ย้อนกลับไปในปี 2561 พรรคประชาธิปัตย์มีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เมื่อ ‘ไอติม’ – พริษฐ์ วัชรสินธุ หลานชายของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ลงสนามการเมืองเคียงข้างกับน้าชาย และเปิดตัว New Dem กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องกติกาประชาธิปไตย โดยมีชุดนโยบายที่มีความเป็นเสรีนิยมและก้าวหน้ามากขึ้น

แต่สุดท้ายกลุ่ม New Dem ก็ไปไม่ถึงฝัน เมื่อในปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นเหมือน ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่ทำให้พริษฐ์ลาออกจากพรรค และกลุ่ม New Dem ถูกยุบในเวลาต่อมา

“ผมจำได้ว่าประโยคแรกที่ผมเขียนในจดหมายลาออก หรือโพสต์ที่ประกาศลาออก ผมเขียนว่า ‘ผมขอโทษที่สิ่งที่ท่านได้ ไม่ใช่สิ่งที่ท่านเลือก’”

หลังจากนั้น 3 ปี บทบาทของพริษฐ์ในฐานะนักการเมืองก็เงียบหายไป แต่ปรากฏข่าวจากการที่เขาร่วมกับกลุ่ม Re-Solution ทำการรณรงค์และรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่มีผู้เข้าร่วมลงชื่อกว่า 1 แสนคน

จนเดือนเมษายนที่ผ่านมา พริษฐ์ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะ ‘ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย’ ของพรรคก้าวไกล การกลับมาทำงานการเมืองเต็มตัวในครั้งนี้ เขามีความเชื่อมั่นว่าอุดมการณ์ของตนและพรรคก้าวไกลนั้นตรงกันในการที่จะผลักดันสังคมไทยให้มีความเป็นประชาธิปไตยและดีกว่าเดิมอย่างรอบด้าน

The Momentum สนทนากับ พริษฐ์ วัชรสินธุ ย้อนรอยเส้นทางการเมืองของเขา นับตั้งแต่วันที่เป็นเด็กฝึกงานพรรคประชาธิปัตย์ สัมผัสงานการเมืองในระดับมหาวิทยาลัย และร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงประสบการณ์การทำงานภาคเอกชน จนถึงวันนี้กับพรรคก้าวไกล ว่าเขาวาดฝันจะเห็นประเทศไทยมีโฉมหน้าเป็นอย่างไร

จุดเริ่มต้นที่คุณเข้ามาข้องเกี่ยวกับการเมืองคือช่วงไหน

สำหรับผม ความสนใจเกี่ยวกับการเมืองน่าจะเริ่มช่วงมัธยมฯ ปลาย ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกเรียนวิชาอะไร และต้องเริ่มคิดว่าจะสมัครเข้าคณะอะไรในระดับมหาวิทยาลัย รวมไปถึงมีอาชีพแบบไหนหลังจากนั้น  ตอนนั้นก็มีหลายตัวเลือกในใจ ดังนั้น สิ่งที่ผมเริ่มทำก็คือการ Job Shadow ในช่วงปิดเทอมใหญ่ ไปตามดูว่าคนอาชีพเหล่านี้ในชีวิตการทำงานจริงๆ ทำอะไรบ้าง บทบาทหน้าที่ของเขาเป็นอย่างไร  ตารางในชีวิตประจำวันเขาเป็นอย่างไร  

แน่นอนว่ารวมไปถึงการฝึกงานกับพรรคการเมือง ซึ่งเป็นอีกตัวเลือกที่ผมสนใจ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่ผมเห็นหลายๆ ปัญหาในประเทศแล้วรู้สึกว่า มันสามารถแก้ไขให้ดีได้กว่านี้ ผมก็เลยเริ่มสนใจการเมือง เพราะการเมืองมันเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้สังคมของเรามีความยุติธรรม สร้างประเทศที่ทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม สร้างประเทศที่อนาคตของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตา แต่ขึ้นอยู่กับความพยายามและการกระทำของเขาจริงๆ ตรงนั้นก็เลยเป็นจุดชนวนที่ทำให้เราเริ่มสนใจการเมือง เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่อยากจะเรียนต่อในด้านนี้

หลังจากนั้นผมก็เลยเริ่มมองหาโครงการฝึกงานกับพรรคการเมือง ซึ่งในช่วงนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคที่มีโครงการฝึกงานพอดี ก็เลยได้เข้าไปตรงนั้น มองย้อนกลับไปผมคิดว่ามันเป็นโครงการที่ดีนะ อย่างน้อยก็เปิดกว้างให้เราได้มาเรียนรู้ว่า อาชีพการเมืองต้องทำอะไรบ้าง บทบาทหน้าที่เป็นอย่างไร

ทำไมต้องเป็นพรรคประชาธิปัตย์ 

อย่างที่บอกว่าตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์มีโครงการฝึกงานพอดี และสำหรับผมในตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เก่าแก่ คิดว่าถ้าไปฝึกตรงนั้นก็น่าจะได้เรียนรู้ว่าการทำงานในการเมืองเป็นอย่างไร

ในฐานะ ‘เด็กฝึกงาน’ พรรคประชาธิปัตย์ คุณต้องทำอะไรบ้าง

ตอนนั้น โครงการฝึกงานก็แบ่งหน้าที่แตกต่างออกไปในแต่ละสัปดาห์ บางสัปดาห์มีการวางกำหนดการให้ไปดูงาน หรือบางสัปดาห์ก็ให้ไปติดตามนักการเมืองในหลายบทบาท ทั้งในรัฐสภารวมไปถึงการลงพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของงานในแต่ละแบบ ซึ่งก็มีทั้งลักษณะเลกเชอร์ ไปฟังการบรรยาย รวมถึงไปลงมือปฏิบัติด้วย จำได้ว่าตอนนั้นผมอายุน้อยที่สุดเลยในเพื่อนร่วมรุ่น ส่วนใหญ่เขาก็เป็นนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว จำได้ว่ามีแค่ไม่กี่คนที่เรียนในระดับมัธยมฯ

ความที่คุณเป็นหลานชายของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีผลบวกหรือลบต่อการฝึกงานบ้างไหม

ไม่เลย เพราะตอนนั้นผมไม่สามารถใช้คำว่าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ได้ ผมแค่ไปร่วมโครงการฝึกงาน การฝึกงานไม่ได้แปลว่าเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรค แล้วก็เชื่อว่ามีเพื่อนๆ หลายคนที่จบมาก็ไม่ได้เห็นด้วยกับพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด 

ถ้าตอนนี้คุณกลับไปเป็นเป็นเด็กมัธยมฯ ปลายอีกครั้งหนึ่ง อยากจะฝึกงานกับพรรคไหน

ถ้าตอบแบบตรงไปตรงมา ผมอยากจะฝึกงานกับพรรคก้าวไกล (ยิ้ม) อย่างที่บอกว่าในสมัยผมเป็นนักเรียนนักศึกษา ผมอาจจะเห็นแค่พรรคประชาธิปัตย์มีโครงการที่ชัดเจน พรรคการเมืองอื่นอาจจะมี แต่ผมไม่ทราบ

