สำหรับคนที่ยังงงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับอากาศ ทำไมท้องฟ้าในกรุงเทพฯ มันช่างขมุกขมัว แล้วเราควรจะทำตัวอย่างไร ในเมื่อยังต้องหายใจกันต่อไป
โดยสรุปก็คือ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 61 เกิดกระแสเผยแพร่ข้อมูลกันในโซเชียลมีเดียว่า ดัชนีคุณภาพอากาศในเขตกรุงเทพฯ อยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพ (เกิน 100) จากการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งก็คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (1/25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผม) ที่อยู่ในอากาศ ซึ่งถือว่าเล็กมากๆ จนสามารถเล็ดลอดเข้าไปตามระบบทางเดินหายใจของมนุษย์และเข้าสู่เส้นเลือดฝอย แถมยังใจดีพาสารพิษอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันก่อมะเร็งในร่างกายเราได้
หลังเป็นกระแส กรมอุตุนิยมวิทยา ออกมาแก้ข่าวโดยทันทีว่าอย่าเพิ่งไปตื่นตูม เป็นแค่ไอน้ำและความชื้น
ส่วนกรมควบคุมมลพิษบอกว่า วันที่ 24 ม.ค. 61 ผลการตรวจวัด PM 2.5 ในกรุงเทพฯ สูงเกินค่ามาตรฐานจริงๆ โดยระบุว่าค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพราะว่าส่วนหนึ่ง เกิดจากอากาศนิ่ง ลมสงบในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ทำให้สะสมมลพิษมากกว่าปกติ แต่จากที่แชร์กันในโซเชียลมีเดียว่าอยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพนั้น ‘คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง’ เพราะใช้ค่าเฉลี่ยหนึ่งชั่วโมง ทำให้อยู่ในช่วงสีแดง จริงๆ แล้วต้องใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต่างหาก ซึ่งจะให้ผลลัพธ์แค่สีส้ม คือ อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
เอาเป็นว่า เหมือนจะปฏิเสธแต่ก็ไม่ปฏิเสธ และในเมื่อเราทุกคนยังต้องสูดหายใจเข้าไป พอเริ่มส่อเค้าอันตรายอย่างนี้ กรมควบคุมมลพิษบอกว่าวิธีป้องกันก็คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกอาคาร
แต่ถึงไม่มีโรคประจำตัว เอกสารเผยแพร่ของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environment Protection Agency) ของสหรัฐฯ ก็บอกว่า กลุ่มเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการสูดเอาฝุ่นลองนี้ ยังรวมถึงผู้สูงอายุและเด็กๆ ด้วย และหากเจอฝุ่นละอองในระดับสูงๆ ก็อาจก็ให้เกิดอาการเบาะๆ อย่าง ระคายเคืองตา จมูก และคอ ไอและแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก หัวใจเต้นผิดปกติ และถ้าร้ายแรงก็อาจนำไปสู่โรคหัวใจและปอดได้เลย
อย่างไรก็ดี ในประเทศที่มีข้อมูลพยากรณ์ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เผยแพร่ทางเว็บไซต์ได้แบบเรียลไทม์ จะช่วยให้ประชาชนสามารถวางแผนการออกไปนอกอาคารได้ โดยเลือกหลีกเลี่ยงการออกจากอาคารในช่วงเวลาที่ระดับ AQI มีค่าอันตราย หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ถนนที่การจราจรคับคั่ง
แม้ฝุ่นละอองเหล่านี้จะเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง และอุตสาหกรรม เราในฐานะประชาชนอาจช่วยกันลดมลพิษได้โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวให้น้อยลงเพื่อลดระดับความร้ายแรง
สำหรับผู้สนใจ สามารถดูข้อมูลคุณภาพอากาศในประเทศไทย จากกรมควบคุมมลพิษได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถกเถียงกันอยู่ก็คือ ตอนนี้ดัชนีดังกล่าวยังไม่นำ PM 2.5 มาใช้คำนวณด้วย ซึ่งอาจทำให้ข้อมูล AQI คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
และหากเทียบกับตารางค่ามาตรฐาน PM 2.5 ของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ จะพบว่ามาตรฐานจริงๆ แล้วอยู่ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้อยกว่าที่กรมควบคุมมลพิษบอกไว้ว่าอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดูข้อมูลส่วนนี้เพิ่มเติมได้ที่นี่
หากยังงงๆ กับการคำนวณ ลองไปเล่นเครื่องคำนวณ AQI เพื่อเทียบปริมาณ PM 2.5 ในอากาศกับแถบสีที่ออกมา (ในหน่วยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ดูได้เลย
- https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/74454
- https://voicetv.co.th/read/HkC9M6SHG
- http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/pm25/blog/57660/
- https://www.thairath.co.th/content/1185617
- https://www3.epa.gov/airnow/air-quality-guide_pm_2015.pdf
- https://www.facebook.com/PCD.go.th/
- http://infofile.pcd.go.th/air/AQI.pdf?CFID=2029852&CFTOKEN=63196360
- http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/pm25/blog/59763/
- https://www.epa.gov/sites/production/files/2016-07/documents/fact-sheet-final-pm25-impl-rule.pdf