอดภัยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สำหรับคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ปลอดภัยสำหรับให้ผู้หญิงได้พูดคุยเพื่อนำไปสู่การเยียวยาบาดแผลจึงแทบจะไม่มี
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Sem Semsikkha
หมายเหตุ: ติดตามบทสัมภาษณ์เต็ม บาทหลวงไมเคิล แลปสลีย์ ได้ทาง The Momentum เร็วๆ นี้
Tags: ความรุนแรง, ความเหลื่อมล้ำ, พระไพศาล วิสาโล, อวยพร เขื่อนแก้ว, โซรยา จามจุรี, ปาฐกถาเสม, บาทหลวงไมเคิล แลปสลีย์