แต่ตอนนี้น่ายินดีที่แทบทุกพรรคการเมืองก็มีโครงการออกมามากมาย เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษามาฝึกงานกันมากขึ้น อย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็มีโครงการยุวประชาธิปัตย์ (Young Democrat) พรรคเพื่อไทยก็มีโครงการ The Change Maker ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาคิดนโยบายให้กับพรรคจริงๆ และพรรคก้าวไกลก็มีพื้นที่ให้นักศึกษาเข้ามาทำงานอยู่เรื่อยๆ

หลังจากฝึกงานแล้ว มั่นใจไหมว่างานการเมืองคือเส้นทางที่คุณเลือกจะไปต่อ

คิดว่าการฝึกงานเป็นแค่องค์ประกอบเดียวในการตัดสินใจ แต่ในภาพรวมแล้ว ตอนที่อยู่ในระดับมัธยมฯ ปลาย ผมก็มั่นใจขึ้นว่าอย่างน้อยเราจะเรียนต่อในด้านการเมืองเศรษฐศาสตร์ หลังจากนั้นผมก็ตัดสินใจสมัครเรียนไปที่คณะปรัชญาการเมืองเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) เหตุผลก็คือผมเชื่อมั่นว่า เส้นทางการเมืองในครั้งนี้จะช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างยั่งยืนที่สุด 

แต่อยากบอกว่าจริงๆ แล้วทุกอาชีพก็มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศทั้งหมด หมอคนหนึ่งที่รักษาคนไข้ ครูคนหนึ่งที่จัดการเรียนการสอน สามารถเปลี่ยนแปลงและกำหนดอนาคตของคนคนหนึ่งได้ มีส่วนเปลี่ยนแปลงประเทศได้ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าจะเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างหรือกฎหมาย มันจำเป็นต้องอาศัยการทำงานทางการเมือง ผ่านการเป็นตัวแทนของประชาชน เพราะท้ายที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ได้อย่างไร ถ้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงที่ตัวกฎหมาย ตัวนโยบาย และตัวโครงสร้างด้วย ก็เลยคิดว่าอยากจะเปิดใจให้กับเส้นทางทางการเมืองดู

แต่อย่างที่บอกว่า ตอนนั้นอยู่ในช่วงมัธยมฯ ปลาย มันยังไม่ถึงขั้นว่าจะต้องทำอาชีพอะไร แค่ช่วยให้เลือกได้ว่าจะเรียนในสาขาปรัชญาการเมืองเศรษฐศาสตร์ คนที่เรียนสาขานี้ รุ่นผมมีประมาณสองร้อยห้าสิบคน ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำงานทางการเมือง ดังนั้น มันก็เป็นสาขาที่ค่อนข้างเปิดกว้างว่าจบไปแล้วจะทำงานอะไรก็ได้ แล้วตอนที่ผมเรียนจบก็ไม่ได้เลือกที่จะเข้ามาทำงานในการเมืองเลย ตอนนั้นก็ตัดสินใจจะไปหาประสบการณ์ในภาคเอกชนก่อน

แต่คุณเคย ‘ทำงานการเมือง’ ในมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดมาก่อนด้วยใช่ไหม ประสบการณ์นั้นเป็นอย่างไรบ้าง 

จากสมัยก่อน เรารู้จักการเมืองผ่านการเรียนในระดับทฤษฎี เป็นการทำความเข้าใจกับหลักคิดหรือชุดความคิดทางการเมืองต่างๆ หรือระบบการเมืองของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร

ตอนอยู่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ผมได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในระดับการเมืองของนักศึกษาจริงๆ ด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานชมรมในสมาคมที่ชื่อว่า Oxford Union ต้องเล่าก่อนว่า Oxford Union ก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานของการพยายามสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1823 ซึ่งเป็นช่วงที่เสรีภาพในการแสดงออกของประเทศอังกฤษอาจจะไม่ได้กว้างขวางเหมือนในปัจจุบัน โดยในห้องนี้นักศึกษาทุกคนจะเอาทุกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมมาพูดคุยกัน ไม่ได้คุยกันในห้องลับ แล้วทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกความเห็นอย่างเต็มที่

และเพื่อคงสิ่งนี้เอาไว้อยู่ หน้าที่ของประธานชมรมคือการเป็นเจ้าภาพจัดการโต้วาที เชิญวิทยากรหลากหลายสาขาอาชีพที่มีแนวคิดต่างกันมาถกเถียงในประเด็นต่างๆ เคียงข้างนักศึกษา ซึ่งหลักคิดเสรีภาพในการแสดงออกเป็นหลักคิดที่องค์กรนี้ยึดมั่นอย่างแน่วแน่ ทุกประเด็นต้องมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยมาพูด ดังนั้น ทุกวันพฤหัสบดีจะเป็นงานใหญ่ที่ชมรมเลือกหัวข้อมาโต้แย้งกัน

ส่วนหัวข้อที่เกิดขึ้นในสมัยที่ผมเป็นประธาน ยกตัวอย่างเช่น คุณคิดว่าศาสนาสร้างคุณหรือโทษให้กับสังคมมากกว่ากัน แล้วก็เชิญชวนคนทั้งสองฝั่งมาแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน โดยผมซึ่งอยู่ในฐานะผู้บริหาร ถ้าเป็นในสภาฯ ก็เหมือนเป็นประธานสภาฯ คอยดูแลกติกาในการถกเถียงกัน ด้วยประเด็นนี้ผมก็เลยสนใจสมาคมนี้เป็นพิเศษ

นอกจากเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกแล้ว เรื่องต่อไปก็คือประชาธิปไตย ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไรก็ตาม ตั้งแต่คณะกรรมการระดับล่างไปจนถึงเหรัญญิก ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ผมไปสมัครรับเลือกตั้งตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาปีที่หนึ่งเทอมแรก แล้วค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับ

ประสบการณ์ตรงนี้เลยทำให้ผมได้เรียนรู้การจัดการทางการเมืองและการเลือกตั้งว่าจะก่อตั้งทีมต้องทำอย่างไร จะคิดนโยบายออกมาอย่างไร จะมีการสื่อสารแบบไหน เพื่อให้ถึงเพื่อนนักศึกษาด้วยกันได้ รวมไปถึงเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว จะทำอย่างไรให้สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ให้เป็นจริงได้ เหล่านี้ก็เหมือนเป็นการลิ้มลองรสชาติของการเมือง ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก แล้วก็หล่อหลอมผมไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่เรียนในตำราหรือสิ่งที่เรียนในคณะเลย

อะไรคือบทสรุปที่ล้ำค่าที่สุดที่คุณได้เรียนรู้จากอ็อกซ์ฟอร์ด

ผมคิดว่าบทสรุปที่สำคัญมากที่สุดก็คืออย่าคิดว่าการเรียนรู้จะหยุดอยู่แค่ในมหาวิทยาลัย คือผมเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราเรียนในห้องเรียนหรือกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เราไปเกี่ยวข้อง แต่ผมคิดว่าองค์ความรู้เหล่านี้มีวันหมดอายุ ไม่ว่าจะเรียนหรือทำอาชีพอะไร ผมเริ่มตระหนักว่ามหาวิทยาลัยก็เป็นแค่พื้นที่การเรียนรู้ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะสุดท้ายผมก็ต้องพยายามค้นหาความรู้ด้านอื่นๆ หลังจากเรียนจบมาเหมือนกัน จำได้ว่าพอเข้าไปทำงานที่แรกก็ค้นพบเลยว่าหลายอย่างที่เรียนมาไม่ได้เอามาใช้ แล้วยิ่งในยุคปัจจุบันอัตราการเปลี่ยนแปลงของโลกมันเกิดเร็วขึ้น หลายอย่างที่เราเรียนมา มันก็อาจจะตกยุคตกสมัยได้เร็ว 

ดังนั้น มันสำคัญมากว่าเราจะออกแบบการศึกษาอย่างไรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เติมไฟให้คนอยากจะเรียนรู้แม้จะจบไปแล้ว ไม่ใช่การศึกษาที่เครียดจนเกินไปหรือเน้นการแข่งขันจนเกินไป จนทำให้หลายคนจบออกมาแล้วรู้สึกว่าพอแล้วกับการเรียนรู้ ตรงนี้คือโจทย์ที่สำคัญ

ตอนนั้นคุณมองว่าบรรยากาศการเมืองในประเทศไทยอย่างไรบ้าง มันมีส่วนไหมที่ทำให้คุณไม่เลือกเข้ามาทำงานการเมืองแต่แรกที่เรียนจบมหาวิทยาลัย

 ผมจบปี 2558 การเมืองในประเทศก็เพิ่งจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น (ปี 2557) ประเทศไทยจึงยังไม่ได้มีการปลดล็อกให้คนทำกิจกรรมทางการเมืองได้ หรือมีอะไรที่พรรคการเมืองสามารถดำเนินการได้ แล้วผมก็ยังไม่ได้รู้สึกว่ามีพรรคไหนที่ตอบโจทย์ชุดความคิดตัวเองขนาดนั้น ก็เลยตัดสินใจไปทำงานในภาคเอกชน เพราะอยากเลือกเก็บเกี่ยวประสบการณ์อื่นๆ ก่อน

ผมเริ่มต้นจากการฝึกงานที่บริษัท McKinsey & Company ที่ประเทศอังกฤษก่อน พอเราเรียนจบแล้วก็เลยตัดสินใจมาทำงานในภูมิภาคอาเซียน McKenzie เป็นบริษัทด้าน Management Consultant เป็นบริษัทนานาชาติที่มีออฟฟิศอยู่ประมาณแปดสิบประเทศทั่วโลก มีบทบาทในการเข้าไปช่วยวิเคราะห์ปัญหาให้กับหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นการทำงานเป็นโปรเจกต์ของอุตสาหกรรมที่หลากหลายในประเทศต่างๆ ประสบการณ์ที่ได้ก็เป็นประโยชน์และมีคุณค่าที่เรานำมาใช้ในทางการเมืองได้เหมือนกัน คือการได้เห็นว่าประเทศอื่นเขาจัดการเรื่องการท่องเที่ยว การขนส่งสาธารณะ การสาธารณสุข เรื่องการศึกษาอย่างไร

และมันก็มีค่าตอบแทนที่ค่อนข้างโอเค มันก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกัน เพราะผมอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว ก็อยากเริ่มเก็บเงินจากการทำงานได้ หลายองค์ประกอบเหล่านี้ก็เลยทำให้ตัดสินใจไปทำงานที่นี่ตอนเรียนจบ

ส่วนบรรยากาศทางการเมืองก็อย่างที่ผมพูดตลอดมาว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ที่บอยคอตการเลือกตั้งในปี 2557 แล้วในที่สุดมันก็นำไปสู่การทำรัฐประหาร ยอมรับว่าเหตุผลนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่ายังไม่ได้อยากกระโดดเข้าไปในการเมืองหรือแม้กระทั่งในพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น อีกอย่างคือผมไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ กปปส. ในช่วงที่ พรบ.นิรโทษกรรมถูกตัดออกไปแล้ว ที่ไปขัดขวางการเลือกตั้งครั้งนั้นด้วย

แต่ในที่สุดคุณก็เลือกกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ และก่อตั้งกลุ่ม New Dem ขึ้นมา

ตอนนั้นเป็นช่วงปลายปี 2560 ที่ผมเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีการพูดตั้งแต่วันแรกว่า ผมไม่ได้ตั้งใจจะมาทำให้พรรคประชาธิปัตย์ทำเหมือนเดิม แต่ต้องการที่จะเข้ามาพยายามเปลี่ยนแปลงพรรคประชาธิปัตย์ให้มาอยู่ในจุดที่ตรงกับชุดความเชื่อของตัวเองมากขึ้น อยู่ในจุดที่หนักแน่นในเรื่องกติกาประชาธิปไตยมากขึ้น อยู่ในจุดที่มีชุดนโยบายที่มีความเป็นเสรีนิยมและก้าวหน้ามากขึ้น เหตุผลที่เข้ามาตอนนั้นเพราะว่าผมเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในพรรค ที่ดูเหมือนจะขยับเข้ามาใกล้เคียงกับชุดความเชื่อของเรามากขึ้น

อย่างแรกคือผมเห็นถึงการประกาศของหัวหน้าพรรคในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี ’60 จากการจัดประชามติปี ’59 อย่างที่สองก็คือแกนนำในการเคลื่อนไหวของ กปปส. หลายคนก็เริ่มลาออกจากพรรคไป บางคนก็ไปเริ่มต้นใหม่กับคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ บางคนก็ออกไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคสถาบันทางการเมือง ซึ่งมันอาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ข้อดีอย่างหนึ่งคือทิศทางอนาคตของความเป็นพรรคไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผมเชื่อว่าถ้ามีชุดข้อเสนอที่สมาชิกเห็นชอบ ที่สังคมตอบรับ ผมก็อาจจะสามารถปรับพรรคประชาธิปัตย์ให้มาตรงกับความคิดที่เราคิดว่าน่าจะเป็นมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงเข้าไปในตอนนั้นและตั้งกลุ่ม New Dem ขึ้นมา

ในช่วงแรกก็พยายามจะเรียกร้องและขับเคลื่อนให้พรรคมีจุดยืนเรื่องประชาธิปไตยที่หนักแน่นขึ้น ปฏิเสธการสืบทอดอำนาจ และในที่สุดก็มีการประกาศไม่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อีกมุมถ้าเราไปดูชุดนโยบายที่ New Dem นำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ไม่ว่าจะเป็นการขยายขยายสิทธิสมรสให้กับเพศหลากหลายหรือคนทุกเพศ ก็อาจจะเป็นนโยบายที่ไม่เคยมีการเสนอโดยพรรคมาก่อน เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ประชาธิปัตย์มีชุดความคิดและข้อเสนอที่มีความเสรีนิยมมากขึ้น 

New Dem ก็ถูกตั้งขึ้นมาด้วยความหวังที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้

แต่ถึงที่สุดแล้วคุณก็ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เหตุผลคืออะไร

เมื่อเข้ามาแล้ว ผมก็เริ่มค้นพบว่าสัญญาณที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคอาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ภายในพรรคเห็นชอบด้วย ดังนั้น ชุดความคิดของผม ชุดความคิดของ New Dem อาจจะไม่ตรงกับชุดความคิดของพรรคเสียทีเดียว ฟางเส้นสุดท้ายที่ผมตัดสินใจลาออกจากพรรคก็คือการที่พรรคเข้าร่วมรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ 

อย่างแรก ผมคิดว่ามันเป็นการไม่รักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชนในวันเลือกตั้ง อย่างที่สองก็คือการเข้าร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์โดยที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ มันคือการรับรองการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร เป็นการส่งสัญญาณว่าการที่ระบอบประยุทธ์เขียนกติกาออกมาเพื่อให้ตนเองสามารถสืบทอดอำนาจได้ เพื่อผูกขาดอำนาจทางการเมืองและไม่ปล่อยให้มีความเป็นธรรมในการแข่งขันจากทุกฝ่าย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์รับได้ แต่สำหรับผมนั้นถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ จึงตัดสินใจลาออกมา

(นิ่งครู่หนึ่ง) ถ้าให้มองย้อนกลับไป ต้องยอมรับว่า New Dem ก็ล้มเหลวจากภารกิจที่เราตั้งไว้ บางคนมองเข้ามาอาจจะมองว่าเราไร้เดียงสาเกินไปหรือเปล่า คิดว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในพรรคได้ขนาดนั้นเลยหรือ ผมก็น้อมรับ และคิดว่าเป็นบทเรียนสำหรับนำไปใช้ในการทำงานต่อไป

เรียกว่าเป็นความผิดหวังหรืออกหักทางการเมืองได้ไหม

ในปี ’62 เป็นปีที่ผมพ่ายแพ้สองครั้ง ครั้งแรกก็คือแพ้ในเขตเลือกตั้งที่ลงสมัคร ครั้งที่สองก็คือการที่ไม่สามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจไม่ร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ ผมจะพูดเสมอว่า ความพ่ายแพ้ครั้งที่สองเป็นความพ่ายแพ้ที่ผมผิดหวังกว่าเยอะ เพราะการแพ้เลือกตั้งเป็นสิ่งที่ปกติมากในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็น้อมรับหากประชาชนมีความเชื่อมั่นลงคะแนนให้กับผู้สมัครคนอื่นมากกว่า

แต่การพ่ายแพ้ครั้งที่สองเป็นครั้งที่ผมผิดหวังจริงๆ อย่างแรกคือรู้สึกเสียใจจริงๆ กับการที่ผมไม่สามารถรักษาคำพูดได้ ผมเองในฐานะผู้สมัคร ส.ส.เขต ก็เคยคุยกับประชาชนว่าถ้าเลือกผม ผมจะไม่สนับสนุนประยุทธ์ ผมไม่รู้ว่ากี่คนตัดสินใจเลือกผมด้วยเหตุผลนั้น แต่นั่นเป็นคำมั่นสัญญาที่ผมให้กับประชาชนแล้ว แต่ท้ายที่สุดคะแนนก็ถูกนำไปเติมให้กับพลเอกประยุทธ์ในสภาฯ

ผมจำได้ว่าประโยคแรกที่ผมเขียนในจดหมายลาออก หรือโพสต์ที่ประกาศลาออก ผมเขียนว่า ‘ผมขอโทษที่สิ่งที่ท่านได้ ไม่ใช่สิ่งที่ท่านเลือก’

ผิดหวังอย่างที่สอง คือเสียใจกับอนาคตและทิศทางของประเทศ เพราะผมเห็นว่าทางออกของประเทศต้องไม่ใช่การผ่านกติการัฐธรรมนูญปี ’60 ที่ผูกขาดอำนาจไว้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีการขยายอำนาจทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและสามารถควบคุมได้โดยระบอบประยุทธ์ 

ดังนั้น ผมก็รู้สึกเสียดายและกังวลใจกับอนาคตของประเทศในเชิงมิติทางเศรษฐกิจเหมือนกัน เพราะเราก็เห็นว่าการบริหารของพลเอกประยุทธ์ตั้งแต่ยึดอำนาจ GDP อาจจะโตในอัตราที่บวกก็จริง แต่เศรษฐกิจก็เติบโตล่าช้ากว่าหลายประเทศ และสำหรับประชาชนที่อยู่ในกลุ่มรายได้น้อยก็มีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น บางช่วงติดลบด้วยซ้ำ เรียกว่าน่ากังวลใจทั้งระบบการเมืองและเศรษฐกิจ

หลังจากลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และเปิดบริษัท StartDee ที่เกี่ยวกับการศึกษา เป็นเพราะคุณเข็ดขยาดการเมืองที่เพิ่งได้ ‘ชิม’ ในช่วง 2 ปีนั้นหรือเปล่า

เหตุผลก็คือต้องกลับมาคิดเกี่ยวกับอาชีพอีกทีว่าจะเดินอย่างไรต่อ เพราะตอนทำงานกับบริษัทเอกชนก็ถือว่าอยู่ในจุดที่ค่อนข้างมีความสุขและเป็นอาชีพที่มั่นคง ตอนที่ลาออกมาทำการเมืองก็ถือว่าเป็นการแบกรับความเสี่ยงระดับหนึ่ง

ส่วนเหตุผลที่ไปทำสตาร์ทอัพทางด้านการศึกษา คือผมยังอยากทำอะไรที่เป็นการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ และผมคิดว่าการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขหลายๆ ปัญหาในประเทศ ดังนั้น ถ้าอยากจะให้เศรษฐกิจของเราเติบโต ก็ต้องทำให้บุคลากรในประเทศมีทักษะที่สามารถตอบโจทย์โลกแห่งอนาคตได้ สร้างงานสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ซึ่งการที่จะเกิดตรงนั้นได้ก็ต้องมีระบบการศึกษาที่ทำให้เกิดความขยันของนักเรียนจนเกิดออกมาเป็นทักษะแบบนั้นได้ หรือถ้าเราอยากจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สิ่งที่ต้องทำก็คือลดความเหลื่อมล้ำในการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น วิธีหนึ่งที่จะช่วยก็คือการวางหลักประกันว่าเด็กทุกคนจะมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

ดังนั้น จะเห็นว่าการศึกษามันเป็นกุญแจสำคัญที่แทรกซึมอยู่ในทุกๆ ปัญหา ผมก็เลยมาทำงานตรงนี้ อย่างน้อยถึงแม้จะไม่ได้เข้าไปมีบทบาทในภาครัฐ ก็มีโอกาสได้ขับเคลื่อนภาคการศึกษาในภาคเอกชน รวมไปถึงตัวผมเองก็อยากจะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในการบริหารมากขึ้น

 แต่ยืนยันว่าไม่ใช่เข็ดการเมือง เพราะผมก็ไม่ได้ละเว้นในการติดตามบทบาททางการเมือง นอกจากงานหลักก็คือ StartDee สิ่งที่ผมทำตลอดจนบางคนคิดว่าอันนี้เป็นงานหลักของผมด้วยซ้ำ ก็คือเรื่องการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผมไปร่วมกับคณะก้าวหน้า และ iLaw ภายใต้กลุ่มที่ชื่อว่า Re-Solution ในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์หรือปลดอาวุธที่ระบอบประยุทธ์ใช้ในการสืบทอดอำนาจ ทั้งวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ หรือยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ผมทำควบคู่กันไป

ผมเรียกว่าเป็นโลกสองใบของผมแล้วกัน ก็คือโลก StartDee แม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง แต่ก็หวังว่ามันจะสร้างประโยชน์ให้กับการศึกษาได้ สำหรับบทบาททางการเมืองที่ยังคงไว้อยู่ก็คือโลกของการเคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญ

การที่คุณเข้ามาเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกล มีที่มาที่ไปอย่างไร

ผมเปิดตัวกับพรรคก้าวไกลช่วงเดือนเมษายนปี 2565 แต่ความจริงก็ได้มีโอกาสทำงานเบื้องหลังกับพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้ามาสักพักหนึ่งแล้ว ก็เป็นการศึกษาดูใจกันทั้งสองฝั่ง มาดูว่ามีชุดความคิดที่ตรงกันไหม ทำงานร่วมกันได้หรือเปล่า ผมมองว่ามันเป็นการทำงานร่วมกันที่ค่อยๆ ยกระดับขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องตลอดสองปีที่ผ่านมา มันไม่ถึงขั้นที่ว่าผมหายไปจากปี 2562 แล้วมาโผล่ในปี 2565 ไม่ใช่แบบนั้น

จุดเริ่มต้นก็คือ พอได้เข้ามาร่วมทำงานกับอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็พบว่าชุดความคิดมีความคล้ายกันมากขึ้น หลังจากนั้นก็เลยมีโอกาสได้มาร่วมงานกับพรรคก้าวไกลอย่างไม่เป็นทางการอยู่บ้าง มาให้คำแนะนำหรือมุมมองโดยเฉพาะเรื่องนโยบายเรื่องการศึกษาด้วยเหมือนกัน มันอาจจะไม่ได้เป็นกระบวนการที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที แต่เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

แล้วจุดไหนที่ทำให้คุณตัดสินใจมาทำงานและรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในพรรคก้าวไกล 

ถ้าพูดถึงการค้นพบว่าอุดมการณ์ตรงกัน อย่างที่บอกก็คือมันเกิดขึ้นมาสักพักหนึ่งแล้ว ผมเคยพูดต่อสาธารณะด้วยว่าในฐานะ Voter ถ้าพรุ่งนี้มีการเลือกตั้งก็คงเลือกพรรคก้าวไกล เคยให้สัมภาษณ์ไปแบบนั้น แต่สิ่งที่ทำให้ยังไม่ได้เปิดตัวในฐานะสมาชิกพรรคก้าวไกล หรือบทบาทที่มาขับเคลื่อน Policy Campaign หรือการรณรงค์นโยบาย อาจจะเพราะว่าหน้าที่หลักของผมคือการบริหาร StartDee อยู่

แต่จุดที่ตัดสินใจจริงๆ มันก็มีสองจุดที่ผมใช้เป็นเกณฑ์ว่าเราจะลาออกจาก StartDee หรือเปล่า จุดแรกก็คือ StartDee ไปต่อโดยไม่มีเราได้หรือไม่ เหมือนในฐานะผู้บริหารองค์กรทุกคนแหละ องค์กรต้องอยู่เหนือกว่าตัวบุคคล จึงต้องคิดว่าจะวางระบบอย่างไรให้มั่นใจได้ว่า พอเปลี่ยนผู้บริหารแล้วองค์กรไปต่อได้ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นการทำงานร่วมกับทีม StartDee ทุกคนเพื่อให้เราไปอยู่ในจุดที่มั่นใจตรงนั้น

ส่วนที่สอง คืองานที่ผมทำที่ StartDee ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาครัฐ หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายกฎหมายก็จริง แต่ผมก็เชื่อว่ามันสามารถทำประโยชน์ให้กับแวดวงการศึกษาได้ ดังนั้น หากเราลาออกมาเพื่อเข้าสู่งานการเมืองแล้ว เราจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองได้ดีกว่าตอนอยู่ที่ StartDee ได้หรือไม่ ส่วนนี้ก็เป็นโจทย์สำคัญในการตัดสินใจ

จากการที่คุณเคยผ่านการร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว และได้เห็นการทำงานของพรรคอนาคตใหม่ คณะก้าวหน้า จนมาถึงพรรคก้าวไกลในทุกวันนี้ ไม่รู้ว่าความรู้สึกเหมือนเจอ ‘คนคอเดียวกัน’ เลยไหม

 อย่างแรกเลยก็คือ ผมรู้สึกว่ามันทำให้ประเทศมีความหวังมากขึ้น เพราะปรากฏการณ์ของอนาคตใหม่ ผมคิดว่าคงไม่มีใครปฏิเสธว่ามันทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากตื่นตัวเรื่องการเมืองมากขึ้น เป็นคุณูปการที่ต้องมอบให้กับพรรคอนาคตใหม่จริงๆ เพราะในสมัยก่อนเราจะคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง ผมคิดว่าปัจจุบันประโยคนี้หายสาบสูญไปเรียบร้อยแล้ว เพราะเราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากพร้อมที่จะแสดงความเห็นทางการเมือง และมีการศึกษาข้อมูลเพื่อที่จะแสดงความคิดเห็นตรงนั้นด้วย 

บางคนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ก็ใช่ว่าจะเชียร์ทุกเรื่อง เรื่องไหนที่เขาไม่เห็นด้วย เขาก็แสดงการคัดค้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าอยากเห็นในสังคม แล้วก็เห็นว่าพรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จเรื่องนี้

อย่างที่สองที่รู้สึกก็คือ มันก็มีชุดนโยบายหลายอย่างที่ตรงกันจริงๆ กับตอนที่ผมทำ New Dem พอขึ้นเวทีดีเบตเราก็ได้เห็นว่ามีหลายอย่างที่พูดคล้ายกัน อย่างความคิดเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การขยายสินสมรสของกลุ่มเพศหลากหลาย โดยไม่ได้ไปในทิศทาง พรบ.คู่ชีวิต แต่ไปในทิศทางการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในมาตรา 1448 ก็เห็นตรงกัน ทำให้คิดว่ามันก็มีจุดร่วมอยู่บ้าง

เราถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของเรา แล้วก็พยายามมีความรอบคอบมากขึ้นในการตัดสินใจว่าจะเข้าพรรคไหน เพราะถ้าเกิดเข้าไปในพรรคที่ประเทศไทยในฝันของเรากับประเทศไทยในฝันของคนในพรรคนั้นไม่ตรงกัน มันก็แน่นอนว่าไม่ควรจะอยู่พรรคเดียวกัน ดังนั้น ในรอบนี้บทเรียนที่สำคัญคือต้องมั่นใจว่าอุดมการณ์ของเรากับอุดมการณ์พรรคมีความตรงกันจริงๆ  ซึ่งจนถึงวันนี้ผมยังเชื่อว่าตัวเองกับก้าวไกลเดินไปทางเดียวกัน

เป้าหมายที่คุณวางไว้ในการทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลคืออะไร

เป้าหมายคือต้องทำให้ประเทศไทยในฝันของผมกับพรรคก้าวไกลเป็นจริงให้ได้ โดยจะขอแยกเป็นมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ผมขออธิบายเหมือนเค้กก้อนหนึ่งแล้วกัน สมมติเค้กก้อนหนึ่งเป็นเสมือนการรวมรายได้ของทุกคนในประเทศ ผมคิดว่าโจทย์ในการพัฒนาประเทศนี้มีสามโจทย์ที่สำคัญ

โจทย์ที่หนึ่งคือทำให้เค้กก้อนนี้ใหญ่ขึ้น หรือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเติบโต ถ้าเราอยากจะให้เศรษฐกิจเติบโตได้ เราต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบการศึกษาที่ไม่ได้เน้นเรื่องการอัดฉีดข้อมูลหรือเพิ่มความเครียดให้กับผู้เรียน แต่ต้องเป็นระบบการศึกษาที่สามารถแปรความขยันของนักเรียนออกมาเป็นทักษะและสมรรถนะที่ตอบโจทย์อนาคตจริงๆ 

เราจำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการที่ไม่ได้ติดกับดักในการทำอะไรแบบเดิมๆ จนเคยชิน หรือโดนกัดกินโดยระบบอุปถัมภ์จนไร้ประสิทธิภาพ แต่ต้องมีระบบราชการที่มีความโปร่งใส สามารถเปิดเผยได้ มีการใช้เทคโนโลยีเป็น มีความคล่องตัว มีความยืดหยุ่น แล้วท้ายที่สุดก็คือต้องประเมินคนที่ผลของงาน ไม่ใช่ว่าเป็นคนของใคร 

นอกจากนี้ ก็ต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยด้วยว่าไม่สามารถพึ่งพาแค่บางอุตสาหกรรมได้อีกต่อไปแล้ว ต้องคิดถึงการสร้างอุตสาหกรรมหรือเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นการพลิกปัญหาให้เป็นโอกาส อย่างเช่นปัญหาในประเทศไทยที่เรารู้กันว่าเป็นปัญหาโลกร้อน เราจะแปลงวิกฤตตรงนั้นอย่างไรให้เป็นการสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวหรือ Green Economy สามารถรับมือกับภาวะโลกร้อนได้ดีขึ้น

หรืออีกปัญหาก็คือสังคมผู้สูงวัย ที่ในอนาคตจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นและมีสัดส่วนของคนวัยทำงานน้อยลง จะทำอย่างไรที่จะแปลงความท้าทายนี้ออกมาเป็นโอกาสในการสร้าง Care Economy หรืออุตสาหกรรมการดูแล ที่สามารถสร้างงานในสังคมที่มีผู้สูงอายุเยอะขึ้นได้ จะทําอย่างไรให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ นอกจากนี้ คือต้องทำให้การแข่งขันภายในประเทศมีความเป็นธรรมด้วยเหมือนกัน ทำอย่างไรให้ประเทศไทยไม่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มันผูกขาด ทำอย่างไรให้มันมีการแข่งขันที่เป็นธรรมจริงๆ ทำอย่างไรให้สามารถเสริมพลังให้กับ SMEs หรือผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ อันนี้คือภาพที่เห็นในมุมเศรษฐกิจ คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมภายในประเทศ

โจทย์ที่สองคือเค้กก้อนโตอย่างเดียวไม่พอ ต้องยุติธรรมด้วย ต้องลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งผมคิดว่าก็มีสองมิติที่ย่อยลงมา

อย่างแรก ทำอย่างไรที่เราจะลดความเหลื่อมล้ำให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในสภาวะสังคมที่ประชาชนมีความเปราะบางมากขึ้น เทคโนโลยีอาจจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่เข้าถึงโลกออนไลน์กับคนที่เข้าไม่ถึงโลกออนไลน์ เทคโนโลยีอาจจะทำให้คนตกงานเยอะขึ้น จากการที่แรงงานบางสาขาอาชีพถูกทดแทนโดยเทคโนโลยี สังคมสูงวัยที่จะกระทบคนที่รายได้น้อยกว่าอยู่แล้ว เขาอาจจะมีเงินเก็บเงินออมที่น้อยกว่า สภาวะแวดล้อมต่างๆ มันจะทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อมาสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อให้ทุกคนมีตาข่ายรองรับ มีหลักประกันคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกันมากขึ้น

ตรงนี้ก็เป็นเหตุผลที่ทำไมพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญมากกับการคิดตัวเลขว่างบประมาณที่มีอยู่ เราจะจัดสรรอย่างไรให้สามารถสร้างสวัสดิการพื้นฐานตรงนี้ได้ แล้วเราก็ผลิตออกมาเป็นนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นพันสองร้อยบาทต่อเดือนสำหรับเด็กเล็ก และแปดร้อยบาทต่อเดือนสำหรับเด็กโตอายุเจ็ดถึงยี่สิบสองปี แล้วก็สามพันบาทต่อเดือนสำหรับผู้สูงอายุ ในการดูแลสร้างรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ ซึ่งผมมองว่ามันจะได้กำไรสองเด้ง 

เด้งที่หนึ่งคือมันสามารถเป็นตาข่ายรองรับให้คนมีคุณภาพชีวิตในระดับพื้นฐานที่ดีได้ เด้งที่สองคือการลงทุนในศักยภาพของมนุษย์เหมือนกัน อย่างเช่น ถ้าเราพูดถึงสวัสดิการเรียนฟรี ในมุมหนึ่งมันคือตาข่ายรองรับให้นักเรียนทุกคนได้เรียนฟรี ไม่มีใครต้องตกหล่นจากระบบการศึกษา แต่ในอีกมุมมันก็คือการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ หรือถ้าพูดถึงสวัสดิการในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในมุมหนึ่งมันคือตาข่ายรองรับหากเจอวิกฤตอย่างโควิด-19 อีก คนก็สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพได้ อีกมุมมันก็คือการปลดล็อกให้ฝั่งที่เป็นผู้ประกอบการทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้ผ่านช่องทางออนไลน์

ต่อมาคือความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดอื่นๆ ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ ผูกขาดทั้งเรื่องงบประมาณและระดับ GDP อยู่พอสมควร ดังนั้น การกระจายความเจริญไปสู่ทุกจังหวัดทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมันมีการกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทเต็มที่ และมีงบประมาณเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการสาธารณะให้กับประชาชนในพื้นที่ของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เรื่องขนส่งสาธารณะ ปัญหาเรื่องการศึกษา รัฐบาลท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนควรมีงบประมาณและอำนาจที่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาให้กับคนในพื้นที่ได้

แต่ในปัจจุบันอำนาจส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ส่วนกลาง และงบประมาณถ้าคิดเป็นสัดส่วนรายได้ของประเทศ กระจายให้ท้องถิ่นแค่ 29 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่เป้าหมายเมื่อ 22 ปีที่แล้วคือ 35 เปอร์เซ็นต์ และพรรคก้าวไกลต้องการพาไปให้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เราเชื่อในการกระจายอำนาจ และเพื่อการกระจายอำนาจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้นำสูงสุดของทุกจังหวัดต้องมาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ ตอนนี้มีแค่กรุงเทพฯ และพัทยาที่ผู้นำสูงสุดมาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ เราไม่ต้องการให้จังหวัดอื่นมีผู้นำที่มาจากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทยจากรัฐบาลส่วนกลาง ตรงนี้คือการจะทำอย่างไรให้แบ่งเค้กกันอย่างยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำผ่านรัฐสวัสดิการและการกระจายอำนาจ

โจทย์ที่สามคือเค้กต้องอร่อยด้วย หมายความว่าเราจะต้องมีการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย โอบรับความหลากหลายของคน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของทุกคน และผมมองว่าเวลาที่เราพูดถึงความก้าวหน้าทางประชาธิปไตย มันมีสองมุมมอง

มุมมองที่หนึ่งคือทำอย่างไรให้มีกติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทำอย่างไรให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงจริงๆ ในการกำหนดประเทศ ไม่ใช่มีสถาบันทางการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนได้ 

อีกมุมหนึ่งก็คือประชาธิปไตยในเชิงวัฒนธรรม ค่านิยม ทำอย่างไรให้ค่านิยมทางด้านเสรีภาพ ความเสมอภาค ซึมซับไปในทุกนโยบาย นโยบายการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ก็คือการคำนึงถึงเสรีภาพในการประกอบอาชีพของผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศชายทุกคน ส่วนนโยบายเรื่องสินสมรสก็คือการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของคนทุกเพศ

สรุปก็คือเค้กโตขึ้นจากการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างการแข่งขันภายในประเทศที่เป็นธรรม เค้กแบ่งอย่างยุติธรรมผ่านรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าและการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น สุดท้ายเค้กอร่อยผ่านการเสิร์ฟประชาธิปไตยในเชิงระบบและวัฒนธรรม อันนี้คือประเทศไทยในฝันที่ผมเห็น และเชื่อว่าเป็นประเทศในฝันที่พรรคก้าวไกลเห็น

คุณและพรรคก้าวไกลจะใช้วิธีการใดในการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

บทบาทของผมในฐานะ Policy Campaign Manager คือการทำงานทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของการนำเสนอนโยบายการทำงานกับทีมนโยบาย ในส่วนของต้นน้ำคือการคิดข้อเสนอต่างๆ อย่างรอบคอบ ยกตัวอย่างเช่น นโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการ ก็จะตั้งโจทย์กันว่าการจะมีรัฐสวัสดิการแบบนี้ จะเอางบประมาณมาจากไหน งบฯ 3 ล้านล้านบาทเราจะจัดสรรอย่างไร

เสร็จแล้วมากลางน้ำ พอมีชุดนโยบายมาแล้วก็จะมีกระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน คือเชิญชวนประชาชนจากหลายภาคส่วนที่มีความเชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยน มาให้ความเห็นว่าอะไรตอบโจทย์หรือไม่ตอบโจทย์พวกเขา ซึ่งถ้าเกิดผลที่ออกมาไม่ตอบโจทย์ ก็ต้องกลับไปดูที่ต้นน้ำใหม่ว่าผิดพลาดตรงไหน แต่ถ้าประชาชนให้ความเห็นแล้ว ก็สามารถดึงข้อเสนอแนะของพวกเขาเข้ามาปรับเพิ่มเติมได้ อันนี้ก็คือการมีส่วนร่วมกลางน้ำ

และท้ายที่สุด ปลายน้ำคือการสื่อสารสาธารณะในวงกว้างว่านี่คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลจะทำ แล้วเราสามารถให้ความมั่นใจกับคุณได้ว่ามันจะเกิดขึ้นจริง เพราะเรามีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน 

ดังนั้น หน้าที่ของผมคือการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของการนำเสนอนโยบาย เพื่อทำให้ประชาชนเห็นภาพว่า ถ้าเลือกพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะสร้างประเทศแบบไหน และถ้าประชาชนเชื่อมั่นและเลือกพรรคก้าวไกล มันก็จะเกิดขึ้นจริงได้

แสดงว่าประชาชนสามารถมั่นใจได้เลยว่า พรรคก้าวไกลมี Public Sharing กับพวกเขาแน่นอน ใช่ไหม

ใช่ จริงๆ มีเริ่มไปแล้ว ล่าสุดก็มีการจัด Hackathon ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นว่า การจัดสรรงบประมาณ 3 ล้านล้านบาทที่เขาอยากเห็น ควรจัดสรรไปกับอะไรบ้าง คนเข้ามาร่วมร้อยกว่าคน แบ่งเป็นกลุ่มการศึกษา กลุ่มสิ่งแวดล้อม กลุ่มความมั่นคง ให้นำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ว่า ปัจจุบันมีการจัดสรรงบประมาณส่วนไหนที่เยอะเกินไป เกินความจำเป็น และมีอะไรที่ตกหล่นไปบ้าง เพื่อเอาข้อเสนอแนะทั้งหมดเข้ามาไปประกบกับนโยบายที่ ส.ส. และพรรคก้าวไกลทำกันอยู่แล้ว จนออกมาเป็นการอภิปรายในสภาฯ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา 

จะเห็นว่าการอภิปรายรอบนี้ ไม่ใช่แค่การตั้งคำถามกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลประยุทธ์อย่างเดียว แต่มันเป็นการพยายามตั้งความหวังให้กับประชาชนด้วยว่า ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาลแล้ว เราจะจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลก้าวไกลอย่างไร

ตอนนี้เราไม่ได้มองว่าหน้าที่ของเรามีแค่วิจารณ์อย่างเดียว เราต้องนำเสนอด้วยว่าถ้าเราเป็นรัฐบาลเราจะทำอย่างไร ตรงนี้ก็เป็นการเกริ่นเล็กน้อยของกระบวนการสร้างประชาพิจารณ์ การมีส่วนร่วม แล้วทางทีมก็รู้สึกดีใจที่ผู้เข้าร่วมมีความหลากหลายมาก มีนักเรียนมัธยมฯ มาร่วมออกแบบงบประมาณการศึกษา มีข้าราชการทหารที่เปิดเผยชื่อไม่ได้มาร่วมออกแบบงบประมาณความมั่นคง มีพนักงานบริษัท ผู้ประกอบการ SMEs มาช่วยออกแบบงบประมาณแต่ละภาคส่วน ตรงนี้ก็จะเป็นสิ่งที่เราทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง เดือนพฤษภาคมเราทำเรื่องงบประมาณไปแล้ว เดือนมิถุนายนเราก็ทำ Hackathon รัฐธรรมนูญ เพราะครบรอบ 90 ปีของรัฐธรรมนูญฉบับแรกพอดี

กลยุทธ์ในการทำงานของคุณและพรรคก้าวไกลจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าใช่ไหม

ใช่ แต่ผมอยากให้มองว่าตรงนี้มันควรทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีเลือกตั้งหรือไม่ คือถ้าเราเป็นรัฐบาล มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำในฐานะรัฐบาลอยู่แล้ว กฎหมายทุกฉบับ นโยบายทุกอย่าง จะต้องมีส่วนร่วมของประชาชน ถึงแม้เราจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน ผมก็คิดว่าเราต้องสร้างกระบวนการเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน แล้วทำให้การออกแบบนโยบายของเรามีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น

คุณเปิดตัวว่าเข้าร่วมงานกับพรรคก้าวไกลไปเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน จนถึงวันนี้ บรรยากาศการร่วมงานแบบเต็มตัวเป็นอย่างไร มีอะไรชวนกังวลไหม

ไม่มีอะไรที่กังวล เพราะความจริงก็ทำมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนเปิดตัวสาธารณะผมก็ยังคุยกับคนในทีมว่า ความจริงมันจะเรียกว่าเปิดตัวไหม เพราะว่าเราก็ทำงานร่วมกันมาตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าอะไรที่แตกต่างในมุมการทำงาน ผมมองว่ามันเข้มข้นขึ้น เพราะเราเริ่มเปลี่ยนผ่านจากบทบาทผู้บริหารสตาร์ทอัพมาทำตรงนี้เต็มตัว

อยากรู้ว่าตอนนี้ความสัมพันธ์ของคุณกับคนในพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่ออกมาจากประชาธิปัตย์เมื่อปี ’62 ผมก็แทบจะไม่ได้คุยกับคนในพรรคเท่าไร ผมก็หวังว่าเขาจะเข้าใจการตัดสินใจของเรา เพราะตอนที่ผมออก ผมก็มีการแจ้งคนในพรรคที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ก็ไม่ได้มีใครแปลกใจที่ผมตัดสินใจแบบนั้น เพราะเขาก็รู้อยู่แล้วว่าชุดความคิดที่ผมต้องการจะมาขับเคลื่อนในพรรคเป็นอย่างไร โอเคว่าบางคนอาจจะเห็นด้วย แต่มันก็เป็นเสียงส่วนน้อยและมันก็มีคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยตัวเรามีความชัดเจนว่าคิดอย่างไร

ดังนั้น ในวันที่ประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ผมคิดว่าคงไม่มีใครในพรรคที่แปลกใจที่ผมตัดสินใจลาออก และจนถึงทุกวันนี้ก็คิดว่าคงไม่มีใครแปลกใจที่ผมเลือกเดินหน้าต่อในลักษณะนี้

ได้พูดคุยหรือมีคำแนะนำอะไรจากคุณอภิสิทธิ์บ้างไหม

ในระหว่างปี ’60-’62 ที่ผมเข้าไปทำงาน ก็คุยกับคุณอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคเป็นหลัก แต่ตั้งแต่ลาออกจากประชาธิปัตย์ก็ไม่ค่อยได้คุยกัน ยกเว้นจะเจอตามงานรวมญาติต่างๆ มันก็กลับไปเป็นความสัมพันธ์เหมือนกับก่อนจะผมเข้าพรรคในปี ’60

คุณมองว่า ‘ระบอบประยุทธ์’ จะดำเนินต่อไปแบบไหน หรือน่าจะมีการเลือกตั้งใหม่เมื่อไร

ผมคิดว่าเราอย่ามองว่าจุดจบของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนกับจุดจบของ ‘ระบอบประยุทธ์’ เราพูดกันมาตลอดว่าระบอบประยุทธ์ไม่ได้พูดถึงพลเอกประยุทธ์ในฐานะตัวบุคคล เพียงแต่พูดถึงการรวมตัวกันของหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองบางกลุ่ม คนที่สืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นคนในกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนใหญ่บางกลุ่มที่รวมตัวกันเพื่อพยายามจะสร้างโครงสร้างกลไกที่จะสามารถรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของกันและกันได้ ดังนั้น เวลาที่พูดถึงระบอบประยุทธ์ คือหมายถึงทั้งเครือข่ายตรงนี้

จุดจบของระบอบประยุทธ์จริงๆ มันไม่ใช่การจบสิ้นของการอยู่ในการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จึงต้องมาคิดต่อว่าโครงสร้างกลไกที่เหลืออยู่จะสามารถปฏิรูปหรือรื้อมันเพื่อสร้างโครงสร้างและกลไกที่เป็นธรรมขึ้นมาได้หรือไม่

ดังนั้น ถ้าเราจะบอกว่าระบอบประยุทธ์จะหมดเมื่อไร อย่าไปดูว่าตัวพลเอกประยุทธ์จะหายไปเมื่อไร แต่ให้ดูหลักสามข้อนี้ว่า หนึ่ง รัฐธรรมนูญได้ถูกร่างใหม่ไหม สอง มีการปฏิรูปกองทัพที่ทำให้ทหารแยกออกจากการเมืองไหม และสาม มีการทำลายอำนาจทุนผูกขาดและมีการส่งเสริมอำนาจการแข่งขันทางการค้าจริงหรือไม่

อยากรู้ว่าประเทศไทยในฝันของคุณและพรรรคก้าวไกลมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ประเทศไทยในฝันของผม ถ้าแบ่งเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

ด้านการเมือง ผมอยากเห็นความเป็นประชาธิปไตยทั้งในเชิงระบบและวัฒนธรรม ประชาธิปไตยในเชิงระบบก็คือการที่มีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่เคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคน และมีการออกแบบสถาบันทางการเมืองที่ตอบโจทย์ประชาชน สถาบันทางการเมืองไหนที่มีอำนาจมาก ก็ต้องยึดโยงกับการเลือกตั้งของประชาชน สถาบันทางการเมืองไหนถ้ามาจากการแต่งตั้ง ก็ห้ามมีอำนาจมาก ส่วนประชาธิปไตยในเชิงวัฒนธรรมก็คือการมีสิทธิเสรีภาพที่แทรกซึมไปในทุกนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หรือกฎหมายที่ทำให้คู่รักทุกคู่แต่งงานกันได้

ในเชิงเศรษฐกิจ คำที่สำคัญคือคำว่าการแข่งขัน ซึ่งมี 2 มิติ คือจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มขีดความสามารถของประเทศเราในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบการศึกษา ที่เน้นการพัฒนาทักษะสมรรถนะในอนาคต การปฏิรูประบบราชการให้มีความโปร่งใส ให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่สามารถสร้างอุตสาหกรรมและเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ อย่างเช่น ภาวะโลกร้อนและสังคมสูงวัยได้ และการแข่งขันอย่างเป็นธรรมภายในประเทศด้วย เราจะทำอย่างไรให้ไม่มีการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรที่จะส่งเสริมเติมพลังให้กับผู้ประกอบการรายย่อย แล้วก็สร้างกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ท้ายสุด ในเชิงสังคม ผมคิดว่าเราทุกคนต่างอยากจะเห็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยลง ทั้งในมุมของการสร้างรัฐสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ พร้อมกับเป็นรัฐสวัสดิการที่โอบรับความฝันของทุกคน ลงทุนในการปลดล็อกศักยภาพของมนุษย์ ลงทุนในการปลดล็อกศักยภาพของเศรษฐกิจ อีกอย่างก็คือการลดความเหลื่อมล้ำของแต่ละพื้นที่ โดยการกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศมีบทบาทเต็มที่และงบประมาณเพียงพอในการจัดบริการสาธารณะให้กับคนในพื้นที่ของเขาได้

และที่สำคัญ มีผู้บริหารสูงสุดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

Fact Box

  • นอกจากการทำงานในบริษัทเอกชนที่ได้สัมผัสปัญหาสังคมหลายด้าน ในปี 2561 พริษฐ์ยังได้สมัครเข้ารับราชการทหาร สังกัดกองทัพบก เป็นเวลา 6 เดือน โดยหวังจะนำประสบการณ์ในค่ายทหารมาพัฒนาเป็นนโยบายกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อออกแบบระบบสมัครใจรับราชการทหาร แทนการเกณฑ์ทหารต่อไป
  • ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการกับพรรคก้าวไกล ก่อนหน้านี้ พริษฐ์เคยร่วมงานกับคณะก้าวหน้า ผ่านกลุ่ม Re-Solution ในการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพื่อ ‘รื้อระบอบประยุทธ์’ ซึ่งมีประชาชนกว่า 150,921 คนให้ความสนใจและร่วมลงรายชื่อในแคมเปญครั้งนี้
Tags: , , ,